xs
xsm
sm
md
lg

ออกต่างจังหวัดแล้วทำไงได้? รวมแนวทางกลับภูมิลำเนา กักตัว 14 วัน ดูแลตัวเอง มีไข้รีบไปพบแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ได้เเต่อยู่ห่างๆ ทั้งที่ยังห่วงๆ เเละไม่มีสิทธิ์หวง เพราะไม่ใช่เจ้าของเธอ ... รวมวิธีปฏิบัติตัวของคนที่ออกต่างจังหวัดช่วงวันหยุดยาว มีทั้งคนไปเที่ยวแบบนิ่งนอนใจ และคนกลับบ้านไปตั้งหลัก แนะเฝ้าระวังอยู่บ้าน 14 วัน มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ไปพบหมอ แนะเปิดระบบไทม์ไลน์ใน Google Maps หรือดาวน์โหลดแอปฯ หมอชนะช่วยอีกทาง

ทีมข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online ... รายงาน

ภาพที่ประชาชนจำนวนมากเดินทางออกต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดยาว ได้แก่ วันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค., วันฉัตรมงคล 4 พ.ค., วันวิสาขบูชา 6 พ.ค. และวันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 11 พ.ค. คงเป็นภาพที่ทำให้คนไทยอีกส่วนหนึ่งกังวลว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จะกลับมาอีกเป็นระลอกสองหรือไม่

เนื่องจากก่อนหน้านี้ รัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่งจะออกมาตรการผ่อนปรนประเภทกิจการและกิจกรรม 6 ประเภท ได้แก่ ตลาด ร้านจำหน่ายอาหาร กิจการค้าปลีก-ส่ง กีฬา สันทนาการ, ร้านตัดผม เสริมสวย และร้านตัดขนสัตว์ รับเลี้ยงรับฝากสัตว์ โดยจะเริ่มในวันที่ 3 พฤษภาคม 2563

ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ยอมรับว่า น่ากังวล เพราะเป็นการเคลื่อนย้ายคน ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคและติดโรค แม้ว่าอยู่ในช่วงผ่อนปรน แต่หากไม่มีความจำเป็นขอให้งดเดินทาง แต่หากเดินทางกลับไปแล้ว ขอให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่ต้องพบปะสังสรรค์กับใคร ปรับตัวให้เข้ากับมาตรการของจังหวัดนั้นๆ และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดขณะเดินทาง

อย่างไรก็ตาม จะมีบางจังหวัดที่ออกประกาศให้ผู้ที่เข้ามาในภูมิลำเนากักตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน ถ้าแต่ละจังหวัดมีข้อกำหนดอย่างไร ก็ให้ดำเนินการตามนั้น

จากการสังเกตการเคลื่อนย้ายคนจากกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัดในช่วงเวลานี้ เกิดจากส่วนแรก ประชาชนที่ตั้งใจจะเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว เนื่องจากไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และคิดไปเองว่าตัวเลขผู้ป่วยลดลงแล้ว กลับมาคงไม่ติดเชื้อโควิด-19 และเชื่อว่า รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

อีกส่วนหนึ่งคือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ขอกลับไปตั้งหลักที่ภูมิลำเนา เพราะมาตรการผ่อนปรนยังมาไม่ถึงกิจการ หรือกลุ่มอาชีพของพวกเขา อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือของรัฐไม่มีความชัดเจน และเมื่อรายรับไม่มีเข้ามา แต่รายจ่ายกลับเท่าเดิมและมีแต่จะเพิ่มขึ้น การกลับภูมิลำเนาจึงเป็นอีกทางออกหนึ่ง แม้คนบางจังหวัดจะถูกให้กักตัว 14 วันก็ตาม


- 9 ข้อปฏิบัติตน เมื่อเดินทางถึงภูมิลำเนา บางจังหวัดต้องกักตัวเอง 14 วัน

ก่อนหน้านี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากมาตรการที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนปรับพฤติกรรมการอยู่ร่วมกัน ให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) งดกิจกรรมทางสังคม เน้นอยู่บ้านให้มากที่สุดตามนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

แต่ก็ยังปรากฏว่า มีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด ทำให้เสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ไปยังครอบครัว และผู้คนในชุมชนได้ จึงขอให้ประชาชนที่เดินทางกลับต่างจังหวัดงดการเดินทาง หากมีไข้ และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการเมื่อเดินทางถึงภูมิลำเนา ด้วยการเฝ้าระวังอาการอยู่กับบ้าน 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ได้แก่

1. วัดอุณหภูมิร่างกายทุกวัน หากพบว่า มีไข้ อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ให้ไปพบแพทย์ โดยแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือแจ้ง 1422 เพื่อประสานการรับตัว

2. ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ ให้ลูบมือด้วย เจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ปิดปากปิดจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอ จาม

3. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และควรอยู่ห่างจากคนอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร หรือ 1-2 ช่วงแขน หรือใช้เวลาพบปะผู้อื่นให้สั้นที่สุด

4. ให้แยกห้องนอน ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ โทรศัพท์ รวมทั้งให้แยกทำความสะอาด

5. จัดให้มีน้ำดื่ม แยกเฉพาะ แยกการรับประทานอาหาร ไม่รับประทานร่วมกับคนในครอบครัว และเก็บล้างภาชนะด้วยน้ำยา ล้างจาน ผึ่งให้แห้งและตากแดด

6. ให้แยกขยะเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว ขวด เป็นต้น และแยกขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ซึ่งในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อโดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น และทำลายเชื้อโดยราดด้วยน้ำยาฟอกขาว แล้วมัดปากถุงให้แน่น นำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป

7. ให้แยกการใช้ห้องส้วมกับคนในครอบครัว หากแยกไม่ได้ ควรใช้ห้องส้วมเป็นคนสุดท้าย และให้ทำความสะอาดทันทีหลังใช้ส้วม ให้ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

8. กรณีจำเป็นต้องพบปะผู้อื่น ให้ใช้หน้ากากอนามัย ซึ่งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างด้วยสบู่และน้ำทันที

9. งดกิจกรรมนอกบ้าน งดการสังสรรค์ งดไปในที่ชุมชน งดใช้ขนส่งสาธารณะ


- ตัวช่วย “เก็บข้อมูลการเดินทาง” ไว้ตรวจสอบย้อนหลังเมื่อมีอาการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ ในขั้นตอนการสอบสวนโรค หนึ่งในนั้นจะมีการสอบถามว่า ในช่วงระยะเวลา 14 วันที่ผ่านมา ได้เดินทางไปสถานที่ใดมาบ้าง เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ป่วยเฝ้าระวัง กักตัวเพื่อสังเกตอาการด้วยตัวเอง ซึ่งอาจมีหลายคนหลงลืมไปว่าระหว่างนั้นได้แวะไปในสถานที่ใดบ้าง

ตัวช่วยหนึ่งที่สามารถทำได้ คือ การเก็บข้อมูลประวัติการเดินทางลงบนสมาร์ทโฟน ที่พกติดตัวไปตลอดในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะสามารถตรวจสอบการเดินทางย้อนหลัง แล้วแจ้งให้ทีมสอบสวนโรคทราบเพื่อช่วยกันเฝ้าระวัง

ปัจจุบันผู้ใช้บัญชีกูเกิล (Google) สามารถบันทึกข้อมูลการเดินทางได้ ผ่านแอปพลิเคชัน Google Maps ซึ่งมีวิธีการตั้งค่าก็คือ เข้าไปที่เมนู “ไทม์ไลน์ของคุณ” เลือก “การตั้งค่า” เลื่อนไปที่ “การตั้งค่าตำแหน่ง” แล้วเปิด “บริการตำแหน่ง” และ “ประวัติตำแหน่ง” ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้


อีกแอปพลิเคชันหนึ่ง คือ “หมอชนะ” ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และเครือข่ายพัฒนาขึ้น เพื่อใช้เก็บข้อมูลในช่วงการระบาดของโควิด-19 ประเมินความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อของแต่ละคน โดยจะขออนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลด้วยการเปิด GPS ระบุตำแหน่ง เปิดบลูทูธ และเปิดการแจ้งเตือน โดยจะมีคิวอาร์โค้ดให้สแกนในจุดหรือสถานที่ที่ติดตั้งคิวอาร์โค้ดไว้

แอปฯ ดังกล่าวจะช่วยเฝ้าระวังและแจ้งระดับความเสี่ยงจากการตอบคำถาม ช่วยบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพอาการและข้อมูลการเดินทางจากการเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ เพื่อยืนยันความปลอดภัยของผู้ใช้ โดยจะแสดงระดับความเสี่ยงของผู้ใช้เป็นสี ไล่ตั้งแต่สีเขียว ความเสี่ยงต่ำมาก สีแหลือง ความเสี่ยงต่ำ สีส้ม ความเสี่ยงปานกลาง และสีแดง ความเสี่ยงสูง ต้องไปพบแพทย์

เมื่อประชาชนส่วนหนึ่งเลือกที่จะกลับภูมิลำเนา สิ่งสำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้ คือ การปฏิบัติตามข้อกำหนดของแต่ละจังหวัดอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะบางจังหวัดให้กักตัวอยู่บ้าน 14 วัน การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยครั้ง การเว้นระยะห่างทางสังคม และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ชุมนุมชนหรือแออัด จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น