มาถึง ณ ขณะนี้...เรื่องของ “สุขภาพ” ชักเป็นอะไรที่คลายๆ ลงมั่งแล้ว โดยเฉพาะสำหรับบ้านเรา ที่จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้ตาย จากอิทธิฤทธิ์ของเชื้อไวรัส “COVID-19” ค่อยๆ ลดลงๆ จนใกล้เหลือเลขตัวเดียวเข้าไปทุกที ส่งผลให้เรื่องของ “เสรีภาพ” ชักเป็นอะไรที่มาแรงแซงโค้งกันไปแทนที่ เริ่มเกิดการเอะอะโวยวายให้เลิกปิดบ้าน ปิดเมือง เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯลฯ ของบรรดาพวก “ลิเบอร่าน” ในเมืองไทย ไม่ต่างไปจากพวก “ขวาจัด” หรือพวก “สาวกทรัมป์บ้า” ในอเมริกากันบ้างแล้ว ซึ่งก็เอาเถอะ...คงต้องถือเป็น “ทางใคร-ทางมัน” ก็แล้วกัน...
แต่ก็แน่ล่ะว่า...สิ่งที่กำลังกลายเป็น “ปัญหา” เป็นผลข้างเคียง หรือผลกระทบที่ต้องตามมา จากการอาละวาดของท่านเชื้อไวรัส “COVID-19” อย่างมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้ คงหนีไม่พ้นไปจากเรื่องปาก เรื่องท้อง หรือเรื่อง “เศรษฐกิจ” นั่นแหละทั่น ที่ไม่ว่าบ้านเรา บ้านเขา หรือโลกทั้งโลกจำต้องเผชิญหน้า ต้องหาทางแก้ หาทางเยียวยา อย่างชนิดมีแต่หนักหนาสาหัสไปด้วยกันทั้งสิ้น และเป็นปัญหาที่ออกจะสลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เพื่อนทรยศอยู่พอสมควร จะไปใช้แนวทางแบบเดิมๆ ชุดความคิดแบบเดิมๆ ประเภทหนักไปทางมุ่งแต่จะ “กระตุ้น” หรือ “อัดฉีด” โดยไม่คำนึงถึงสภาวะแวดล้อม หรือจังหวะเวลา เผลอๆ...อาจถึงขึ้น “หงายท้องตึง” หรือ “หลับกลางอากาศ” ได้ทุกเมื่อ...
เผอิญว่า...เมื่อช่วงวัน-สองวันที่ผ่านมา ไปอ่านเจอข้อเขียน บทความ ซึ่งอาจเรียกว่าการพยากรณ์ หรือการประมาณการของพวกนักวิเคราะห์ หรือพวก “กูรูทางเศรษฐกิจ” ทั้งหลาย ที่ออกจะให้ภาพค่อนข้าง “คม-ชัด-ลึก” อยู่พอสมควร ถึงแนวโน้มความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจในอนาคตเบื้องหน้าและในระดับโลกทั้งโลก โดย “นายCarsten Brzeski” หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคของ “Eurozone and Global Head of Macro” และ “นายJames Smith” ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการตลาดชาวอังกฤษ ที่ตีพิมพ์ เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ “Think Economic and Financial Analysis” เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยให้ชื่อเอาไว้ว่า “Four Scenarios for the Global Economy after COVID-19” หรือฉากสถานการณ์ประมาณ 4 รูป 4 แบบของเศรษฐกิจโลก หลังวิกฤต “COVID-19” ซึ่งแม้ไม่ถึงกับมีอะไรแปลก-ใหม่มากมายนัก หรือเป็นสิ่งที่พอรู้ๆ กันอยู่แล้ว แต่การรวบรวมแต่ละสิ่ง แต่ละอย่าง เอาไว้อย่างเป็นระบบ และอธิบายพอให้เข้าใจได้ง่ายๆ รวมทั้งการนำเอาข้อมูล สถิติมาย่อยแยกให้กลายเป็น “ตัวเลขประมาณการ” ถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศหลักๆ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าอเมริกา จีน ยุโรป ฯลฯ ก็ดูจะมีน้ำหนักความเป็นไปได้ อยู่พอสมควร ซึ่งใครสนใจรายละเอียด คงต้อง “คลิกกูเกิล” ไปหาอ่านกันเอาเองก็แล้วกัน...
แต่โดยสรุปคร่าวๆ...จาก “ฉากสถานการณ์ที่ 1” หรือผู้เขียนเรียกว่าฉากสถานการณ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวโน้มความเป็นไปในปัจจุบัน (Our Base Case Scenario) นั้น คือฉากสถานการณ์ที่เส้นกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ผู้ตาย จากเชื้อ “COVID-19” เริ่มเป็นไปในแนวราบขึ้นมามั่งแล้ว จนรัฐบาลแต่ละประเทศเริ่มคิดหันมาผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงไปบ้าง เช่น ประเทศยุโรปอาจเลิก “ล็อกดาวน์” ในสิ้นเดือนเมษาฯ และประเทศอื่นๆ ทยอยตามมาในเดือนพฤษภาฯ หรือมิถุนาฯ แบบค่อยๆ เป็นค่อยไป การกำหนดระยะห่างทางสังคมยังคงดำเนินต่อไปตลอดช่วงฤดูร้อน สถานที่พบปะ ชุมนุมทางสังคม เช่น ร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงหนัง โรงละคร ฯลฯ ค่อยๆ ทยอยเปิดกันไปตามลำดับ แม้ว่าการเดินทางระหว่างประเทศยังคงเข้มงวด ขณะที่การพัฒนาวัคซีน และการหาตัวยารักษาการติดเชื้อ เป็นไปอย่างกว้างขวาง และค่อยๆ ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเรื่อยๆ ฯลฯ ภายใต้ฉากสถานการณ์เช่นนี้นี่แหละ ที่โดยตัวเลข สถิติ โดยข้อมูลที่ผู้เขียนทั้งสองรวบรวมเอาไว้ นำไปสู่การ “ฟันเฟิร์ม” ประมาณว่า ภาวะความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก น่าจะอยู่ในรูปที่เรียกว่า “U-shaped” หรือค่อยๆ กลับมาสู่สภาพปกติในอีกไม่ช้า-ไม่นาน แต่กระนั้น...ก็ยังคงเป็น “ปัญหา” ที่หนักหนาสาหัสไปซะยิ่งกว่าช่วง “วิกฤตการเงินโลก” ปี ค.ศ. 2008-2009 อยู่แล้วแน่ๆ...
ส่วน “ฉากสถานการณ์ที่ 2” ที่อาจคล้ายๆ กับฉากสถานการณ์แรก เพียงแต่ดันเกิดการหวนกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในช่วง “ฤดูหนาว” หรือเกิดการ “เปิดก๊อก 2” ของเชื้อ “COVID-19” ขึ้นมาซะอีก หรือฉากสถานการณ์ที่ถูกเรียกว่า “Winter Lockdown Return” ชนิดแม้ว่า “การ์ดไม่ตก” แม้พยายามทดสอบ ตรวจวัดอาการ กันอย่างกว้างขวางเพียงใดก็ตาม แต่การผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง กลับทำให้เชื้อไวรัสตัวนี้มีฤทธิ์ มีเดช กลับคืนขึ้นมาอีก จนต้องหวนกลับไป “ล็อกดาวน์” ในช่วงฤดูหนาวกันอีกรอบ ภายใต้ฉากสถานการณ์เช่นนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก จะเป็นไปในรูป “W-shaped” หรือขึ้นๆ-ลงๆ สวิงไป-สวิงมา “GDP โลก” จะต่ำเตี้ยเรี่ยดินในช่วงปี ค.ศ. 2020 และจะต่ำไปโดยตลอดช่วงปี ค.ศ. 2021 กว่าจะเริ่มกลับมาโต หรือกลับมาสู่ความเป็นปกติ ไม่ว่าปกติแบบใหม่ หรือแบบเก่าก็ตามที ก็ต้องรอไปจนปลายปี ค.ศ. 2022 โน่นแล...
สำหรับ “ฉากสถานการณ์ที่ 3” ที่ถูกเรียกว่า “The Best Case” หรือฉากสถานการณ์ที่ดีที่สุด ก็คือฉากสถานการณ์ที่การล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศ ให้ผลสำเร็จ ลุล่วงไปแบบเดียวกันต้นแบบ ต้นฉบับ อย่างประเทศจีนนั่นเอง คือสามารถกลับมาเปิดบ้าน เปิดเมืองได้ตามลำดับ โดยที่ไม่เกิดการย้อนกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อโรคในช่วงฤดูหนาวอีกด้วย แม้ยังคงต้องเว้นระยะห่าง หรือยังคงต้องทำงานที่บ้านในบางกลุ่ม บางส่วน ยังคงเข้มงวดเรื่องการเดินทางต่างประเทศ แต่ไม่ถึงกับปิดประเทศไปเป็นแถบๆ เพราะด้วยแรงกระตุ้น แรงอัดฉีดของรัฐบาลในแทบทุกประเทศ ชนิดไม่ใช่แค่โปรยเงินลงมาจาก “เฮลิคอปเตอร์” หรือ “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” เท่านั้น แต่ถึงขั้นหว่านเงินลงมาจาก “เครื่องบินทิ้งระเบิด” ทั้งกระตุ้น ทั้งอัดฉีด นับไม่รู้กี่ “ล้านล้าน” ดอลลาร์ ภายใต้ฉากสถานการณ์เช่นนี้...แนวโน้มที่รูปร่างของเศรษฐกิจ จะออกมาในแนว “V-shaped” หรือผงกหัว เงยหน้า อ้าปาก กลับมาสู่ภาวะปกติภายในปี ค.ศ. 2021 จึงมีโอกาสเป็นไปได้อยู่พอสมควร...
แต่ส่วน “ฉากสถานการณ์ที่ 4” หรือที่เรียกว่า “The Worst Case” นี่สิ!!! ซึ่งก็เป็นฉากสถานการณ์ที่เป็นไปได้อีกเช่นกัน คือฉากสถานการณ์ที่ยังคงต้อง “ล็อกดาวน์” กันต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้ การผลิตวัคซีนและการค้นพบตัวยารักษา ยังไม่เกิดผลสำเร็จแม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวก็แล้ว หรือทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่มีผลต่อโลกทั้งโลก ยังคง “ควบคุมไม่ได้” แนวโน้มที่ความเป็นไปของเศรษฐกิจ จะอยู่ในรูป “L-shaped” หรือจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน...และแทบจินตนาการไม่ได้ หรือภาวะที่ “หนักหนาสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งการถดถอยทางเศรษฐกิจ” ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน และกว่าจะมีโอกาสกลับเข้าสู่ภาวะปกติในลักษณะไหนก็ตาม อาจต้องรอไปจนถึงปี ค.ศ. 2023 โน่นเลย โดยสิ่งที่จะกลายเป็น “ปัญหา” ไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องของ “เศรษฐกิจ” เท่านั้น แต่ยังจะตามมาด้วยเรื่องของ “สังคม” และ “การเมือง” ที่จะปั่นป่วนวุ่นวายตามไปด้วย อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้!!!
จริง-ไม่จริง...เชื่อ-ไม่เชื่อ ก็ลองไปหาอ่านรายละเอียดกันเอาเองก็แล้วกัน โดยเฉพาะการถอดรูท ถอดสมการออกมาเป็น “ตัวเลข GDP” ของแต่ละประเทศ ว่าจะบวก จะลบไปถึงขั้นไหน แต่เอาเป็นว่า...ภายใต้ฉากสถานการณ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะออกมาในรูปไหน แบบไหน ก็แล้วแต่ การอาศัยแนวทางแบบเดิมๆ ชุดความคิดแบบเดิมๆ ในการรับมือกับ “ปัญหา” ที่กำลังรอคอยอยู่เบื้องหน้า อาจเป็นสิ่งที่ล้าสมัย หรือพ้นสมัยไปแล้วก็ไม่แน่!!! ส่วนจะ “คิดใหม่-ทำใหม่” กันในแบบไหน อย่างไร??? อันนี้...คงเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ และมี “ความรับผิดชอบ” ควบคู่ไปด้วย คงต้องไปนั่งคิด นอนคิด ตีลังกาคิด เอาเองก็แล้วกัน...