แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ป่วยสะสมในไทย 1,771 ราย วันเดียว 120 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 รวมสะสม 12 ราย มีผู้ป่วยหน้าใหม่รุ่น 2 และ 3 จากกลุ่มสนามมวยและสถานบันเทิง ยังกระจายได้อีก ย้ำ อยู่บ้านแล้วยังต้องห่าง 2 เมตร เหตุสมาชิกในบ้านมีความเสี่ยง ผู้ช่วย ผบ.ตร.แจงออกบ้านได้เท่าที่จำเป็น นายกฯ สั่งดำเนินคดีพวกซ้ำเติมประชาชน ทั้งเด็กแว้นและปาร์ตี้ยา ขอลงโทษสถานหนัก
วันนี้ (1 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พร้อมด้วย พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ระบุว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมทั่วโลก 856,910 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ 32,297 ราย สหรัฐอเมริกามากที่สุด 187,340 ราย เพิ่มขึ้นวันเดียว 23,861 คน รองลงมา คือ อิตาลี สเปน จีน และ เยอรมนี ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 มีผู้ป่วยยืนยัน 1,771 ราย รายใหม่เพิ่มขึ้น 120 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย รวมสะสม 12 ราย รายแรกอาศัยอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโรคประจำตัวเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง มีประวัติไปร่วมงานแต่งที่ประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 7 มี.ค. อีกรายเป็นนักธุรกิจกลับจากประเทศอังกฤษ รักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง
โดยตัวเลขผู้ป่วยใหม่ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ พบว่า มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน 51 ราย ถือว่าเป็นรุ่นที่ 2 และ 3 จากกลุ่มสนามมวยและกลุ่มสถานบันเทิง สามารถเกิดการกระจายได้อีก แถมยังมีคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ส่วนตัวเลขผู้ป่วยในต่างจังหวัดยังทรงตัว เฝ้าระวังอยู่ ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงทั้งสิ้นที่จะติดเชื้อ ช่วง 25-31 มี.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรายใหม่โดยไม่พบผู้ป่วยในระยะที่ 2 ก่อนหน้า มีถึง 13 จังหวัด ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสถานบันเทิง กรุงเทพฯ บางจังหวัดมีประวัติเดินทางต่างประเทศ แม้จะมีการรณรงค์ให้อยู่บ้าน แต่ไม่เพิ่มระยะห่างบุคคลภายในบ้าน ไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ทำให้จำนวนการติดเชื้อในบ้านไม่ลดลง ส่วนการปิดสนามมวย พบว่า จำนวนผู้ป่วยเริ่มลดลง สูงสุด 20-22 มี.ค. จากนั้นระบาดน้อยลง ส่วนการกักกันผู้กลับมาห้ามเข้า การปิดสถานที่ชุมนุมชนหรือลดปริมาณคน และปิดสถานบันเทิงอย่างจริงจัง ยังทำได้ไม่ดีนัก ผู้ป่วยยังไม่ลดลง
ส่วนสถานการณ์ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจากยุโรปเดินทางจำนวนมาก 20-25 มี.ค. รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และปากีสถานมากขึ้นช่วงหลัง มาตรการที่ผ่านมายังไม่สัมฤทธิ์ผล ส่วนการแพร่กระจายในประเทศถือว่าวิกฤต ตั้งแต่ 14 มี.ค. เป็นต้นมา เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ นำไปสู่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 26 มี.ค. แต่ตัวเลขยังเพิ่มขึ้น มาจากระยะเวลาฟักเชื้อ 5-7 วัน ผลจากการทำงานที่เข้มงวด ถ้าปฏิบัติตามทุกมาตรการเชื้อว่าน่าจะลดลง แต่ต้องเข้มงวดยิ่งกว่านี้ 90% ถึงจะได้ผล รับผิดชอบส่วนน้อยไม่มีทางทำได้ ส่วนกรมสุขภาพจิตระบุ ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น รับฟังข้อมูลข่าวสารมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ทำไม่ได้ นอกจากนี้ความเครียดมีบ้าง แต่เครียดมากมีเพียง 8-9%
นอกจากนี้ นพ.วิษณุ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอบคุณการทำงานหลายภาคส่วนที่ช่วยกัน เช่น การดัดแปลงอุปกรณ์สำหรับจ่ายยาโดยไม่สัมผัสด้วยมือ ส่วนกรณีการเดินทางเข้าประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษาจากอเมริกาหรือพื้นที่ต่างๆ ชี้แจงว่า เคยมีคนไทยกลับจากอิตาลี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพเรือทำงานร่วมกันเป็นโมเดล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุ ถ้าเอเอฟเอสจะเข้ามา ต้องทำแบบนักเรียนที่กลับจากอิตาลี ขอให้ปรึกษากับกระทรวงการต่างประเทศโดยตรง จะได้เห็นการทำงานเป็นกลุ่มก้อนเพื่อความปลอดภัย แต่ตอนนี้มีตารางการบินแต่ละคนออกมาบ้างแล้ว ถ้าเป็นไปได้ขอให้บริหารแบบภาพรวมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ
ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นทุกวัน และข้อจำกัดเครื่องมือการตรวจนั้น ยืนยันว่า เป็นตัวเลขที่แท้จริง เกิดขึ้นจริงตามการให้บริการ ส่วนเครื่องมือปัจจุบันมีการเสริมกำลัง จากเดิมมีการตรวจสารคัดหลั่ง PCR ตอนแรกใช้สองแล็บ ปัจจุบันเหลือแล็บเดียว แต่ส่วนใหญ่พบว่า ตรวจ 30,000 คน ผลเป็นลบ 10,000 คน แต่ยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เพียง 400 กว่าคน ถือว่าเสียเวลา ท่ามกลางทรัพยากรมีจำกัด แพทย์ที่จะตรวจต้องใช้อุปกรณ์แบบฟูลเคส แนะนำว่าคนที่แข็งแรงดีไม่ต้องไป แต่คนที่มีอาการป่วยไข้ มีอาการทางเดินหายใจ และกลุ่มคนที่สัมผัสเชื้อและเริ่มมีอาการแม้แต่เล็กน้อยขอให้มา และกรณีการป้องกันในบ้าน ตามมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” แม้ทุกคนจะให้ความร่วมมือ แต่ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น ถ้ามีสมาชิกในบ้านมากกว่า 1 คน ถือว่ามีความเสี่ยง จากการที่สมาชิกในบ้านออกไปข้างนอก วิธีการยังใช้หลักการ กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ แม้จะอยู่ในบ้านให้ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง 2 เมตร เพราะละอองฝอยจากการพูดคุยมีโอกาสเกิดขึ้น ถ้าติดเชื้อมามีโอกาสติดกัน เมื่อไหร่ที่ยังได้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้ขอให้ทำทุกวัน ขอความร่วมมือด้วย
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ชี้แจงว่า มีประชาชนบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือ และกระทำผิดกฎหมาย ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทหาร ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เช่น การมั่วสุมตั้งวงสนุกสนาน ถือกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่นเดียวกับการกักตุนสินค้า ขายหน้ากากอนามัย เมื่อวานนี้จับกุมผู้กักตุนแอลกอฮอล์ 1,200 แกลลอน ผบ.ตร. สั่งการให้ดำเนินคดีเฉียบขาด มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท และริบของกลาง หรือกรณีบุคคลเอาน้ำลายไปป้ายตามสถานีรถไฟฟ้า ศาลสั่งจำคุก 15 วัน และยังมีแอบเล่นการพนันในสวน ในป่า ผิด พ.ร.บ.การพนัน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำคุก 1 ปี ปรับ 100,000 บาท วอนประชาชนอย่าฝ่าฝืนกฎหมาย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีอย่างเข้มงวดกับ “ผู้ที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน” เช่น เด็กแว้น มั่วสุม ปาร์ตี้ยาอี ถือเป็นคดีที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ให้รวบรวมพยานหลักฐาน สั่งฟ้องทุกข้อกล่าวหาและลงโทษสถานหนัก ไม่ต้องรอลงอาญาและริบของกลาง พร้อมกับขอให้ประชาชนอยู่บ้าน รักษาระยะห่าง ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น หลายจังหวัดขอความร่วมมือในช่วงกลางคืน ตำรวจจะเข้มงวดอย่างเต็มที่
ส่วนการประกาศขอความร่วมมือห้ามออกจากบ้าน แต่ยังมีคนที่จำเป็นต้องมาทำงานที่กรุงเทพฯ แยกเป็น 2 กรณี บางจังหวัด เช่น นนทบุรี ยังสามารถขับรถไปทำงานได้ตามปกติ คนทำงานต้องจำเป็นโดยแท้ เช่น บริษัทขนส่ง ผู้ป่วย แต่บางจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน ขอความร่วมมือไม่ให้ออก ไม่ให้เข้า ไม่เช่นนั้น ผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ จึงขอให้ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นจริงๆ ส่วนมาตรการแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน นายกรัฐมนตรีกำชับไปถึงด่านตรวจคัดกรอง 409 แห่ง เน้นการเดินทางข้ามระหว่างจังหวัด แต่จะมีด่านเคลื่อนที่ จุดเคลื่อนที่เร็ว คอยเน้นย้ำประชาชน เตือนแล้วไม่เชื่อฟังต้องดำเนินคดี
นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่า กรณีนักเรียนแลกเปลี่ยนได้ประสานงานเอเอฟเอสมาตลอด ส่วนใหญ่ทยอยกลับมาแล้ว เนื่องจากเอเอฟเอสยกเลิกโครงการไปแล้ว ปัจจุบันยังเหลือกลุ่มใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา ขณะนี้เครื่องบินพาณิชย์ยังให้บริการอยู่ จึงจะทยอยเข้ามา คาดว่า กลับมาได้ทั้งหมดภายในเดือน เม.ย.นี้ ก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดกรองของทางการไทย ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยต้องมีเอกสารจากสถานทูตและใบรับรองแพทย์