xs
xsm
sm
md
lg

ททท. ร่วมสืบสานอนุรักษ์งานบุญ “จุลกฐิน” แบบโบราณ ณ วัดป่าธรรมดา จ. นครราชสีมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ททท.สำนักนครราชสีมา ร่วมสืบสานอนุรักษ์งานบุญ “จุลกฐิน” แบบโบราณ นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง ไปร่วมกิจกรรมจุลกฐินสามัคคี ณ วัดป่าธรรมดา บ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน ต.หนองหว้า อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา


เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณว่าหลังวันออกพรรษา (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) ก็จะเป็นเทศกาลทอดกฐิน ซึ่งปีหนึ่งจะทำได้เพียงครั้งเดียวในช่วงนี้ และเป็นเวลาแค่ 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 “จุลกฐิน” หรือ “กฐินแล่น” ที่เป็นกฐินที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน และต้องอาศัยความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของชุมชน โดยต้องทำการเก็บฝ้าย ทอฝ้าย ตัดเย็บเป็นผ้าไตรจีวร 1 ชุด ให้แล้วเสร็จ ก่อนจะนำไปถวายวัดภายในวันเดียว การทำจีวรให้เสร็จในวันเดียวปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งในคณะสงฆ์ในวัดพระเชตวันร่วมมือกันทำผ้าไตรจีวร เพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวรครั้งนี้ด้วย




จุลกฐิน คือ พิธีทอดกฐินที่ต้องช่วยกันทำจีวรให้เสร็จตั้งแต่การปั่นฝ้าย การทอ การเย็บ การย้อม และนำไปทอดถวายพระสงฆ์ให้เสร็จภายในวันเดียว อีกทั้งจุลกฐินใช่ว่าพอถึงเวลาก็สามารถนำองค์กฐินไปทอดที่วัดได้ หากแต่จะต้องมีการเตรียมตัวกันก่อนล่วงหน้ามาเป็นอย่างดีและต้องอาศัยความสามัคคีในการร่วมทำจุลกฐินอีกด้วย


ทั้งนี้ นายดารากร รั้วชัย ผู้ใหญ่บ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน ต.หนองหว้า อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา ได้กล่าวถึงการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนที่มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนา ต้องสามัคคีกันทำจุลกฐินในครั้งนี้ว่า “งานบุญ “จุลกฐิน” จะมีความพิเศษก็คือ เราจะไม่ได้ซื้อผ้าไตรจากตลาด เราจะนำดอกฝ้ายไปเข้ากระบวนการในการ อิ้ว ดีด หลอด และก็ไปเข็นให้เป็นเส้น จากนั้นนำไปทอและตัดเย็บ ย้อม ให้เป็นผ้าไตรจีวรให้เสร็จภายในหนึ่งวัน ซึ่งในจังหวัดนครราชสีมาน่าจะมีของเราแห่งเดียว และนอกจากนั้นบุญจุลกฐินก็ยังสื่อถึงความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน เพราะว่างานบุญจุลกฐินเป็นงานที่เร่งด่วนต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียวเพื่อทอดถวาย
















สำหรับวัดป่าธรรมดาของเราจะทำแบบครบวงจรและเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ทุกกระบวนการของการทำเส้นด้ายและนำไปทอตัดเย็บ ย้อม หลังจากนั้นก็นำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าธรรมดา แห่งนี้ที่ครบถ้วนไตรมาสเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งปกติเราก็จะทำกัน แต่ปีนี้เราย่นระยะเวลาเข้ามาอีก เนื่องจากมีแขกผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาร่วมงานของเรา โดยปกติของเราก็คือทำตอนเที่ยวคืนซึ่งเริ่มเป็นวันใหม่ และทำให้เสร็จภายในวันเดียว ดังนั้นการทำบุญจุลกฐินจึงต้องอาศัยทั้งแรงกายแรงใจ ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชนเพราะว่าเป็นงานที่เร่งด่วนและละเอียดอ่อนด้วยครับ” นายดารากร กล่าว


ด้าน พระครูสังฆรักษ์ สุวิทย์ ญาณธัมโม เจ้าอาวาสวัดป่าธรรมดา เผยว่า “วัดป่าธรรมดาก็ถือว่าเป็นวัดที่อยู่ชายแดนติดกับขอนแก่น ที่วัดนี้ส่วนมากก็จะเน้นในด้านการพัฒนาช่วยเหลือชาวบ้านให้มีอาชีพและให้มีรายได้ โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพของชาวบ้าน โดยทางวัดได้แบ่งพื้นที่ให้ชาวบ้านปลูกหม่นเลี้ยงไหมประมาณ 300 กว่าไร่ ชาวบ้านก็จะได้มีอาชีพเลี้ยงตัวเอง




และในงานจุลกฐินปีนี้ก็ถือว่าเป็นปีที่ 8 ที่ทางวัดป่าธรรมดาได้จัดงานจุลกฐินขึ้น “จุลกฐิน” ก็หมายความว่า ชาวบ้านต้องทำผ้าเองที่ต้องนำฝ้ายมาอิ้ว มา ดีด หลอด และก็ไปเข็นให้เป็นเส้น มาตัด มาเย็บ มาย้อม ให้เป็นผ้าไตรจีวร ซึ่งการทำจุลกฐินแบบนี้ทุกวันนี้ก็รู้สึกว่าจะหาได้ยากที่วัดทั่วไปจะทำ อาตมาก็อยากจะอนุรักษ์และสืบสานประเพณีแบบโบราณไว้ คือไม่ต้องไปซื้อผ้ามาถวายแต่เป็นการทำผ้ากฐินเอง ก็ถือว่าเป็นการทำกฐินแบบโบราณที่หาดูได้ยากซึ่งจะทำเสร็จภายในวันเดียวเป็นกฐินที่ทำได้ยากและที่อื่นๆ ก็ไม่ค่อยได้ทำกัน เพราะว่าหนึ่งเราต้องใช้คนเยอะและต้องมีความสามัคคีของผู้คนในชุมชนมาช่วยกัน








อาตมาก็อยากจะทำไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และก็อยากจะขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกๆ ท่านที่ได้ทราบข่าวการทำจุลกฐินของวัดป่าธรรมดาก็อยากให้ได้เข้ามาร่วมกันทำ เพื่อที่เราจะได้อนุรักษ์ประเพณีอันเก่าแก่ที่โบราณกาลได้ทำไว้ ได้ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอดกันต่อๆ ไปในวันข้างหน้า”
เรื่อง : อรวรรณ เหม่นแหลม

กำลังโหลดความคิดเห็น