คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก! เจาะใจ “ดร.สุภาภรณ์” นักเทคนิคการแพทย์ไทย ผู้อยู่เบื้องหลังถอดรหัสพันธุกรรม “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” สำเร็จก่อนจีนประกาศอย่างเป็นทางการถึง 2 วัน เผยความคืบหน้าล่าสุด รักษาผู้ป่วยหาย 5 ใน 8 กำลังอยู่ในช่วงคิดค้นวัคซีน และเฝ้าระวังไม่ให้กลายพันธุ์รุนแรงขึ้น!!
เชื้อจะรุนแรงขึ้น หรือดรอปลง เกิดได้หมด!
“เรารู้แล้วล่ะว่าคนไข้ที่มาจากอู่ฮั่นติดเชื้อตัวนี้ แต่ ณ ตอนนั้นเรายังบอกไม่ได้ว่าเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรครึเปล่า แล้วเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่จีนรึเปล่า จนกระทั่งจีนได้รายงานออกมาว่าเป็นเชื้อตัวนี้ เราก็เลยสามารถเปรียบเทียบได้ว่าเป็นเชื้อตัวเดียวกัน ทีมเรามีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ประมาณ 18 คนค่ะ ตอนนี้เราก็จัดเวรทำงานทุกวัน หนักขนาดไหน เราก็เต็มที่ค่ะ”
ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักเทคนิคการแพทย์ รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงสถานการณ์ที่ทั่วโลกเฝ้าจับตาการแพร่ระบาดของ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” โดยประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนแล้วถึง 8 ราย
ดร.ทนพญ.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี
ล่าสุด เธอและทีมงานนักเทคนิคการแพทย์แห่งศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ กลายเป็นกระแสที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ ณ ขณะนี้ นั่นก็เพราะทีมนี้ สามารถถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสพันธุ์ใหม่สุดอันตรายได้สำเร็จ ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากจีนถึง 2 วัน!!
“ช่วง 31 ธ.ค.62 ที่เราเห็นข่าวว่าทางจีนเริ่มพบผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ ก็มีการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขก็มีการ Activate คณะทำงานเรื่องการควบคุมและป้องกันโรค เพื่อเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบที่จะมาจากประเทศจีนค่ะ ตั้งแต่วันที่ 3 ทีมงานตั้งกองด่านการคัดกรองผู้ป่วย การตรวจวินิจฉัยว่าจะตรวจแบบไหนดี เรียกว่าเป็นโรค X ก็ได้ตอนนั้น เนื่องจากยังไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร
มีการคัดกรองและส่งตัวอย่างมาเรื่อยๆ วันที่ 8 เราได้รับตัวอย่างหนึ่งส่งมาจากกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นเคสแรก ตัวอย่างที่ได้มาก็จะแบ่งเป็น 3 ห้องปฏิบัติการ ที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันบําราศนราดูร ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ อีกส่วนหนึ่งก็ส่งไปที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เนื่องจากเรายังไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร ที่สถาบันบําราศนราดูรก็จะตรวจหาเชื้อที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายใจทั้งสิ้น 33 ชนิด ส่วนที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ใช้ 2 เทคนิค คือ การตรวจค้นหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส 2 ตระกูล แล้วก็ตรวจหาแบบใช้เทคโนโลยีในการถอดรหัสพันธุกรรมขั้นสูง ซึ่งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ใช้ลักษณะเดียวกัน”
