ทีโอทีเปิดโต๊ะเจรจา กทม. - กสทช. พิสูจน์ท่อร้อยสายพร้อมใช้งาน นำร่อง 12 เส้นทางในกรุงเทพฯ คาดนำสายสื่อสารลงใต้ดินแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ประเดิมด้วยพากทม.-กสทช. สำรวจเส้นทางถนนอโศกมนตรีตั้งแต่ถนนสุขุมวิทถึงถนนเพชรบุรี ระยะทาง 1.7 กิโลเมตรรวมทั้งสองฝั่งระยะทาง 3.4 กิโลเมตร
นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาองค์กรและรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในวันที่ 15 มิ.ย.2563 เวลาประมาณ 13.00 น.ที่หอประชุมชั้น 1 สำนักงานกสทช. ทีโอทีได้นัดประชุมหารือเรื่อง การนำสายสื่อสารลงใต้ดินพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวงไม่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้าและไม่มีสภาพบังคับโดยได้มีการเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาหารือร่วมกัน นำโดย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ,นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ,พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอทีเพื่อนำสายสื่อสารลงท่อใต้ดินที่ทีโอทีมีอยู่แล้วโดยนำร่องใน 12 เส้นทางซึ่งคาดว่าจะสามารถนำสายสื่อสารลงใต้ดินได้ภายในไม่เกิน 3 เดือน
การหารือดังกล่าว ทีโอที ในฐานะองค์กรภาครัฐ ต้องการให้โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินเดินหน้าอย่างรวดเร็วและทีโอทียืนยันมาโดยตลอดว่าทีโอทีมีท่อร้อยสายพร้อมใช้งานและสามารถนำสายสื่อสารของเอกชนลงใต้ดินได้ทันทีโดยไม่ต้องขุดท่อใหม่ ทำให้ไม่มีต้นทุนเพิ่ม สามารถทำราคาค่าเช่าในราคาไม่แพง ดังนั้นในการหารือร่วมกันในวันดังกล่าว ทีโอทีจะนำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเดินทางไปสำรวจเส้นทางนำร่องที่ทีโอทีสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยจะเดินทางไปยังบริเวณถนนอโศกมนตรีตั้งแต่ถนนสุขุมวิทถึงถนนเพชรบุรี ระยะทาง 1.7 กิโลเมตรรวมทั้งสองฝั่งระยะทาง 3.4 กิโลเมตรจากทั้งหมด 12 เส้นทางที่ทีโอทีสามารถทำได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทีโอที ได้ทำแผนที่ดิจิทัล เพื่อระบุถึงเส้นทางที่ทีโอทีมีท่ออยู่ในกทม.ให้กับ กรุงเทพมหานครสามารถเข้ามาดูได้ตลอดเวลาแล้ว แต่เพื่อความชัดเจนและยืนยันว่าทีโอทีทำได้จริง จึงขอทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชิญทุกฝ่ายมาหารือร่วมกันและเดินทางไปดูยังเส้นทางนำร่อง ดังกล่าว ซึ่งเส้นทางนำร่องที่ทีโอทีสามารถดำเนินการได้ทันทีนั้น ล้วนเป็นเส้นทางที่ไม่ต้องขุดไรเซอร์ หรือ จุดเชื่อมต่อสายจากใต้ดินขึ้นมาสู่พื้นดินตรงหน้าริมฟุตบาทสำหรับเชื่อมไปยังอาคารบ้านเรือนผู้ใช้งาน เนื่องจากทีโอทีมีอยู่แล้วก็ยิ่งทำให้นอกจากทำงานได้รวดเร็วแล้วยังประหยัดต้นทุน การดำเนินการไปอีกทำให้ราคาที่เสนอให้เอกชนเช่าถูกกว่า 5,000 บาทต่อซับดักส์กิโลเมตรต่อเดือนซึ่งใน 1 ซับดักส์สามารถ นำสายสื่อสารร้อยลงไปได้ 2-3 เส้น
ดังนั้น หากที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่าเมื่อทีโอทีพิสูจน์ได้ว่ามีท่อร้อยสายพร้อมใช้งานจริง ทีโอที ก็สามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เพื่อลงมติใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากมติครั้งล่าสุด ระบุว่า ให้กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการซึ่งความหมายของคำว่าดำเนินการ ก็ไม่ได้จำเป็นว่าต้องทำเองเพราะสามารถมอบหมายให้ทีโอทีทำได้ นอกจากนี้ในที่ประชุมยังระบุด้วยว่าหากทีโอทีสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีท่อร้อยสายพร้อมใช้งานได้จริง ทีโอทีก็ดำเนินการได้ ทีโอทีจึงมองว่า ทีโอทีเองก็เป็นหน่วยงานรัฐเหมือนกัน ยิ่งต้องมีหน้าที่ในการทำงานนี้ไปด้วยกัน
สำหรับแผนในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 12 เส้นทาง ระยะทาง 48.7 กิโลเมตร ที่ทีโอที สามารถดำเนินการได้เลยประกอบ ด้วย 1.ถนนรัชดาภิเษก จากแยก อสมท ถึง แยกรัชวิภา ระยะทาง 7.2 กิโลเมตร
2.ถนนพระราม 4 จากสามย่านมิตรทาวน์ ถึง แยกคลองเตย ระยะทาง 6.0 กิโลเมตร
3.ถนนเพชรบุรี จากแยกประตูน้ำ ถึง แยกมักกะสัน ระยะทาง 2.9 กิโลเมตร
4.ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จากแยกอโศกเพชรบุรี ถึง แยกคลองตัน ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร
5.ถนนอโศก จากแยกอโศกเพชรบุรี ถึง แยกอโศกสุขุมวิท ระยะทาง 1.2กิโลเมตร
6.ถนนรัชดาภิเษก จากแยกอโศกสุขุมวิท ถึง แยกคลองเตย ระยะทาง 2.4 กิโลเมตร
7.ถนนราชวิถี จากแยกสะพานกรุงธน ถึง แยกถนนพระราม 5 ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร
8.ถนนพหลโยธิน จากแยกลาดพร้าว ถึง อนุเสาวรีย์หลักสี่ ระยะทาง 7.7 กิโลเมตร
9.ถนนสิรินธร จากแยกบางพลัด ถึง แยกบรมราชชนนี ระยะทาง 3.0 กิโลเมตร
10.ถนนจรัญสนิทวงศ์ จากสะพานพระราม 7 ถึง แยกท่าพระ ระยะทาง 12 กิโลเมตร
11.ถนนอิสรภาพ จากถนนวังเดิม ถึง ประชาธิปก ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร
12.ถนนวังเดิม จากอิสรภาพ ถึง อรุณอัมรินทร์ ระยะทาง 0.4 กิโลเมตร
ด้านนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการกสทช.ด้านโทรคมนาคม กสทช. กล่าวว่า การประชุมหารือดังกล่าว เป็นเรื่องที่ทีโอทีทำวาระเข้ามาเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่ง กสทช.ก็เห็นด้วยว่าควรจะหารือให้ชัดเจนว่าท่อร้อยสายของทีโอทีมีจริงหรือไม่ ซึ่งต้องรอดูว่าผลของการประชุมจะเป็นอย่างไรต่อไป