xs
xsm
sm
md
lg

SENA นำร่องโปรดักต์ใหม่ "ทาวน์โฮม" ติดโซลาร์ ตอบโจทย์ Work From Home

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
เสนาฯ ย้ำจุดยืนผู้นำนวัตกรรม "โซลาร์" ตอบโจทย์ New Normal หลังผ่านโควิด-19 ช่วยบริหารค่าไฟ หลังแนวโน้มบางธุรกิจเต็มใจให้พนักงาน Work From Home นำร่องเปิดโปรดักต์ใหม่รุกตลาดแนวราบ ผ่านโซลูชัน "ทาวน์โฮม" ติดโซลาร์ ปักหมุดโซนลำลูกกาคลอง 6 เคาะราคา 2 ล้านกว่าบาท

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่มสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก หลังจากต้องเว้นระยะห่างในช่วงเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า วิกฤตโควิด-19 คือ ปัญหาที่นับว่าเป็นสิ่งสาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 สาเหตุหลักมาจากไวรัสโควิด-19 อย่างที่หลายคนรู้กันดี ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ คาดว่ามีหลายธุรกิจที่เกิดใหม่ และได้ประโยชน์หลายธุรกิจที่รอ "เวลา" ในการ ดิสรัปชัน ก็จะดิสรัปได้เร็วขึ้น กลายตัวช่วยเร่งเวลาให้เกิดการ "ดิสรัป" ทางธุรกิจ และวิถีชีวิตคน

"เมื่อโควิด-19 จบลง ทุกอย่างและสิ่งที่เป็นอยู่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เกิดเป็นคำที่ว่า New Normal นั่นหมายถึง พฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ในแบบที่ไม่ย้อนกลับมาเป็นแบบเดิม หรือกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของผู้คน หรือธุรกิจนั่นเอง คำถามคือ เมื่อจบโควิด-19 แล้ว หน้ากากที่เราใส่อยู่ยังต้องเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ หาก 18 เดือนข้างหน้า มีวัคซีนป้องกันแล้ว เรื่อง Work From Home จะกลายเป็น เทรนด์ในอนาคตหรือไม่ และจะกลายเป็นยุคแห่ง New Normal ไปทั้งหมดหรือไม่ หากโควิด-19 จบลง" ผศ.ดร.เกษรา ตั้งคำถามกลับกลุ่มสื่อมวลชน ซึ่งรับผลกระทบกับวิกฤตโควิด-19 เช่นกัน

แต่ในฐานะนักธุรกิจ มองว่า ทุกวิกฤตมีโอกาส และคือ “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญ เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้เหมือนภาพสะท้อนเมื่อปี 2554 ที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ (น้ำท่วมใหญ่) สิ่งที่เรามองเห็น และบางคนมองเห็น คือ ปัญหาและหาทางป้องกัน จากจุดนี้เองกลายการเริ่มต้นที่สร้าง 3 สิ่งคือ สังคมคุณภาพ ธุรกิจคุณภาพ และโลกที่น่าอยู่กว่าเดิม

"เรายอมรับว่า วิกฤตเศรษฐกิจปกติจะเกิดจากน้ำมือมนุษย์ เกิดจากการลงทุนที่มากไป เกิดจากนโยบายที่ผิด วิกฤตไม่ดีก็ใช้เงินในการแก้ เช่น การฉีดเงินเข้าสู่ระบบ แบงก์ชาติเข้ามาปล่อยเงินกู้เอง กระทรวงการคลังจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อราย เป็นต้น แต่ในมุมของ วิกฤตสุขภาพจะใช้เงินแก้ไม่ได้ มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อสุขภาพไม่ได้ หรือแม้แต่การทำงานที่บ้าน การอยู่คอนโดฯจะมีการใช้แอปพลิเคชันของเสนาฯ มากขึ้น ฟีเจอร์ในแอปจะมากเช่นกัน ในอดีตลูกบ้านจะใช้แอปจองเครื่องออกกำลังกาย แต่ปัจจุบัน พฤติกรรมอาจจะเปลี่ยนไป ใช้แอปเพื่อตรวจดูว่า เครื่องออกกำลังมีคนใช้เยอะแค่ไหน เพื่อความปลอดภัยในเรื่องสุขภาพ"


