แม้จะเห็นแนวโน้มการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงแต่จากประสบการณ์ในหลายๆประเทศแสดงให้เห็นถึงความกังวลในการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงที่ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ
ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนในสถานการณ์นี้ คือการพัฒนาระบบติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สามารถเก็บข้อมูล และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ หลังจากที่ตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่
เทคโนโลยีที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมากที่สุดคือการนำระบบ Track & Trace หรือการติดตามและแจ้งเตือนมาใช้ซึ่งประเทศแรกที่เริ่มนำมาใช้งานคือสิงคโปร์ที่แสดงให้เห็นว่าในช่วงการแพร่ระบาดรอบแรกหน่วยงานสาธารณสุขของสิงคโปร์สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างน่าสนใจ
วิธีการดังกล่าวคือการนำสมาร์ทโฟนที่ติดตั้งแอปพลิเคชันที่พัฒนาจากหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับรัฐบาลสิงคโปร์ให้ประชากรสิงคโปร์ทั้งหมดดาวน์โหลดไปติดตั้งโดยในช่วงที่ยังมีการเปิดประเทศอยู่ ผู้ที่เดินทางเข้าสิงคโปร์ก็ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันนี้เช่นเดียวกัน
การทำงานคร่าวๆของระบบติดตามคือสมาร์ทโฟนจะคอยเก็บข้อมูล การเชื่อมต่อระหว่างเจ้าของสมาร์ทโฟนกับผู้ที่เข้ามาในระยะที่สามารถแพร่เชื้อได้โดยจะมีการเก็บข้อมูลย้อนหลังไว้ 14 วัน เพื่อในกรณีที่มีผู้ป่วยตรวจพบว่าติดเชื้อจะสามารถติดตามย้อนหลังได้ว่าในช่วง 14 วันที่ผ่านมาผู้ป่วยได้เข้าไปใกล้ชิดกับใครบ้างซึ่งตัวระบบจะสามารถส่งการแจ้งเตือนไปยังประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่เข้าใกล้ผู้ป่วยได้ทันที
หลังจากนั้นก็เริ่มเห็นภาคเอกชนในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาต่อยอดใช้งานด้วยการรวมกลุ่มช่วยกันอย่าง กลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พัฒนาแอปพลิเคชัน 'หมอชนะ' ขึ้นมาให้คนไทยได้ใช้งานกัน ด้วยการนำเทคโนโลยี GPS และ บลูทูธ มาคอยติดตามและแสดงตำแหน่งของผู้ใช้ว่าได้มีการเข้าไปยังพื้นที่เสี่ยงมาหรือไม่ พร้อมกับเน้นพัฒนาไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและการปกป้องความเป็นส่วนตัว
แต่ปัญหาสำคัญที่สุดของการนำระบบนี้มาใช้งานคือต้องทำให้ประชาชนทุกคนติดตั้งแอปพลิเคชันนี้ และลงทะเบียนเข้าใช้งานเพื่อให้การเก็บข้อมูลเป็นไปอย่างถูกต้องและแม่นยำมากที่สุดในการแจ้งเตือนและประเมินความเสี่ยงต่างๆ
***สุขภาพ-ความเป็นส่วนตัว
ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามขึ้นมาจากผู้ใช้งานหลายประเทศและผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านความปลอดภัยไซเบอร์คือในการที่แอปเหล่านี้จะมาติดตามตำแหน่งหรือพฤติกรรมการใช้งานของประชาชนแล้วข้อมูลเหล่านี้จะมีความปลอดภัยมากแค่ไหน
เนื่องจากแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ที่ออกมาตอนนี้ ผู้ใช้จำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานทำให้หน่วยงานที่เก็บข้อมูลเหล่านี้ สามารถรู้ได้ว่าหลังจากติดตั้งใช้งานแอปพลิเคชันแล้วประชาชนเดินทางไปยังสถานที่ใดบ้าง และอยู่ในแต่ละตำแหน่งนานแค่ไหนซึ่งกลายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้
ในขณะที่มุมของภาครัฐในช่วงแรกอาจจะมองว่าการให้ประชาชนลงแอปเหล่านี้จะช่วยให้สามารถติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นแต่ด้วยการประกาศใช้พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็ทำให้ต้องเผชิญกับการขอสิทธิในการนำข้อมูลไปใช้งานด้วย
นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของการที่ระบบปฏิบัติการทั้ง iOS และ Android เวอร์ชันใหม่ ที่มีการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงตำแหน่งของผู้ใช้จากแอปพลิเคชันที่ทำงานเบื้องหลัง บนพื้นฐานของการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ทำให้ทุกแอปที่ใช้ติดตามในเวลานี้กำลังประสบอยู่
***ถึงเวลาพันธมิตรระดับโลก 'Apple - Google'
จนทำให้เกิดการร่วมมือกันครั้งประวัติศาสตร์ของ 2 ผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนที่มีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 3,000 ล้านรายนั่นคือ Apple ที่พัฒนาระบบปฏิบัติการ iOS ให้ผู้ใช้ iPhone และ Google ที่พัฒนาระบบปฏิบัติการ Android ออกมาประกาศความร่วมมือกันในการนำเทคโนโลยีบลูทูธ มาใช้ในการติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อช่วยรัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสบนพื้นฐานสำคัญคือการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
แผนของความร่วมมือในครั้งนี้คือการที่ Apple และ Google จะเปิดชุดคำสั่ง (API) ในการติดตามผู้ติดเชื้อทำให้แอปพลิเคชันจากหน่วยงานสาธารณสุขในแต่ละประเทศทำงานร่วมกับอุปกรณ์ iOS และ Android ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยได้เริ่มเปิดให้หน่วยงานสาธารณสุขเข้าถึงชุดคำสั่งแล้วในวันนี้
แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการทำงานร่วมกับทางรัฐบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขในประเทศไทยที่ประสานไปยัง Apple หรือ Google เพื่อขอสิทธิในการเข้าถึงชุดคำสั่งนี้เพื่อนำมาใช้งานกับแอปพลิเคชันใด แม้แต่ 'หมอชนะ'ที่เปิดตัวไปแล้วก็ตามแต่ก็ถือเป็นแนวโน้มที่ดีเพราะอย่างน้อยยังมีเทคโนโลยีที่พร้อมให้นำไปใช้
ขั้นตอนถัดไปคือในไม่กี่เดือนข้างหน้าทั้ง Apple และ Google จะเปิดแพลตฟอร์มติดตามผู้ติดเชื้อผ่านบลูทูธในลักษณะที่เปิดกว้างมากขึ้นด้วยการฝังระบบติดตามนี้เข้าไปในระบบปฏิบัติการ iOS และเปิดให้ดาวน์โหลดบน Android ผ่าน Playstore เพื่อให้ผู้ใช้ที่สมัครใจเข้าใช้งานสามารถเปิดใช้แพลตฟอร์มการติดตามนี้ได้ทันทีซึ่งจะช่วยให้ครอบคลุมการใช้งานได้กว้างขึ้นมหาศาลทั่วโลก
ขณะเดียวกันเชื่อว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นจากจำนวนผู้ที่สามารถเข้าถึงได้ และแน่นอนว่าอยู่บนพื้นฐานของความเป็นส่วนตัว ความโปร่งใสและความยินยอมในการเข้าใช้งานของผู้ใช้
***เบื้องหลังการติดตามผู้ติดเชื้อคือบลูทูธและการเข้ารหัส
สิ่งที่ทำให้เทคโนโลยีติดตามผู้ติดเชื้อ (Contact Tracing) ของ Apple และ Google มีความแตกต่างจากผู้พัฒนารายอื่นในเวลานี้คือเรื่องความเป็นส่วนตัวด้วยการนำเทคโนโลยีบลูทูธพลังงานต่ำ (Bluetooth Low Energy : BLE) มาใช้งานพร้อมกับการสร้างชุดรหัสข้อมูลขึ้นมาเพื่อใช้ในการติดตาม
จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้คือทาง Apple และ Google จะมีการเปลี่ยนชุดรหัสข้อมูลนี้ทุก 15 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้สามารถนำข้อมูลนี้ไประบุตัวตนของผู้ใช้ได้ทำให้เวลาที่ผู้ใช้เดินทางไปในสถานที่ต่างๆและมีการพบเจอผู้คน สมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องก็จะมีการแลกเปลี่ยนชุดรหัสผ่านกันและเก็บข้อมูลไว้เพื่อให้สามารถติดตามย้อนหลังได้
เมื่อถึงวันที่ผู้ใช้ได้รับการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ทางหน่วยงานภาครัฐที่นำชุดคำสั่ง (API) นี้ไปใช้งานจะต้องขอสิทธิ์ในการเข้าถึงกุญแจเพื่อปลดล็อกชุดรหัสเหล่านั้นเพื่อเข้าถึงข้อมูลบุคคลที่เคยใกล้ชิดในช่วง14วันที่ผ่านมา ก่อนส่งการแจ้งเตือนไปยังอุปกรณ์ของผู้ที่มีความเสี่ยง
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนทุกรุ่นจะเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้เพราะการเชื่อมต่อบลูทูธพลังงานต่ำนั้นจะอยู่ในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆซึ่งทางสำนักวิจัยเคาเตอร์พอยท์คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือกว่า 2,000 ล้านคนที่ใช้สมาร์ทโฟนรุ่นที่ไม่รองรับเทคโนโลยีนี้
หลังจากนี้คงต้องรอดูกันว่าเมื่อทั้ง Apple และ Google เปิดชุดคำสั่ง (API) ให้หน่วยงานสาธารณสุขนำไปพัฒนาใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชั่นทางการจากภาครัฐแล้วจะช่วยยกระดับเรื่องความปลอดภัยได้มากแค่ไหน เพราะทุกคนต่างยอมรับว่าในช่วงหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ได้ของโควิด-19 การที่มีแอปมาช่วยติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงย้อนหลังจะช่วยให้คนไทยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในแบบ New Normal กันได้เร็วขึ้นด้วย