บมจ.ไอร่า แคปปิตอล (AIRA) เชื่อมั่นว่าภายใน 3 ปีข้างหน้างบการเงินรวมจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรจากที่ขาดทุนสุทธิมาหลายปีติดต่อกัน เนื่องจากจะเข้าช่วงเก็บเกี่ยวกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทลูกหลายธุรกิจที่กำลังเข้าสู่วัฏจักรการเติบโตอย่างชัดเจน เล็งแผนนำ บมจ.ไอร่า แอนด์ ไอฟุล นำร่องจดทะเบียนแบบ Dual Listing ทั้งตลาดหุ้นไทยและญี่ปุ่น และส่ง บมจ.ไอร่า ลีสซิ่ง เข้าตลาดหุ้นไทย พร้อมตั้งกอง REIT สยายปีกธุรกิจอสังหาฯ
นางนลินี งามเศรษฐมาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในฐานะแม่ทัพหญิงของกลุ่ม AIRA ระบุว่า บริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่ประกอบกิจการในลักษณะโฮลดิ้งคอมปานี มีการลงทุนในบริษัทลูกหลายธุรกิจ แม้ว่าปัจจุบันงบการเงินรวมของ AIRA จะยังขาดทุนสุทธิ ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้ค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนทางบัญชีจากเงินลงทุนในบริษัทลูก แต่ในมุมมองมีความเชื่อมั่นว่าภายใน 3 ปีข้างหน้างบการเงินรวมของบริษัทจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรจากที่ขาดทุนสุทธิมาหลายปีติดต่อกัน
AIRA ก่อตั้งมาแล้ว 13 ปี มีการกระจายการลงทุนในบริษัทลูกเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินและการลงทุนเป็นหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจหลักทรัพย์ภายใต้ บล.ไอร่า ซึ่ง AIRA ถือหุ้น 99.99%, ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินในไทยและสิงคโปร์ ภายใต้บริษัท ไอร่า แอดไวเซอรี่ ถือหุ้น 99.99% และ AIRA International Advisory (Singapore) ถือหุ้น 96.67%, ธุรกิจให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นประเภทแฟกตอริ่งผ่าน บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) โดยถือหุ้น 71.55%
ธุรกิจสินเชื่อบุคคลบริการบัตรกดเงินสด "A money" ผ่าน บมจ.ไอร่า แอนด์ ไอฟุล ถือหุ้น 60%, ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อผ่าน บมจ.ไอร่า ลีสซิ่ง ถือหุ้น 91.85%, ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราร่วมมือกับ Travelex Limited จากประเทศอังกฤษ จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ทราเวลเล็กซ์ (ไทยแลนด์) ถือหุ้น 99.99% ล่าสุดร่วมลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผ่าน บริษัท ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ ถือหุ้น 60%
*ปักธง 3 ปีงบรวมพลิกกำไร-ดันบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น
นางนลินีเปิดเผยต่อ "อินโฟเควสท์" ว่า จากกลยุทธ์แนวทางกระจายลงทุนในบริษัทลูกต่างๆ คาดว่าไม่เกิน 3 ปีข้างหน้างบการเงินรวมของ AIRA จะพลิกกลับมามีกำไรและเติบโตอย่างชัดเจนหลังจากขาดทุนสุทธิมาหลายปี ปัจจัยหลักมาจากแผนการนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก่ บมจ.ไอร่า ลิสซิ่ง เนื่องจากผลประกอบการมีกำไรแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงการเติบโต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำให้กำไรเติบโตมั่นคงและแข็งแรงมากกว่านี้ พร้อมทั้งมองหาโอกาสช่วงเวลาเหมาะสม เชื่อว่าภายหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วความสามารถด้านการเติบโตจะมีความมั่นคงในระยะยาว
ขณะที่ บมจ.ไอร่า แอนด์ ไอฟุล เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นกัน มีทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท ธุรกิจสินเชื่อบุคคลในประเทศไทยมีการแข่งขันกันสูง แต่ก็ยังมีความต้องการอยู่มาก โดยมีรายรับจากดอกเบี้ยเข้าหลักร้อยล้านบาทต่อเดือน คาดว่าผลประกอบการจะเริ่มทำกำไรได้ดีขึ้นตามลำดับ ล่าสุดอยู่ระหว่างให้บริษัทมีผลกำไรที่เหมาะสม โดยบริษัทดังกล่าวเป็นการร่วมลงทุนกับบริษัทกับกลุ่มไอฟุล ผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นก็อาจพิจารณานำเข้าจดทะเบียน 2 ตลาด (Dual Listing) ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ไทยและญี่ปุ่น
*ปั้นอสังหาฯ ขายเข้ากองรีท 1 หมื่นล้านบาท
นางนลินีกล่าวอีกว่า ผลประกอบการที่คาดว่าจะดีขึ้นส่วนหนึ่งมาจาก บริษัท ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งกลุ่ม AIRA ถือหุ้นสัดส่วน 60% ร่วมกับพันธมิตร คือ กลุ่มเคเนดิกซ์ ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริหารกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มยูจีน ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้
ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ มีแผนรับรู้รายได้และกำไรตามการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในโครงการอาคารสำนักงานให้เช่า บริษัทมีแผนขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ที่มีขนาดสินทรัพย์เบื้องต้นมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีข้างหน้า
สำหรับโครงการแรกที่ประเดิมการลงทุนในอาคารสำนักงานให้เช่า คือ Spring Tower มูลค่า 2,500 ล้านบาท ที่ได้เปิดตัวไปแล้ว โครงการดังกล่าว ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ ถือหุ้นสัดส่วน 60%, บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) ถือหุ้น 25% และ บริษัทแสงฟ้าก่อสร้าง ถือหุ้น 15% มีผลตอบแทนจากการลงทุนปล่อยเช่า (Yield) ประมาณกว่า 9% ถือว่าอยู่ในอัตราสูงกว่าอุตสาหกรรมที่ 7-8%
ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมอีก 2-3 โครงการ คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนได้ภายในไตรมาส 1/63 หรืออย่างช้าไม่เกินไตรมาส 2/63 เป็นไปตามแผนขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท
"จากการศึกษาข้อมูลในธุรกิจอสังหาฯ ในไทยพบว่ากำไรที่เกิดจากการขายสินทรัพย์เข้ากองรีทจะสูงมากประมาณ 20-35% ขณะที่ผู้ลงทุนยังมีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ นอกจากนั้น บริษัทยังมีพันธมิตรกลุ่มทุนรายใหญ่ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สามารถช่วยนำกองรีทของเราไปขายให้กับนักลงทุนในต่างประเทศได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย" นางนลินีกล่าว
นางนลินีกล่าวอีกว่า ถ้าย้อนหลังไป 10 ปี งบการเงินเดี่ยวของบริษัทมีกำไรมาตลอด แต่สิ่งที่ทำให้งบการเงินรวมขาดทุนสุทธิ เป็นลักษณะปกติของบริษัทที่เป็น "โฮลดิ้งคอมปานี" ซึ่งในช่วงแรกของการลงทุนประมาณ 3-5 ปีจะเห็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าเงินย้ายไปอยู่ในสินทรัพย์ที่บริษัทลงทุนซึ่งยังไม่สามารถบันทึกเข้ามาเป็นกำไรได้ทันที แต่เมื่อทุกธุรกิจถึงจุดคุ้มทุน หรือจุดสมดุลของการลงทุนในธุรกิจในเครือแล้ว จากนั้นบริษัทก็จะทยอยรับรู้กำไรต่อเนื่อง กราฟกำไรในงบการเงินรวมจะเป็นขาขึ้นทันที
"การลงทุนในหุ้น AIRA ไม่ใช่ลงวันนี้แล้วพรุ่งนี้เห็นกำไร ผู้ที่มาลงทุนกับเราควรเป็นผู้ลงทุนระยะยาว หรือผู้ที่มีเงินเย็น สิ่งที่ต้องพิจารณาคือรายได้ต้องเติบโตทุกปี แม้รายจ่ายเพิ่มขึ้นตามรายได้ แต่เปอร์เซ็นต์หรืออัตราค่าใช้จ่ายจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดคุ้มทุน จากนั้นกราฟกำไรของงบการเงินรวมจะเป็นขาขึ้นชัดเจน คาดว่าน่าจะเห็นไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า"
*เล็งรุกธุรกิจ "Wealth management" เสริมแกร่งโบรกเกอร์
นางนลินีกล่าวว่า แม้วันนี้รายได้หลักของ AIRA มาจากธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ แต่บริษัทปรับกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงจากการแข่งขันมากขึ้นในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีพัฒนารวดเร็ว มีโอกาสกระทบรายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงไปเรื่อยๆ ปัจจุบันบริษัทมีแผนขยายการให้บริการที่ปรึกษาบริหารการลงทุนประเภท Wealth management ผ่านบริษัท ไอร่า แอสเซท แมเนจเมนท์
ล่าสุดบริษัทกำลังยื่นขอใบอนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสริมบริการมารองรับลูกค้าของบริษัทในกลุ่ม High Net Worth ที่มีสัดส่วนมากขึ้นและมีความต้องการได้รับการบริการที่ปรึกษาการลงทุนที่ดี เช่น คำแนะนำลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือแม้แต่เรื่องภาษี เป็นต้น
"สิ่งที่แตกต่างธุรกิจ Wealth management ของไอร่ากับรายอื่นคือบริษัทมีพันธมิตรต่างชาติหลายรายที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ สะท้อนว่าความสัมพันธ์เกี่ยวกับโอกาสการลงทุนสินทรัพย์ที่มีศักยภาพอยู่ทั่วทุกมุมโลก บริษัทมีหน้าที่นำสินค้าเหล่านั้นให้กับลูกค้าตัดสินใจ พร้อมเป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลที่ดีเพื่อเกิดผลตอบแทนการลงทุนสูงสุดสอดคล้องไปกับความเสี่ยง นอกจากนั้น พันธมิตรต่างชาติของไอร่ายังสามารถดึงลูกค้าต่างประเทศเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ของไทยได้เช่นกัน
ดังนั้น เชื่อมั่นว่าธุรกิจ Wealth management จะสามารถเติบโตได้ในระยะยาว ซึ่งในอนาคตมองว่ารายได้ค่าคอมมิชชันจะลดลงไปเรื่อยๆ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มีทางเลือกหลากหลาย ลูกค้าไม่จำเป็นต้องต่อสายโทรศัพท์คุยกับมาร์เกตติ้งแล้ว ทำให้อาชีพนี้ Value ลดลง ในมุมของลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจ ยังคงใช้บริการด้าน asset management มากกว่า เพราะเชื่อว่าใช้เวลาไปทำธุรกิจได้เงินมากกว่ามาลงทุนด้วยตัวเอง ถ้าบริษัทมีบริการที่ดีลูกค้าก็ยังคงใช้บริการเช่นเดิม"
นางนลินีกล่าวต่อว่า ทุกวันนี้มีหลายบริษัทหลักทรัพย์โฆษณาค่าคอมมิชชัน 0% จำนวนมาก แต่ บล.ไอร่า จะไม่ลงไปแข่งขันลดค่าคอมมิชันเพราะไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจหลักทรัพย์อยู่รอด โดยส่วนตัวมองว่าการตั้งราคาค่าคอมม์ถูกเกินไปผิดไปจากพฤติกรรมจากสิ่งที่ควรเป็น ลูกค้าต้องคิดเองว่าชีวิตนี้ไม่มีของฟรี สิ่งสำคัญคือต้องให้บริการที่ดี
"ธุรกิจโบรกเกอร์ไม่ใช่มีหน้าที่แค่คีย์คอมพิวเตอร์หรือคุยโทรศัพท์ แต่ต้องมีบริการที่ดี แค่ลุกออกจากเก้าอี้ที่ตัวเองนั่งแล้วเดินไปหาลูกค้าเพื่อให้คำอธิบายหรือคำแนะนำต่างๆ ป้องกันไม่ให้ลูกค้าตัดสินใจลงทุนผิดพลาด และให้กำลังใจ หาทางออกที่ดีให้ลูกค้า ถ้าลูกค้ารู้สึกสบายใจที่ใช้บริการกับเราคิดว่าปัญหาการแข่งขันค่าคอมม์ก็คงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป"
*พัฒนาระบบ Core Systems รองรับยุคดิจิทัล
นางนลินีกล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาบริษัทปรับตัวเพื่อรองรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงิน อันดับแรกคือการให้คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยบริหารบริษัท สะท้อนได้จากตำแหน่ง CEO ของบริษัทในเครือเฉลี่ยอายุ 40-50 ปีต้นๆ ช่วยทำให้เกิด Vision และ Mission ที่ดีในระยะยาว ทุกคนมีมุมมองค่อนข้าง Aggressive พอสมควร นอกจากนั้น บริษัทได้ขยายการลงทุนในระบบ Core Systems ของกลุ่ม ยกตัวอย่างใน ไอร่า แฟคตอริ่ง และไอร่า ลีสซิ่ง พัฒนาระบบไอทีมาโดยตลอด โดยบริษัทมีนโยบายยกระดับการให้บริการ อาทิ ลูกค้านั่งอยู่ที่บ้านสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบริษัทในเครือได้ทั้งหมด
"สิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือต้องทำ เพราะถ้าช้ามูลค่าเวลาจะแพงกว่านั้นแน่นอน เราช้าไม่ได้เพราะการลงทุนพัฒนาระบบ Core Systems ต้องใช้เวลานาน แต่วันนี้เราไม่ห่วง โดยเฉพาะ CEO แต่ละบริษัทในเครือ เป็นคนรุ่นใหม่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ดี"