xs
xsm
sm
md
lg

ปราชญ์ชาวบ้าน ต่อลมหายใจ “ผ้าตีนจก-หมอนผา” อัตลักษณ์ลับแล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะผู้บริหาร ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร เมืองลับแล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ โดยเยี่ยมชมอาคารศูนย์บริการการท่องเที่ยว จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ของฝากเมืองลับแล สาธิตการทอผ้า เยี่ยมชมชาวชุมชนคุณธรรมฯ เมืองลับแล 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนตลาดลับแล คอกช้าง หัวร้อง-ฟากท่าป่ายาง ยางกระไดเหนือ ยางกระไดใต้ และชุมชนบ้านหนอง สาธิตการทำไม้กวาดลับแล ตัดหน้าหมอนสามเหลี่ยม เยี่ยมชมอาคารนิทรรศการแสดงประวัติศาสตร์ โดยมี น.ส.กนกกาญจน์ ลอยพงศ์ศรี ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เป็นผู้แทนวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ นางปารณีย์ เตชะปุณยงค์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ นางทมาภรณ์ ชัยชนะ รองผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนพนมมาศพิทยากร ตัวแทนชุมชนคุณธรรมฯ ให้การต้อนรับ

บรรยากาศเบื้องหน้ามีนักเรียนหญิงกว่า 10 คน กำลังนั่งทอผ้ากันอย่างขะมักเขม้น ถัดมาอีกห้องจะมีนักเรียนหญิง ชาย กำลังนั่งถักไม้กวาด อีกมุมนักเรียนกำลังนั่งปักผ้า นี่คือบรรยากาศคอร์สเรียนหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่น


ครูอภิรดา บุณโยประการ โรงเรียนพนมมาศพิทยากร เล่าให้ฟังว่า ผู้บริหารโรงเรียน ประสานกับครูภูมิปัญญาในท้องถิ่นหลายท่าน โดยครูภูมิปัญญาจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาถ่ายทอดความรู้ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาวลับแลให้แก่นักเรียน ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ได้จัดการเรียนการสอนมากว่า 6 ปีแล้ว เพื่อให้เด็กตระหนัก เห็นคุณค่า รู้สึกภูมิใจ ที่สำคัญได้สืบทอดงานเหล่านี้อยู่คู่เมืองลับแลต่อไป

“นักเรียนหลายคนมีพื้นฐานการทอผ้ามาจากครอบครัว ยิ่งได้มาต่อยอดความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน โดยเฉพาะลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของลับแล พบว่าชิ้นงานของนักเรียนสวยงามขึ้น และพบว่าเด็กที่เรียนจบแล้วบางคนไม่ได้เรียนต่อ ได้เลี้ยงชีพโดยการทอผ้า ทำไม้กวาด หมอน ขาย” ครูอภิรดา กล่าว

นายจงจรูญ มะโนคำ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น และเจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล กล่าวว่า ย้อนกลับไปหลายปีก่อน ตอนนั้นผมรู้สึกกังวลว่าจะไม่มีคนสืบทอดเอกลักษณ์เมืองลับแลแล้ววันหนึ่งจะสูญหาย คุณแม่ ผม ได้รวบรวมผ้าโบราณไว้จำนวนมาก นำมาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อโชว์ หมอน ยามและอื่นๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ลับแล จังหวะเดียวกับรัฐบาลส่งเสริมนุ่งผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น เกิดกระแสนิยมผ้าไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันโรงเรียนติดต่อให้เป็นสอนแก่นักเรียน ผมตอบรับทันทีเพราะอยากให้คนรุ่นใหม่รู้ขั้นตอนการทอผ้า ทำหนอนหก หมอนผา พร้อมกันนี้จะปลุกจิตสำนึกเด็กๆให้เกิดความรัก หวงแหน มรดกภูมิปัญญา.

