xs
xsm
sm
md
lg

ถอดคำต่อคำ “หมอทวีศิลป์” กับประเด็น “คนฆ่าตัวตายไม่เกินความคาดหมาย” ไม่เห็นค่า ปชช.จริงหรือ ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตอบคำถามสื่อมวลชน ในการแถลงสถานการณ์ประจำวันที่ 30 เมษายน 2563 โดยช่วงที่ตอบถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย ได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ประเด็นที่พูดว่า “คนฆ่าตัวตายไม่เหนือความคาดหมาย” กับประเด็น “สถิติฆ่าตัวตายตอนนี้ยังน้อยกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง” ถึงขั้นที่เพจเฟซบุ๊ก “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG” เรียกร้องให้ปลด นพ.ทวีศิลป์ เพื่อให้แสดงความรับผิดชอบกับคำพูด และการกระทำที่ไม่เห็นค่าของชีวิตและศักดิ์ศรีของประชาชน

ทั้งนี้ จึงถอดคำพูดแบบ “คำต่อคำ” จากช่วงดังกล่าว เพื่อให้พิจารณากันว่า นพ.ทวีศิลป์ ต้องการสื่อความหมายอย่างไรกันแน่

ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด : ปัญหาที่เกิดขึ้นช่วงนี้คือมีพฤติกรรมที่หลายๆ คนเป็นห่วง คือ การฆ่าตัวตาย หรือหาทางออกไม่ได้ คล้ายๆ จะมีพฤติกรรมเลียนแบบ ตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมสุขภาพจิต จะแก้ปัญหาและมีมาตรการอย่างไร อีกอย่างหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องการช่วยเหลือกับความเดือดร้อน ซึ่งอาจผูกเนื่องกัน กับการคิดสั้นของคน เราจะแก้ไขอย่างไร ให้เขาไม่ตัดสินใจแบบนี้
“และแนวโน้มการพยากรณ์ด้านนี้ ก็เหมือนการพยากรณ์โรค ว่าคงต้องเห็นตัวเลขของการพยายามทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายนี้ขึ้นไปด้วยเหมือนกัน การพยากรณ์ต่างๆ เหล่านี้ เป็นพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ แล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดไปจากความคาดหมาย

แต่อย่างไรก็ตามแต่ ในเรื่องของการเผชิญกับความเป็นจริง หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องทำ คล้ายกับการดูแลควบคุมโรคติดต่อ ถึงแม้จะมากขึ้น เพิ่มขึ้น แต่หน้าที่ของกระทรวงเรา ก็ต้องเข้าไปศึกษาหาทางในการที่จะลดจำนวน การสูญเสียในเรื่องของการฆ่าตัวตาย

ซึ่งหลักการการดูแลปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ฉะนั้น สัญญาณของการฆ่าตัวตาย สัญญาณของการเจ็บป่วยทางจิต ทางกายต่างๆ ที่มีมาก่อน เป็นกระบวนการที่พี่น้องทางด้านสาธารณสุข จะต้องเข้าไปดู บวกรวมกับทางด้านของเศรษฐกิจต่างๆ การแก้ปัญหาที่ตรงเหตุ ก็จะช่วยทำให้เกิดการลดการสูญเสียทางด้านนี้ได้ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนทีเดียว ในหลายประเทศก็ต้องมีมาตรการในระดับประเทศ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ระดับของกระทรวงเท่านั้น ต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มาตรการส่วนบุคคล ถ้าตอนนี้ประชากร คนไทยทั้งหลาย คนที่มีความคิดฆ่าตัวตาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะมีสัญญาณการแสดงออก ขอให้คนที่อยู่ใกล้ชิด ที่เป็นญาติหรืออะไรทั้งหลาย ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และร้องขอความช่วยเหลือมาทางกระทรวงสาธารณสุข เรามีสายด่วนสุขภาพจิต 1323 24 ชั่วโมง สามารถที่จะเรียกใช้บริการได้ทันที แล้วเราก็จะเข้าไปช่วยกันแก้ไข

เราเคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจในช่วง 2540 ที่เรียกว่าต้มยำกุ้ง ตอนนั้นตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้นไปเป็น 8.3 ต่อแสนประชากร แต่ครังนี้ ณ เวลาตอนนี้ ยังไม่ถึงตอนนั้น ยังมีมาตรการที่พวกเราสามารถที่จะป้องกันให้ตัวเลขลดลงได้ แต่ต้องร่วมมือกัน ในทุกภาคส่วนครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น