“พิชาย” เชื่อเงินกู้ฟื้น ศก.หลังโควิด 4 แสนล้าน ที่ใช้ผ่านหน่วยราชการ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ผุดโครงการเดิมๆ ไร้ประโยชน์ แถมโกงกินแหลก ทั้งข้าราชการ-นักการเมือง เสนอใช้ตั้งกองทุนปล่อยกู้ให้ ปชช. เพื่อประกอบธุรกิจ สร้างงานและยั่งยืนกว่า
วันที่ 29 พ.ค. 63 รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อ.ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ประเทศไทย-การเมืองไทย หลัง พ.ร.ก. กู้เงินผ่านสภา”
ดร.พิชาย กล่าวในช่วงหนึ่งว่า เงินกู้ 4 แสนล้าน เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 เป็นก้อนเจ้าปัญหา เพราะจะให้หน่วยงานราชการเป็นผู้เสนอโครงการ แล้วก็มีคณะกรรมการกลางคอยกลั่นกรอง
ปัญหา คือ ประการแรก โครงการนี้เริ่มที่จะให้หน่วยราชการคิด โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ลงวันที่ 26 พ.ค. 63 เพื่อให้แต่ละจังหวัดจัดทำโครงการเพื่อนำเสนอภายในวันที่ 5 มิ.ย. 63 ให้เวลาคิด 10 วัน แล้วคณะกรรมการส่วนกลาง ต้องอนุมัติให้เสร็จภายในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ เพื่อชงเข้า ครม. 7 ก.ค. รวมแล้วทั้งสิ้นประมาณ 40 กว่าวัน
ดร.พิชาย กล่าวอีกว่า เมื่อต้องเร่งรีบ สิ่งที่จะเกิดขึ้น ก็คือ หน่วยราชการก็จะไปหยิบโครงการเดิมที่มีอยู่แล้วมาใช้ แล้วก็คงไม่พ้นแบบแผนเดิมๆ ไม่ว่าจะสร้างถนน ขุดบ่อ สร้างศาลา อบรมอาชีพ ฯลฯ บางจังหวัดคิดเรื่องลงทุน จะสร้างโรงสีชุมชน ที่ผ่านมาโรงสีร้างเยอะแยะเลย เพราะบางที่ไม่มีค่าดำเนินการ บางที่จำกัดการเข้าถึงเฉพาะผู้มีอำนาจ เอื้อประโยชน์ให้แค่บางกลุ่ม ชาวบ้านไม่ได้ใช้จริง ส่วนตลาดที่รัฐสร้าง ก็เจ๊งทุกที่
“เป็นคำถามใหญ่ๆ เลย ว่าจะเกิดประโยชน์ที่แท้จริงหรือไม่ มีบทเรียนในทุกรัฐบาล ถ้ามีโครงการเร่งด่วนแบบนี้ ส่วนใหญ่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเอง 4 แสนล้าน ก็หนีไม่พ้นแพตเทิร์นนี้หรอก คนได้ประโยชน์ก็ข้าราชการที่เขียนโครงการ และนักการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้อง” ดร.พิชาย กล่าว
ดร.พิชาย กล่าวต่ออีกว่า โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบนี้ ใช้กันมาเนิ่นนาน ไม่ประสบความสำเร็จสักที มีคนเสนอ ถ้าเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ ไม่ให้ข้าราชการเข้ามายุ่งเลย แล้วใช้ตั้งเป็นกองทุน ให้ประชาชนและเอกชน ที่ประสงค์ประกอบธุรกิจ ได้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากกองทุน ให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาทำด้วยตัวเอง แล้วกิจการที่เขาทำ ก็จะสร้างงาน สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจมากกว่า
แต่หลักคิดนี้ ขัดผลประโยชน์หน่วยราชการ คงจะเปลี่ยนแปลงยากพอควร หากทำไม่ได้ สิ่งที่ต้องระวัง คือต้องจำกัดเงินลงไปในโครงการลักษณะนี้ให้น้อยที่สุด ไม่ต้องจ่ายหมด 4 แสนล้าน ให้เฉพาะโครงการที่ผ่านการกรองอย่างเข้มงวดว่าจะเกิดประโยชน์จริง
ดร.พิชาย กล่าวต่อถึงเงิน 9 แสนล้าน ว่า แบงก์ชาติเอามาจากไหน เอาเงินสำรองจากที่ไหนสักแห่งมาใช้ หรือพิมพ์เงินเอง ต้องพูดให้ชัดเจน ส่วนของ 5 แสนล้านแรก ปล่อยกู้ให้ SMEs โดยผ่านสถาบันการเงิน กลไกปล่อยกู้แบบนี้ มีหลายคนท้วงติง เพราะเมื่อแบงก์กลัวหนี้สูญ แบงก์ต้องรับผิดชอบ ก็จะมีมาตรการตรวจสอบอย่างละเอียดในการปล่อยกู้ คนที่มีโอกาสเข้าถึงเงินกู้ คือ ลูกค้าเก่าที่ไว้วางใจกัน ลูกค้าใหม่โอกาสยาก หรือแทบไม่มีเลย คนได้ประโยชน์มีเพียงกลุ่มน้อย แบงก์ชาติต้องทบทวน SMEs ที่ไม่เคยเป็นลูกค้าแบงก์ ช่วยคนเหล่านี้อย่างไรให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น
อีกส่วน 4 แสนล้าน ที่ใช้ซื้อตราสารหนี้พวกเอกชน ที่ออกมาแล้วถึงกำหนดที่ต้องชำระแต่ไม่มีเงินชำระ ให้ออกใหม่แล้วแบงก์ชาติรับซื้อ เพื่เอาเงินไปจ่ายเจ้าหนี้ เป็นการเอาเงินประชาชนไปอุ้มเอกชน แล้วบอกจะซื้อเฉพาะหุ้นประเภทดี หุ้นดีก็มีบริษัทอะไรบ้าง มีแต่เจ้าสัวใหญ่ๆ
ถามว่า ตราสารหนี้ที่บริษัทใหญ่ๆ ที่รัฐบาลชื่นชมว่าเก่งนักเก่งหนา เขาไม่ได้เตรียมการชำระตราสารหนี้ตัวเองหรือ เพราะที่ผ่านมาได้ประโยชน์จากรัฐบาลมากมาย ไม่มีปัญญญาจ่ายหรือ แสดงว่าเก่งไม่จริง ฉะนั้นบริษัทถ้าจะให้สังคมเชื่อว่าเก่งจริง ไม่ควรออกหุ้นกู้ให้แบงก์ชาติซื้อ แล้วประกาศเลยว่ามีเงินจ่ายเอง ไม่เอาเงินแบงก์ชาติ สังคมจะได้รู้ว่าเก่งจริง