ดีอีเอส - กสทช.ไฟเขียว ทีโอที เดินหน้าทำท่อร้อยสาย ในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังทีโอยืนยันมีท่อพร้อมใช้งานจริง 2,500 กิโลเมตร เริ่มนำร่องเอาสายสื่อสารลงดินใน 12 เส้นทาง จำนวน 48.7 กิโลเมตรได้ทันที ส่วนที่เหลือหากทำได้โดยไม่ต้องขุดเจาะเปิดผิวถนนเพิ่ม กทม. ไม่ติดใจ ส่วนกทม.เดินหน้าวางท่อร้อยสายตามแผนเดิมอ้างเป็นการทำตามมติบอร์ดดีอีและมติครม.
หลังยืดเยื้อมากว่า 1 ปีสำหรับการนำสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯลงท่อร้อยสายใต้ดิน หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ม.ค. 2562 มีมติให้ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการ ตามมติของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เมื่อเดือน พ.ย. 2561 ในขณะที่บอร์ดดีอี ระบุว่า หากทีโอที มีท่อร้อยสายพร้อมใช้งานจริง ก็ให้แสดงออกมา ซึ่งเวลานั้น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีเอกสารที่ชี้แจงได้เพียง 200 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือ ที่ระบุว่ามีท่อร้อยสายพร้อมใช้งานทั่วกทม. 2,500 กิโลเมตรนั้น เป็นเอกสารที่เสนอก่อนเข้าประชุมแล้ว แต่กลับไม่พบเอกสารในการประชุม ทำให้ทีโอทีสามารถยืนยันอย่างเป็นทางการได้เพียง 200 กิโลเมตร ปัจจุบันได้นำสายสื่อสารลงดินเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ กทม.เอง ก็เดินหน้าทำแผนในการขุดท่อร้อยสายเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วยการมอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการในการหาผู้รับเหมาในการขุดท่อร้อยสายใหม่ทั้งหมด ตลอดจนมีการออกจดหมายเชิญชวนผู้ให้บริการเอกชนในการเสนอความต้องการในการใช้งานท่อร้อยสายว่ามีใครสนใจบ้าง จำนวนเท่าไหร่ แต่ทว่า โครงการกลับประสบปัญหาเพราะเหล่าผู้ให้บริการเอกชนทั้งหลาย ไม่สนใจเข้าร่วมโครงการเพราะ ด้วยต้นทุนด้านราคาที่สูงกว่าการพาดสายเสาไฟฟ้า ทำให้ กทม.ไม่สามารถเดินหน้าได้ จนกว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องราคาค่าเช่า และการสนับสนุนเงินจากกสทช.
‘พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์’ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า กทม.ไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้ เป็นเวลากว่า 8-9 เดือนแล้วเพราะยังหาข้อสรุปเรื่องผู้เช่า และราคาไม่ได้ แต่ กทม.จำเป็นต้องเดินหน้าตามมติบอร์ดดีอีซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมติครม.ที่ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และ กทม.ก็เร่งดำเนินการอยู่และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาขุดท่อร้อยสายเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งได้ดำเนินการโครงการนำร่องไปแล้ว 7 กิโลเมตร เพราะกทม.เองก็มีแผนในการนำสายสัญญาณเกี่ยวกับความมั่นคงลงใต้ดิน อยู่แล้ว ขอย้ำว่า กทม.ก็ไม่ได้บังคับให้เอกชนต้องมาใช้งานของกทม.เพียงแต่กทม.ต้องการผู้เช่าระยะยาว 30 ปี เพราะใช้เทคโนโลยีใหม่ ไม่ต้องซ่อมบำรุงบ่อยๆ
****เปิดโต๊ะหารือพาเปิดท่อยันใช้งานได้จริง
ด้าน ทีโอที ซึ่งยืนยันมาโดยตลอดว่ามีท่อร้อยสายทั่วกรุงเทพฯจำนวน 2,500 กิโลเมตร ก็แปลงข้อมูลจากบนกระดาษมาเป็นแผนที่อิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถดูเส้นทางท่อร้อยสายของทีโอทีได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพร้อมเดินหน้าพิสูจน์เปิดฝาท่อให้เห็นกันชัดๆ ว่าท่อร้อยสายที่มีพร้อมใช้งานแน่นอน
