xs
xsm
sm
md
lg

ทีโอทีเนื้อหอม คาดเอกชนแห่เช่าท่อร้อยสาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอกชนเผยสนใจเช่าท่อร้อยสายทีโอที แต่ยังห่วงต้นทุนสายสื่อสารเส้นใหม่ที่ต้องลงทุนเพิ่ม คาดมีภาระกว่า 4,000 ล้านบาท อาจเป็นเหตุผลให้ลังเลเดินหน้าโครงการ ด้านทีโอที เปิดกว้างราคาสามารถเช่าได้ทั้งค้าส่งและค้าปลีก เข้าใจผู้ประกอบการรายย่อย ขณะที่ เคที เปิดหนังสือเชิญชวนเอกชนอีกรอบ จูงใจใช้งานฟรี 3 เดือน

แหล่งข่าวจากสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงโครงการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดินพื้นที่กรุงเทพมหานครเส้นทาง 2,450 กิโลเมตรว่า ผลการหารือของทั้ง 4 ฝ่าย เรื่อง การนำสายสื่อสารลงใต้ดินพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวงไม่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้า และไม่มีสภาพบังคับ ระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ,นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำให้ได้ข้อสรุปที่มีทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการในการเลือกใช้บริการได้ทั้งของทีโอที และ กรุงเทพมหานคร ซึ่งสมาชิกของสมาคมฯมีแนวโน้มสนใจราคาและความเชี่ยวชาญในการทำงานเดินสายของทีโอที นอกจากนี้ทีโอทียังสามารถทำไรเซอร์ หรือ จุดเชื่อมต่อจากใต้ดินสู่พื้นดินและเข้าไปยังจุดต่างๆในอาคารได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ราคาค่าเช่าที่ ทีโอที นำเสนอ อยู่ที่ 4,850 บาท ต่อ ซับดักส์กิโลเมตร ต่อเดือน ซึ่งใน 1 ซับดักส์สามารถนำสายสื่อสารร้อยลงไปได้ 2-3 เส้น เป็นราคาที่น่าสนใจ อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสและกสทช.เองก็รับปากว่าจะนำเรื่องการนำเงินจากกองทุนวิจัยพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน USO มาช่วยผู้ประกอบการ 50% ต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เพื่ออนุมัติด้วย

ทว่าสิ่งที่น่ากังวลก็คือเรื่องต้นทุนของสายโทรคมนาคม เพราะหากมีการรื้อถอนสายที่พาดเสาการไฟฟ้านครหลวงออก ผู้ประกอบการต้องหาซื้อสายโทรคมเส้นใหม่เพื่อนำลงท่อร้อยสายใต้ดิน ซึ่งต้นทุนตรงนี้อาจสูงถึง 4,000 ล้านบาท ในการใช้สายสื่อสารลงใต้ดินทั้ง 2,450 กิโลเมตร จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ประกอบการอาจจะยังไม่ต้องการมีต้นทุนย้ายสายสื่อสารลงดินในครั้งนี้ รวมทั้งการไฟฟ้านครหลวงเองก็มีโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินอยู่แล้ว แม้จะยังไม่สามารถทำได้รวดเร็ว เพราะเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ก็ตาม

“ถามว่าตอนนี้การไฟฟ้ายังไม่หักเสาไฟฟ้า เพราะโครงการเขาทำได้ช้า เพราะเป็นสายไฟ แต่เราเร่งเอาสายโทรคมนาคมลง เสาไฟฟ้าก็ยังอยู่ ไม่ได้มีผลต่อทัศนียภาพมากนัก นอกจากนี้ยังกังวลด้วยว่า กรุงเทพมหานคร จะยอมให้ทีโอที เปิดทางเท้าเพื่อนำสายลงใต้ดินหรือไม่ จะทำให้โครงการสะดุดหรือเปล่า อีกประการหนึ่งคือผู้ประกอบการรายย่อยที่เขาไม่สามารถเช่าได้ทั้งท่อซับดักส์เพราะมีแค่สายเดียว เป็นรายเล็ก ถามว่าทีโอทีเองสามารถให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เหมาซื้อและไปปล่อยให้รายย่อยเช่าต่อได้หรือไม่ เพื่อเป็นทางเลือก” แหล่งข่าวระบุ

ด้านนายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า หลังจากทีโอทีได้พารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสและกสทช.สำรวจเส้นทางตัวอย่างท่อร้อยสายพร้อมใช้งานในพื้นที่อโศกไปแล้วนั้น ท่อร้อยสายที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีอยู่จริง 12 เส้นทาง ระยะทาง 48.7 กิโลเมตร ก็ได้เริ่มดำเนินการแล้ว คาดว่าภายในไม่เกิน 3 เดือนนี้เสร็จแน่นอน ส่วนเส้นทางที่เหลือก็ทำการพิสูจน์เพิ่มเติมควบคู่กันไปกับการขออนุญาตกรุงเทพมหานครในการเปิดริมฟุตบาธเพื่อนำสายสื่อสารขึ้นด้านบนเพื่อเชื่อมต่อไปยังอาคารต่างๆ มั่นใจว่า กรุงเทพมหานครจะอนุญาตให้ทำ เพราะทีโอทีไม่ได้ขุดพื้นถนนและทำท่อใหม่แต่อย่างใด ส่วนเรื่องราคานั้น ทีโอที เปิดกว้างให้มีการค้าส่งและค้าปลีก หรือ รายเล็กจะเช่าในราคาเท่าที่ใช้งานได้

อย่างไรก็ตาม ทางด้านกรุงเทพมหานคร ซึ่งมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ดำเนินโครงการนั้น ก็ได้มีหนังสือเชิญชวนผู้สนใจร่วมโครงการอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเปิดราคาค่าบริการ 2 รูปแบบคือ 1.รูปแบบไมโครดักส์ รองรับได้สูงสุด ประมาณ 21 ไมโครดักส์ อัตราค่าเช่า 7,100 บาท/ไมโครดักส์/กิโลเมตร/เดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และ 2.) รูปแบบ Dark Fiber ในอัตราค่าเช่า 500บาท/คอร์/กิโลเมตร/เดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สามารถทดลองใช้ท่อร้อยสายสื่อสารทั้ง 2 รูปแบบโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถใช้บริการได้จริงและมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี คุณภาพดีกว่าท่อ PVCและท่อชนิดอื่นซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าและใช้งานมานาน และไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น