xs
xsm
sm
md
lg

ออกโรงฉะกระทรวงศึกษาฯ ภาพสัตว์ป่าสงวนในแท็บเล็ตแบบเรียนเด็กผิดเพียบ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับผิดกระทรวงศึกษาธิการ! นักอนุรักษ์เผยข้อมูลสัตว์ป่าสงวนในแท็บเล็ตที่ ศธ.แจกเด็ก พบผิดกระจายหลายจุด ทั้งชื่อและรูปสัตว์ไม่ตรงกัน จนมีการเรียกร้องให้แก้ไข แถมแนะให้ทางกระทรวงฯ ใส่เครดิตภาพสัตว์ลงไป เพื่อปลูกฝังเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญาให้เด็กด้วย!

ผิดไปได้ยังไงถึง 5 ชนิดสัตว์!

งานเข้ากระทรวงศึกษาธิการอีกแล้ว หลังจากที่มีนักอนุรักษ์ท่านหนึ่ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้มีการแก้ไขเนื้อหาในแบบเรียนที่ทางกระทรวงบรรจุลงไปในแท็บเล็ต เป็นเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ป่าสงวนในไทย ซึ่งภาพและชนิดของสัตว์ไม่ตรงกันหลายจุด แถมยังไม่มีการใส่เครดิตว่าของภาพสัตว์เหล่านั้นมีที่มาอย่างไร ทำเอาหลายฝ่ายจวกยับถึงความผิดพลาดของการทำงานและการตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงดังกล่าวกันเสียยกใหญ่

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” อาจารย์ประจำหน่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เเละนักอนุรักษ์ชื่อดัง โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Rungsrit Kanjanavanit” ถึงกรณีความผิดพลาดของกระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องให้แก้ไขเนื้อหาที่ไม่ถูกในแท็บเล็ต ที่ทางกระทรวงฯ แจกให้แก่เด็กนักเรียน ในเรื่องของสัตว์ป่าสงวน ที่ชื่อและรูปของสัตว์ไม่ตรงกันถึง 5 จุด



สัตว์ป่าสงวนที่มีข้อมูลผิดพลาดได้แก่ กูปรี ที่เป็นรูป กระทิง,ควายป่า กลายเป็น ควายป่าแอฟริกัน,แมวลายหินอ่อน ใส่รูปเป็น แมว Ocelot แห่ง อเมริกาใต้,แรด (Javan Rhinoceros) กลายเป็น แรดดำ(Black Rhino) ของแอฟริกา และ พะยูน (Dugong) ก็กลายเป็น Manatee แห่ง แคริบเบียน




“หลายคนอาจมองไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่นั่นเป็นเพราะเราไม่ใส่ใจที่จะเข้าใจธรรมชาติอย่างถูกต้อง แต่ถ้าเป็นรูป วิหารเซนปีเตอร์ แทน วัดพระแก้ว คนคงไม่ยอม อันนี้ผมว่าผิดไกลยิ่งกว่านั้นอีกนะครับ”
อีกเรื่องที่หมอหม่องฝากไปถึงทางกระทรวงฯ นอกจากการแก้ไขเนื้อหาในแท็บเล็ตแล้ว ยังเพิ่มเติมในเรื่องของการใส่เครดิตที่มาของภาพสัตว์ป่าสงวนต่างๆ ลงไปด้วย เพื่อที่จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ถึงเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญาอีกด้วย

นอกจากหมอหม่องที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็ได้มีการทำจดหมายไปถึงกระทรวงศึกษาธิการให้มีการเร่งตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขเนื้อหา ทางทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงได้สอบถามไปยัง อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถึงกรณีดังกล่าว ทำให้ทราบว่า นอกจากจดหมายที่ทางมูลนิธิฯ ได้จัดทำขึ้นและ ยังได้มีการแนบข้อมูลเรื่องชื่อและชนิดของสัตว์ป่าสงวนที่ถูกต้องและที่มาของภาพต่างๆ เพิ่มเติมลงไปด้วย



“หลังจากที่มูลนิธิฯ ทราบเรื่องที่หมอหม่อง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในกรรมการของมูลนิธิฯด้วย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงความผิดพลาด ในเรื่องของสัตว์ป่าสงวน ทางมูลนิธิฯ จึงได้มีการทำจดหมายไปยังปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้เร่งแก้ไขและเพิ่มเติมในเรื่องของที่มาของภาพ เพื่อเป็นการปลูกฝังเด็กๆ ในเรื่องของลิขสิทธิ์ทางปัญญาค่ะ





ถ้าดูเพิ่มเติมในเฟซบุ๊กของหมอหม่อง จะเห็นว่ามีผู้ที่เคยเจอข้อมูลผิดๆ จากที่อื่นมาคอมเมนต์ไว้มากมาย ที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ทางกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้นนะคะที่ลงข้อมูลที่ผิดพลาด หน่วยงานอื่นๆ ก็มีผิดพลาดเช่นกัน แม้แต่กรมอุทยานฯเองก็ยังผิดเลยค่ะ เหมือนกับว่าเขาค้นหาข้อมูลจากกูเกิ้ล พอมีรูปขึ้นมารวมๆ กัน ถ้าไม่ได้ตรวจสอบก่อน ก็จะมีโอกาสที่จะได้รูปและข้อมูลที่ผิดพลาดมาได้ค่ะ” หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าว

ความผิดพลาดซ้ำซากในระบบการศึกษาไทย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชน ได้มีการนำเสนอข้อมูลที่เสี่ยงต่อการเข้าใจผิด ลงไปในแบบเรียนของเด็กไทย หากแต่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนประชาชนเอือมระอา ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลก่อนเลยหรือ?
ลองมาดูตัวอย่างความผิดพลาด จนกลายเป็นประเด็นพูดถึงว่อนโลกโซเชียล กับกรณีของคุณแม่คนหนึ่ง โพสต์ภาพและข้อมูลที่ผิดพลาดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thitinadda Chinachan” เป็นภาพจากหนังสือเรียนของลูกที่กำลังศึกษาอยู่ชั้น ป.5 เป็นเรื่องการฟ้อนสาวไหม ซึ่งเป็นท่าฟ้อนรำที่มีการนำศิลปะการต่อสู้ของล้านนาและกระบวนท่าการสาวไหมมาประยุกต์เป็นท่ารำ และนำวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างการปลูกฝ้ายของชาวบ้านมาเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ใช่การทอผ้าไหมตามในหนังสือเรียน



นอกจากนี้ ผู้เป็นแม่ยังได้กำกับข้อมูลที่ถูกต้องลงไปในหนังสือ พร้อมทั้งบอกว่า หากครูสงสัย ให้บอกว่าแม่เป็นนักวิจัย และได้มีการเก็บข้อมูลจากต้นฉบับซึ่งเป็นลูกสาวของผู้ประดิษฐ์ท่าฟ้อนนี้ จึงสามารถยืนยันข้อมูลที่ถูกต้องได้ และยังได้แนะนำให้ระดมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปร่วมผลิตตำราเรียนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ เพื่อที่จะไม่เกิดการเข้าใจที่ผิดๆ ในแบบเรียนของเด็กอีก
หรือแม้แต่การสอบ O-Net ซึ่งเป็นการสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถือได้ว่าเป็นการสอบระดับชาติ ส่วนผู้ออกข้อสอบคือสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะเห็นได้ว่าทุกปีต้องมีปัญหา อย่างในการสอบของปีนี้ก็พบการเฉลยคำตอบที่ผิดในวิชาสังคมและบางข้อมีคำถามที่กำกวม




จนอาจารย์กวดวิชาชื่อดัง อย่าง อ.ปิง ติวเตอร์วิชาภาษาไทยและสังคม แห่งสถาบันกวดวิชาดาว้องก์ ต้องออกมาพูดและได้มีการยกตัวอย่างข้อที่มีคำตอบผิดถึง 5 ข้อ ซึ่ง อ.ปิง มองว่าอาจเป็นการไม่ยุติธรรมต่อนักเรียนที่ตอบถูกแต่ไม่ได้คะแนนในส่วนนี้ไป ส่วนทาง สทศ.ก็ได้มีการออกมายืนยันว่าไม่ได้เฉลยผิดแต่อย่างใด
จากหลายกรณีที่ผ่านมา แม้บางเรื่องจะเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในเนื้อหาที่ต้องเรียน แต่ถ้าหากเด็กได้รับข้อมูลที่ผิดและไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะทำให้จดจำข้อมูลนั้นไปตลอดชีวิต จึงอยากฝากเรื่องนี้ไปถึงกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของเด็กไทย ให้ช่วยมีการตรวจสอบข้อมูลกันสักนิด ตรวจทานเนื้อหาให้ถูกต้องกันสักหน่อย ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ เพื่อจะได้ไม่เกิดความสับสนต่ออนาคตของชาติที่ต้องรับข้อมูลนั้นไป

ข่าวโดย : ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล : เฟซบุ๊ก “Rungsrit Kanjanavanit”,“มูลนิธิสืบนาคะเสถียร”, “Thitinadda Chinachan” และ “Davance FC”




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น