จนเป็นที่มาของการเปิดโต๊ะเจรจาร่วมกัน 4 ฝ่าย ระหว่าง ‘พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งเป็นผู้นำวาระเข้าสู่การพิจารณาในบอร์ดดีอีและในฐานะกำกับดูแล ทีโอที, ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ เลขาธิการกสทช., ‘พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์’ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ‘มรกต เธียรมนตรี’ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที เพื่อหารือทำความเข้าใจร่วมกัน แม้ว่าผลการประชุมไม่ได้ออกมาตามที่คาดหวังไว้ว่ากทม.จะร่วมเดินทางไปดูสถานที่จริงร่วมกับกระทรวงดีอีเอส,กสทช.และ ทีโอที ก็ตาม แต่ กทม.ก็ไม่ติดใจอะไร หากทีโอทีพิสูจน์ว่ามีท่อร้อยสายพร้อมใช้งานจริง และไม่ต้องขุดถนนเพิ่มใหม่ ก็สามารถทำได้ หากพื้นที่ไหนไม่มีการทำไรเซอร์ หรือ จุดเชื่อมต่อสายสื่อสารจากใต้ดินสู่พื้นผิวตรงบริเวณริมฟุตบาธ ก็สามารถมาขออนุญาตกทม.ดำเนินการเป็นพื้นที่ๆไปได้
ดังนั้นข้อสรุปที่หารือร่วมกันคือ ทั้ง กทม.และทีโอที ต่างคนต่างเดินหน้าทำท่อร้อยสายของตนเองได้ เพราะ กทม.อ้างความจำเป็นในการมีท่อร้อยสายเพื่อใช้ในกิจการด้านความมั่นคงของกทม.เองเช่น กล้องวงจรปิดและ การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น
‘พุทธิพงษ์’ รมว.ดีอีเอส ระบุว่า เดิมเตรียมใช้การประชุม 4 ฝ่ายเพื่อเสนอกทม.โดยอิงกับมติครม. และมติบอร์ดดีอีก่อนหน้านี้ ว่าต้องการให้ กทม. และทีโอที ร่วมกันสำรวจเส้นทางโดยต้องอิงกับการใช้งานจริง เพื่อไม่ลงทุน ทับซ้อนกันในพื้นที่ซึ่งมีท่อร้อยสายพร้อมใช้งานอยู่แล้ว เพื่อผลักดันให้ทั้งคู่เดินหน้าต่อไปได้
แต่ ‘พล.ต.ท.โสภณ’ ยืนยันในที่ประชุมว่า กทม. มีการลงนามว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินโครงการ นี้แล้ว และมีการทำโครงการนำร่องในบางเส้นทาง อีกทั้งมีความจำเป็นที่ต้องจัดหาเทคโนโลยีและเงื่อนไขที่สอดคล้องกับแผนงานของกทม. ดังนั้น จึงต้องพับแนวคิดการลงสำรวจพื้นที่ร่วมกันและให้ทีโอทีเดินหน้าทำตามแนวท่อที่พิสูจน์ได้ว่าทำได้จริง โดยไม่ยินยอมให้มีการขุดเจาะถนนโดยเด็ดขาด ส่วนกทม.ก็ยืนยันที่จะดำเนินการโครงการของตนเองต่อไป
*** เดินหน้านำร่อง 12 เส้นทาง
‘มรกต’ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาองค์กร และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ทีโอที กล่าวว่า ทีโอที ได้ทำแผนที่ดิจิทัล เพื่อระบุถึงเส้นทางที่ทีโอทีมีท่ออยู่ในกรุงเทพฯจำนวน 2,500 กิโลเมตรให้กับกทม.สามารถเข้ามาดูได้ตลอดเวลาแล้ว เมื่อ กทม.ไม่ติดใจ และ ดีอีเอส รวมถึง กสทช. ได้ระบุชัดเจนว่า หากทีโอที พิสูจน์ได้ว่าท่อร้อยสายที่มีใช้งานได้ ตามมติบอร์ดดีอี ทีโอที ก็พร้อมเดินหน้าทันที โดยเริ่มจาก 12 เส้นทางระยะทาง 48.7 กิโลเมตร ซึ่งสถานที่นำร่องที่ทีโอทีสามารถดำเนินการได้ทันทีนั้น ล้วนเป็นสถานที่ที่ไม่ต้องขุดไรเซอร์ ซึ่ง ทีโอที สามารถทำราคาค่าเช่าที่ 4,825 บาทต่อซับดักส์กิโลเมตรต่อเดือนซึ่งใน 1 ซับดักส์ สามารถนำสายสื่อสารร้อยลงไปได้ 2-3 เส้น ส่วนท่อที่เหลือก็จะเดินหน้าสำรวจคู่ขนานและขออนุญาตกทม.ขุดไรเซอร์เป็นพื้นที่ๆไป มั่นใจว่าทำได้ครบทั้ง 2,500 กิโลเมตร
***เตรียมเสนอบอร์ดดีอีสนับสนุนเงินค่าเช่า
ในส่วนของเรื่องราคาค่าเช่านั้น ‘ฐากร’ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่าในส่วนของเงินสนับสนุนค่าเช่าท่อร้อยสายนั้นจะมีการนำเสนอบอร์ดดีอีเพื่อนำเงินจากกองทุน วิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กองทุน USO มาสนับสนุนรวมกับกทม.ให้ครบ 50 % เพื่อแบ่งเบาภาระให้โอเปอเรเตอร์ ที่ต้องนำสายที่เคยพาดบนเสาไฟฟ้าลงใต้ดิน แต่จะไม่ช่วยค่าเช่าสำหรับสายโทรคมนาคมเส้นใหม่ เช่น สาย 5G เพราะเป็นต้นทุนที่เอกชน ต้องคำนวณไว้อยู่แล้วตอนประมูลคลื่น ขณะที่กทม.เองก็ต้องตั้งงบประมาณในการช่วยเหลือเงินค่าเช่ามาด้วยเพราะกทม.เองก็ได้ประโยชน์จากการนำสายสื่อสารลงดิน เช่น เรื่องทัศนียภาพสวยงามขึ้น และกทม.จะประหยัดงบประมาณในการบำรุงรักษาด้วย
‘กทม.ต้องคิดออกมาว่าช่วยเรื่องค่าเช่าได้กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะกทม.ได้ประโยชน์ด้วย สมมติว่าช่วยได้ 15% ที่เหลือกสทช.ก็ช่วยอีก 35% ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเอาเข้าบอร์ดดีอี เพื่อพิจารณา’