xs
xsm
sm
md
lg

ถีบจนได้ (สุขภาพ) ดี! เจาะใจ “สาวดีลิเวอรี” ปั่นจักรยาน-ส่งอาหาร สู้โควิด-19! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเงินไม่ใช่คำตอบของชีวิต! “สาวดีลิเวอรี” ออกจากงานประจำ มาปั่นจักรยานส่งอาหาร ต่อวันส่งไม่ต่ำกว่า 20 งาน รับเงินเฉียด 20,000 บาท/เดือน แถมได้สุขภาพดีพ่วงมา เผย วิกฤตโควิด-19 ทำพฤติกรรม ลูกค้าเปลี่ยน ระยะทางแค่เพียง 200 เมตร ก็มีสั่ง!

ออกจากงานประจำยุคนี้ ถึงเสี่ยงแต่ขอลอง!

“ช่วงแรกเดินส่งได้ประมาณ 600-700 บาทต่อวัน ถามว่าเป็นเงินที่เยอะมั้ย ตอนทำงานประจำยอมรับว่ารายได้มันสูงกว่า แต่เราเห็นช่องทางบางอย่าง ธุรกิจอาหารที่ยอมไปทำงานเพื่อคนที่ไม่สะดวกมันน่าสนใจ งานอิสระที่มีรายได้ตอบโจทย์เราด้วย สามารถเลี้ยงชีพเราได้ ทรายก็ว่ามันน่าสนใจ”


สาวหมวยเจ้าของผมสั้นสีแดงเพลิงสุดเปรี้ยว ที่มาพร้อมด้วยจักรยานคู่ใจ ผู้อยู่เบื้องหน้าทีมข่าว MGR Live คือ ทราย-ดาริสา ธรรมสถิร ที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำในวัย 37 ปี มาเป็นพนักงานส่งอาหารด้วยจักรยาน ภายใต้สังกัด Get Runner มากว่า 6 เดือนแล้ว


เธอยอมรับว่า แม้งานประจำที่เคยทำนั้น จะมีค่าตอบแทนและความมั่นคงมากกว่า แต่ด้วยเหตุผลส่วนตัวหลายอย่าง ทั้งอายุที่มากขึ้น ปัญหาสุขภาพ ตลอดจน Lifestyle ที่รักการแต่งหน้าแต่งตัวนอกเหนือจากกฎระเบียบที่วางไว้ ทำให้เธอตัดสินใจลาออกมา โดยที่ไม่รู้เลยว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไร…



“ก่อนหน้านี้ ทำงานประจำมาค่อนข้างเยอะ เราอยู่ในสายอาชีพของความงาม เป็น Therapist เป็นช่างแต่งหน้า พนักงานเคาน์เตอร์เครื่องสำอาง งานประจำมันก็คือ เขาเหมาการทำงานของเราเป็นรายเดือน ก็จะให้ในเรื่องของสวัสดิการต่างๆ ที่มันดีและค่อนข้างมั่นคง


แต่บางวันที่เรารู้สึกว่าเราป่วยหรือเหนื่อย อยากจะตื่นสาย ถึงเจ้านายจะเข้าใจเรา แต่กฎระเบียบมันคือสิ่งที่เราใช้ร่วมกันกับคนหมู่มาก อันนี้พูดจากใจจริง เราเองอาจจะไม่ขี้เกียจ แต่วันที่เราอาจจะร่างกายเหนื่อยล้า ออกกำลังกายน้อยมันก็ทำให้ร่างกายเราเสื่อมโทรมไปตามระยะเวลา บวกกับอายุด้วย (หัวเราะ)
ด้วยอายุแล้วเราอยู่ได้นะกับระเบียบ แต่พอเรามาเจอสิ่งที่มันเป็นเรา เราก็รักอิสระพอสมควร เป็นคนค่อนข้างสปอยล์ตัวเอง (หัวเราะ) ชอบใส่บิ๊กอายส์ ทำสีผม หรือบางทีแต่งหน้า แต่งตัวตามใจ สามสิบกว่าแล้วล่ะ เราอยากจะมีกิจการเป็นของตัวเอง ออกจากงานประจำดีกว่ามั้ย แต่ว่าพอถึงตอนนั้นที่ออกมาทำธุรกิจของตัวเอง อาจจะยังไม่ใช่เวลาของทราย”



[ ทรายในสมัยที่ยังทำงานด้านความงาม ]

