ไม่คอยน่าเชื่อว่าจะมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นได้ แต่ก็มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เมื่อ ๒ มหาดเล็กพากษัตริย์องค์หนึ่งหนีภัย แล้วทอดทิ้งให้ซ่อนอยู่ในพุ่มไม้แต่พระองค์เดียว จากนั้นก็หายไปไม่กลับมา และพระองค์ก็ไม่ทรงทราบว่าจะรักษาพระชนมชีพได้อย่างไร ในที่สุดก็ต้องสวรรคตเพราะอดพระกระยาหาร นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดียวที่สวรรคตอย่างน่าเศร้าสลด เช่นเดียวกับที่พระองค์ก็สร้างความเศร้าสลดให้แก่ประเทศชาติ
กษัตริย์พระองค์นี้ก็คือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์รองของ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่เมื่อ “เจ้าฟ้ากุ้ง” เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ พระราชโอรสองค์โตซึ่งเป็นรัชทายาทต้องพระราชอาญาถึงสิ้นพระชนม์ ขุนนางข้าราชการทูลขอให้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ราชโอรสองค์เล็กเป็นรัชทายาท แต่เจ้าฟ้าอุดมพรกลับขอให้สถาปนาพระเชษฐา กรมหลวงอนุรักษ์มนตรี หรือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ พระราชบิดาไม่ทรงยินยอม และรับสั่งว่า
“กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขา หาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชการกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติเสียหาย เห็นแต่กรมขุนพรพินิต กอปรด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลม สมควรจะดำรงเศวตฉัตรครองสมบัติรักษาแผ่นดินสืบไป เหมือนดังคำปรึกษาด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวง”
จึงมีพระราชโองการให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ออกผนวช และสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเป็นมหาอุปราช
แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประชวรหนัก เจ้าฟ้าเอกทัศน์ทราบข่าวก็ลาผนวชกลับมาอยู่วัง รอขึ้นครองราชย์แทน ด้วยถือว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสที่อาวุโสที่สุด และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต ขุนนางข้าราชการอัญเชิญเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติตามพระราชโองการ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ก็ชิงเสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ ซึ่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์ เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงเห็นว่าพระเชษฐาอยากเป็นกษัตริย์เต็มที่ เลยสละราชสมบัติให้หลังจากครองราชย์มาได้เพียง ๑๐ วัน แล้วเสด็จออกผนวช
เจ้าฟ้าเอกทัศน์บริหารราชการแผ่นดินอย่างที่พระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศรับสั่งไว้ไม่มีผิด เป็นที่วิตกของขุนนางข้าราชการไปตามกัน ในปี ๒๓๐๒ พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่ายกทัพมาตีไทย และตีหัวเมืองได้เรื่อยมาจนถึงกรุงศรีอยุธยา ขุนนางข้าราชการเกรงว่าพระเจ้าเอกทัศน์จะรักษาบ้านเมืองไว้ไม่ได้ จึงขอไปทูลเชิญให้เจ้าฟ้าอุทุมพรลาผนวชมาช่วยรักษาพระนคร พระเจ้าเอกทัศน์ก็ยอม เพราะจนปัญญาไม่รู้ว่าจะสั่งสู้พม่าอย่างไร เจ้าฟ้าอุทุมพระก็ลาผนวชมาช่วย พอดีพระเจ้าอลองพญาถูกปืนใหญ่ของตัวเองระเบิด ประชวรหนักต้องถอยทัพ และสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง
เมื่อสิ้นศึกพม่า ค่ำวันหนึ่งเจ้าฟ้าอุทุมพรเข้าเฝ้าถวายข้อราชการ พระเจ้าเอกทัศน์ให้เข้าเฝ้าแต่ถอดดาบออกจากฝักพาดบนพระเพลา เจ้าฟ้าอุทุมพรก็เข้าใจความหมายว่าพระเชษฐาทรงไม่ไว้วางพระทัย จึงกลับไปทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทองคำหยาด และประทับที่พระที่นั่งคำหยาด ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสร้างไว้เป็นที่ประทับแรมเมื่อเสด็จประพาสเมืองอ่างทอง
ในปี ๒๓๐๗ พระเจ้ามังระ โอรสของพระเจ้าอลองพญา ส่งเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก พระเจ้าเอกทัศน์รับสั่งให้นิมนต์พระราชาคณะทั้งหลายเข้ามาอยู่ในพระนคร เจ้าฟ้าอุทุมพรก็เสด็จมาด้วย ขุนนางข้าราชการได้ทูลขอให้ลาผนวชมาช่วยป้องกันพระนคร แต่เจ้าฟ้าอุทุมพรเข็ดเสียแล้ว แม้ราษฎรจะเขียนหนังสือใส่บาตรจนเต็มตอนออกบิณฑบาตรก็ไม่ยอม กรุงศรีอยุธยาจึงแตกเสียเมืองแก่พม่า มหาดเล็ก ๒ นายพาพระเจ้าเอกทัศน์ลงเรือเล็กหลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาไปได้ และพาไปหลบอยูในสุมทุมพุ่มไม้ที่บ้านจิก ริมวัดสังฆาวาส แถบคลองสวนพลู จากนั้นมหาดเล็กทั้งสองก็จากไป ทิ้งพระองค์ให้ประทับอยู่ในพุ่มไม้เพียงพระองค์เดียว ซึ่งอาจจะออกไปหาพระกระยาหารมาถวายก็ได้ แล้วถูกจับหรือมีเหตุอื่นที่ไม่สามารถกลับมาก็ได้ พระองค์ก็ไม่เสด็จออกไปไหน คงรอให้คนมาช่วย จนอดพระกระยาหารถึง ๑๑ วัน ๑๑ คืน
เมื่อ สุกี้พระนายกอง มอญซึ่งเคยรับราชการกับพระองค์ แต่แปรพักตร์ไปเข้ากับพม่า มาพบพระองค์และพาเสด็จไปค่ายโพธิ์สามต้น พระเจ้าเอกทัศน์ก็สวรรคต สุกี้ได้อัญเชิญพระศพไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุ หน้าวิหารวัดมงคลบพิตร อันเป็นที่ทำพระเมรุครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระเจ้าตากสินตีค่ายโพธิ์สามต้นแตก ขับไล่พม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาหมดแล้ว โปรดให้สร้างพระเมรุขึ้นที่หน้าวิหารวัดมงคลบพิตร ขุดพระศพพระเจ้าเอกทัศน์ขึ้นมาถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณีเท่าที่จะทำได้ในขณะนั้น ก่อนเสด็จมากรุงธนบุรี
พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต้องเสียแก่พม่าอย่างย่อยยับ จึงทรงได้รับเคราะห์กรรมไม่ต่างกับอาณาประชาราษฎร์ ในยามที่บ้านเมืองแตกสาแหรกขาด