เพียง 1 วันหลังได้รับตัวอย่างเสมหะ น้ำลาย และน้ำมูกของผู้ป่วยที่เดินทางมาจากอู่ฮั่นแล้ว ทีมงานศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ก็สามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้สำเร็จ ซึ่งในขณะนั้นทางการจีนยังไม่มีการออกมาประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับโรคปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุดังกล่าว
“วันที่ 8 ตรวจตัวอย่างเสร็จ เราก็พบผลบวกต่อเชื้อไวรัสโคโรนา ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร พอวันที่ 9 เราก็ถอดรหัสพันธุกรรมสำเร็จ เราเอาไปเปรียบเทียบกับสารพันธุกรรมของเชื้อโรคที่มีอยู่ในธนาคารรหัสพันธุกรรมโลก ก็พบว่าเป็นเชื้อคล้ายๆ โรค SARS ที่มีต้นตอมาจากค้างคาว เพราะว่าตอนนั้นรหัสพันธุกรรมของผู้ป่วยชาวจีน ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ เราก็เลยไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบ
จนกระทั่งวันที่ 11 มกราคม ที่ทางประเทศจีนเริ่มให้ข้อมูลว่าเชื้อที่พบและก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบเป็นเชื้ออะไร เราก็เลยเอาเปรียบเทียบ ตอนแรกมันคล้ายเชื้อจากค้างคาวประมาณ 82-90 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนที่เชื้อจากผู้ป่วยชาวอู่ฮั่นออกมา พบว่าเหมือน 100 เปอร์เซ็นต์ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ใช้วิธีถอดรหัสพันธุกรรมขั้นสูงเช่นกัน ก็พบว่าเจอเชื้อในลักษณะเดียวกันค่ะ แล้วก็ท่านรัฐมนตรีก็สามารถประกาศได้อย่างรวดเร็วในวันที่ 13 ว่าเราพบผู้ป่วยจากอู่ฮั่นในประเทศไทยรายแรก”
ทั้งนี้ ดร.สุภาภรณ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความที่จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ และมีผู้ติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จำนวนมาก ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจมีการตรวจพบเชื้อมาสักระยะแล้ว แต่จำเป็นต้องมีการถอดรหัสพันธุกรรมอย่างละเอียดและมั่นใจ ก่อนจะยืนยันอย่างเป็นทางการต่อสากล
“ทางการจีนก็คงมีหลายๆ เหตุผล 1.เขามีผู้ป่วยเยอะ 2.เขาจะต้องถอดรหัสพันธุกรรมในการเพาะเชื้อ มีการตรวจในหลายขั้นตอนถึงจะมั่นใจจริงๆ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่จีนประกาศออกมาแบบสมบูรณ์ว่าเป็นเชื้อตัวนี้ วันที่ 11 เป็นข้อมูลรหัสพันธุกรรมแบบเต็มจำนวนเลย ประมาณ 30,000 รหัสในตัวอย่างผู้ป่วยคนเดียวกัน
ทำงานจนครบวง จึงพิสูจน์ได้ว่าเป็นเชื้อตัวนี้จริงๆ ของเราเจอเชื้อแต่ไม่ได้ถึงขั้นทำทุกกระบวนการ เราได้รหัสพันธุกรรมมา เพียงแต่รอว่าถ้าจีนเปิดเผย ให้ข้อมูลมา เราก็สามารถเปรียบเทียบและยืนยันได้ว่าเป็นเชื้อเดียวกันค่ะ
อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข เตรียมรับมือ
ข้อมูลจากจีนตอนนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ เป็นประโยชน์กับประเทศไทยและชาวโลกมาก ที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับแผนเรื่องการควบคุม แล้วก็การเฝ้าระวังโรค ทางการจีนประกาศไม่ให้เขาออกนอกพื้นที่ มันก็จะช่วยลดการแพร่กระจายในการเอาเชื้อโรคเคลื่อนที่โดยคนให้อยู่ในวงจำกัด ก็น่าจะช่วยลดการที่จะกระจายโรคจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้ค่ะ โรคมากับคน ถ้าเราลดการเดินทางของคน โรคก็จะลดไปด้วยค่ะ
ตอนนี้นักวิจัยทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงประเทศไทยด้วย กำลังพยายามคิดค้นว่าเราจะมียารักษาได้อย่างไรบ้างนะคะ ก็คงต้องมีการไปทดสอบว่ามันใช้ได้ ใช่ไม่ได้อะไรยังไงก่อน ถึงจะเอามาขายได้จริงๆ เอามาใช้จริงๆ อีกทีหนึ่ง”
หยุดเปิบ “ค้างคาว” แหล่งรังโรคสุดอันตราย
“โคโรนาที่ทำให้ติดโรคในคนมีอยู่ 6 ตัว แต่โคโรนาที่อยู่ในสัตว์อื่นๆ มีอยู่เป็นร้อยค่ะ SARS กับ MERS ที่อุบัติใหม่ ทำให้มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่อีก 4 ชนิดทำให้เกิดโรคหวัดทั่วๆ ไป ไม่ได้ทำให้เจ็บป่วยรุนแรงค่ะ ตัวที่ 7 นี้เป็นสายพันธุ์ใหม่เลยค่ะ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับไวรัส SARS มากที่สุด”
หมอแล็บหญิงคนเก่ง ได้อธิบายเพิ่มเติมถึง “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” ที่ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนและยาต้านโดยตรง สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อจะได้รักษาตามอาการจนหาย ส่วนสาเหตุของการเกิดเชื้อขึ้นมานั้น ไม่สามารถระบุได้ เพราะมีหลายปัจจัยเป็นส่วนประกอบ
“เคยไปอู่ฮั่นช่วงที่ยังไม่มีการระบาดค่ะ 2 ปีแล้ว ไปที่ห้องแล็บเฉยๆ ก็จะอยู่ในเมือง อยู่ในโรงแรม เดินไปห้องปฏิบัติการ ไปห้าง ไม่ได้ไปในชนบทค่ะ แต่อากาศจะเย็นมาก บางทีเวลาเกิดโรคอุบัติใหม่มันเป็นเรื่องจังหวะ เวลา แล้วก็โอกาส เป็นเรื่อง Timing ที่เหมาะสมที่เชื้อจากแหล่งรังโรคซึ่งอาจจะเป็นค้างคาว มันมาสัมผัสกับคนที่จะเป็นตัวรับโรคพอดี บอกไม่ได้ว่าที่ไหน MERS ก็ยังเกิดที่ซาอุฯ ก่อนเลย
เทียบกับ MERS และ SARS ยังตอบไม่ได้ เป็นไปได้ทั้งพัฒนารุนแรงขึ้น หรือกลายพันธุ์แล้วเชื้อดรอปลง ถ้าเราจะตอบในเรื่องของความรุนแรงก็คงต้องรอเก็บข้อมูลทั้งหมดก่อน ทั้งจากประเทศจีนและทั่วโลกนะคะ อีกสักพักหนึ่งค่ะ คิดว่าอีกสัก 1-2 สัปดาห์ ที่เรารวบรวมข้อมูลเรื่องอาการผู้ป่วย แล้วก็อัตราการเสียชีวิต เราก็คงจะสามารถเปรียบเทียบกับโรค SARS ได้อย่างแท้จริง แต่เท่าที่คุณหมอหลายๆ ท่านประเมิน ก็คิดว่าอัตราความรุนแรงต่ำกว่า SARS แล้วก็ MERS ค่ะ”
เมื่อถามถึงสัตว์ที่เป็นแหล่งไวรัสโคโรนาอย่าง “ค้างคาว” โดยเฉพาะกระแสการเปิบ “ซุปค้างคาว” เมนูต้องสงสัยในอู่ฮั่น ที่คาดว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคระบาดนี้ ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า แม้จะถูกนำมาปรุงสุก ก็ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่มาจากขั้นตอนของการล่าและชำแหละ ที่ต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสัตว์โดยตรงได้
