อาจมีวัคซีนระงับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ให้ใช้กันได้อย่างเร็วที่สุดในปีนี้เลย ซึ่งรวดเร็วกว่าที่คิดไว้ในตอนแรก โดยเบื้องต้นจะพร้อมใช้สำหรับกลุ่มคนอ่อนแอ และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในจำนวนนี้ก็รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขด้วย
กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด หรือ Coalition for Epidemic Preparedness Innovations : CEPI ซึ่งกำลังให้การสนับสนุนเงินทุนโครงการวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จำนวน 9 โครงการ คือ ผู้ที่ระบุความเป็นไปได้เช่นนี้ โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มเคยบ่งชี้ว่า วัคซีนน่าจะพร้อมภายใน 12-18 เดือน ซึ่งก็ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมากอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ริชาร์ด แฮทเชทท์ หัวหน้าของกลุ่มพันธมิตรนี้ ที่ตั้งอยู่ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ บอกว่า การประเมินว่าต้องใช้เวลา 12-18 เดือนนั้น ยังไม่ได้นับรวมความเป็นไปได้ในกรณีที่บริษัททั้งหลายจะทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการเร่งรัดกระบวนต่างๆ, เปิดรับอาสามัครในการทดลองในมนุษย์ให้เร็วขึ้น ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ
“เหล่านี้คือทั้งหมดทั้งมวลที่เรากำลังมองอยู่ในตอนนี้ ในฐานะที่มีโอกาสความเป็นไปได้ ซึ่งบางทีอาจทำให้เปิดตัววัคซีนเร็วกว่าระยะเวลา 12-18 เดือน อย่างที่เราเคยพูดกัน” เขากล่าวเช่นนี้ระหว่างการหารือทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อวันจันทร์ (27 เม.ย.)
ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกพุ่งเกิน 3 ล้านคน จึงกลายเป็นแแรงกดดันหนักหน่วงมากขึ้นเรื่อยๆ ให้พวกผู้เชี่ยวชาญเร่งการคิดค้นหาแนวทางรักษา ตลอดจนวัคซีนสำหรับต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่นี้ โดยปัจจุบันมีหลายสิบบริษัททั่วโลกที่กำลังเสาะหาพัฒนาวัคซีนรักษาโควิด-19 เป็นต้นว่า ซาโนฟี่, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และ โมเดอร์นา อิงก์
คณะผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่นำโดย ซาราฟ์ กิลเบิร์ต ศาสตราจารย์ด้านวิทยาวัคซีน ได้เริ่มทดลองวัคซีนที่มีศักยภาพตัวหนึ่งแล้ว และมีเป้าหมายให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิผลอย่างเร็วที่สุดในเดือนกันยายน ขณะที่การผลิตวัคซีนในทางอุตสาหกรรมก็กำลังมีการเตรียมการกันอยู่เช่นกัน
กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเรียกร้องให้ระมัดระวัง โดยเน้นว่าวัคซีนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาทดสอบข้ามปีก่อนวางจำหน่ายในตลาด และเวลา 12-18 เดือน ก็ถือว่าเร็วมากเป็นพิเศษอยู่แล้ว พร้อมเตือนว่าการพัฒนาวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างเร่งรีบนั้น ต้องทำภายใต้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งยังไม่เคยผ่านการพิสูจน์ว่ามันใช้ได้ผลกับมนุษย์
ในเรื่องนี้ แฮทเชทท์ บอกว่า เขาก็ไม่อยากให้คำสัญญาจนเลยเถิดอะไร แต่บอกได้ว่าวัคซีนหลายๆ ตัวที่ได้รับการสนับสนุนจาก CEPI อาจเข้าสู่ขั้นที่ 2 ของการทดลองอย่างเร็วที่สุดในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ หรือในช่วงฤดูร้อนนี้เลย นั่นหมายความว่า วัคซีนแรกที่ใช้งานได้อาจมีออกมาภายในปี 2020 หากว่ามันผ่านการพิสูจน์ด้านความปลอดภัยและประสิทธิผล โดยบางทีในเบื้องต้นมันอาจจะพร้อมสำหรับการใช้แบบฉุกเฉิน ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่อาจใช้เฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มเท่านั้น ก่อนจะสามารถนำมาใช้ในระดับที่กว้างขวางมากขึ้นต่อไป
