ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน "ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ "ที่ระดับ "A" ขณะ เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่"
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่ระดับ "A" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่" ด้วย โดยแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งต่อสถานะการเงินของบริษัทที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงจากการที่บริษัทมีภาระหนี้ในระดับสูงและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2563 ที่จะอ่อนแอลงอันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้ง มองว่าผลกระทบในเชิงลบจากโควิด-19 จะเกิดเพียงชั่วคราวและสถานะทางธุรกิจของบริษัทในระยะยาวจะยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าบริษัทยังต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าที่กระแสเงินสดจากธุรกิจรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเติบโตหลังจากการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายครบทั้งหมด
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินธุรกิจทางด่วนที่สม่ำเสมอและโอกาสในการเติบโตของธุรกิจรถไฟฟ้า ทั้งนี้ การที่บริษัทได้รับการต่ออายุสัมปทานทางด่วนออกไปจนถึงปี 2578 นั้น ช่วยสนับสนุนสถานะเครดิตของบริษัทอีกด้วย เนื่องจากจะช่วยให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ในระยะยาว
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งเนื่องจากโอกาสที่ผู้ประกอบการรายอื่นจะเข้ามาแข่งขันในธุรกิจหลักของบริษัท คือ ธุรกิจทางด่วนและธุรกิจรถไฟฟ้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่มีขีดความสามารถและเงินทุนที่มากพอที่จะแข่งขันประมูลงานโครงการก่อสร้างและดำเนินงานทั้งระบบทางด่วนและระบบขนส่งมวลชนทางราง
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทยังเป็นผลมาจากความสม่ำเสมอของรายได้จากธุรกิจทางด่วนอันเป็นผลจากการมีที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ของทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งเชื่อมต่อกับทางด่วนขั้นที่ 1 ทั้งนี้ การที่บริษัทได้รับการต่ออายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 และต่อสัญญาโครงการทางด่วนบางปะอิน - ปากเกร็ด (ส่วน C+) ออกไปเมื่อเร็ว ๆ นี้นั้นจะช่วยทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่มั่นคงในระยะยาว
นอกจากนี้ การที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้เป็นเครือข่ายเชื่อมโยง ถึงกันยังจะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของบริษัทอีกด้วย จากการที่บริษัทเป็นผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์และมีความพร้อมสูง บริษัทจึงอยู่ในสถานะได้เปรียบที่จะชนะการประมูลโครงการภาครัฐอีกหลาย ๆ โครงการในอนาคต นอกจากนี้ การที่เส้นทางเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีลักษณะเป็นวงแหวนก็เอื้อประโยชน์ในการรับผู้โดยสารต่อมาจากรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ เพื่อป้อนให้แก่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอีกด้วย
ผลกระทบในระยะสั้นจากโควิด-19
ทริสเรทติ้งมองว่าผลกระทบในเชิงลบจากโควิด-19 ที่มีต่อปริมาณการจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้นจะเป็นเพียงชั่วคราว โดยทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณจราจรบน ทางด่วนจะทยอยฟื้นตัวในช่วงเวลาไม่นานหลังจากที่ภาครัฐมีนโยบายผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง แต่จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้านั้นอาจต้องใช้เวลาที่นานกว่าในการฟื้นตัว ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทรายงานปริมาณจราจรและรายได้จากธุรกิจทางด่วนที่ลดลง โดยปริมาณจราจรบนทางด่วนลดลง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่จำนวน 0.99 ล้านเที่ยว ต่อวัน และรายได้ค่าผ่านทางบนระบบทางด่วนโดยเฉลี่ยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าในอัตรา 21.6% โดยอยู่ที่ 22.16 ล้านบาทต่อวัน อย่างไรก็ดี ได้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของทั้งปริมาณจราจรและรายได้จากธุรกิจทางด่วนหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดต่าง ๆ
ทริสเรทติ้งคาดว่าทั้งปริมาณจราจรและรายได้จากธุรกิจทางด่วนจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติหรือต่ำกว่าเล็กน้อยในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 โดยสมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณจราจรจะลดลงประมาณ 13%-15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และจะกลับสู่ระดับปกติในปี 2564-2565
สำหรับธุรกิจรถไฟฟ้านั้น รายได้ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงเป็นอย่างมากในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 จำนวนผู้โดยสารโดยเฉลี่ยลดลง 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 2.68 แสนเที่ยวต่อวัน และรายได้ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อวันลดลง 10.4% อยู่ที่ 7.18 ล้านบาท การเปิดส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วยบรรเทาผลกระทบจากการลดลงของจำนวนผู้โดยสารและรายได้
โดยทริสเรทติ้งมองว่าการฟื้นตัวของธุรกิจรถไฟฟ้าจะใช้เวลามากกว่าธุรกิจทางด่วน เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลจะยังคงดำเนินมาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคมบางส่วนต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งส่งผลให้รถไฟฟ้า 1 ขบวนสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้น้อยลง ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนผู้โดยสารโดยเฉลี่ยของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะอยู่ที่ 2.85-3 แสนเที่ยวต่อวันในปี 2563 และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4-5 แสนเที่ยวต่อวันในปี 2564-2565
รายได้ลดลงในปี 2563 แต่จะปรับดีขึ้นในปี 2564-2565
ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานและเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทจะลดลงในปี 2563 ตามสมมติฐานที่ปริมาณการจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าลดลง อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งเชื่อว่าทั้ง 2 ธุรกิจจะฟื้นตัวกลับมาได้หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงและมีการยกเลิกมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมโรค
