ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทยปีนี้แย่กว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง จะหดตัว -3.4% ส่งออก -8.8% แต่เศรษฐกิจไทยอาจจะเริ่มฟื้นตัวได้ไตรมาสที่ 3 ปีนี้
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2563 ว่า ผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีทีท่าที่จะยืดเยื้อออกไป จำนวนนักท่องเที่ยวหายไป รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จึงปรับประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2563 ภายใต้การมีมาตรการเยียวยาระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านบาท โดยปรับใหม่จากเดือน มี.ค.63 ประเมินว่าจะเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะโตได้ที่ระดับ 1.1% เป็นเศรษฐกิจไทยย่อตัวลงเป็น -3.4% และมีโอกาส -4.9% หากการปล่อยเงินเยียวยาออกมาไม่ดี สถานการณ์โควิด-19 ปั่นป่วนลากยาวอีก 3 เดือนข้างหน้ายังไม่ชัดเจน แต่กรณีรัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยา ระยะที่ 3 เศรษฐกิจไทยจะติด -8.8% วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้รุนแรงมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง
ด้านการส่งออกคาดว่าจะลดลงมากในระดับ -8.8% ถึง -12% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ -0.5% ถึง -1.0% จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 30 ล้านคน เหลือนักท่องเที่ยวทั้งปีประมาณ 8-12 ล้านคน จากในปีที่ผ่านมามียอดรวมเกือบ 40 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปมาก เหลือประมาณ 700,000-800,0000 ล้านบาท จากที่ปีที่ผ่านมามีรายได้ถึง 3 ล้านล้านบาท
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า มาตรการเยียวยาของรัฐบาลรวม 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นใช้ในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ 600,000 ล้านบาท จะการดูแลด้านสาธารณสุขของประเทศ แต่ทำให้เกิดการจ้างงานอีก 400,000 ล้านบาท ใช้ในการกระตุ้นเศรฐกิจ ส่วนเงินจากมาตรการเยียวยาจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีก 900,000 ล้านบาทนั้น ส่วนหนึ่งใช้ในการรักษาเสถียรภาพทางภาคการเงิน เติมสภาพคล่องตราสารหนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินไม่ล้ม
ขณะที่เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำใช้ที่ออกมาก็ใช้เพื่อพยุง ไม่ใช่เพื่อการลงทุนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยภาพรวมแล้ว มาตรการเยียวยาจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจดีดตัวจากที่จะ -8.8% ดีดกลับขึ้นมาเป็น -3.4 และมีโอกาสว่า การปล่อยเงินออกมาไม่ดี สถานการณ์โควิด-19 ปั่นป่วนลากยาวอีก 3 เดือนข้างหน้ายังไม่ชัดเจน เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสที่จะ -4.9%
สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ประเทศไทยน่าจะเริ่มคลี่คลายเดือน พ.ค.63 และมิ.ย.63 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ผ่อนคลาย และเศรษฐกิจไทยจะเริ่มเคลื่อนตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 โลกอาจจะคลายตัวในช่วงประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย.63 และเศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 63 สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วคือ การเริ่มกลับมาทำธุรกิจใหม่อีกครั้งในกลุ่มจังหวัดพื้นที่สีเขียวและธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อย สามารถปรับตัวเข้ากับเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขได้ ธุรกิจจะเริ่มเดินได้ การจ้างงานจะเริ่มเกิดขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มของกลุ่มประเทศในเอเชีย ที่สถานการณ์โควิด-19 จะจบลงในช่วงเดือน มิ.ย.ประกอบด้วยประเทศไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียน โดยรวมเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นไตรมาส 3 แต่มี สัญญาณใหม่ที่ขณะนี้เริ่มมีการติดเชื้อในประเทศอินเดียจากโควิด-19 กลายพันธุ์ ที่ต้องเฝ้าระวัง ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในสหภาพยุโรปคาดว่า จะฟื้นได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้
นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้ในช่วงเดือน ม.ค.ถึง มี.ค.63 นักท่องเที่ยวหายไปแล้วในช่วง 3 เดือนนี้ ถึง 6 ล้านคน คาดว่าตลอดทั้งปี 63 จะหายไป 30 ล้านคน เหลือนักท่องเที่ยวประมาณ 10 ล้านคน จากที่ปีก่อนมีจำนวนมากถึงเกือบ 40 ล้านคน อาจมีผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการจ้างงาน เพราะเม็ดเงินรายได้หายไปจากระบบ 1.4 ล้านล้านบาท ไม่รวมการล็อกดาวน์ จึงเสี่ยงต่อการจ้างงานลดลงประมาณ 6 ล้านตำแหน่ง และการจ้างงานยังลดลงจากสาเหตุของการบริโภคที่ลดลง การลงทุนลดลงและจากสาเหตุการส่งออกลดลงจากความต้องการตลาดโลกชะลอและการติดขัดระบบขนส่ง รวมแล้วมีความเสี่ยงต่อการจ้างงานลดลงมากถึง 10.23 ล้านตำแหน่งงาน