ทางผู้พัฒนาให้ความเอาใจใส่กับตัวอย่างต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งมีการเร่งรีบพัฒนาวัคซีนอย่างรวดเร็ว “แต่เคราะห์ร้ายมันนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แย่ๆ” เขาบอก ดังนั้น “เราจึงจะทำมันด้วยความจริงจังอย่างที่สุด เราไม่สามารถทำอะไรอย่างลวกๆ มันเป็นสิ่งสำคัญอย่างที่สุดที่เราต้องรับประกันความปลอดภัยและประสิทธิผลของมัน” เขากล่าว
แฮทเชทท์ บอกด้วยว่า เมื่อมีความก้าวหน้าในเรื่องวัคซีนสำหรับทดลอง รัฐบาล และกลุ่มทางสาธารณสุขต่างๆ ก็จะหันมาสู่ความท้าทายใหญ่อีกประการหนึ่ง ได้แก่ การผลิตวัคซีนให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับสนองความต้องการของทั่วโลก และให้มั่นใจว่าจะมีการแบ่งปันกระจายไปอย่างเป็นธรรม สิ่งที่กลุ่มพันธมิตรคิดไว้คือต้องการให้จัดตั้งโรงงานผลิตในทุกๆ ภูมิภาคของโลก และกำลังมีการหารือเรื่องนี้แล้วกับกลุ่มอื่นๆ เป็นต้นว่า กลุ่ม กาวี (Gavi), กลุ่มพันธมิตรวัคซีน (Vaccine Alliance) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือพวกประเทศกำลังพัฒนาในด้านการเงินและการจัดสรรแบ่งปันวัคซีนต่างๆ อยู่
“เมื่อคำนึงถึงภาวะติดขัดทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดครั้งนี้ และการที่เศรษฐกิจมีการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างกันทั่วโลกแล้ว ถ้าเราไม่แก้ไขจัดการกับโรคระบาดนี้ในทุกหนทุกแห่งแล้ว เราก็จะยังคงตกอยู่ในความเสี่ยง” เขาบอก
พอล ฮัดสัน ซีอีโอของบริษัท ซาโนฟี่ เคยตั้งคำถามขึ้นมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับความสามารถของยุโรปในการผลิตวัคซีนปริมาณมากๆ ออกมาใช้ได้อย่างเพียงพอ และกล่าวว่า สหรัฐฯอาจจะอยู่ในฐานะที่จะผลิตวัคซีนเป็นรายแรก เนื่องจากมีองค์การเพื่อการวิจัยและการพัฒนาทางชีวการแพทย์ชั้นสูง (Biomedical Advanced Research and Development Authority) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่คอยสนับสนุนการพัฒนาวัคซีน
ขณะที่ เออร์นา โซลเบิร์ก นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ ซึ่งร่วมในการหารือทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ แฮทเชทท์ ครั้งนี้ด้วย ให้ความเห็นว่า “เราควรที่จะมีทัศนะมุมมองแบบระดับโลกกันจริงๆ และทำให้มั่นใจว่าเราจะไม่จบลงด้วยการจำกัดการเข้าถึง (วัคซีน) เพราะมันถูกผลิตขึ้นในประเทศบางประเทศเท่านั้น”
กลุ่มพันธมิตร CEPI เวลานี้ได้รับคำมั่นสัญญาสนับสนุนทางการเงินจากฝ่ายต่างๆ คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งแล้วของจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประมาณการกันว่าจำเป็นจะต้องใช้ในการพัฒนาวัคซีน และทางกลุ่มยังอาจจะลงทุนในโปรแกรมพัฒนาวัคซีนอื่นเพิ่มขึ้นอีก 15 ตัวหรือกว่านั้น แฮทเชทท์ บอก
เวลานี้ ทางกลุ่มเป็นหุ้นส่วนอยู่กับบริษัทอย่างเช่น โมเดอร์นา และ อิโนวิโอ ฟาร์มาซูติคอลส์ (Inovio Pharmaceuticals Inc.) ตลอดจนพวกสถาบันอย่างเช่น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ในออสเตรเลีย
(เก็บความจากรายงานข่าวของบลูมเบิร์ก และเพิ่มเติมข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ)