โฆษกศบค. เผย สถิติใหม่ผู้ป่วยต่ำสุด 6 คน ไม่มีเสียชีวิต แหกเคอร์ฟิวเพิ่ม พบจับกลุ่มพนัน กังวลจราจรหนาแน่น หลังคนสบายใจออกนอกบ้าน เตือนเชื้อยังไม่เป็นศูนย์ ทุกคนเสี่ยงอยู่ ระบุฐานะจิตแพทย์ เสียใจคนฆ่าตัวตาย รัฐจะหาทางช่วยเหลือ
วันนี้ (1พ.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ประเทศไทย เป็นอีกวันที่มีผู้ป่วยรายใหม่ต่ำสุด อยู่ที่ 6 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,960 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 54 ราย หายป่วยสะสม 2,719 ยังอยู่ระหว่างรักษาตัว 187 ราย ซึ่งเป็นวันแรกที่ต่ำกว่า 200 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 54 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย ในจำนวนนี้มี 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 68 ปี มีประวัติเดินทางไปตลาดแห่งหนึ่งใน กทม.ก่อนจะมีอาการเจ็บป่วย ส่วนอีก 5 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ จ.ยะลา โดยมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยที่กลับจากมาไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านและเกษตรกร อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขจะต่ำลง แต่ยังวางใจไม่ได้ ยังต้องทำงานเต็มที่ ระยะการผ่อนปรนนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ต้องขอความร่วมมือจากทุกคนต่อไป ส่วนสถานการณ์ผู้ป่วยทั่วโลกมี 3,308,233 ราย เสียชีวิต 234,105 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันที่ 1 พ.ค.จะมีคนไทยกลับจากสิงคโปร์ 165 คน เนปาล 38 คน ส่วนในวันที่ 2 พ.ค.จากคาซัคสถาน 55 คน เนเธอร์แลนด์ 35 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 130 คน โดยตั้งแต่วันที่ 4 – 30 เม.ย. มีคนไทยกลับมาแล้ว 3,381 คนจาก 23 ประเทศ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.ชื่นชมคณะทำงานที่เกี่ยวกับการรับคนไทยจากต่างประเทศ เพราะค้นหาผู้ป่วยจากกลุ่มนี้ได้ถึง 81 คนก่อนจะไปแพร่ระบาด ส่วนตัวเลขสะสมของผู้ที่อยู่ในสถานกักตัวของรัฐซึ่งเดินทางมาทางเครื่องบิน 4,218 คน อยู่ระหว่างกักตัว 2,775 คน ส่วนตัวเลขสะสมที่อยู่ในสถานกักตัวของรัฐซึ่งเดินทางผ่านจุดผ่านแดนทางบก 7,628 คน อยู่ระหว่างกักตัว 5,922 คน สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 30 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 1 พ.ค. มีผู้ฝ่าฝืนชุมนุมมั่วสุม 154 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 87 ราย อันดับ 1 มาจากการเล่นการพนัน ออกนอกเคหสถาน 607 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 88 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับสถิติการเดินทางของประชาชนทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล ขนส่งสาธารณะ และขนส่งสาธารณทางราง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งหมด วันที่ 16 เม.ย.มีตัวเลขประชาชนเดินทาง 800,867 คน วันที่ 23 เม.ย. 848,028 คน และวันที่ 30 เม.ย. 962,398 คน เข้าใจว่าทุกคนคงสบายใจจึงผ่อนคลายตัวเอง ออกนอกบ้านมากขึ้น แต่ขอให้จดจำไว้ว่าการออกนอกบ้านมีความเสี่ยง เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่เป็นศูนย์ เราเชื่อว่ายังมีคนที่เป็นพาหะของโรคอยู่ในสังคม จึงขอให้ใส่หน้ากากอนามัยให้เหมือนเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย ส่วนที่มีปรากฏภาพในโลกออนไลน์และทางสื่อมวลชนว่ามีการจราจรหนาแน่น มีการเดินทางไปต่างจังหวัดจำนวนมากในช่วงวันหยุดยาวนั้น ถือว่าน่ากังวลใจ เพราะข้อสำคัญของการป้องกันคือ การจำกัดการเคลื่อนย้ายคน เพราะคนเป็นแหล่งรังโรคและติดโรค ทุกประเทศทั่วโลกก็ใช้มาตรการจำกัดเคลื่อนย้ายประชากร แม้ตอนนี้เราอยู่ในช่วงผ่อนปรน แต่การเดินทางต้องไม่มากกว่าเดิม ไม่จำเป็นไม่ควรเดินทาง และขอให้ลดการเดินทาง หรือเมื่อเดินทางไปแล้วก็ขอให้อยู่แต่บ้าน ไม่ต้องไปพบปะสังสรรค์กับใคร ปรับตัวให้เข้ากับมาตรการของจังหวัดนั้นๆ อย่าไปทำให้เกิดความเสี่ยง ถ้า 14 วันนี้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ยังต่ำ เราจะมีพื้นที่เปิดขยายไปได้มากกว่านี้ รวมถึงห้างสรรพสินค้า จึงขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือด้วย