ผศ.ดร.เกษรา กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้เกิดพฤติกรรมการทำงานและการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป ดังเช่นที่หลายบริษัทใช้มาตรการ Work From Home ปัญหาที่ตามมาพบว่าค่าไฟดีดตัวเพิ่มขึ้น ตามปกติเดือนเมษายนเป็นช่วงของฤดูร้อน อากาศร้อนอบอ้าว ค่าไฟแพงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอมาตรการ Work from Home ที่ทำให้ทุกคนต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น ยิ่งเจอปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้ามากขึ้น เพราะแต่ละบ้านต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 1.เครื่องปรับอากาศ พร้อมคอมเพรสเซอร์ 2.เครื่องฟอกอากาศ 3.พัดลมไอน้ำ 4.ตู้เย็นยิ่งใส่ของเยอะ คอมเพรสเซอร์ตู้เย็นยิ่งทำงานหนัก และ 5.คอมพิวเตอร์สำหรับทำงาน

แต่หลังโควิด-19 ไป ชีวิตวิถีใหม่จะเริ่มขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป สัดส่วนการใช้เวลาที่บ้านจะเปลี่ยนไป บางบริษัทอาจจะเต็มใจให้พนักงานบางกลุ่มมาทำงานที่ออฟฟิศ และ Work From Home ในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน 80 : 20, 70 : 30, 60 : 40 และ 50 : 50 ส่งผลให้เกิด New Normal ในธุรกิจที่อยู่อาศัยเช่นกัน จัดสเปซให้มีพื้นที่ทำงานในบ้านไม่ใช่เรื่องยาก แต่การทำให้บ้านหลังหนึ่งประหยัดค่าไฟได้ตลอด 25 ปี และหากสามารถบริหารไม่ให้ใช้ไฟเกิน 250 หน่วยซึ่งจะไม่ถูกจัดเก็บในอัตราไฟก้าวหน้า อันนี้เป็นเรื่องที่ยากกว่า


ดังนั้น การติดโซลาร์ถือว่ามีความสำคัญและมีความจำเป็นสำหรับกลุ่มคนทำงานที่บ้านหรือฟรีแลนซ์ โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน ซึ่งจากข้อมูลที่ทางเสนาสำรวจ ระบุว่า การลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้าน สิ่งที่ได้มากกว่าคือ นำไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากพลังงานสะอาดมาใช้เพื่อลดการซื้อไฟฟ้าจากระบบของรัฐ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ตามสเปกการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ที่มีกำลังผลิต 2-8 กิโลวัตต์ (KW) ของบ้านเสนาโซลาร์ คำนวณระยะเวลา 10 ปี เทียบได้กับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 16-63 ต้น ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2-9 ตันต่อปี นอกจากนี้ ทางเสนามีบริการโซลาร์สเกลอัป ที่เป็นนวัตกรรมคำนวณสเกลการใช้งานโซลาร์ตามเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละบ้านเป็นตัวช่วยเซอร์วิสลูกบ้านอีกทางหนึ่ง

ปัจจุบัน การติดตั้งแผงโซลาร์ยังถือเป็นต้นทุนที่สูง และผู้บริโภคยังมองไม่เห็นประโยชน์มากเท่าที่ควร แต่เหตุการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เชื่อว่าผู้บริโภคที่ต้องทำอยู่บ้าน Work From Home ต้องเห็นประโยชน์และความคุ้มค่าในการติดตั้งโซลาร์เพิ่มขึ้น ซึ่งราคา ณ ปัจจุบัน เมื่อเทียบกับตอนที่เริ่มทำเมื่อปี 2557 ถูกลงกว่า 50%

ปัจจุบัน เสนาพัฒนาโครงการไม่ว่าจะเป็นแนวราบหรือแนวสูงก็ตาม จะติดตั้งโซลาร์ให้แก่ลูกบ้านทุกโครงการ เพื่อช่วยให้คนที่อยู่บ้านได้ประหยัดค่าไฟฟ้า และช่วยลดโลกร้อน ซึ่งมีการติดตั้งโซลาร์ให้แก่ลูกค้ากว่า 400 ครัวเรือน รวม 1,000 KW