“จะพาเด็กมาชมความงดงามผ้าโบราณที่สะสมไว้จำนวนมากในพิพิธภัณฑ์ เด็กๆ จะได้เห็นด้วยสายตาว่าผ้าแต่ละผืน ความประณีต งดงามขนาดไหน และถ้าเด็กทอได้จะยิ่งภูมิใจ” นายจงจรูญ กล่าวด้วยว่า จากการสอนพบว่าเด็กหลายคนทอผ้าได้ลวดลายประณีตมาก จะสอนลวดลายที่ยากขึ้น เมื่อเด็กเรียนจบแล้วไม่เรียนต่อ จะชวนฝึกปรือทอผ้าจนเกิดความชำนาญ จากนั้นจะชวนให้ทอผ้าส่งให้ผมเพื่อเด็กจะให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง

นอกจากสอนทอผ้าแล้ว นายจงจรูญ ยังสอนปักหน้าหมอนลายโบราณ “หมอนผา” หมอนรูปสามเหลี่ยมเย็บเป็นลอนเล็กๆ ยัดนุ่นไว้ภายใน หมอนผาของชาวลับแล มีลักษณะพิเศษกว่าหมอนสามเหลี่ยมทั่วไป คือ การใช้เทคนิคการปักด้วยดิ้นและมีลวดลายที่สวยงามทั้ง ลายนาค ลายหงส์ ลายไทย เป็นต้น การปักหน้าหมอนผา เป็นศิลปะอย่างหนึ่งโดยเฉพาะการปักหน้าหมอนด้วยดั้นยึดซึ่งเป็นวิชาที่มีมานานแล้ว แต่ปัจจุบันไม่ได้มีผู้ที่จะถ่ายทอดให้แพร่หลายมากนัก การปักหน้ามอนผ้าด้วยดิ้นนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวลับแล ในอดีตจะทำไว้เพื่อถวายพระยามมีงานทอดกฐินและงานทอดผ้าสี่ไตร และทำไว้เพื่อประทับบ้าน ต่อมาวิชานี้ก็ไม่ได้ถ่ายทอดอย่างชัดเจนและแพร่หลายมากนักจึงดูจะลืมเลือนไป

“เห็นความสำคัญการทำหมอนผา จึงมาถ่ายทอดความรู้แก่เด็ก เยาวชน ผู้ที่สนใจ เพื่อจะได้เผยแพร่และปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่กันมาเห็นคุณค่าของเอกลักษณ์ของบรรพบุรุษที่สั่งสมความรู้แล้วถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น “หมอนผา” เป็นสิ่งที่จะบ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของชาวลับแล” นายจงจรูญ กล่าวว่า ขณะนี้หมอนผา เริ่มกลับมาเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากชุมชน สถานศึกษา มักจะมอบเป็นของขวัญให้แก่ผู้ใหญ่ บุคคลสำคัญที่มาเยือนเมืองลับแลไว้เป็นที่ระลึก


จากนั้น ครูอภิรดา กล่าวว่า เชิญปราชญ์ชาวบ้าน สอนการทำ “หมอนหก” มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นหมอนที่ชาวลับแลใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้วิธีการเย็บหมอนเป็นช่องเล็กๆ ด้วยผ้าฝ้ายสีขาวตลอดความยาวของหมอน ภายในจะยัดด้วยนุ่นแล้วนำมาเย็บติดกัน 2 ช่อง 4 ช่อง และ 6 ช่อง เส้นยืนมักจะใช้ฝ้ายสีแดง เส้นพุ่งจะใช้ไหม้ย้อมสองสี ลายหน้าหมอนที่เป็นที่นิยมคือ ลายนาค ลวดลายแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ลายหลัก และลายประกอบ

สำหรับ ลายหลัก คือลวดลายขนาดใหญ่และเด่นกว่าลายประกอบ อยู่ตรงกลาง เช่น หงส์ใหญ่ ส่วนลายประกอบ คือ ลวดลายที่ทอเพิ่มเสริมประกอบลายหลักทั้งด้านบนและด้านล่าง ให้มีความงดงามและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เช่น ขอเค็ดเก้า นกขี่ม้า นกคุ้ม นาค เป็นต้น ขณะที่ลวดลายบนผืนผ้านั้น ส่วนใหญ่จะประดิษฐ์มาจากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพืช หรือ อากัปกิริยาต่างๆ ของสัตว์ เป็นความงามที่เกิดจากความเรียบง่าย

ปราชญ์ชาวบ้าน นำความรู้ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ เป็นการต่อลมหายใจอัตลักษณ์ลับแลให้คงอยู่ต่อไป




































กำลังโหลดความคิดเห็น