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.4% โดยอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 36.5% บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 0.8 พันล้านบาท
สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.44-1.46 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7-1.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565 ความสามารถในการทำกำไรคาดว่าจะอ่อนตัวลงในปี 2563 อันเป็นผลจากรายได้ที่ลดลง โดยคาดว่าบริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 36%-37% ในปี 2563 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 40%-42% ในปี 2564-2565 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับไม่ต่ำกว่า 5.3 พันล้านบาทในปี 2563 และ 7.3-7.6 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565
ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาทในปี 2563 และ 4.5-4.8 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565 ทั้งนี้ โอกาสที่รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะดีกว่าที่คาดการณ์นั้นจะขึ้นอยู่กับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นหลัก
ภาระหนี้อยู่ในระดับสูง
อันดับเครดิตของบริษัทได้รับแรงกดดันจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง โดยในเดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีภาระหนี้สินทางการเงินจำนวน 5.68 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมภาระหนี้ประมาณ 0.98 หมื่นล้านบาทจากการลงทุนในระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้าสายสีม่วงเนื่องจากภาระหนี้ดังกล่าวมีสัญญาการชำระคืนหนี้จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในระยะเวลา 10 ปีรองรับอยู่ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 7.7 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้วโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 6.6% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้วโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน)
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะสั้นถึงปานกลาง โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5.0-5.2 พันล้านบาทในปี 2563 และประมาณ 0.5-1.0 พันล้านบาทต่อปีในปี 2564-2565 และจากผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อรายได้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2563 โดยสมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และ ค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ 11-12 เท่าในปี 2563 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7.5-8.5 เท่าในช่วงปี 2564-2565
ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5% ในปี 2563 และปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7%-8% ในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ระดับดังกล่าวไม่สอดคล้องกับอันดับเครติตปัจจุบันของบริษัทและอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตลงได้ถ้าหากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับ
ปรุงแล้วอยู่ในระดับสูงกว่า 7 เท่าอย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในระยะ 12-24 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีแผนการลงทุนรวมประมาณ 5.0-6.2 พันล้านบาทในช่วงดังกล่าว รวมทั้งจะมีภาระทางการเงินที่ครบกำหนดชำระรวมประมาณ 1.51 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะจ่ายเงินปันผลอีกประมาณ 1.8-2.2 พันล้านบาทต่อปี แหล่งสภาพคล่องของบริษัทจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดหมายว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 7.5 พันล้านบาท รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ เดือนมีนาคม 2563 อีกจำนวน 7.2 พันล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทจะต้องกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ทดแทนหนี้สินบางส่วนที่จะครบกำหนดชำระ ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการได้เมื่อพิจารณาจากพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทและความสัมพันธ์ที่บริษัทมีกับธนาคารต่าง ๆ นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนใน บมจ. ทีทีดับบลิว (TTW) และ บมจ. ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ซึ่งมีมูลค่ายุติธรรมรวมอยู่ที่ 1.63 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เพื่อเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินอีกด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.44-1.46 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7-1.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565
อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 36%-37% ในปี 2563 และระดับ 40%-42% ในปี 2564-2565
กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 5.3 พันล้านบาทในปี 2563 และ 7.3-7.6 พันล้านบาทต่อปี ในระหว่างปี 2564-2565
เงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาทในปี 2563 และ 4.5-4.8 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565เงินลงทุนจะอยู่ที่ 5-5.2 พันล้านบาทในปี 2563 และประมาณ 0.5-1 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งต่อสถานะการเงินของบริษัทที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงจากการที่บริษัทมีภาระหนี้ในระดับสูงและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2563 ที่จะอ่อนแอลงอันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่ารายได้จากการดำเนินธุรกิจรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยังต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการเติบโตหลังจากการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายครบทั้งหมด
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 7 เท่าอย่างต่อเนื่องทั้งจากผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงหรือการลงทุนโดยการก่อหนี้ในระดับสูง
แนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะได้รับการปรับกลับมาเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจนบริษัทสามารถรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 7 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่สถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจนมีระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วต่ำกว่า 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง