xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ชง ครม.ก.ค.รื้อแผนฟื้นฟู ขสมก. เช่ารถเมล์ไฟฟ้า-ค่าตั๋วเหมา 30 บ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” เคาะแผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับปรับใหม่ ใช้วิธีเช่ารถเอกชนวิ่ง เป็นรถเมล์ไฟฟ้า เก็บค่าโดยสาร 30 บาทตลอดวันไม่จำกัดเที่ยว ปฏิรูปเหลือ 162 เส้นทาง ชง ครม.ก.ค.นี้ คาดรับรถชุดแรก มี.ค. 64 ขออุดหนุนช่วง 7 ปีแรก 9.6 พันล. มั่นใจล้างหนี้ 1.29 แสนล.ได้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า แผนฟื้นฟูใหม่ได้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดแผนงานเสร็จแล้ว ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก.นำเสนอมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว ล่าสุดได้นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาแล้ว คาดว่าจะเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในเดือน ก.ค. 63

โดยหลังจาก ครม.อนุมัติ ขสมก.จะเริ่มดำเนินการจัดหารถใหม่ โดยจัดทำ TOR จัดซื้อจัดจ้าง โดยหลังจากนี้ ขสมก.จะใช้วิธีจัดหารถให้บริการ โดยการจ้างวิ่งรถตามระยะทาง เอกชนจะต้องหารถ หาพนักงาน หาเชื้อเพลิง หาที่จอดรถ ทั้งหมด รับจ้างวิ่ง โดย ขสมก.จัดเก็บค่าโดยสารที่30 บาทตลอดวัน.ซึ่งตามแผนฟื้นฟูใหม่ จะมีการจัดหารถปรับอากาศใหม่ EV จำนวน 2,511 คัน โดยชุดแรกจะเริ่มให้บริการในเดือนมี.ค. 64 และส่งมอบครบทั้งหมดในเดือน ก.ย. 65

สำหรับแผนฟื้นฟู ขสมก.นั้น มีวัตถุประสงค์ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบเหมาเป็นแบบตั๋ววัน 30 บาท/คน/วัน สามารถใช้บริการได้ทุกเส้นทางไม่จำกัดเที่ยว กรณีเป็นตั๋วเดือน ค่าโดยสารเฉลี่ย 25 บาท/คน/วัน ซึ่งถูกลงกว่าในปัจจุบันประมาณ 20 บาท/วัน ส่วนกรณีต้องการเดินทาง เพียงเที่ยวเดียว หรือเดินทางระยะสั้น หรือไม่ได้เดินทางทุกวันเป็นประจำจะกำหนดอัตราตามระยะทางเริ่มต้นที่15 บาท นอกจากนี้จะมีส่วนลดสำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุด้วย

ทั้งนี้ การกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ 30 บาทตลอดวันนั้น ขสมก.ให้ทีดีอาร์ไอศึกษาวิเคราะห์โดยพบว่า ในปี 63 มีผู้ใช้บริการรถเมล์ของ ขสมก.จำนวน 530,000 คน-เที่ยว/วัน, ในปี 62 มีจำนวน 1,062,947 คน-เที่ยว/วัน แบ่งเป็นผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 50,000 คน ผู้ใช้ทั่วไป 480,000 คน

การวิเคราะห์พบว่า หาก ขสมก.จัดเก็บค่าโดยสารปรับอากาศได้ที่ 30 บาท/ คน/ตลอดวัน จากเดิมที่มีการจัดเก็บค่าโดยสารปรับอากาศเฉลี่ยที่ 15-25 บาท/คน/ เที่ยว ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารได้รับประโยชน์ค่าโดยสารถูกลงจากเดิมถึง 20 บาท/คน/วัน

2. แก้ปัญหาการจราจรติดขัด โดยการปรับปรุงเส้นทางเดินรถไม่ให้ทับซ้อนกัน จากปัจจุบัน 269 เส้นทาง จะปรับเป็น 162 เส้นทาง โดยเป็นขสมก. 108 เส้นทาง เป็นรถร่วมเอกชน จำนวน54 เส้นทาง สามารถลดจำนวนรถที่จะนำมาให้บริการลง 300-500 คัน จากเดิมที่ต้องใช้รถจำนวน 4,800- 5,000 คัน การปฏิรูปเส้นทาง จะเหลือรถที่ให้บริการที่ 4,500 คัน

3. ลดปัญหามลพิษในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล โดยใช้รถที่ใช้พลังงาน NGV หรือรถเมล์ไฟฟ้า (EV)

4. แก้ปัญหาการขาดทุนของ ขสมก.อย่างยั่งยืน ซึ่งแผนกำหนดว่าภายใน7ปี หลังครม.อนุมัติ EBIDA เป็นบวกในปี 72

5. ให้ ขสมก.สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และไม่เป็นปัญหาต่องบประมาณของภาครัฐ โดย ขสมก.ขอรับเงินสนับสนุนการเดินรถเพื่อการให้บริการสังคม (PSO) ระยะเวลา 7 ปี (63-71) วงเงินรวมไม่เกิน 9,674 ล้านบาท เนื่องจาก
ในช่วงปีแรกๆ ขสมก.ยังจะมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายแต่หลับจากนั้น ตามแผนฟื้นฟูจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น

ปัจจุบัน ปัญหาของ ขสมก. ได้แก่ การขาดสภาพคล่องอย่างหนัก โดยสถานะทางการเงินของ ขสมก. ณ วันที่ 29 ก.พ. 63 มีหนี้สะสมรวม 129,507.311 ล้านบาท นอกจากนี้ รถยังมีสภาพเก่า อายุใช้งานเกินกว่า 20 ปี ทำให้เกิดต้นทุนในการซ่อมบำรุง รักษาสูง มีจำนวนรถไม่เพียงพอในการบริการ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ขสมก.จะแก้ปัญหาหนี้สินและลดค่าใช้จ่ายลงได้

ขณะที่มีจำนวนพนักงาน 13,961 คน (พนักงานขับรถ 5,781 คน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 5,918 คน พนักงานสำนักงาน 2,263 คน) คิดเป็นสัดส่วนรถ1 คันต่อพนักงาน 4.65 คนทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงานสูง ซึ่งมีแผนเกษียณก่อนอายุ หรือการปรับเปลี่ยนหน้าที่ ซึ่งปัจจุบันมีความขาดแคลนคนขับรถ และอนาคต บริษัทที่เป็นผู้รับจ้างวิ่ง สามารถรับพนักงานขับรถจาก ขสมก.ไปได้

“นโยบายเร่งด่วนในการฟื้นฟู ขสมก.นั้น ได้กำหนดเป้าหมาย ไว้ว่าจะต้องสามารถดำเนินกิจการที่มีประสิทธิภาพ ให้บริการประชาชนอย่างมีคุณภาพ และไม่ขาดทุน ไม่เป็นภาระต่องบประมาณของรัฐ โดย ขสมก.ต้องช่วยแก้ไขปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ดังนั้น รถที่จะนำมาวิ่งให้บริการ จะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นรถปรับอากาศทั้งหมด, มีการปฏิรูปเส้นทางไม่ให้ทับซ้อนที่จะทำให้เกิดปัญหาจราจร และจัดช่องทางเดินรถเฉพาะโดยชิดเกาะกลางถนน (บัสเลน)” นายศักดิ์สยามกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น