ช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราอาจเห็นโลกเริ่มเปลี่ยนไป ผู้คนเสียชีวิตนับแสนและอีกนับล้านล้มป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนคนที่ร่างกายแข็งแรงดี ก็ประสบกับตนเองว่าวิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว เช่นเดียวกับด้านสิ่งแวดล้อมที่พบระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเห็นได้ชัดในหลายประเทศ
จากวิกฤตการระบาดทำให้หลายประเทศและหลายเมือง ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ เช่น ในอิตาลี ออกข้อกำหนดการเดินทางออกนอกบ้านที่เข้มงวดที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนกรุงลอนดอน จากเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คน ทางการประกาศปิดผับ บาร์ ร้านอาหาร และโรงละคร และสั่งให้ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน ขณะที่สายการบินทั่วโลกหยุดให้บริการ ส่วนประเทศไทยก็มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำหนดเวลาห้ามออกนอกบ้าน พร้อมรณรงค์ให้ทุกคน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รวมถึงพฤติกรรมของคนยุคนี้ที่ระมัดระวังตนเองโดยการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง กลายเป็น “New Normal” หรือ “ความปกติในรูปแบบใหม่” แม้ภายหลังการระบาดของไววัสโควิค-19 จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม
มาตรการดังกล่าว ล้วนมีเป้าหมายเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส เพื่อหวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดผลที่ไม่คาดคิดตามมา นั่นคือระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เช่น นิวยอร์ก ลดลงถึงร้อยละ 50 ส่วนที่จีนลดลงถึงร้อยละ 25 หลังจากทางการสั่งให้ประชาชนกักตัวอยู่ที่บ้าน โรงงานหยุดการผลิต ขณะที่การใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้า 6 แห่งที่ใหญ่ที่สุดของจีน ลดลงถึงร้อยละ 40 นับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว จากข้อมูลของกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม สัดส่วนของวันที่มีคุณภาพอากาศดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ใน 337 เมืองทั่วจีน ส่วนในยุโรป ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ให้เห็นว่า การปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ลดลงอย่างมากทางภาคเหนือของอิตาลี เช่นเดียวกับที่สเปน และสหราชอาณาจักร
นับเป็นอุบัติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว แต่คงไม่ใช่วิธีที่น่ายินดีนัก และไม่ใช่วิธีการที่มีความยั่งยืนเพื่อทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง เพราะท้ายที่สุดแล้ว การระบาดก็จะค่อยๆ ลดลง ผู้คนก็จะต้องออกมาใช้ชีวิตตามปกติเช่นเดิม และนั่นอาจทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอน และมลพิษกลับเข้าสู่สภาพเดิม
คิมเบอร์ลี นิโคลาส นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน จากมหาวิทยาลัยลุนด์ ในสวีเดน กล่าวว่า สิ่งแรกที่ควรต้องนำมาพิจารณาคือ เหตุผลต่างๆ ที่ทำให้การปล่อยก๊าซพิษลดลง เช่น การขนส่ง ที่มีการปล่อยมลพิษคิดเป็นร้อยละ 23 ของการปล่อยมลพิษทั่วโลก ซึ่งลดลงในระยะสั้นในประเทศที่มีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด ด้วยการห้ามประชาชนออกนอกบ้าน
แล้วจะเป็นอย่างไร หากมาตรการต่างๆ เริ่มผ่อนคลายลงในช่วงที่การระบาดลดลง
นิโคลาสกล่าวว่า อาจเกิดกรณีที่คนเกิดอาการ “เบื่อบ้าน” อย่างรุนแรงหลังต้องกักตัวมานาน และออกเดินทางมากกว่าที่เดิม และอาจเกิดกรณีที่คนเหล่านั้น อาจรู้สึกยินดีที่ได้ใช้เวลาร่วมกับคนในครอบครัว และหันไปสนใจกับสิ่งที่เป็นแก่นสารของชีวิต วิกฤตครั้งนี้ อาจทำให้คนหันไปให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อน และชุมชน ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจริง มันก็อาจช่วยลดการปล่อยมลพิษในระยะยาวได้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โรคระบาดส่งผลต่อระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรค มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยมลพิษที่ลดลง แม้แต่ในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
จูเลีย ปอนกราตซ์ อาจารย์ด้านภูมิศาสตร์กายภาพและระบบการใช้ที่ดิน จากมหาวิทยาลัยมิวนิค พบว่าโรคระบาด เช่น การระบาดของกาฬโรคในยุโรป ในสมัยศตวรรษที่ 14 หรือโรคฝีดาษในอเมริกาใต้ ในสมัยศตวรรษที่ 16 ล้วนแต่ส่งผลต่อระดับก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ หลังมีการค้นพบฟองอากาศขนาดเล็กในแกนกลางของน้ำแข็งยุคโบราณ
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลมาจากอัตราการเสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนการศึกษาอื่นๆ พบว่าการเสียชีวิต ทำให้พื้นที่ที่เคยใช้สำหรับการทำการเกษตรถูกทิ้งร้าง จนกลายสภาพเป็นป่า และทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ลดตามไปด้วย
ผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 อาจไม่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเช่นในอดีต และอาจไม่ทำให้การใช้ที่ดินลดตามไปด้วย และอาจเป็นเช่นเดียวกับในยุควิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008-2009 ที่ทำให้ระดับการปล่อยมลพิษทั่วโลกลดลงนานกว่า 1 ปี เนื่องจากกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ลดลง ที่ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนเทียบได้กับกิจกรรมด้านการขนส่ง โดยการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม การผลิต และการก่อสร้าง รวมกันคิดเป็นร้อยละ 18.4 ของกิจกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนของมนุษย์ทั่วโลก ขณะที่วิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยรวมลดลงร้อยละ 1.3 แต่กลับมาสู่ระดับเดิมอย่างรวดเร็วในปี 2010 หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว
นอกจากนั้น อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนกลับมาอีกครั้งคือ ระยะเวลาของการระบาด ปอนกราตซ์ กล่าวว่า “ในขณะนี้ยังยากที่จะคาดการณ์ หากการระบาดยืดเยื้อต่อไปจนถึงสิ้นปี และอาจทำให้ความต้องการของผู้บริโภคยังคงลดต่ำ เนื่องจากรายได้ที่ลดลง การใช้พลังงานฟอสซิลและน้ำมันอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว แม้ความสามารถในการรองรับจะมีอยู่แล้วก็ตาม
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะยังคงเติบโตในปี 2020 ถึงแม้ว่าหลายสำนักจะคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตลดลงกว่าครึ่งหนึ่งก็ตาม แต่ถึงกระนั้น เกลน ปีเตอร์ส นักวิจัยจากศูนย์วิจัยสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในกรุงออสโล ระบุว่า ปี 2020 โดยรวม การปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกจะลดลงร้อยละ 0.3 แม้จะน้อยกว่าในยุควิกฤตการเงินโลกปี 2008 แต่โอกาสที่จะกลับมามากเท่าเดิมมีน้อยกว่า หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น พลังงานสะอาด
จากผลกระทบของโควิด-19 สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ในระยะสั้น คือ ผู้คนได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ขึ้น แต่คำถามที่โลกต้องการมากกว่านั้นคือ มันจะอยู่กับเราไปนานอีกเท่าใด และเมื่อมาตรการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง สภาพเศรษฐกิจจะมีหน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไร ด้วยวิธีที่ไม่กลับไปสู่การสร้างมลพิษเพิ่มขึ้น