xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ว่าด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสรอง (1)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท



ไหนๆ...ด้วยอิทธิฤทธิ์ อิทธิเดชเชื้อไวรัส “COVID-19” ที่ได้ทำให้เศรษฐกิจของโลกทั้งโลก ออกอาการพลิกคว่ำ พลิกหงาย เข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ไปเป็นที่เรียบโร้ยย์ย์ย์แล้ว หรือส่งผลให้ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ “GDP” ของโลกทั้งโลก ของแต่ละประเทศ ลดฮวบๆ ฮาบๆ ระดับใกล้เหลือ “ศูนย์” กันไปเป็นรายๆ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศทำนองนี้ เลยต้องขออนุญาตชวนไปทำความรู้จักกับบรรดา “นักเศรษฐศาสตร์” บางกลุ่ม บางประเภท ที่ต้องเรียกว่า...อาจถือเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ของเชื้อ “COVID -19” ไม่ทางใด-ก็ทางหนึ่ง เผื่อว่า...อาจได้แง่คิด แง่มุม อะไรบางอย่าง หรืออาจพอช่วยให้เกิดการเปลี่ยนบรรยากาศ จากอาการ “ประสาทแ-ก” หรืออาการ “หูแหก-ตาแหก” อันเนื่องมาจากเชื้อไวรัสล้างโลกตัวนี้ขึ้นมาได้มั่ง...

คือนักเศรษฐศาสตร์ประเภทที่พยายามออกแรงยุ แรงเชียร์ให้บรรดาประเทศต่างๆ หรือโลกทั้งโลก หันมา “จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ” (The Limits to Growth) หรือ “ลดระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ” (Degrowth) หรือทำให้ “การเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือศูนย์” (Zero Growth) กันมาโดยตลอด อย่างเช่น...รายแรก นักเศรษฐศาสตร์เชื้อสายเยอรมัน ผู้มีนามกรว่า “Ernst Friedrich Schumacher” ที่บ้านเราเคยรู้จัก เคยเรียกกันในชื่อย่อๆ ว่า “อี.เอฟ. ชูมัคเกอร์” นั่นแล และถึงกับมีการแปลหนังสือ ข้อคิด ข้อเขียน ของนักเศรษฐศาสตร์รายนี้เป็นภาษาไทย เมื่อสักประมาณ 40 ปีที่แล้ว โดย “คุณสมบูรณ์ ศุภศิลป์” จากเรื่องที่ตั้งชื่อไว้ว่า “Small is Beautiful” กลายมาเป็น “จิ๋วแต่แจ๋ว” และก่อให้เกิดความฮือฮาต่อบรรดานักคิดในบ้านเรา เป็นจำนวนไม่น้อย...

แม้ว่าโดยแนวคิดของ “อี.เอฟ. ชูมัคเกอร์” ...อาจถูกมองว่าหนักไปทางโรมันคาทอลิก หรือค่อนข้างจะ “โรแมนติก” อยู่สักหน่อย คือออกจะฝันๆ เพ้อๆ ในแนวอุดมการณ์ อุดมคติ อันเป็นสิ่งที่แม้ดูเก๋ ดูเท่ เพียงใดก็ตามที แต่มักเอามารับประทานไม่ค่อยจะได้ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปถึงประวัติความเป็นมาของนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันรายนี้ ก็ต้องเรียกว่า “ไม่ธรรมดา” เผลอๆ อาจเฉียบขาด แหลมคม ซะยิ่งกว่ารองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ อย่าง “ป๋าดัน” บ้านเรา ประมาณสองร้อยห้าสิบเท่าเป็นอย่างน้อย คือเป็นผู้ที่เกิดและเติบโตมาจากครอบครัวนักเศรษฐศาสตร์โดยตรง บิดาบังเกิดเกล้านั้นเป็นนักเศรษฐศาสตร์มาตั้งแต่แรก หลังจากเกิดและเติบโตที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 1911 แล้วเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยที่กรุงบอนน์และเบอร์ลิน ด้วยความเฉียบขาด แหลมคม ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน นักศึกษา จึงได้รับทุนจาก “สมาคมโรดส์” (Road Scholar) อันเป็นสมาคมที่พยายามมองหาคนหนุ่มที่มีวี่แววว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นอัจฉริยะ มาเป็นมือ เป็นตีน เพื่อสืบสานแนวคิดเรื่อง “รัฐบาลโลก” หรือ “รัฐบาลแองโกล-แซกซอน” อะไรทำนองนั้น จนได้เข้ามาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดประเทศอังกฤษ ก่อนไปต่อขั้นสูงสุดที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในอเมริกาอีกที...

โดยระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ อเมริกา...นอกจากจะมีความคุ้นเคยใกล้ชิด กับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ระดับที่ถือเป็น “ทุนนิยมตัวพ่อ” หรือ “เจ้าพ่อทุนนิยม” เอาเลยก็ว่าได้ นั่นคือ “จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์” (John Maynard Keynes) ชนิดเจ้าพ่อทุนนิยมรายนี้ รักใคร่ เอ็นดู พยายามจัดหาตำแหน่งแห่งที่ให้ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดให้จงได้ อีกทั้งยังได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลอังกฤษ ให้เป็นหนึ่งในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ผู้ร่วมกอบกู้ภาวะการเงินประเทศอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปจนกระทั่งมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งเป็น “หัวหน้าที่ปรึกษาคณะกรรมการถ่านหินแห่งชาติอังกฤษ” (United Kingdom National Coal Board) อันเป็นองค์กรใหญ่โตมหึมา ระดับต้องดูแลรับผิดชอบผู้ร่วมงานจำนวนถึง 800,000 ราย หรือไม่ได้มีอะไรที่ออกไปทางเพ้อๆ ฝันๆ เอาเลยแม้แต่นิด...

แต่ว่ากันว่า...ขณะอายุอานามเริ่มเข้าสู่ช่วง 40 ปีต้นๆ แม้ว่าแต่แรกเริ่มเดิมที “อี.เอฟ. ชูมัคเกอร์” แทบไม่ได้สนใจเรื่องพระ เรื่องเจ้า ถึงขั้นจัดอยู่ในประเภทไม่คิดว่ามี “พระเจ้า” (Atheist) เอาเลยก็ว่าได้ แต่ด้วยเหตุผลกลใดก็มิอาจทราบได้ ช่วงระหว่างนี้นี่เอง ที่เขาเริ่มหันมาให้ความสนใจต่อ “ศาสนาตะวันออก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศาสนาพุทธ” ดังนั้น...หลังจากที่ได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนประเทศพม่า ในฐานะ “ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ” ด้วยความประทับใจต่อวิถีชีวิตแบบเรียบๆ ง่ายๆ ของชาวพม่า หรือด้วยองค์ประกอบอื่นใดอีกบ้างก็มิอาจทราบได้ ในช่วงที่อยู่ในประเทศพม่านี่เอง ที่เขาเริ่มหันมาประดิษฐ์คิดค้นแนวคิด หรือแนวทางเศรษฐศาสตร์แบบใหม่ ที่เรียกขานกันในนาม “เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ” (Buddhist Economy) อันเป็นสิ่งสวนทาง สวนกระแสกับแนวคิดของพวก “นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก” และพวกอภิมหาทุนนิยม ที่ปรารถนาและต้องการอยากจัดตั้ง “รัฐบาลโลก” แบบคนละเรื่อง คนละม้วน...

เหตุที่ “ชูมัคเกอร์” ออกมาสวนหมัด สวนกระแสกับบรรดา “นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก” ทั้งหลาย ได้ถูกอรรถาธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “จิ๋วแต่แจ๋ว” ไว้ดังนี้ว่า... “นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ (Mainstream Economy) มักคุ้นเคยกับการวัดมาตรฐานการครองชีพ ด้วยจำนวนการบริโภคประจำปี โดยสมมติอยู่ตลอดเวลาว่า ผู้ที่บริโภคมาก...คือผู้ที่กินดี-อยู่ดี กว่าผู้ที่บริโภคน้อย แต่นักเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธกลับเห็นว่า การใช้มาตรวัดตัดสินเช่นนี้ ถือเป็นวิธีการที่ไร้เหตุผลเป็นอย่างยิ่ง เพราะการบริโภคเป็นเพียง...มรรควิธี ที่จะนำมาซึ่งการกินดี-อยู่ดี แต่จุดมุ่งหมายที่มีคุณค่ายิ่งไปกว่านั้น ก็คือการทำให้การกินดี-อยู่ดี สามารถเป็นไปด้วยการบริโภคให้น้อยที่สุด...” หรือพูดง่ายๆ ว่า การใช้ชีวิตแบบเรียบๆ ง่ายๆ ตามวิถีทางของบรรดา “ชาวพุทธ” ในประเทศพม่านั่นเอง ที่ทำให้ “ชูมัคเกอร์” เริ่มมองเห็นถึงสิ่งที่อยู่ลึกลงไปกว่า “ความต้องการบริโภค” แบบหยาบๆ ทื่อๆ หรือแบบกระเหี้ยนกระหือรือ อันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความฉิบหายต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมต่อทรัพยากร ฯลฯ ไม่ว่าในประเทศนั้นๆ หรือในระดับโลกทั้งโลก อย่างมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้...

ดังนั้น...แทนที่จะตอบสนองต่อความกระหาย ใคร่อยากในการบริโภค หรือการกินดี-อยู่ดี ด้วยการนำเอาจำนวน หรือปริมาณการบริโภคเป็นตัววัด จนต้องหาทางประคับประคอง หรือหาทางกระตุ้น “GDP” ไม่ให้ออกอาการหัวตก หางตก โดยเด็ดขาด นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันรายนี้ จึงหันมานำเสนอให้ใช้ “ความรู้” หรือ “ปัญญา” แบบที่มีอยู่ในศาสนาพุทธ หรือศาสนาทั้งหลาย อันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิด “ความสุข” ต่อผู้คน ที่ไม่ว่าจะบริโภคน้อย หรือมีน้อย-ใช้น้อยเพียงใดก็ตามที มาใช้เป็นรากฐานในการยกระดับไปสู่ “เศรษฐศาสตร์แบบใหม่” หรือ “เศรษฐศาสตร์ที่สูงส่งไปกว่าเดิม เศรษฐศาสตร์ที่ไม่หวั่นเกรงต่อการถกเถียงในเรื่องจิตใจและมโนธรรม เศรษฐศาสตร์ที่มีเป้าหมายทางศีลธรรม และสามารถตอบสนองคุณค่า ความหมาย ของชีวิต เพื่อมุ่งไปสู่การยกระดับจิตใจของผู้คน...” นี่...ฟังแล้ว แม้ออกไปทางโรมันคาทอลิก หรือโรแมนติกอยู่บ้าง แต่ถ้าหากทำได้ หรือเป็นไปได้ หรือถูกบังคับให้ต้องเป็นไป ไม่ว่าจะโดย “เชื้อโรค” หรือโดยอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นอะไรที่น่าคิด น่าสนใจมิใช่น้อย และคงไม่ใช่แต่เฉพาะ “ชูมัคเกอร์” เท่านั้น ยังมี “นักเศรษฐศาสตร์กระแสรอง” อีกหลายราย ที่เห็นดี เห็นงามกับแนวคิดทำนองนี้ ซึ่งคงต้องขออนุญาตหยิบยกมาแนะนำในฐานะ “แนวร่วมมุมกลับ” ของเชื้อ “COVID-19” กันไปเป็นรายๆ ในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ ก็แล้วกัน...
กำลังโหลดความคิดเห็น