เมื่อถามว่า หากโดยสารเครื่องบินภายในประเทศจะต้องกักตัว 14 วันหรือไม่ และต้องมีใบรับรองแพทย์หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โดยหลักการต้องดูประกาศของจังหวัดที่เดินทางไปเป็นพื้นฐานก่อน ถ้าแต่ละจังหวัดมีข้อกำหนดอย่างไรก็ให้ดำเนินการตามนั้น ดูเป็นจังหวัดไป ส่วนใบรับรองแพทย์เป็นหลักการเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ในประเทศยังไม่เห็นข้อกำหนดดังกล่าว ส่วนที่มีคำถามว่า รถยนต์ส่วนบุคคลต้องจำกัดปริมาณบุคคลในรถหรือไม่นั้น ยังไม่เห็นถึงรายละเอียดที่กำหนดลงไปถึงรถยนต์ส่วนบุคคล แต่หลักการก็ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันไว้ตลอด เพราะเราอยากให้ทุกคนช่วยกันป้องกันให้มากที่สุด ใกล้เคียงกับมาตรฐานสูงสุดที่เราอยากให้เป็นคือ อย่างน้อย 90%
เมื่อถามว่า มาตรฐานกลางที่จะออกมารองรับ 6 กิจกรรม กิจการ ที่จะผ่อนปรนมีผลในวันที่ 3 พ.ค.นี้ จะออกมาเมื่อไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำและจะประกาศออกมาเร็วๆ นี้ คาดว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้คงจะได้เห็นมาตรฐานกลางในแต่ละเรื่อง แต่โดยหลักการกว้างๆ ของ ศบค.หากท่านอยู่ 1 ใน 6 กิจกรรม กิจการที่ได้รับการผ่อนปรน ต้องคำนึงถึง 3 ข้อ คือ 1.กิจกรรมนั้นต้องยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง หรือพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ 2.ความหนาแน่นของผู้ใช้บริการต่อหน่วยพื้นที่ ต้องกำหนดให้มีระยะห่างขั้นต่ำ 1 เมตร และ3.ลักษณะกิจกรรมต้องไม่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก เช่น ร้านตัดผม ต้องใช้เวลาไม่นาน นอกจากนี้ ต้องคำนึงอีก 3 ส่วนควบคู่กันไปด้วยคือ 1.ผู้ให้บริการต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ติดโรค 2.ผู้มาใช้บริการต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ไปรับเชื้อจากผู้ให้บริการ และ3.เจ้าหน้าที่รัฐผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและกำกับดูแลว่าจะอนุโลมหรือเข้มข้นอย่างไร ส่วนช่วงวันที่ 1-2 พ.ค.ให้ยึดข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งเดิมที่ออกมาก่อนหน้านี้ต่อไป จนกว่าจะมีประกาศ หรือคำสั่งใหม่ออกมา
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในฐานะจิตแพทย์ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ตนมองว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในวิชาชีพ เพราะในฐานะแพทย์ต้องช่วยทุกคนให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยทางกายหรือใจ เรื่องการป้องกันเป็นหน้าที่ของจิตแพทย์ที่จะหาทางช่วยเหลือ ตนอยู่กับเรื่องนี้มานานเข้าใจความรู้สึกของผู้สูญเสีย และอยากให้ทุกคนเห็นใจคนเหล่านี้ เพราะเขามีความบีบคั้น อย่าไปว่าเขาเรียกร้องความสนใจ แต่เขากำลังร้องขอความช่วยเหลือเราอยู่ ในฐานะโฆษก ศบค.จะรับฟังทุกเรื่องและนำไปสู่การแก้ไข ช่วยเหลือ และเยียวยา จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยคนที่มีความทุกข์ด้านนี้ให้เข้าสู่กระบวนการเยียวยา โดยเราจะมีทีมทางด้านนี้ในทุกจังหวัดเข้าไปพูดคุยกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต เพื่อจะเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือเยียวยา