xs
xsm
sm
md
lg

พิสูจน์ฝีมือปฏิรูปคมนาคม ฉายผลงาน“รมต.ศักดิ์สยาม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำรวจผลงานคมนาคมของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เกือบ1ปี คลายปมแก้ปัญหา สู่การเดินทาง-ขนส่งมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งการบินไทยยื่นฟื้นฟูกิจการ แก้ไขอย่างยั่งยืนไม่เป็นภาระประชาชน ภายใต้หลักคิด“ยุคของผม จะต้องไม่มีค่าโง่ และต้องไม่ทิ้งภาระให้ใครไว้ข้างหลัง”

ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 10 ของการนั่งแท่น “เจ้ากระทรวงหูกวาง” หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” หลังจากได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา และกลายเป็นที่เรียกเสียงฮือฮาในวงการคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ของไทย สืบเนื่องจากการกำหนดนโยบายต่างๆ มากมาย พร้อมมีเสียงหนาหูว่า “นโยบายที่ออกมานั้น จะทำได้จริงๆ หรือ เพราะที่ผ่านมาหลายเรื่องยังไม่มีใครมาแก้ปัญหาได้” จนได้ฉายาว่า "โอ๋ แซ่รื้อ" จากการตั้งฉายารัฐบาลและฉายารัฐมนตรีประจำปี 2562

นับตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ นโยบายหลายเรื่องได้เห็นผลเป็นรูปธรรม บางนโยบายอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ ทดสอบ สรุปผล เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การนำไปปฏิบัติจริง ถือได้ว่า การทำงานของ “รมต.ศักดิ์สยาม” นั้น ได้ส่งผลให้ความเป็นอยู่ และชีวิตประจำวันของประชาชนดีขึ้น ผนวกกับการกระจายรายได้ สร้างความเจริญอย่างทั่วถึงในมุมกว้าง พร้อมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหามากมาย

ประเดิมด้วย “การลดค่าครองชีพของประชาชน” ซึ่งนับเป็นนโยบายหลักของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการลดภาระในการเดินทางของประชาชน โดยเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินมาตรการตามนโยบายของ “ศักดิ์สยาม” ด้วยการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) โดยกำหนดอัตราโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 – 20 บาท) จากอัตราค่าโดยสารปกติ (14 – 42 บาท) สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ซื้อเหรียญโดยสาร (Token)

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราค่าโดยสารดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสนับสนุนนโยบายการลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนตามนโยบายภาครัฐแล้ว ยังเป็นสนับสนุนการเดินทางโดยระบบรถไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ การประหยัดเวลาในการเดินทาง การลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ การลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มพูนความสุขให้ประชาชนด้วย

เรียกเสียงฮือฮาด้วยมหากาพย์ 25 ปี ปมประเด็นค่าโง่สัมปทานทางด่วน หรือข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่ได้ระงับข้อพิพาทคดีทางด่วนที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท โดยไม่ต้องเสียค่าโง่ และมาสิ้นสุดในยุค “คมนาคมยูไนเต็ด” โดยนับเป็นการสะท้อนคำกล่าวตั้งแต่ รัฐมนตรีผู้นี้เข้ามารับตำแหน่ง พร้อมเอ่ยปากไว้ว่า “ในยุคของผม จะต้องไม่มีค่าโง่ และต้องไม่ทิ้งภาระให้ใครไว้ข้างหลัง”

สำหรับการระงับข้อพิพาทดังกล่าวนั้น ได้มีการต่อขยายสัญญาโครงการทางด่วนเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน โดยจะทำให้สัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน A, B, C) ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C บวก) สิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ตุลาคม 2578 และยุติข้อพิพาททั้ง 17 คดีที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท พร้อมทั้งกเว้นค่าผ่านทางทุกด่านตามประกาศวันหยุดประจำปีของสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีประมาณ 19 วันต่อปีตลอดอายุสัมปทาน

ยังมีอีกหนึ่งเรื่องใหญ่คือแก้ปัญหา “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)” ที่ถูกกล่าวขานว่ามีหนี้สินมากมาย หนำซ้ำยังไม่พัฒนาคุณภาพการให้บริการอีก งานนี้ “รมต.โอ๋” ไม่รอช้า เร่งแก้ปัญหา พร้อมเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการขสมก. มาอย่างต่อเนื่อง จนเกือบสะเด็ดน้ำแล้ว โดยจะส่งผลดีต่อการใช้บริการของประชาชน

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.มีวัตถุประสงค์ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ประชาชนจะได้เดินทางด้วยค่าโดยสารที่ถูกลง คือ จ่าย 30 บาท สามารถเดินทางได้ทั้งวัน ทุกเส้นทาง ส่วนใครใช้บัตรรายเดือนจะตกเฉลี่ยอยู่ที่ 25 บาทตลอดวัน 2.จะมีการปรับลดเส้นทาง ลดความทับซ้อนกัน แก้ปัญหาการจราจรติดขัด แถมประชาชนไม่ต้องรอรถนานด้วย เพราะจะมีรถหมุนเวียนในเส้นทางนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึง ขสมก. สามารถลดจำนวนรถที่จะนำมาให้บริการได้ด้วย ประหยัดงบประมาณไปอีก

3.ลดปัญหามลภาวะในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพราะว่าหลังจากนี้ รถที่นำมาวิ่งให้บริการจะเป็น NGV หรือรถเมล์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงเป็นรถปรับอากาศ (รถแอร์) เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้การเดินทางของประชาชนสะดวก สบาย เดินทางด้วยรถใหม่ด้วย 4.เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดทุนของ ขสมก. อย่างยั่งยืน โดยมีแผนให้ กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาฯ (EBITDA) เป็นบวกในปี 2572 จากการดำเนินการ หรือเรียกง่ายๆ คือ จะทยอยปลดหนี้ที่สะสมมานานเป็นแสนล้าน และ 5.หลังจากปี 2572 แล้ว ขสมก.สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นปัญหาต่องบประมาณของภาครัฐ หรือ EBITDA ไม่ติดลบอีกต่อไป

นอกจากนี้ “ศักดิ์สยาม” ยังเห็นความสำคัญของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางด้วย โดยการออกนโยบายใช้ “ยางพารา” ในโปรเจ็กต์คมนาคม ประเดิมแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ หวังเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง อัพเกรดความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด กล่าวคือ จัดทำแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์มาใช้บนถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ภายหลังได้รับผลการทดสอบการรับแรงกระแทกของแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์คอนกรีต (Rubber Fender Barrier) จากสถาบัน KATRI (Korea Automobile Testing & Research Institute) สาธารณรัฐเกาหลีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“คมนาคม” ได้ตั้งเป้าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะนำยางพาราไปใช้กับถนนขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไประยะทางประมาณ 12,000 กิโลเมตร (กม.) โดยจะใช้ยางพาราประมาณ 300,000 ตัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ในการสร้างความต้องการ (Demand) ของใช้น้ำยางพารา รวมถึงความปลอดภัย ที่ผ่านการทดสอบมาแล้วจากทั้งในประเทศ และประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลกที่มาตรฐานด้านความปลอดภัยด้วย

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากวิธีการดำเนินการในอดีตที่ผ่านมานั้น หากใช้งบประมาณ 100 บาท เงินจะถึงมือเกษตรกรเพียง 5.1 บาท หรือ 5.1% เท่านั้น แต่วิธีที่กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการ ทั้งในเรื่องของแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ และเสาหลักกันโค้ง หากใช้งบประมาณ 100 บาท เงินจะถึงมือเกษตรกรประมาณ 70 บาทขึ้นไป หรือ 70%

ปิดท้ายด้วยเรื่องใหญ่แห่งปี 2563 ในวงการคมนาคม คือ เรื่องการฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” ที่ล่าสุด ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้ฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย เพื่อให้การบินไทยเข้าไปสู่ความรับผิดชอบของศาลและผู้ทำแผนฟื้นฟู ปลอดการเมือง เพื่อให้สายการบินแห่งนี้กลับมาผงาดได้อีกครั้ง

นี่คือผลงานเกือบ1ปีของรัฐมนตรีคมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงกระทรวงคมนาคมหลุดไปจากกรอบเดิมๆ หรือพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่วนรวม ดังที่เขาชอบย้ำเสมอว่า “ในยุคของผม จะต้องไม่มีค่าโง่ และต้องไม่ทิ้งภาระให้ใครไว้ข้างหลัง”






กำลังโหลดความคิดเห็น