xs
xsm
sm
md
lg

ดับเพิ่มอีก 2 รายจากโควิด คาดมารักษาช้า พบ กทม.ผู้ป่วยเริ่มกลับมาสูงขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยมีผู้ป่วยโควิด-19 ตายเพิ่มอีก 2 ราย รวมเป็น 9 ราย ระบุไม่มีโรคประจำตัว คาดอาจมารับการรักษาช้า ชี้การมารักษาช้าทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ คนไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงอาจมีอาการรุนแรงได้จากปริมาณเชื้อที่ได้รับ และขึ้นอยู่กับการตอบสนองโรคของแต่ละคน พบ กทม.เริ่มมีผู้ป่วยกลับมาสูงในช่วง 1-2 วัน กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้าพบสูงสุด กลุ่มสนามมวยเริ่มลดลง

วันนี้ (30 มี.ค.) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกมีประมาณ 7.1 แสนราย เสียชีวิต 33,942 ราย ประเทศทางยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการติดเชื้อพบผู้ป่วยมาก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วย 1.4 แสนราย เสียชีวิต 2,471 ราย ส่วนอิตาลีพบผู้ป่วยเสียชีวิตมากถึง 10,779 ราย ขณะที่สเปน และฝรั่งเศส เสียชีวิต 7 พันกว่าราย ส่วนแถบเอเชียมี 2 ประเทศ ผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้น คือ มาเลเซีย 2,470 ราย และฟิลิปปินส์ 1,418 ราย อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ของสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มมากขึ้น แต่เริ่มคงที่ ส่วนประเทศที่ผู้ป่วยรายใหม่น้อยลงชัดเจน คือ จีน เกาหลี และอิหร่าน ขณะที่มาเลเซียผู้ป่วยรายใหม่เริ่มทรงตัว

นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ของไทยเพิ่มขึ้น 136 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ผู้ป่วยสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า หรือสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า จำนวน 71 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 2 ราย กลุ่มสถานบันเทิง 10 ราย สืบเนื่องจากกรณีผับทองหล่อ นานา สุขุมวิท สวนหลวง และต่างจังหวัด คือ สมุทรปราการ และเชียงใหม่ และกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยรายเก่า 59 ราย ถือว่ามากที่สุด

2. ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 52 ราย ได้แก่ เดินทางมาจากต่างประเทศ 21 ราย เป็นคนไทย 17 ราย กลับจากสหรัฐฯ กาตาร์ ออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส ปากีสถาน และสเปน คนต่างชาติ 4 ราย จากรัสเซีย ฝรั่งเศส อัลแบเนีย และอินเดีย กลุ่มทำงานใกล้ชิดต่างชาติ 15 ราย คือ ช่างเสริมสวย ขับรถโดยสาร พนักงานขาย พนักงานสปา กลุ่มบุคลากรแพทย์ 2 ราย กลุ่มที่ไปสถานที่แออัด 3 ราย คือ ตลาดนัด บ่อนชนไก่ และคอนเสิร์ต กลุ่มขนส่งสาธารณะ 4 ราย และกลุ่มอื่นๆ 14 ราย 3. ผู้ป่วยยืนยันแล็บแล้ว อยู่ระหว่างรอสอบประวัติ 6 ราย

นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า นอกจากนี้ มีรายงานเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เป็นชายไทยอายุ 54 ปี เดินทางมาจากมาเลเซีย อยู่ที่ จ.ยะลา อีกรายเป็นหญิงไทยอายุ 56 ปี รักษาใน รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. พบปอดอักเสบรุนแรงและเสียชีวิต ส่วนคนกลับบ้านเพิ่มมี 16 ราย ส่งผลให้ยอดสะสมโดยรวมมีผู้ป่วย 1,524 ราย กลับบ้านรวม 127 ราย เสียชีวิตรวม 9 ราย รักษาใน รพ.1,388 ราย จำนวนนี้มีอาการรุนแรง 23 ราย อยู่ในภาวะวิกฤตต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ภาพรวมผู้ป่วยเป็นคนสัญชาติไทย 1,297 ราย สัญชาติอื่น 227 ราย กระจายใน 59 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.715 ราย ปริมณฑล 144 ราย กลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 82 ราย และจังหวัดอื่นๆ รวม 583 ราย ผู้ป่วยยังเป็นวัยฉกรรจ์ อายุเฉลี่ย 40 ปี แนวโน้มการเพิ่มขึ้นเป็นเส้นตรง โดยการเพิ่มผู้ป่วยรายใหม่อยู่ประมาณ 100 กว่าราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 136 ราย ที่เพิ่มขึ้นวันนี้มาจาก 18 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ กทม.80 ราย เชียงใหม่ สมุทรปราการ ภูเก็ต นอกจากนี้ ข้อสังเกตของเคสเสียชีวิต ถ้าเป็นเพราะว่าเสียชีวิตจากการเข้าสู่สถานพยาบาล คือ มาตรวจช้าไป ตรงนี้เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก

“ที่น่าสังเกตคือ 2 วันที่ผ่านมานี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ใน กทม.กลับมาเพิ่มขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้จะสังเกตเห็นว่าเทรนด์ผู้ป่วยในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น สำหรับใน กทม.พบว่า กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนกลุ่มสนามมวยพบน้อยลง กลุ่มสถานบันเทิงกลับมาพบอีกประปรายไม่จบ แสดงว่ามีผู้ป่วยที่เกิดจากการไปสัมผัสไปเที่ยว หรือมีกิจกรรมสังสรรค์ ขณะที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า กลุ่มสนามมวยในต่างจังหวัดเกิดช้ากว่าใน กทม. ส่วนการกระจายของผู้ป่วยรายภาค ภาคกลางถือว่ามากที่สุด ส่วนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นกรณีไปร่วมพิธีศาสนาที่มาเลเซียก็เริ่มทรงตัวและน้อยลงไปเรื่อยๆ” นพ.อนุพงศ์กล่าว

นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มขนส่งสาธารณะ พบคนขับ ผู้โดยสาร จึงขอเตือนประชาชนว่าการเดินทางไปไม่ว่าที่ชุมชนหรือสถานที่ปิด เช่น รถยนต์ รถโดยสาร รถไฟฟ้า ต้องสวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำ ถ้าไม่มีธุระอะไรขอให้อยู่บ้าน สนับสนุนอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ และเตือนเรื่องการรักษาระยะห่าง ทุกคนต้องทำช่วยกันทำให้เป็นนิสัย ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะต้องทำความสะอาดยานพาหนะสม่ำเสมอ เปิดหน้าต่างระบายอากาศ เช็ดพื้นผิวด้วยแอลกอฮอล์ 70% โดยเฉพาะที่จับประตู ที่พักแขน เพื่อลดเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ

เมื่อถามถึงกรณีผู้เสียชีวิตรายใหม่ยังอายุไม่มาก เป็นเพราะมีโรคประจำตัวหรือไม่ นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า เท่าที่ทราบไม่ได้มีโรคประจำตัว แต่กำลังดูในรายละเอียดอยู่ว่าทำไมผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัว 2 ราย ถึงมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต ต้องดูว่ามา รพ.ช้าไปหรือไม่ ต้องเรียนว่าบางรายที่เราวินิจฉัยและบอกว่ามีอาการรุนแรงก่อนหน้านี้จะได้ข้อมูลว่าบางท่านไม่ยอมบอกว่าตัวเองไปสนามมวย หรือไปสถานบันเทิงมา จริงๆ แล้วการป่วยโควิดไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ก็เชิญชวนอยู่เสมอว่าคนไปสนามมวย ถ้าไม่สบายให้รีบออกมาให้แพทย์ตรวจว่าป่วยหรือไม่ป่วย และจะเป็นการป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อคนอื่น และได้รับการตรวจที่เหมาะสม

เมื่อถามถึงผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าเกินครึ่งมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคร่วม เป็นประเด็นที่เราเป็นห่วง เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงและเสียชีวิต ส่วนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงและมีอาการรุนแรงก็เกิดขึ้นได้เพราะโรคนี้เมื่อป่วยขึ้นมาทุกคนไม่มีภูมิคุ้มกัน แปลว่าร่างกายต้องให้เม็ดเลือดขาว และระบบภูมิคุ้มกันจัดการ ถ้าหากร่างกายจัดการได้ไม่ดี เราจะป่วยมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น การขจัดเชื้อจากร่างกายจะทำไม่ค่อยได้ เมื่อไหร่มีอาการกระทบต่ออวัยวะสำคัญก็ทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิต ดังนั้น การวินิจฉัยเร็วให้การรักษาที่ถูกต้องจะเป็นสิ่งที่ลดความรุนแรงลงได้

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 1 ภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า มีอีก 2 ปัจจัยทำให้คนไข้ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิต คือ 1. จำนวนเชื้อที่เข้าไปมีจำนวนมาก โอกาสแพร่กระจายลงไปในปอดก็เร็วขึ้น และ 2. ความไวต่อเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคของแต่ละคนแตกต่างกัน อย่างบางคนเชื้อไม่มากแต่โรคสามารถลุกลามในปอด แต่กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ มีโรคประจำตัว มีโรคทางปอด และผู้สูงอายุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลาออกประกาศเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า จ.ยะลา พบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นรายแรก โดยเป็นชายไทยอายุ 54 ปี อาชีพค้าขาย กลับมาจากมาเลเซีย มาพบแพทย์วันที่ 16 มี.ค.ด้วยอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก ปอดอักเสบรุนแรง มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง






























กำลังโหลดความคิดเห็น