ผศ.ดร.เกษรา กล่าวว่า เรื่อง Work From Home แรกๆ เราคิดว่าจะมีผลกับธุรกิจมากน้อยเพียงใด แต่ทางเสนาฯ ได้ผลตอบรับจากลูกบ้านที่เราติดโซลาร์ ทำให้ประหยัดค่าไฟไปมาก ทำให้เราหวนกลับมาคิดว่า เมื่อต้องทำงานที่บ้านแล้วค่าไฟต้องแพงมากๆ ดังนั้น รูปแบบของบ้านอาจจะมากกว่าคำว่าอยู่อาศัย หรือจะอยู่เพื่อทำงานและอยู่ออกกำลังกาย แต่ทั้งหมดแล้วล้วนมีผลต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

"ทำให้คิดว่า โซลาร์ น่าจะเป็น New Normal ที่จะมีการใช้และเห็นประโยชน์ที่สูง และในโลกของโควิด-19 นี้ โซลาร์จะเป็นอะไรที่ชัดเจนขึ้น ผลจากการสำรวจ 400 หลังคาเรือนของเสนาฯ พบว่า ในอดีต คนทำงานที่บ้านไม่ใช่กลุ่มใหญ่ของการใช้ไฟฟ้า ซึ่งคนอยู่บ้านใช้ไฟเฉลี่ยประมาณ 3.5 ชั่วโมง แต่วันหยุดใช้ไฟประมาณ 4.5 ชั่วโมง ยกตัวอย่าง หากเราติดโซลาร์เท่ากับ 2 KW ซึ่งจะเท่ากับแอร์ 2 ตัว 24,000 BTU ซึ่งหากบ้านหลังนั้นไม่ได้ติดโซลาร์ ใช้เฉพาะแอร์ ไม่ได้คำนวณอย่างอื่น ก็จะมีค่าไฟประมาณ 1,400 บาทต่อเดือน หากติดโซลาร์ ซึ่งจะมีชั่วโมงการผลิตพลังงานไฟฟ้าประมาณ 5 KW เท่ากับบ้านหลังนั้นจะประหยัดไฟคิดเฉพาะการเปิดเครื่องปรับอากาศได้เท่ากับไม่ติดโซลาร์" ผศ.ดร.เกษรา กล่าวถึงสินค้าที่บริษัทผลิตและทำการขายอยู่

“เสนา วิลล์ ลำลูกกา คลอง 6”
อย่างไรก็ตาม ทางเสนาเตรียมเปิดโปรดักต์ใหม่ โดยจะนำแผงโซลาร์ไปติดกับตัวสินค้าแนวราบในโครงการทาวน์โฮมเป็นครั้งแรกในปี 2563 เพื่อเจาะคอนซูมเมอร์ระดับกลาง-ล่าง ขนาด 1 กิโลวัตต์ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับคนกลุ่มนี้ ภายใต้ชื่อ “เสนา วิลล์ ลำลูกกา คลอง 6” เป็นทาวน์โฮม 2 ชั้น ราคา 2 ล้านกว่าบาท ซึ่งกำหนดเปิดขายอย่างเป็นทางการช่วงเดือนมิถุนายน 2563 นี้ และในโครงการโซนเทพารักษ์อีกโครงการ

"ในการพัฒนาโครงการเราจะกำหนดนโยบายให้นำเรื่องการติดโซลาร์เข้าไปไว้ให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการออกแบบและกำหนดวัสดุที่เหมาะสมต่อกลุ่มลูกค้า มากกว่าที่จะนำโซลาร์มาติดภายหลัง ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการปรับลดขนาดวัสดุก่อสร้างลง ขณะที่การติดโซลาร์ก็มีต้นทุน แต่ด้วยขนาดของโครงการที่มีจำนวนมาก และการอาศัยบริษัทลูกค้าที่ทำธุรกิจด้านโซลาร์มาสนับสนุน โดยไม่นำส่วนของค่าติดตั้งเข้ามาคำนวณ ทำให้สามารถกำหนดราคาทาวน์โฮมระดับ 2 ล้านกว่าบาทได้"

สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ ผศ.ดร.เกษรา กล่าวว่า "โครงการคอนโดมิเนียมแนวสูงปีนี้ คงไม่ทำ เดิมที่เคยซ่าๆ เราจะเลิกซ่า ยกเว้นโครงการคอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่าล้านบาท (คอนโดบีโอไอ) ยังเปิดตามแผน รวมถึงโครงการทาวน์เฮาส์ที่กล่าวข้างต้น"
กำลังโหลดความคิดเห็น