คำกล่าวที่ว่า “ชีวิตคือการทดลอง” คงเปรียบได้กับชีวิตของเธอคนนี้ เพราะหลังจากที่ลาออกจากงานประจำมา เธอก็ได้มารู้จักกับ Get หนึ่งในบริการ Food Delivery Application เป็นกำลังเป็นที่นิยมในตอนนี้ โดยเฉพาะ Get Runner ที่เป็นการส่งอาหารในรูปแบบของการเดินหรือปั่นจักรยาน ทรายตัดสินใจส่งใบสมัครไปเป็นรุ่นแรก ซึ่งเป็นรุ่นทดลอง
“มีเพื่อนแนะนำ ส่งลิงค์มาว่าลองไปสมัครดูมั้ย เราเห็นว่าเป็นรุ่นทดลอง ก็แบบ… จะดีมั้ย คำว่าทดลองมันดูน่ากลัว แต่ว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ลองดูแล้วกัน เราก็อยากจะรู้เหมือนกันว่ามันเป็นยังไง ก็ไปอบรมค่ะ วันแรกที่เปิดการอบรมเลย ประมาณวันที่ 20 เดือนตุลาค่ะ เรารู้สึกว่าเพิ่งจะแป๊บเดียวเอง
เริ่มจากเดินมาก่อน แล้วทรายก็รู้สึกว่า เหนื่อยจังเลย มีวันไหนที่งานเยอะมากๆ เท้าบวมเบาๆ อะไรอย่างนี้ ด้วยอายุเราด้วยเนอะ ตัวก็เล็ก (หัวเราะ) ก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว อยากได้จักรยานมาช่วยลดความเหนื่อยนิดนึง ทรายมีจักรยานเสือภูเขาและจักรยานไฟฟ้า แต่หลักๆ ใช้เสือภูเขา เพราะไฟฟ้าแบตมันจะหมดง่าย”
เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดจึงเลือกทำอาชีพนี้ เพราะงานเดลิเวอรี่ส่วนมากที่เห็นจะเป็นผู้ชาย ทรายให้คำตอบว่า ไม่อยากให้มองว่าอาชีพต้องถูกจำกัดด้วยคำว่า “เพศ” แต่อยากให้มองถึงการนำประสบการณ์มาประยุกต์ใช้กับงานมากกว่า



“จริงๆ ผู้หญิงก็ทำเยอะนะ เพียงแต่ว่าภาพลักษณ์หรือเปอร์เซ็นต์มันอาจจะไม่ได้เยอะขนาดนั้น ทรายไม่ได้มองเปรียบเทียบว่างานไหนมันจะเหมาะกับเพศไหน แต่ทรายมองว่างานเดลิเวอรี่มันคืองานที่นอกจากเราต้องทำเวลา หรือเราต้องมีความแข็งแรงพอสมควรแล้ว เราก็ต้องมีจิตบริการด้วยค่ะ เป็น Service Mind
เราเคยทำงานบริการมาก่อน แล้วงานบริการมันไม่ได้แค่การขายของหรืออะไร แต่มันเป็นการทำอะไรบางอย่างเพื่อลูกค้า แล้วเขาจ่ายเงินกลับมาพร้อมกับรอยยิ้ม พร้อมกับความพึงพอใจ เรารู้สึกว่าทักษะด้านนี้ยังมีอยู่ เราสามารถเอามาปรับใช้กับงานเดลิเวอรี่ได้ค่ะ ก็เลยคิดว่าผู้หญิงเองก็น่าจะทำได้แหละ แต่อาจจะเป็นอีกรูปแบบนึง ที่ค่อนข้างจะสนใจในความต้องการของลูกค้ามากขึ้น รายละเอียดเราเก็บได้เยอะมากขึ้น ความอ่อนโยนตรงนี้มันเยอะกว่า
เวลาผู้หญิงคิดจะคิดจุกจิกเยอะกว่าผู้ชาย เช่น ลูกค้าจะรู้สึกยังไงถ้าเห็นเราแบบนี้ ความสะอาด หรือการพูดจาไพเราะ น้ำเสียง ความละเอียดในการเช็กสินค้าก่อนออกจากร้านก่อนจะถึงมือลูกค้า เรื่องของอาหารมันเป็นสิ่งที่นอกจากกินให้อิ่มอร่อยแล้ว มันเสริมความรู้สึกของเราด้วย”
ตรงไหนมีร้านอาหาร ตรงนั้นมีงานเสมอ

“เดือนไหนที่มีธุระปะปังค่อนข้างเยอะ ยังไงเกินหมื่นแน่นอน แต่ถ้าเดือนไหนที่เราวิ่งงานลุยๆ ก็เคยมีแตะ 20,000 ดังนั้น เฉลี่ยให้เป็นหมื่นปลายๆ เฉลี่ยวันนึงทรายได้อยู่ที่ประมาณ 20 งานเป็นมาตรฐาน ต่ำกว่านั้นจะไม่พอกิน (หัวเราะ) เลี้ยงแมวด้วย บางทีมีอารมณ์ที่อยากเอาชนะตัวเอง เคยได้ 31 งานต่อวัน ได้ประมาณ 1,200 กว่าบาท สนุก มันเป็นการทำงานที่เหมือนเก็บสถิติ เหมือนเราเล่นเกม ทำเควสไปเรื่อยๆ”
ปัจจุบันด้วยความต้องการของลูกค้าที่มากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาชีพพนักงานส่งอาหาร เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างมาก หลายคนเลือกทำเป็น Part time เพื่อหารายได้เสริม ขณะที่มีจำนวนไม่น้อย ยึดเป็นอาชีพอิสระนี้เป็นอาชีพหลักหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ซึ่งตัวของทรายเองก็เป็นหนึ่งในนั้น



“จะออกซักประมาณ 8-9 โมงเช้า แล้วก็หยุดประมาณ 11 โมงถึงเที่ยง เพราะจะเป็นช่วงที่แดดแรงมาก ขี่จักรยานอาจจะหนักนิดนึง ก็แวะพักเข้าบ้าน ซักประมาณบ่ายสองหมดช่วงที่แดดพีกมากๆ ก็อาจจะออกมาทำอีก ถึงประมาณค่ำๆ ก็กลับเข้าบ้าน
ที่วิ่งงานของทราย อันนี้พูดจากใจจริงเลยว่าวิ่งหมดถ้ามันไปถึง ทรายเปิดงานออกจากบ้านไป บางทีก็ไปออกทางฝั่งบางหว้า เลาะไปบางแค บางทีก็โผล่ไปแยกท่าพระ ออกอิสรภาพ ออกวงเวียนใหญ่ กรุงธน บางทีก็ไหลขึ้นไปทางฝั่งรัชดาภิเษก ตากสิน สำเหร่ ออกเจริญกรุงไปเลยก็มี ถ้าไปได้เราไปหมด


ช่วงหลังอากาศก็ไม่ค่อยเป็นใจ ฟ้าฝนตกหนักบ้าง ทรายดูความพร้อมของร่างกายตัวเอง เราก็จะมีวางแพลนของตัวเองเอาไว้ว่าเราจะออกจากบ้านช่วงไหน มีวันหยุดชัดเจน 1 สัปดาห์ ทำงานประมาณ 6 วัน ไม่ทำงานทุกวันเพื่อที่จะมีเวลาพักผ่อน มีแรงทำงานในวันรุ่งขึ้น”


สำหรับ Get Runner ที่เธอสังกัดอยู่นั้น คือ บริการอีกภาคส่วนของ Get เป็นการส่งอาหารถึงลูกค้าด้วย รถจักรยานยนต์ จักรยาน ตลอดจนการเดินไปส่งถึงมือลูกค้า โดยมีค่าส่งเริ่มต้นที่ 10 บาท


[ แดดเมืองไทยทำพิษ ]

“Get Runner เราแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ จะมี Bike ที่ใช้มอเตอร์ไซค์ในการส่ง เป็นป้ายขาวป้ายเหลือง ป้ายเหลืองรับวินได้ด้วย สามารถรับงาน Express ส่งของ รับงาน Food ได้ ถ้าเป็นในส่วนของ Get Runner จะแบ่งเป็น 2 แบบ เดินกับใช้อุปกรณ์ เป็นพวกของจักรยาน หรือสกู๊ตเตอร์ อันนี้ทำได้แค่ส่งอาหารนะคะ
การแต่งตัวก็อยู่ในระดับที่สุภาพเนอะ 1. ไม่โป๊ 2. กางเกงขายาวตามที่บริษัทกำหนด 3. รองเท้าหุ้มส้น เราขี่จักรยานต้องตามนี้อยู่แล้ว จริงๆ เสื้ออย่างนี้ต้องมีปลอกแขนเลย สะอาด สุภาพ ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ


ตอนนี้เราเปิดให้บริการทั่วกรุงเทพมหานครแล้วค่ะ ระยะทางสำหรับคนที่มีอุปกรณ์ จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 กิโลเมตร อาจจะยืดหยุ่นบางเล็กน้อย ส่วนคนที่เดินบริษัทเขาทำงานวิจัยมาแล้วว่าคุณสามารถเดินส่งอาหารได้ประมาณ 600 เมตร นั่นคือ ระยะทางที่ถูกปรับมาเป็น Walk ใน Google Maps แล้ว ถ้าไม่เกิน 600 เมตร ฝั่งคนเดินก็จะได้ไปด้วย
สมัยนี้ ร้านอาหารที่เป็นบ้านคนแล้วส่งผ่านแอป บางทีเราไม่รู้เลยค่ะว่าตรงนั้นมีร้านอาหาร บางคนอยู่ที่คอนโด ก็เดินมาส่งที่ล็อบบี้ จะบอกเลยว่าร้านอาหารที่ร่วมกับ Get เยอะมาก”



ส่วนคำถามที่ว่า ค่าตอบแทนของอาชีพนี้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในเมืองหลวงหรือไม่ เธอให้คำตอบว่า ตนเองเป็นคนประหยัดจึงอยู่ได้ และงานนี้สามารถทำได้ทุกพื้นที่ ขอแค่ได้ออกจากบ้านก็ได้เงินแล้ว
“ถามว่าพอมั้ย มันคือความประหยัดของเราด้วย มันเป็นงานระยะสั้น ถ้าเลือกทำงานไม่ไกลจากบ้านมาก และสามารถกลับมาทานข้าวที่บ้านได้ เจอพ่อแม่ เราได้ให้เวลากับคนที่บ้านด้วย มันคือการเห็นหน้ากันนิดนึง
เราอยู่กับสตรีทฟูด งานนี้ค่อนข้างเจ๋งตรงที่ว่าเรารู้จักกับร้านอาหารที่ขายดี ร้านอร่อย ได้เยอะ ทรายมองว่ามันก็ไม่ได้สิ้นเปลืองอะไร ขอแค่ให้ได้ออกจากบ้านค่ะ ถ้าสะดวกมียานพาหนะก็ใช้จักรยานก็ได้ หรือว่าถ้าบางท่านมีมอเตอร์ไซค์เลย อาจจะสมัครในรูปแบบของ Bike เพื่อที่จะวิ่งงานในระยะที่ไกลก็ได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นอยากบอกเลยว่า ทั่วกรุงเทพฯเรามีงานเยอะมากจริงๆ นะคะสำหรับงานสั้น บวกกับชุมชนและคอนโดที่เกิดเป็นดอกเห็ดด้วย ตรงไหนที่มีชุมชน ตรงไหนที่มีคอนโด ตรงไหนมีร้านอาหาร ตรงนั้นมีงานสำหรับเราเสมอ”
“ทุกเวลาของเราคือการออกกำลังกาย”

ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เธอคนนี้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพที่มักจะป่วยบ่อย แต่หลังจากที่เริ่มมาทำงานดีลิเวอรี ก็พบว่า ตนเองมีร่างกายแข็งแรงขึ้น จากการปั่นจักรยานระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตรในทุกวันที่ทำงาน


“หลายๆ คนก็ถามไม่เหนื่อยเหรอ แรกๆ เหนื่อย ยอมรับ แต่ว่าพอเราทำไปซักระยะนึง การที่เราปั่นจักรยานวันนึง 50-80 กิโลเมตร มันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ตอนแรกทรายไม่รู้ตัวค่ะ จนกระทั่งวันนึงที่มีเพื่อนชวนไปขี่จักรยานไปบางน้ำผึ้ง ทรายไม่เคยออกทริปเลย ไม่ได้แข็งแรงมาแต่ต้น อาจจะป่วยบ่อยด้วยซ้ำ กระเสาะกระแสะ เป็นหวัดง่าย ภูมิแพ้ วันนั้นก็เอะใจจะไปไหวมั้ย ไปได้ด้วยนะ แล้วก็กลับมาได้ด้วย ก็งงว่าฉันขี่จักรยานไปได้ไกลขนาดนั้นเลยเหรอ (ยิ้ม)
เราก็รู้สึกเลยว่าตั้งแต่นั้นมา ร่างกายเราแข็งแรง พ่อที่อยู่ด้วยกันตลอดก็จะทักเลยว่า ช่วงนี้เราแข็งแรงมากขึ้น รู้สึกว่าไม่ได้ป่วยบ่อยเหมือนที่เราทำงานประจำ ตอนนั้นเราต้องเสียเงินเข้ายิม เราต้องหาเวลามาออกกำลังกาย แต่ตอนนี้เราไม่ต้องหาเวลา ทุกเวลาของเราคือการออกกำลังกาย เราก็เลยรู้สึกว่า เรื่องนี้มันเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่เงินซื้อไม่ได้ แล้วจะมีซักกี่งานที่จ้างเรามาออกกำลังกาย มันหายากเหมือนกันนะคะ
เรื่องสุขภาพจิต ส่วนตัวของทรายมองว่ามันเป็นงานตัดสั้น ไปซื้อของแล้วก็รออาหารส่งให้ลูกค้า 1 จ๊อบ อยู่ประมาณ 30-40 นาที ทรายมองว่างานระดับนี้มันไม่เครียดมากเท่างานที่มีผลไปจนถึงวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ บางงานต้องตามงานเดิมเป็นเดือน ทำแล้วจบ เปลี่ยนงานใหม่ไปเรื่อยๆ”



[ สะพานข้ามคลองไม่ใช่ปัญหา ]

เมื่อให้เดลิเวอรี่สาว ลองพูดถึงข้อได้เปรียบ ของการใช้จักรยานส่งอาหาร ทรายกล่าวว่า ไม่เพียงแค่การได้สุขภาพดีกลับมาจากออกแรงปั่น แต่จักรยานยังมีความคล่องแคล่วสูง สามารถลัดเลาะเข้าทางลัด หรือทางที่ยานพาหนะอื่นไม่สามารถผ่านได้ ทำให้อาหารส่งถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น
ข้อได้เปรียบของการใช้จักรยาน คือเราสามารถไปทางลัดที่บางที่มอเตอร์ไซค์ไปไม่ได้ เช่น สะพานข้ามคลอง ซึ่งบางทียูเทิร์นอาจจะไกลนิดนึง เราแบกจักรยานข้ามไปได้เลย หรือว่าบางเส้นทางที่เป็นทางแคบมากๆ ตัวถังของมอเตอร์ไซค์มันผ่านเข้าไปไม่ได้ เราอาจจะเข้าไปได้
รวมถึงระยะทางที่สั้นๆ แต่ว่ามันอาจจะต้องสวนทางกับรถนิดนึง หรือว่าทางที่แค่ข้ามสะพานลอย ข้ามคลอง เราก็รู้สึกว่าเราทำได้คล่องตัวกว่า แล้วก็ไม่มีต้นทุนเรื่องค่าน้ำมัน ทุกงานมันต้องมีต้นทุนในตัวเอง ค่ากินอาจจะหนักขึ้นนิดนึง (หัวเราะ) แล้วก็ค่า Maintenance เราก็ต้องทำบัญชีเก็บเงินไว้ส่วนนึงสำหรับเรื่องนี้ด้วย แต่ข้อดีก็คือการลงแรงนี่แหละ”