“75 เปอร์เซ็นต์ของโรคอุบัติใหม่เป็นโรคจากสัตว์สู่คน ยกตัวอย่างที่เรารู้จักคุ้นเคย Ebola, MERS และ SARS มีต้นตอจากสัตว์สู่คนหมดเลย ที่เอ่ยมาก็มีความเชื่อมโยงกับบรรพบุรุษก็คือเชื้อที่มาจากค้างคาวทั้งสิ้นค่ะ เราจะเรียกว่าแหล่งรังโรคโดยธรรมชาติ คือไวรัสแฝงตัวอยู่ในสัตว์เหล่านี้โดยที่ไม่ทำอันตราย แต่พอคนไปรับเชื้อโรคเหล่านี้มา เราไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อตัวนั้น แล้วเชื้ออาจจะแบ่งตัวในคนมากกว่า แล้วก็ทำให้ก่อโรคในคน ก็จะทำให้เราเจ็บป่วยจากเชื้อโรคใหม่ๆ ค่ะ
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเข้าป่าไปล่าสัตว์ แล้วก็เอามาประกอบอาหาร ช่วงล่าสัตว์เราก็จะสัมผัสกับสัตว์โดยตรง เวลาที่ต้องไปยิงหรือทุบเขา แล้วคนชำแหละจะสัมผัสกับเลือด กับสิ่งคัดหลั่ง เพราะไม่ได้ใส่ถุงมือ แล้วก็เอามาบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคแบบสุกๆ ดิบๆ หรือว่ากินสดๆ ก็ทำให้เป็นเส้นทางที่เชื้อจากสัตว์เข้ามาสู่คนได้ ถ้าทำสุกส่วนใหญ่เชื้อไวรัสจะตายค่ะ
บ้านเราก็มีโอกาสเสี่ยงค่ะ เพราะว่างานวิจัยค้างคาวที่อาจารย์ทำร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะวนศาสตร์ ม.เกษตร ก็เจอเชื้อไวรัสใหม่ๆ ในค้างคาว ยังไม่มีรายงานการก่อโรคในคน แต่ว่ามันก็มีโอกาสทั้งสิ้นค่ะที่จะเกิดโรคกระเด็นจากค้างคาวมาสู่คนได้ ทางที่ดีอย่าไปกิน อย่าไปทำร้ายเขา คืออยู่ด้วยกันอย่างสวัสดิภาพ อย่าไปไล่ที่เขาอยู่ อย่าไปรบกวนธรรมชาติ อย่าไปตัดต้นไม้ อย่าไปทำให้อาหารที่เขาต้องใช้บริโภคหายไปนะคะ”
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดนั้น คณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน เพิ่มขึ้นเป็น 80 ราย ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ที่ 2,744 ราย ขณะที่ประเทศไทย ตามข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบผู้ป่วยติดเชื้อทั้งสิ้น 8 ราย เป็นคนจีน 7 ราย และคนไทย 1 ราย ทั้งหมดติดเชื้อจากต่างประเทศ ในจำนวนนี้มี 5 รายที่รักษาจนหายและเดินทางกลับบ้านแล้ว ส่วนอีก 3 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
สุดท้าย เมื่อถามถึงมาตรการรับมือของบ้านเรา ว่าเหมาะสมมากน้อยเพียงใด นักเทคนิคการแพทย์หญิง กล่าวว่า เรารับมือได้ดี เพราะมีทุกภาคส่วนช่วยเหลือกันอย่างเข้มแข็ง
“ก็น่าจะทราบว่าประเทศไทยติด Top 10 ของการควบคุมและป้องกันโรค เรามีทั้งทีมระบาดวิทยาของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคที่เข้มแข็งมาก มีมาตรการรับมือแบบเชิงรุก แล้วก็มีการทำงานของห้องปฏิบัติการทั้งรัฐและภาคมหาวิทยาลัยที่ช่วยกัน เพื่อทำให้เกิดการวินิจฉัยที่รวดเร็ว
ซึ่งการวินิจฉัยที่รวดเร็วจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ นอกจากนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องได้ทันเวลา ตอนนี้ประชาชนก็ป้องกันตัวเองก่อน ไม่ไปอยู่ในที่ชุมชนที่อาจจะติดเชื้อจากคนที่มีเชื้อ ล้างมือบ่อยๆ นะคะ แล้วก็ทำร่างกายให้แข็งแรง ไม่ไปบริโภคสัตว์ป่าที่อาจจะมีโรคใหม่ๆ ติดได้”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : AFP
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **