xs
xsm
sm
md
lg

“นพ.ยง” แนะอยู่ห่างคนอื่น 2 เมตร ระยะปลอดภัยติดโควิด-19 เผยผู้ป่วยไม่ได้ถูกทำลายปอดทุกคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นพ.ยง” แนะระยะห่างระหว่างบุคคล 2 เมตร ปลอดภัยจากการติดโควิด-19 จากผู้อื่น ยังไม่เชื่อติดโรคซ้ำได้ เหตุไวรัสยังไม่เปลี่ยนแปลงพันธุกรรม เผยเป็นแล้วไม่ได้ถูกทำลายปอดทุกคน คนเป็นน้อยเชื้อไม่ลงปอดก็มี ชี้เป็นหน้าที่ทุกคนต้องช่วยให้โรคหมดไปจากประเทศ



วันที่ 2 มี.ค. 63 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “เคลียร์ข้อสงสัย โควิด-19”

โดย ศ.นพ.ยงกล่าวว่า การระบาดไวรัสโควิด-19 ในไทยตอนนี้อยู่ระยะที่ 2 ตามคำจำกัดความ คือ ติดต่อกันได้ในประเทศ แต่ยังอยู่ในวงจำกัด เราควบคุมได้ดี จึงยังยืนอยู่ในระยะที่ 2 ได้ เราไม่อยากเหมือนญี่ปุ่น-เกาหลี นั่นคือระยะที่ 3 ที่เกิดโรค 100-200 คนในทีเดียว เราต้องการคุมในระยะ 2 นี้ให้ดีที่สุด และหมดไปจากประเทศไทยในที่สุด มันขึ้นกับเราทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง

ทั้งนี้ อัตราการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนปัจจุบันพบน้อยลง แต่กลับมากขึ้นที่นอกประเทศ แสดงว่าจีนควบคุมได้เป็นอย่างดี ต้องยอมรับเพราะจีนเอาจริงเอาจัง เด็ดขาด ปิดเมืองคือปิดเมือง ตัดเส้นทางจราจรต่างๆ เหตุเพราะทำได้ง่ายกว่าประเทศอื่น บ้านเราก็อาจดูจีนเป็นบทเรียนได้ ทำอย่างไรถึงควบคุมได้โดยเร็ว

เมื่อถามถึงอาการติดไวรัสโควิด-19 จะเป็นอย่างไร ศ.นพ.ยงกล่าวว่า อาการแรกเริ่มไม่ได้มีไข้ทั้งหมด ข้อมูลจากจีนครึ่งหนึ่งเริ่มด้วยไข้ บางคนเริ่มด้วยไอก็ได้ แต่ผู้ป่วยภาพรวมทั้งหมด ทางการจีนวิเคราะห์เห็นว่ามีผู้ป่วยอาการไม่มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อาการมากที่ต้องนอนโรงพยาบาล ได้ออกซิเจน 16-17 เปอร์เซ็นต์ และขั้นวิกฤตเข้าห้องไอซียูใส่เครื่องช่วยหายใจ 3-4 เปอร์เซ็นต์ เหมือนหลายๆ โรคที่มีความแตกต่างระหว่างบุคคล แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเป็นมากเป็นน้อย

ต่อข้อถามว่า ทุกคนที่ติดเชื้อจะถูกทำลายปอดใช่ไหม ศ.นพ.ยงกล่าวตอบว่า ไม่ใช่ทุกกรณี ความรุนแรงแต่ละคนไม่เท่ากัน มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง คนที่เป็นน้อยๆ ไม่ลงปอดก็มี แต่ถ้าลงปอดแล้วโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น แต่ที่ไม่เสียชีวิตก็มี ในรายที่เป็นรุนแรงไม่ได้เสียชีวิตทั้งหมด เสียชีวิตอยู่ที่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าโรคซาร์ส โรคเมอร์ส แต่สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ ใครเป็นโรคประจำตัว เบาหวาน หัวใจ ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ อาการก็หนักกว่าเป็นเรื่องธรรมดา จากข้อมูลผู้เสียชีวิต 70 เปอร์เซ็นต์พบว่ามีโรคอื่นร่วมด้วย ส่วน 20-30 เปอร์เซ็นต์มีร่างกายแข็งแรงดี

ส่วนการกักตัวเอง 14 วัน ตามข้อมูลวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่ระยะฟักตัวอยู่ที่ 2-7 วัน แต่ภาพรวมทั้งหมดจะอยู่ที่ 14 วัน ส่วน 24 วันอาจมีได้ แต่น้อย อย่างเป็นทางการตอนนี้จึงกำหนดที่ 14 วัน เพียงพอที่จะควบคุมโรคได้เกือบทั้งหมด

ศ.นพ.ยงยังกล่าวด้วยว่า ไวรัสทั่วไปยกตัวอย่าง หัด สุกใส พันธุกรรมไวรัสไม่เปลี่ยนแปลง เป็นแล้วเป็นครั้งเดียวในชีวิต แต่ตรงกันข้ามบางชนิดไวรัสเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม เช่น ไข้หวัดใหญ่, RSV ทำให้เป็นแล้วเป็นอีกได้ การติดตามรหัสพันธุกรรมไวรัสตัวนี้ตอนนี้ยังไม่มีการหลากหลายพันธุกรรม การติดแล้วเป็นซ้ำน่าจะใช้เวลาพอสมควร แต่จากข่าวแค่เดือนสองเดือนแล้วเจอซ้ำอาจเกิดจากหลายกรณี เช่น ก่อนให้กลับบ้านไวรัสยังไม่หมดแต่ตรวจไม่พบแล้วมาพบรอบหลัง ความรู้ตรงนี้จะสรุปได้ต้องศึกษาทั้งตัวบุคคลและตัวไวรัสว่ารอบแรกกับรอบที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์กันไปไหม

“คนติดเชื้อหลักหมื่น กับเจอซ้ำสองในรายคน ความรู้นี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่น้อยนิด แต่ถ้าไปแพร่ขยายคนก็ยิ่งตกใจใหญ่ การพิจารณาวัคซีนจะยุ่งเหยิงทันที การติดซ้ำผมจึงไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น” ศ.นพ.ยงระบุ

ส่วนการติดในสุนัขนั้น ศ.นพ.ยงกล่าวว่า หากคนเป็นแล้วปนเปื้อนไปแตะถูกสุนัขก็ตรวจพบโรคได้ แต่ไม่ได้บอกว่าติดในสุนัขได้หรือไม่ได้ สำคัญคือต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไปอยู่ในสุนัขแล้วสุนัขมีอาการหรือไม่ เซลล์เยื่อบุอักเสบหรือไม่ ไวรัสเพิ่มจำนวนในตัวสุนัขได้หรือไม่ ยังต้องพิสูจน์อีกหลายขั้นตอน แค่ตรวจพบไม่ได้หมายความว่าติดสุนัขได้ แล้วเชื้อที่พบมีชีวิตหรือไม่ก็ไม่รู้

ศ.นพ.ยงกล่าวต่ออีกว่า ไวรัสโควิด-19 ตายที่อากาศร้อน 56 องศา เวลาครึ่งชั่วโมง และ 65 องศา ใช้เวลา 15 นาที ยิ่งอุณหภูมิสูง-เวลายิ่งสั้นลง ฉะนั้นกินอาหารร้อน เดือดๆ ไวรัสตายแน่นอน

เมื่อถามว่าแค่เดินผ่านกันสามารถติดเชื้อได้ไหม ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น ถ้าไม่สัมผัสตัวโอกาสติดไม่มีเลย แต่ถ้าพูดคุยกันแล้วมีฝอยละอองมาใส่หน้าก็ติดได้ ระยะนี้เลยกำหนดระยะห่างบุคคล (Personal Distance) เพื่อความมั่นใจควรห่างอย่างน้อย 2 เมตร เป็นระยะปลอดภัย การเข้าคิวซื้อของจึงควรกำหนดระยะห่างที่ 2 เมตร ส่วนระยะห่างสังคม (Social Distance) ตนเห็นด้วยที่หลายที่งดการจัดงานที่มีการระดมคนเยอะๆ

ส่วนสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่ คงบอกไม่ได้ แต่ทุกคนต้องแข็งขันร่วมมือร่วมใจในการลดการแพร่กระจาย ทำอย่างไรก็ได้ให้ลดและหมดไปได้ยิ่งดี ตรงนี้เป็นหน้าที่ของเราทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น