แม้จะขับขี่ด้วยความระมัดระวังมากเพียงใด แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุ ทั้งจากพฤติกรรมของผู้ใช้ทางร่วมกัน ตลอดจนสภาพพื้นถนน เธอเองยอมรับว่าก็การขี่จักรยานในกรุงเทพฯนั้น อันตรายอยู่เหมือนกัน
“เกือบหลายรอบมาก บางทีก็จักรยานล้มนี่แหละ ล้มเองดื้อๆ ทางมันลื่นก็มีเหมือนกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่างที่บอก พยายามระมัดระวัง เซฟตัวเองให้เยอะที่สุด เราก็แค่รับรู้ว่าเราไม่เร็วมาก ไม่แรงมาก (หมวกกันน็อก) อันนี้ต้องค่ะ สำคัญมาก อย่างน้อยล้มไม่โดนหัว
คนขับขี่จักรยานบางทีไม่ได้อบรมเรื่องของใบขับขี่เหมือนคนที่ขับรถใหญ่ แต่เราก็ต้องเรียนรู้สัญลักษณ์ในการที่เราจะขอทาง เราควรเรียนรู้ไว้ แล้วก็ควรทำด้วย ถ้าข้ามถนนที่มันถูกกฎจราจรได้ก็ควรทำ อย่าไปฝ่า ถ้าเรารู้ว่าถนนไหนโล่งๆ รถวิ่งเร็วๆ เลี่ยงได้ก็เลี่ยงค่ะ
ก็อยากฝากรถใหญ่นิดนึง ว่าบางทีเราก็ข้ามทางม้าลายแล้ว ไม่มีใครจอดให้เลย หรือบางทีก็อยากจะยูเทิร์น เราขอทาง ก็ให้รถเล็กไปนิดนึง แค่นั้นเอง”
200 เมตรก็สั่ง ดีลิเวอรียุคโควิด!

“ยิ่งช่วงนี้มันจะเป็นช่วงที่มีเรื่องของเชื้อโรคเข้ามาค่อนข้างเยอะ มีรับงานนึงก็ประมาณ 200 เมตร คงคิดว่าเป็นเราคงจะเดินออกไปซื้อเองใช่มั้ย ร้านอาหารบางร้าน ขายผ่านแอปพลิเคชัน ก็จะมีคนยืนรออาหาร บางท่านไม่ได้อยากไปยืนรอกับเขา ก็สามารถใช้งานดีลิเวอรีได้ค่ะ
ถ้าเป็นช่วงเคอร์ฟิว จริงๆ มันก็ 20 งานได้อยู่ แต่เพียงแค่ว่าระยะเวลาในการทำงานลดลง ซึ่งเราต้องปรับด้วย เมื่อก่อนทรายชอบทำงานสายดึก ค่ำๆ ดึกๆ ก็ต้องปรับมาวิ่งเช้า ยอมรับว่า ตัวเองแพ้แสงแดดและความร้อนมาก บางทีก็จะหนีกลับเข้าบ้านเพราะจะฮีตสโตรกเนอะ มีลดลงบ้างในบางวัน”
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกอาชีพ ทุกวงการ หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ขณะที่หลายคนปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาทำที่บ้าน ส่งผลให้อาชีพพนักงานส่งอาหารดีลิเวอรีมีงานเพิ่มมาขึ้นในช่วงนี้



[ หน้ากากอนามัย - แอลกอฮอล์พร้อม ]


ในมุมของทราย เธอยอมรับว่า แม้จะมีงานสั้นมากขึ้น แต่ความเสี่ยงก็มากขึ้นตามเช่นกัน ทำให้เธอต้องระวังเรื่องความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและต่อลูกค้ามากขึ้นเป็นเท่าตัว ประกอบกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ทรายต้องปรับเปลี่ยนเวลาการทำงาน มารับงานในเวลากลางวันมากขึ้น เพื่อกลับถึงบ้านให้ทันก่อนเคอร์ฟิว


“ถ้าเทียบกับระยะเวลาในการทำงานเท่าเดิม งานสั้นจะเยอะขึ้น รู้สึกได้เลยว่า สมัยก่อนบางช่วงลูกค้าจะสั่งบ้างไม่สั่งบ้าง งานสั้นที่ต้องแชร์กันไปกับ Rider แต่ละคน แต่ช่วงนี้รู้สึกว่าทุกช่วงเวลาเลย งานสั้นๆ ไม่เกินโล เข้ามาค่อนข้างเยอะ ทาง Get มีหน้ากากให้ Rider ท่านละ 2 ชิ้น เป็นหน้ากากเคลือบน้ำยาสำหรับป้องกันเชื้อด้วยนะคะ
โควิดกระทบกับงานในความต้นทุนสูงขึ้น แอลกอฮอล์ใช้เปลืองมากจริงๆ ลิตรนึงแทบนับวันได้เลย เราฉีดทุกสิ่งที่เราคิดว่าต้องสัมผัสกันหลายๆ คน สำคัญที่สุดคือ มือของเรา ถุงมือ กระเป๋าใส่อาหาร ภาชนะใส่อาหารทุกอย่าง บางร้านที่เราหลีกเลี่ยงได้ที่จะไม่จับถุงอาหาร เราหลีก แต่บางร้านไม่สามารถจริงๆ ใช้การฆ่าเชื้อค่ะ ถ้าที่ร้านมีอ่างล้างมือ ถอดถุงมือล้างเลย แล้วก็หยิบอาหารลูกค้าลงใส่กระเป๋า ก่อนที่จะใส่ก็ฆ่าเชื้อนิดนึง ฉีดแอลกอฮอล์
แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ฉีดแอลกอฮอล์ใส่มือนี่แหละค่ะ แล้วก็ผูกถุงให้ไม่มีอะไรหล่นลงไปนะคะ ใส่กระเป๋าให้เรียบร้อย เป็นไปได้หลีกเลี่ยงการจับถุงให้ลูกค้า แต่ถ้ามันจำเป็นจริงๆ ก็อย่างที่บอก แอลกอฮอล์อีกแล้ว ธนบัตร เหรียญ จะฉีดก่อนออกจากบ้านนะคะทุกวัน ระหว่างวันที่เราต้องรับของลูกค้าเข้ามาปะปนกับของเราก็ฉีดทุกครั้งค่ะ”



