“ดร.ณรงค์” วอน “ประยุทธ์” สละอำนาจเพื่อชาติ-ประชาชน หรืออย่างน้อยเพิ่มอำนาจให้ประชาชน แล้วลดอำนาจรัฐ เตือนทั้งปัจจัยภายนอก-ภายในรุมเร้า หากยังยื้อต่อส่อถูกพังทลายภายในปีนี้ แล้วจะหนักกว่า 14 ตุลา เหตุคนต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม มีตั้งแต่ระดับบนสุดถึงล่างสุด ไม่ใช่เฉพาะแค่นักศึกษา
วันที่ 10 มี.ค. 63 รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “วิกฤตศรัทธา!! นับถอยหลังประยุทธ์”
โดย ดร.ณรงค์ กล่าวในช่วงหนึ่งว่า ในทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ประกอบด้วย การจัดสรร แบ่งปัน แข่งขัน และช่วงชิง แต่เราเน้นการแข่งขันและช่วงชิงมากเกินไป แล้วลืมเรื่องจัดสรรแบ่งปัน คนที่เป็นกลไกหลักในการจัดสรรแบ่งปันก็คือรัฐ อย่างน้อยจัดสรรอำนาจให้ประชาชนบ้างได้ไหม ตนอยากยกมือไหว้นายกฯ ถ้ารักชาติรักประชาชนจะเสียสละอำนาจให้ชาติ ให้ประชาชนได้ไหม
ที่สุดคำว่าเสียสละอำนาจแบบที่ พล.อ.เปรม เคยทำมา อย่างเบาคือยอมให้ประชาชนพัฒนาอำนาจขึ้นมาได้ไหม ให้ดุลอำนาจประชาชนสูงขึ้น แล้วอำนาจรัฐลดลงไปหน่อย
การที่นักศึกษาลุกขึ้นมา อย่าเพิ่งไปพูดว่าผิดหรือถูก เมื่อลุกขึ้นมา อำนาจรัฐต้องทำอย่างไรให้การลุกขึ้นมาของเขาทำในสิ่งที่ถูก ตอนนี้นักศึกษาเป็นกลไกขับเคลื่อนตัวหนึ่งที่จะสร้างพลังต่อรองของประชาชน ถ้าเราคิดกลไกนี้เหมือนช่วงที่เกิด 14 ตุลา คือ 1. ให้เขาทำไป 2. ผู้ใหญ่คอยบอกเตือนหากเห็นว่าทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม 3. เมื่อทำดีแล้ว เราควรส่งเสริมเขาให้เป็นกลไกหลัก สานพลังนี้กับภาคประชาชนการที่เป็นพลังไม้ขีดเล็กๆ ก้านหนึ่ง ไปต่อกับเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา กรรมกร ผู้บริโภคต่างๆ จะเกิดเป็นประกายไฟเป็นพลังขึ้นมา
ดร.ณรงค์ กล่าวอีกว่า เราสามารถทดสอบประชาชน ขณะนี้ประชาชนต้องการอะไร กฎเกณฑ์กติกาของสังคมทุกวันนี้ มันไปจำกัดอำนาจประชาชนอย่างไร มันไปจำกัดทางเลือกประชาชนอย่างไร ในระบบเสรีนิยม ไม่ว่าจะเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ หรือเสรีนิยมการเมือง ประการหนึ่งที่สำคัญมากด้วย คือ ต้องให้ทุกคนมีทางเลือก ถ้าจำกัดทางเลือกเมื่อไหร่ เสรีถูกจำกัดทันที
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ สร้างข้อจำกัดทางเลือกมากเกินไป ถ้าเชื่อมั่นในระบอบเสรีนิยมจริงๆ ต้องเปิดทางเลือกมากกว่านี้ แล้วถ้าคุณรักชาติรักประชาชนจริง เราต้องเสียสละอำนาจให้แก่ชาติและประชาชนมากกว่านี้
ดร.ณรงค์ กล่าวต่ออีกว่า คราวนี้ปัจจัยภายนอก คือ ความตึงเครียดในอาหรับ สงครามการค้า โควิด-19 ทั้ง 3 สถานการณ์นี้ มันส่งแรงกระทบต่อไทยเท่าไหร่แล้ว มาบวกกับปัจจัยภายใน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง ภัยแล้งที่กำลังมา และอาจจะมีน้ำท่วม บวกกับความรู้สึกคนอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ ที่มีมากกว่ายุค 14 ตุลา 19 เพราะ 14 ตุลา ความรู้สึกขัดแย้งหลัก คือ นักศึกษา แต่ยุคนี้ความขัดแย้งเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลง มาจากบนสุดลงล่างสุด ดูในรัฐสภาตอนนี้ ประชาธิปัตย์บอกว่าอย่าภายเรือให้โจรนั่ง นี่คือ ความขัดแย้งในสภา กลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งโวยว่าประมูลอะไรไม่เคยได้ มีแต่คนอีกกลุ่มที่ได้ ยิ่งชาวไร่ ชาวนา กรรมกร ยิ่งอยากเปลี่ยนแปลง เป็นแบบบนสุดลงล่างสุดที่อยากเปลี่ยนแปลง ส่วน 14 ตุลา มีแต่นักศึกษา คนอื่นยังไม่กล้าแสดงออก
เมื่อปัจจัยภายนอกและใน 2 แรงปะทะ ถ้าไม่แก้ไข เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของมันเราจะคุมไม่ได้ แถมเรายังมีปัจจัยของการแข่งขันอำนาจระดับโลกอีก การช่วงชิงการนำของอเมริกาและจีน ซึ่งไทยเหมือนหมากรุกที่เขาแย่งกันอยู่ เมื่อภายในปะทุขึ้นมาจะถูกแทรกทันที ถ้าเราจัดการภายในไม่ลงตัว มันห้ามยาก ถึงบอกถ้ารักชาติรักประชาชน สละอำนาจของท่านเถิด
เมื่อถามว่า ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แล้วใครจะเป็นนายกฯ ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ตอนนี้ประตูปิดอยู่ ลองเปิดประตูถามว่าใครจะเดินเข้าไป ก็อยู่ที่กระบวนการประชาชน ที่จะกลั่นกรองคนเดินเข้าไปประตูนั้น ถ้าเราไม่เชื่อมั่นประชาชน แล้วเราจะเชื่อมั่นประชาธิปไตยได้อย่างไร ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แต่เลวน้อยที่สุด แต่นายกฯต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเดินเข้าไปตรงนั้น แต่ใครจะเดินได้ถ้าประตูไม่เปิด แล้วถ้าไม่เปิดให้ ประตูพังแน่ รับรองได้ภายในปีนี้มีคนพังประตูแน่นอน ตนวิเคราะห์ตามลักษณะคนทำข่าวกรองมาก่อน
แล้วจะโทษคนพังก็ได้ แต่ถามว่าตอนนี้คนอยากเข้าไปดู เข้าไปแก้ไข เมื่อคุณแก้ไม่ได้ ไม่อยากให้พังประตูก็ควรเปิดให้คนเข้าไป อย่างน้อยก็ร่วมกับคุณก็ได้
ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า การหาว่านักศึกษาถูกยุยง อาจมีบางคนที่รับความคิดมาจริง แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ ถ้าไม่เปิดประตูให้คนเข้าออกอย่างเสรี ประตูถูกพังแน่นอน แล้วรอบนี้จบยาก จะนำไปสู่การกระทบอย่างหนักตั้งแต่บนสุดลงล่างสุด เหมือนต้นไม้ถูกฉีกจากยอดถึงราก อย่าให้ถึงขั้นนั้นเลย