xs
xsm
sm
md
lg

“เคอร์ฟิว” ฉุดผู้โดยสารระบบรางลด 92.32% “ศักดิ์สยาม” ยันเยียวยาเอกชนยึดตามสัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้โดยสารระบบรางลด 92.32% หลังเคอร์ฟิวปิดบริการก่อน 4 ทุ่ม เผย BTS เหลือ 5.7 หมื่นคน ส่วน MRT น้ำเงินและม่วงเหลือ 2.8 หมื่นคน “ผู้ว่าฯ รฟม.” เข้มมาตรการเว้นระยะ ด้าน “ศักดิ์สยาม” ยันรัฐเน้น ปชช.ปลอดภัย ส่วนผลกระทบเอกชนยึดตามสัญญา

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่คืนวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในส่วนของระบบรางทั้งหมดนั้น ได้มีการปรับเวลาการเดินรถให้สอดคล้องกับประกาศเคอร์ฟิว โดยรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ทุกสายปิดให้บริการในเวลา 21.30 น. ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) งดการเดินรถโดยสารเชิงพาณิชย์เส้นทางสายเหนือ, สายใต้, สายตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งรถด่วนพิเศษ รถเร็ว, รถท้องถิ่น

โดยเมื่อวันที่ 4 เม.ย. พบว่าจำนวนผู้โดยสารใช้บริการระบบรางทั่วประเทศมีจำนวนลดลง 89.32% ส่วนวันที่ 5 เม.ย. ผู้ใช้บริการลดลง 92.32%

โดย ร.ฟ.ท.มีผู้โดยสาร จำนวน 7,156 คน (446 สถานี) รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มีผู้โดยสาร 5,434 คน (8 สถานี) รถไฟฟ้า MRT มีผู้โดยสารรวม 28,492 คน(53 สถานี) จากปกติที่มีผู้ใช้บริการ เกือบ 5 แสนคน/วัน แบ่งเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีจำนวน 24,355 คน (ปกติ 4.5 แสนคน) สายสีม่วง มีจำนวน 4,137 (ปกติ( 6-7 หมื่นคน/วัน) และรถไฟฟ้าบีทีเอส มีผู้โดยสาร 57,300 คน จากปกติที่มีผู้โดยสาร 8.5 แสนคน/วัน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ในวันปกติขณะนี้ผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงินและสีม่วงรวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 8-9 หมื่นคน/วัน คาดว่าในวันอังคารที่ 7 เม.ย.ซึ่งเป็นวันทำงาน ผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT จะกลับมาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รฟม.และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ยังคงดำเนินมาตรการ Social Distancing ในการดูแลผู้โดยสารในระบบอย่างเข้มข้น

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอันดับแรก ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการระบบขนส่งทุกรายให้ความร่วมมือในมาตรการเว้นระยะห่าง ขณะที่จำนวนผู้โดยสารลดลงมากหลังจากให้ประชาชนร่วมมือกันอยู่บ้าน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคโควิด-19 ทุกคน ทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกัน ความร่วมมือกันทุกภาคส่วน เชื่อว่าจะทำให้ไทยสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ และกลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว หากประเทศรอด ประชาชนทุกคนและผู้ประกอบการจะรอด ส่วนผลกระทบทางธุรกิจ มีสัญญาที่สามารถนำมาพิจารณาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น