ในมุมของผู้รับบริการอย่างลูกค้าเอง ก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปและมีการป้องกันเรื่องความปลอดภัยมากขึ้นไม่แพ้ผู้นำส่งอาหาร ซึ่งทรายมองว่าความกังวลที่เกิดขึ้นนี้ ยังดีกว่าการไม่กลัวอะไรเลย
“ลูกค้าหลายท่านจะเตรียมเงินไว้พอดี ไม่ต้องทอน บางท่านขอเป็นโอนเงิน เราก็รู้สึกว่าชอบวิธีการโอนมากกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้น บริษัทเริ่มปรับตัว Get จากที่เคยต้องจ่ายเป็นเงินสด ก็เริ่มมีระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา เป็น Get Pay ให้ลูกค้าจ่ายผ่านบัตรหรือว่าระบบการโอนเงินเข้าแอปพลิเคชันได้เลย จะได้หลีกเลี่ยงการจับเงินสดค่ะ
ในหลายๆ คอนโดเขาจะน่ารักนะ จะมีโต๊ะให้วางอาหาร เราก็ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ที่มือนำถุงอาหารส่งที่โต๊ะ แล้วก็เว้นระยะห่างออกมา บางที่ไม่สะดวกก็แขวนไว้หน้าบ้านลูกค้า หรือถ้าลูกค้าสะดวกที่จะออกมารับเอง ก็จะไว้ข้างหน้ารถให้ลูกค้าหยิบ หรือถ้าลูกค้าไม่สะดวกจริงๆ คือยื่นไปสุดมือค่ะ (หัวเราะ)
ตรงไหนที่มีการสัมผัสจากคนที่มากกว่า 1 คน เราฉีดหมดเลยค่ะ ความเครียดของลูกค้าก็จะเยอะขึ้นค่ะ ที่เคยเห็นนะคะ รับถุงอาหารจากเราปุ๊บ ฉีดแอลกอฮอล์ เราเข้าใจแต่สุดท้ายแล้วความกังวลที่เป็นพลังบวก มันดีกว่าไม่กลัวอะไรเลย ก็ขอบคุณคุณลูกค้าทุกท่านนะคะที่ให้การสนับสนุนงานของเดลิเวอรี่



และเธอยังฝากกำลังใจถึงเพื่อนร่วมอาชีพ ที่ต้องเจอสถานการณ์เดียวกัน ให้ทำงานด้วยความอดทน เพื่อผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้
“งานบริการทุกงาน มีคนที่ทำแล้วมีความสุข แล้วก็มีคนที่ทำแล้วเครียด ยิ่งในภาวะที่มีเชื้อโควิด ทุกคนมันมีความเครียดที่สูงขึ้น งานบริการที่มันเครียดอยู่แล้ว ที่ต้องเจอศึกหนักหลายสิ่งหลายอย่าง การรออาหารที่มันนานจริงๆ หรือเส้นทางบางเส้นทางที่เหมือนจะเดินทางยาก รถติด ร้อน ฝนตก ทุกอย่างมันมีอุปสรรคหมด
การเดินทางไกลหรืออารมณ์บางอย่างที่ต่างฝ่ายต่างร้อน สิ่งเหล่านี้มันทำให้เกิดงานบริการนี่แหละ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ลูกค้าเรียกใช้บริการเรา กลายเป็นงานของเรา เพราะฉะนั้นความยุ่งยากทั้งหมดที่เราได้รับ มันคือสิ่งที่ทำให้ลูกค้ายอมจ่ายเงินเพื่อจะซื้อบริการจากเรานะคะ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีงานทำ ดังนั้นถ้าเราสามารถทนสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะสามารถทำงานแบบนี้ได้อย่างมีความสุข อะไรที่มันผ่านไปแล้วให้ผ่านไป
ตอนนี้หลายๆ ท่านที่ว่างงานนะคะ มีน้องบางท่านในทีมก็ไม่ได้ขาดเงิน แต่ก็หารายได้เสริมช่วงนี้ ช่วงที่ไม่สามารถทำธุรกิจหลักได้เต็มที่ เพื่อไม่ต้องใช้เงินเก็บ หรือบางท่านไม่ได้ลำบากเรื่องเงินเลย แต่ว่าก็ทำเพื่อที่จะไปช่วยเหลือ บริจาคให้กับผู้ป่วยโควิด คนที่วิ่งงานเพื่อเอารายได้ทั้งหมดไปช่วยตรงนั้นด้วย”
ยิ่งอิสระมาก วินัยก็ต้องยิ่งมาก


