การนำบริษัทที่อยู่คู่ประเทศไทยมากว่า 8 ทศวรรษ ให้ฝ่าฝันมรสุมของยุคดิจิทัล กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ "ล็อกซเล่ย์" ต้องลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรธุรกิจ ทั้งการปรับลดพนักงาน เพื่อทำให้องค์กรมีความคล่องตัวมากขึ้น พร้อมกับโฟกัสการทำธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต
แน่นอนว่าปัญหาหลักที่ล็อกซเล่ย์ พบเจอก็ไม่ได้แตกต่างจากหลายบริษัทที่กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ คือการมีพนักงานที่อยู่กับองค์กรมานาน ประกอบกับการวางโครงสร้างธุรกิจที่มีความซ้ำซ้อน ทำให้ต้องมีการเขย่าองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อให้มีความกระชับ ตัดหน่วยงานที่ไม่สร้างกำไรออกไป หันมาโฟกัสธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อที่จะปูทางสู่อนาคตประกอบกับในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ล็อกซเล่ย์ ได้มีการประกาศขาดทุนครั้งใหญ่กว่า 800 ล้านบาท เนื่องจากมีการตั้งงบสำรองกับโครงการติดตั้ง และวางระบบสายพานสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีความล่าช้าในการก่อสร้าง จนกระทบกับการวางสายพาน จึงตัดสินใจตั้งงบสำรองให้ครอบคลุมถึงปี 2564 ตามระยะเวลาของโครงการ
แม้ว่าการประกาศขาดทุนครั้งนี้ จะเป็นการคิดเผื่อในอนาคตข้างหน้า แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจ ซึ่งทำให้ภาพรวมธุรกิจของล็อกซเล่ย์ในปี 2562 นี้ มีโอกาสที่จะขาดทุนถึง 500 ล้านบาท ก่อนที่จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการนี้กลับมาในช่วง 2 ปีข้างหน้า
เมื่อเห็นถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจแล้ว คณะผู้บริหารของ ล็อกซเล่ย์ จึงได้ใช้ช่วงไตรมาสที่ผ่านมาพิจารณาถึงการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต ที่ไม่ใช่การพึ่งพารายได้จากการเข้าประมูลโครงการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับสภาพของธุรกิจด้วย
สุรช ล่ำซํา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่ ล็อกซเล่ย์ ต้องการเปลี่ยนองค์กรคือ การปรับภาพให้บริษัทกลายเป็น โฮลดิ้งคอมพานี หรือบริษัทที่เข้าไปลงทุนถือหุ้นในบริษัทลูก เพื่อสร้างรายได้ พร้อมไปกับการทำธุรกิจของตัวเอง
ทำให้ล็อกซเล่ย์ในช่วงหลังจากนี้ จะหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีควมเชี่ยวชาญ ที่สามารถสร้างรายได้ และทำกำไร พร้อมกับลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจไปในตัว ทำให้มีการปรับโครงสร้างการบริหาร พร้อมกับปรับลดพนักงาน เพื่อให้บริษัทคล่องตัว
โดยเริ่มจากการปรับลดตำแหน่งที่ปรึกษาของบริษัท พร้อมไปกับการผสมผสานคณะกรรมการบริหารที่จากเดิมมีทั้งคณะกรรมการจัดการ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการบริษัท ด้วยการควบรวมคณะกรรมการจัดการ และคณะกรรมการบริหารเข้าด้วยกัน รวมถึงการปรับลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงลงถึง 35%
ประกอบกับการปรับลดพนักงานจากราว 750 คน เหลือ 600 คน จะทำให้ล็อกซเล่ย์ สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ทันที 200 ล้านบาทต่อปี ทำให้ในปี 2563 ล็อกซเล่ย์มีโอกาสที่จะกลับมาทำกำไรได้เหมือนเดิม
เบื้องต้น ล็อกซเล่ย์ ประเมินว่าในปี 2563 จะสามารถสร้างรายได้ราว 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเติบโตจากในปีนี้ที่อยู่ราว 1.3 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยจะพลิกจากการขาดทุนมาเป็นกำไรได้แน่นอน เพราะสามารถปรับลดต้นทุนในการบริหารจัดการบุคลากร และยังมีแบคล็อก และโครงการที่มีโอกาสเข้าร่วมรับรู้รายได้อีกกว่า 1.9 หมื่นล้านบาทรออยู่
***มุ่งเน้น 5 สายธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ
ในส่วนของ 5 สายธุรกิจที่ล็อกซ์เล่ย์มีความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งได้เริ่มมีการปรับโครงสร้างมาตั้งแต่ช่วงปี 2561 ที่ให้ความสำคัญกับงานของภาครัฐน้อยลง และหันไปสร้างรายได้จากงานให้บริการ ที่มีความแน่นอนมากกว่า
โดยที่ผ่านมาล็อกซเล่ย์เริ่มมีการกระจายรายได้ไปยัง 5 กลุ่มธุรกิจ โดยมีธุรกิจไอทีเป็นส่วนที่สร้างรายได้มากที่สุด ตามด้วยธุรกิจเทรดดิ้ง และการให้บริการต่างๆ โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของ 5 ธุรกิจของล็อกซเล่ย์ ประกอบด้วยธุรกิจไอที 24% ธุรกิจเทรดดิ้ง 20% บริการ 20% เน็ตเวิร์กโซลูชัน 19% และพลังงาน 15%
สำหรับในส่วนของ 1.กลุ่มธุรกิจไอที จะมีหัวหอกสำคัญอย่าง ล็อกซบิท ที่เข้าไปให้บริการโซลูชันแก่ธนาคารพาณิชย์ และการติดตั้งระบบไอทีแก่หน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นกรมสรรพากร กรมศุลกากร จนถึงศูนย์ราชการต่างๆ
"ล็อกซบิท จะมีความเชี่ยวชาญในการวางระบบให้แก่ธุรกิจการเงิน การธนาคาร ซึ่งกำลังปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัล ทำให้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันในกลุ่มธุรกิจไอทียังมีงานในมือที่ทยอยรับรู้รายได้อีก 7-8 พันล้านบาท"
ตามมาด้วย 2.กลุ่มธุรกิจบริการ ที่ปัจจุบันสร้างรายได้จากการให้บริการรักษาความปลอดภัยจากบริษัท เอเชีย ซิเคียวริตี้ เมเนจเม้นท์ (ASM) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยานต่างๆ ที่ล่าสุดได้เข้าไปร่วมทุนกับทาง ท่าอากาศยานไทย (AOT) ตั้งบริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย โดยเข้าไปถือหุ้น 41.18% เพื่อให้บริการด้านการรักษาความปลอดภัยในสนามบิน ประกอบกับยังมีโอกาสในการนำ ASM เข้าไปดูแลระบบรักษาความปลอดภัย ให้แก่กรมท่าอากาศยานในอนาคตนอกจากนี้ ยังมีการขยายธุรกิจรักษาความปลอดภัยด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยภายใต้ ล็อกซเล่ย์ อีโวลูชั่น เทคโนโลยี (LET) ที่จะเป็นอีกหนึ่งดาวรุ่งสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ล็อกซเล่ย์ในอนาคต
ในส่วนของ 3.กลุ่มธุรกิจพลังงาน มีโอกาสที่จะผลักดันให้ ล็อกซเล่ย์ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (LPS) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่นเดียวกับ LET เนื่องจากในธุรกิจพลังงาน ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีผู้ให้บริการวางสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และสถานีฐานย่อย การบริหารจัดการโรงไฟฟ้า
ขณะที่ 4.กลุ่มของธุรกิจอาหาร และการจัดจำหน่าย ซึ่งจะเน้นการขยายช่องทางกระจายอาหารมากขึ้นจากธุรกิจนำเข้าอาหารทะเล ของบริษัท สยามสมุทร พร้อมกับให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายน้ำมันเครื่อง ที่ล่าสุดได้สิทธิเข้าไปจำหน่ายน้ำมันคาสตรอลในประเทศพม่า ก็ทำให้เห็นว่ามีโอกาสที่จะเติบโตอีกมากกว่า 10 เท่า โดยในช่วงปีที่ผ่านมาขายน้ำมันเครื่องไปได้กว่า 2 ล้านลิตร และมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปถึง 20 ล้านลิตร
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจเคมีภัณฑ์ ที่มีฐานลูกค้าครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมเซรามิค แก้ว ยาง พลาสติก อาหาร การเกษตร และเครื่องสำอาง รวมถึงการจำหน่ายน้ำมันพืชกุ๊ก และกากน้ำมันที่สามารถนำไปผสมกับอาหารสัตว์ และก่อให้เกิดรายได้ต่อเนื่อง
สุดท้าย 5.กลุ่มเน็ตเวิร์กและโซลูชัน ที่ปัจจุบันยังมีงานระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สร้างรายได้ต่อเนื่องไปถึงปี 2564 และมีโอกาสเข้าไปให้บริการซ่อมบำรุงรถไฟสายต่างๆ ในอนาคต รวมถึงระบบเก็บเงินทางด่วน และมอเตอร์เวย์ ที่ปัจจุบันกำลังก่อสร้างเส้นทางใหม่อย่าง บางปะอิน โคราช และ บางใหญ่ กาญจนบุรี ที่ล็อกซเล่ย์กำลังศึกษาอยู่
รวมไปถึงการให้บริการเปลี่ยนเครื่องส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัลให้แก่ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลในปัจจุบัน และการเปลี่ยนระบบวิทยุ จากแอนาล็อก ไปสู่ดิจิทัลเรดิโอในอนาคต
***ตั้งคณะกก.กลั่นกรองการลงทุน
แม้ว่าจะมีการปรับลดคณะกรรมการบริหารบางส่วนลง แต่ทางล็อกซเล่ย์ก็ได้มีการเพิ่มหน่วยงานพิเศษขึ้นมา เรียกว่า คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการและการลงทุน (Project Investment & Evaluation Committee : PIEC) เพื่อพิจารณาการลงทุน และเข้าประมูลในโครงการต่างๆ ของ 5 สายธุรกิจ
บนเป้าหมายในการพิจารณาการลงทุน ให้ล็อกซเล่ย์มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง เป็นผู้นำในตลาดที่ดำเนินธุรกิจอยู่ ไปจนถึงการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถขึ้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร
***ผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า
อีกหนึ่งโครงการที่ล็อกซเล่ย์ เชื่อว่าจะกลายเป็นทิศทางสำคัญที่เกิดขึ้นในอนาคต คือการมาของรถยนต์ไฟฟ้า ที่ก่อนหน้านี้ล็อกซเล่ย์ ได้เข้าไปเป็นพันธมิตรกับทาง บีวายดี ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีน ที่เข้ามาร่วมกันพัฒนา และศึกษาตลาดประเทศไทยโดยทางล็อกซเล่ย์ ได้ลงทุนพัฒนามาต่อเนื่องในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา โดยมีจุดเริ่มต้นจากความสนใจในการเข้าประมูลรถเมล์ไฟฟ้าของทางขสมก. แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการนำรถเมล์ไฟฟ้ามาให้บริการ
"แทนที่จะนั่งรอโครงการของรัฐ ตอนนี้ล็อกซเล่ย์เริ่มนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาให้บริการเป็นรถสาธารณะแล้ว อย่างโครงการแท็กซี่วีไอพี ที่เริ่มจากการรับผู้โดยสาร วิ่งรับส่งสนามบิน และเส้นทางทั่วไป"
ปัจจุบันโครงการแท็กซี่วีไอพี มีอยู่ราว 20 คัน แต่ในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 200 คัน เนื่องจากเห็นแนวโน้มว่าระดับราคาของรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเข้าถึงได้มากขึ้น ประกอบกับผู้โดยสารเริ่มรับรู้ และมีความเชื่อถือมากขึ้น แม้ว่าจะมีราคาที่แพงกว่ารถแท็กซี่ทั่วไป แต่ก็พร้อมที่จะโดยสารเพื่อให้ได้รับบริการ และประสบการณ์ที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม จุดที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น คือเรื่องการของเพิ่มสถานีชาร์จไฟในพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าของบีวายดี สามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร ทำให้สามารถให้บริการทางไกลได้ครอบคลุมกรุงเทพฯ - ระยองเท่านั้น แต่ถ้าในอนาคตมีการเพิ่มจุดให้บริการชาร์จไฟ ก็จะสามารถให้บริการได้ครอบคลุมมากขึ้นอีก