รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร วิจารณ์การบินไทย ใช้วิดีโอสาธิตความปลอดภัยบรรยากาศภายในป่าดิบ ล้วนเป็นสัตว์และพืชจากเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ ไม่ใช่ประเทศไทย ระบุอยากให้ภูมิใจในความเป็นธรรมชาติไทย ชูความสำคัญของสัตว์ พืช ท้องถิ่นมากกว่า
เฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit ของ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหม่อง รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร วิจารณ์กรณีที่สายการบินไทย เพิ่งเปลี่ยนวิดีโอแนะนำความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร (Safety Video) เป็นบรรยากาศภายในป่าดิบ ซึ่งตนเข้าใจว่าต้องการแสดงความเป็นจุดหมายปลายทางที่แปลกใหม่
สิ่งมีชีวิตที่มีในภาพ ส่วนใหญ่แม้จะเป็นสัตว์พืชในป่าเขตร้อนชื้น แต่ล้วนเป็นสัตว์และพืชจากเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ ไม่ใช่ประเทศไทย เช่น ต้นเฮลิโคเนีย, นกฟลามิงโกอเมริกัน, นกฮัมมิงเบิร์ด และผีเสื้อมอร์โพ ส่วนกล้วยไม้ถ้าเป็น มาดามปอมปาดัวร์ ที่ใข้เป็นสัญลักษณ์ “เอื้องหลวง” ก็เป็นกล้วยไม้ไฮบริด ที่มีต้นกำเนิดมาจาก ออสเตรเลีย ส่วนนกตะขาบ ไม่แน่ใจว่าเป็นนกตะขาบทุ่งของไทย หรือนกตะขาบอกม่วงจากแอฟริกา
นพ.รังสฤษฎ์กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว ที่ผ่านมาเราเน้นแต่เรื่องความเป็นชาติแบบผิวเผิน เปลือกนอก ทั้งที่การรู้จักและภาคภูมิใจในแผ่นดินแม่ เป็นสิ่งจำเป็นมาก ในมุมที่เราพึ่งพิงผูกพันกับธรรมชาติดั้งเดิมของท้องถิ่นที่เป็นรากเหง้าของวิถีดำรงชีวิต ความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรม และจำเป็นต่อความอยู่รอด ผาสุกของเผ่าพันธุ์เรา ตนเสียใจ และเสียดายโอกาสทุกครั้งที่เราไม่ให้ความสำคัญตรงนี้พอ
“ที่ผมอยากให้เราภูมิใจในความเป็นธรรมชาติไทย ชูความสำคัญของสัตว์ พืช ท้องถิ่น ไม่ใช่เพื่อความคลั่งชาติ แต่เพื่อให้เรากลับมาเชื่อมต่อ ฟื้นฟูสายสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบตัวเรา เพื่อให้เราไม่ลืมคุณแผ่นดิน ในเชิงนิเวศวิทยา ไม่ใช่แผ่นดินเชิงความเป็นรัฐแต่เพียงอย่างเดียว” นพ.รังสฤษฎ์กล่าว
สำหรับวิดีโอสาธิตระบบความปลอดภัยบนเครื่องบินแบบ Boeing 787-9 Dreamliner การบินไทยได้นำมาใช้ตั้งแต่ปลายปี 2560 ที่ผ่านมา มีความยาว 5 นาที 30 วินาที นับเป็นเวอร์ชันล่าสุด ต่อจากวิดีโอสาธิตระบบความปลอดภัยบนเครื่องบิน เวอร์ชันปี 2553 และเวอร์ชันปี 2549