คนที่ทำฟรีแลนซ์ไม่ว่าจะเป็นดีลิเวอรี หรืออาชีพอื่น ทุกคนจะพูดเหมือนกันหมดว่า ยิ่งอิสระมาก วินัยก็ต้องยิ่งมาก”
ไม่เพียงแค่การมาบอกเล่าประสบการณ์การเป็นพนักงานส่งอาหารเท่านั้น ดีลิเวอรีสาว ยังสะท้อนถึงบทบาทการเป็นฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว ที่แม้จะมีอิสระในการทำงานมากกว่าการประจำ แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบและรักษาวินัยในตนเองมากขึ้นกว่าเดิม
รายได้ค่อนข้างเปลี่ยนค่ะ เปลี่ยนถึงวิถีชีวิตเราด้วย อย่างเมื่อก่อนรายได้มันสูง แต่ค่าใช้จ่ายมันก็สูง เพราะว่าเราไม่มีเวลาพอที่จะทำอะไรหลายๆ อย่าง เราต้องใช้เงินในการซื้อบริการหรือเวลาเหล่านั้นเข้ามา ในปัจจุบันก็จะเป็นการทำเองเยอะขึ้น มันเหมือนการปรับใช้ชีวิตที่มันพอเพียงมากขึ้น ก่อนหน้านี้ ก็มีรับแต่งหน้าด้วย แต่ตอนนี้ไม่มีใครจัดงานอะไรเลยค่ะ (หัวเราะ) ทรายคงแต่งหน้าไม่ได้ไปอีกซักระยะหนึ่งนะคะ ตอนนี้ก็รับดีลิเวอรีเป็นหลัก
งานประจำบางทีเรายอมรับนะ มันก็จะมีช่วงที่เราเหมือนทำงานไม่เต็มที่ มีเหนื่อยมีหนัก มันก็เป็นช่วงที่เราแผ่วไป แต่เราก็สบายใจได้ เพราะมีเงินเดือนเลี้ยงเราอยู่ แต่ถ้าเป็นงานประจำอย่างบางงาน ไม่มีเราแล้ว คนอื่นอาจจะลำบากมาแทนทั้งที่อาจจะเป็นวันหยุดเขาก็ได้



ทรายมีวินัยมาจากการที่ทำงานประจำก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าเรายังสามารถรักษาวินัยตรงนี้เอาไว้ได้ เรารู้ว่าเราควรทำตัวยังไง แค่ไหน มันทำให้เราออกมาทำงานอิสระได้ดีขึ้น เพียงแต่การบังคับตัวเองมันสำคัญมากขึ้นเหมือนกัน เพราะว่าเราไม่มีบริษัทหรือเจ้านายมาบังคับเราแล้ว มันดึงศักยภาพของเราออกมาเต็มที่ หยุดคือไม่มีเงิน ทำได้เงิน มันแค่นี้เลยค่ะ แล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราลุกขึ้นมาตอนเช้าได้ทุกวัน งานมันรออยู่ข้างหน้า”
เมื่อให้มองอนาคตของตนเองที่มีต่ออาชีพพนักงานส่งอาหาร ทราย กล่าวว่า ตอนนี้มีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ และมีความตั้งใจที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ
“ทรายมองว่าอาชีพนี้มันยังทำได้ยาวๆ พอสมควรนะคะ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอนาคตเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทางไหน แต่ทรายมองว่าอาชีพนี้มันสามารถหล่อเลี้ยงเราได้อยู่ ให้รายได้กับเราได้ มันก็รู้สึกว่าเป็นงานที่เราทำทุกวัน เราไม่รู้สึกว่าเบื่อหรือเครียด เราสามารถใช้ชีวิตผ่านไปแบบวันต่อวัน ไม่ใช่ผ่านไปวันๆ เราวางแผนการทำงานทุกวัน เตรียมของให้เรียบร้อยตั้งแต่ก่อนนอน
ที่สำคัญที่สุด งานที่ยิ่งอิสระมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งต้องการวินัยมากเท่านั้นค่ะ ถ้าเราทำงานอย่างมีวินัยได้ มีจิตบริการ งานดีลิเวอรีถือว่าเป็นงานที่มันทำแล้วมีความสุข และรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้งานของเราได้จริงๆ ตอบโจทย์ยุคนี้ที่หลายๆ ท่านอาจจะรายได้ลดจากงานประจำ หรือต้องออกจากงานประจำนะคะ ก็เป็นอีกเส้นทางนึงที่น่าสนใจ”



เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย ในฐานะที่ตนเองได้ผ่านประสบการณ์การทำงานมาไม่น้อยคนหนึ่ง ก็ขอฝากข้อคิดไปยังน้องๆ เด็กรุ่นใหม่ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน ให้ยึดมั่นในระเบียบวินัยให้มาก เพราะเป็นหัวใจสำคัญต่อการประกอบอาชีพ
“ถ้าน้องรุ่นใหม่อยากมาทำ ชื่นชมมากค่ะ แต่ว่าทุกอย่าง ทุกงาน ทุกที่ มีกฎระเบียบ มีวินัย ทำเพื่อความปลอดภัยของเราคนวิ่งงานด้วย เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า เพื่อความปลอดภัยของร้านค้า เพื่อทำให้ทุกคนรู้สึกดี ดังนั้น ถ้าเราอยู่ในวินัยได้ระดับนึง มันก็ทำให้การทำงานเป็นไปได้ด้วยความสุข อย่างนี้ดีกว่า
น้องรุ่นใหม่หลายๆ ท่าน อยากมาทำงานแบบนี้ ยอมรับเลยว่า แพ้เด็กรุ่นใหม่มากจริงๆ แรงดีค่ะ ปั่นจักรยานได้คล่องมากเลย หรือเดินได้คล่องมากๆ แนะนำค่ะเป็นรายได้เสริมส่วนนึง อยากได้อะไรเราสามารถซื้อเองได้ แล้วเป็นการฝึกตัวเองด้วยค่ะ ฝึกว่าโลกภายนอกเป็นยังไง ถ้าเราทำตัวถูกกาลเทศะ มีระเบียบวินัยในตัวเอง มันอยู่ได้ทุกที่จริงๆ แล้วทำงานได้เกือบทุกงานจริงๆ


มีบ้างลิ้นกับฟัน ดีลิเวอรี VS ลูกค้า





“มีบ้างค่ะ ยอมรับเองเลยว่า บางเคสเรามีโมโหในใจนิดนึงเหมือนกัน เรื่องการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ผิดนิดนึงมันก็เกิดความเข้าใจผิดกัน สิ่งที่ทรายนำมาแก้ไข คือ การแก้ไขปัญหาให้ตรงตามขั้นตอน เช่น ลูกค้าปักหมุดผิดเราต้องทำยังไง เราก็อาจจะแคปหลักฐานว่าหมุดที่ไปส่งมันผิดนะ ทุกอย่างเราจะเก็บหลักฐานในส่วนของเราเพื่อเซฟตัวเอง
แต่เราก็ไม่ได้โทษว่าเป็นความผิดลูกค้า บางทีเราเองผิดพลาดได้เลย เราก็แค่ส่งเรื่องไปที่บริษัทให้เขาทราบว่าเราส่งให้ลูกค้าเรียบร้อยแล้ว แค่นั้นเอง แต่ถ้าปักหมุดผิดไกลๆ ก็อาจจะใช้คอลเซ็นเตอร์ประสานงานเรื่องนี้ เพราะว่าเราอาจจะไปส่งไม่ถึง
ทราย มองว่า ทั้งมอเตอร์ไซค์ ทั้งจักรยาน แพตเทิร์นเดียวกันหมดเลย อยู่ที่เราจะจัดการกับงานนั้นยังไง มีเหมือนกันที่เราติดต่อลูกค้าไม่ได้ ไปส่งแล้วติดต่อไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การที่เรามีอุปสรรคใดๆ ในการทำงาน ให้เราทำตามขั้นตอนค่ะ คุ้มครองเราส่วนนึงค่ะ เขาจะบอกไว้ชัดเจนเลยว่า ถ้าเราเจอเหตุการณ์แบบนี้ควรทำยังไง 1-2-3-4 งานทุกอย่างมีคำว่าผิดพลาดได้ ให้เราแก้ไขตามขั้นตอน จะเป็นการปลอดภัยที่สุดสำหรับงานของเราค่ะ
ส่วนอุปสรรคในการทำงานที่ทำให้ไปต่อไม่ได้ มันก็มีหลายเรื่องนะคะ ส่วนใหญ่ลูกค้าที่สั่งระยะใกล้ เขาจะสั่งแค่ถุงสองถุง สำหรับไม่เกิน 3 ท่านทาน แต่จะมีบางช็อตเหมือนกันที่โดนไป 10 อัป เราก็ต้องคำนวณตัวเองว่าเราไหวแค่ไหน ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องขอโทษลูกค้า แล้วก็ยกเลิกงานให้คนอื่นที่สะดวกกว่าเรารับงานไป
ล่าสุดเลย ทรายขี่จักรยานแล้วจักรยานล้มหน้าโครงการคอนโดลูกค้าค่ะ ตัวทรายก็บาดเจ็บ ทรายได้ยินเสียงอาหารดังปุ๊ไปเรียบร้อย อย่างแรกโทร.หาลูกค้าก่อน ขอโทษ ยกเลิกงาน บอกให้คุณลูกค้าว่ารบกวนสั่งใหม่ แล้วก็ส่งข้อมูลไปทางบริษัทว่าเราขอยกเลิกงานนี้ด้วยเหตุผลอะไร บริษัทก็จะยกเลิกงานให้ค่ะ แล้วตัวเราเองก็ต้องหาทางกลับบ้านก่อน”






สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : สันติ เต๊ะเปีย
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณสถานที่ : สวนกาญจนา วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **


กำลังโหลดความคิดเห็น