xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นคัดค้านเมื่อทหารขอบุกไทย! อ้างจะแค่ขอผ่าน แต่คนที่ตอบได้ฝ่ายไทยเผอิญไม่อยู่!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ภาพประวัติศาสตร์ การเซ็นสัญญาของไทย-ญี่ปุ่นในโบสถ์วัดพระแก้ว
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นกำลังก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ต้องการแหล่งวัตถุดิบและระบายสินค้า จึงหวังที่จะเข้ายึดครองอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสในเอเชียแทน ขับไล่อิทธิพลของชาวยุโรปทั้งหมดออกจากเอเซีย แล้วสถาปนา “วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเซียบูรพา” เมื่อเยอรมันและอิตาลีซึ่งเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นได้เริ่มเปิดฉากบุกยุโรปจนราบในปี ๒๔๘๒ แล้ว ญี่ปุ่นจึงส่งทหารบุกเข้าจีน เมื่อยึดเมืองชายฝั่งทะเลไว้ได้หลายแห่งแล้ว กลับถอนทหารหันมาส่งเข้าอินโดจีนของฝรั่งเศส อ้างว่าจะขอเข้าไปยันจีนทางด้านเหนือของเวียดนาม ฝรั่งเศสในอินโดจีนไม่อาจต่อกรกับญี่ปุ่นได้เพราะเมืองแม่ก็แตกไปแล้ว เลยได้แต่มองตาปริบๆ

ญี่ปุ่นคาดว่าอังกฤษคงทานเยอรมันไม่ได้แน่ จึงคิดยึดเอเซียทั้งหมด นอกจากจะเข้ายึดครองแมนจูเรียและเกาหลีแล้ว ยังวางแผนยกพลบุกอินโดเนเซียของเนเธอร์แลนด์ มลายูและพม่าของอังกฤษ รวมทั้งไทยที่จำเป็นต้องใช้เป็นทางผ่าน ในที่ประชุมซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นประธาน ทรงคัดค้านการบุกไทยซึ่งเป็นชาติอิสระที่ประกาศเป็นกลาง ฝ่ายทหารอ้างว่าจำเป็นเพราะต้องใช้ไทยเป็นทางผ่าน แต่จะส่งทหารเข้าไทยก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากไทยก่อน สมเด็จพระจักรพรรดิจึงทรงอนุมัติ แต่ญี่ปุ่นจะบอกเรื่องนี้กับไทยล่วงหน้าก็ไม่ได้กลัวความแตก กำหนดจะเจรจาในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ ในเวลา ๑๘.๐๐ น. และให้ไทยตอบก่อนเที่ยงคืน

แต่อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นเตรียมการทุกอย่างที่จะบุกไทยหากเจรจาไม่ได้ผล ในต้นเดือนกันยายน ๒๔๘๓ เรือสินค้าญี่ปุ่นชื่อ อาซาฮียามา มารู ได้ขนชายฉกรรจ์คณะหนึ่งมาขึ้นที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ต่างมีเอกสารว่าเป็นพนักงานของบริษัทมิตซูบิชิ เป็นนายแพทย์ เป็นนักธุรกิจ หัวหน้าของคนญี่ปุ่นชุดนี้มีชื่อว่า ฮิโรมิชิ ยาฮารา ซึ่งต่อมาเป็นที่เปิดเผยว่ามียศเป็นพันโท ส่วนลูกทีมทุกคนก็ล้วนเป็นทหาร

เป็นที่น่าสังเกตว่าในระยะนั้น มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเข้ามาประเทศไทยมากผิดสังเกต ทุกคนมุ่งไปเที่ยวประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และกาญจนบุรี ส่วนใหญ่จะออกไปตกปลา บ้างก็ไปตีอวนกับชาวประมง ทางเมืองกาญจน์ไปเที่ยวป่าและตกปลาในแม่น้ำแควน้อยแควใหญ่ ญี่ปุ่นจึงมีข้อมูลในจุดที่จะบุกขึ้นประเทศไทยอย่างละเอียด

ทางด้านสหรัฐอเมริกาซึ่งยังวางตัวเป็นกลาง สังเกตเห็นการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นที่จะคุกคามเอเซีย จึงหาทางบีบญี่ปุ่นโดยขอยกเลิกสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น ห้ามส่งน้ำมันให้ญี่ปุ่น ทั้งยังเคลื่อนกำลังทางเรือมายังมหาสมุทรแปซิฟิก จัดซ้อมรบขึ้นที่หมู่เกาะฮาวาย ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจ อเมริกาเสริมสร้างฐานทัพเรือที่เพิร์ลฮาร์เบอร์อย่างแข็งแกร่ง ทั้งยังสั่งห้ามส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันและโลหะออกนอกประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นกระทบกระเทือนอย่างหนัก สั่งอายัดทรัพย์สินของคนญี่ปุ่นในอเมริกาด้วย ญี่ปุ่นพยายามเจรจาทางการทูตเพื่อให้อเมริกาตายใจ หน่วงเหนี่ยวเวลาไว้ จนถึงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นก็พร้อมสำหรับการเปิดม่าน “สงครามมหาเอเซียบูรพา”
๐๗.๕๕ น. ของวันที่ ๘ ธันวาคม ฝูงบินญี่ปุ่นจากเรือบรรทุกเครื่องบินได้เข้าโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ลฮาร์เบอร์โดยไม่ประกาศสงครามให้รู้ตัวล่วงหน้า พร้อมทั้งยกพลขึ้นบกที่มลายูของอังกฤษ เคลื่อนกำลังเข้าไทย บุกฮ่องกง เกาะกวม เกาะเวก ยิงถล่มเกาะมิดเวย์ และในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ได้ยกพลขึ้นบกทางเหนือของเกาะลูซอน ในฟิลิปปินส์

เป็นการเปิดฉากสงครามเพื่อสร้าง “วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเซียบูรพา” โดยมีคำขวัญล่อใจว่า “เอเชียเพื่อคนเอเชีย”

ในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ ในเวลา ๑๘.๐๐-๑๘.๓๐ น. เซอร์โจไซ ครอสบี้ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยได้ไปพบ ดร.ดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่บ้านซอยสันติสุข พระโขนง แจ้งให้ทราบว่า เครื่องบินตรวจการณ์ของอังกฤษพบกองเรือรบของญี่ปุ่นกำลังเคลื่อนจากแหลมแซงค์ฌาคส์ ในอินโดจีน มุ่งมาทางอ่าวไทย นายดิเรกได้แจ้งต่อให้ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรีและอธิบดีกรมตำรวจทราบ

ต่อมาในเวลา ๒๒.๓๐ น. นายเทอิจิ ทสุโบกามิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้ช่วยทูตทหารบก ผู้ช่วยทูตทหารเรือ ที่ปรึกษา เลขานุการ และล่าม ได้ขอเข้าพบจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่วังสวนกุหลาบ เมื่อรู้ว่านายกฯไม่อยู่ก็ขอพบรองนายกฯ คือ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส แต่ พล.ต.ต.อดุลไม่ยอมพบ ส่ง ดร.ดิเรก ชัยนาม รมต.ต่างประเทศ พบกับคณะทูตญี่ปุ่นแทน เอกอัครทูตญี่ปุ่นแจ้งว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีคำสั่งให้ติดต่อขอเดินทัพผ่านประเทศไทยเป็นการด่วน เพื่อส่งกำลังไปโจมตีอังกฤษที่มลายูและพม่า ขอคำตอบภายในเวลา ๐๒.๐๐ น. พล.ต.ต.อดุลจึงเรียกประชุม ครม. ด่วนในเวลา ๒๓.๐๐ น. และโทรเลขถึงจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งไปตรวจราชการที่จังหวัดพระตะบองให้รีบกลับมาโดยด่วน พร้อมทั้งส่งนาวาเอกขุนรณนภากาศ (ต่อมาคือ จอมพลอากาศฟื้น ฤทธาคนี) นำเครื่องบินไปรับในคืนนั้น แต่เมื่อขุนรณฯบินไปเกือบถึงวัฒนานครก็เห็นขบวนรถยนต์เปิดไฟมายาว ก็รู้ว่าจอมพล ป.เดินทางกลับมาแล้ว จึงนำเครื่องลงที่สนามบินวัฒนานคร วิทยุแจ้งให้ ครม.ทราบ

๐๒.๐๐ น. ครม.ได้ส่งนายปรีดี พนมยงค์ นายดิเรก ชัยนาม และพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ไปแจ้งกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นว่ายังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ ขอยืดเวลาตอบเป็น ๐๕.๐๐ น. ให้ญี่ปุ่นยับยั้งการเคลื่อนทหารไว้ก่อน ญี่ปุ่นตอบว่ามีเวลาเหลือเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้นไม่อาจจะยับยั้งได้ทัน เพราะต้องโทรเลขไปไซ่ง่อน กว่าไซ่ง่อนจะติดต่อกองกำลังในแนวหน้าได้ก็คงสายไปแล้ว ขอให้ฝ่ายไทยสั่งทหารไม่ให้มีการต่อสู้ไว้ก่อน ฝ่ายไทยก็บอกว่าอำนาจสั่งการอยู่ที่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว จึงไม่มีใครสั่งได้ ญี่ปุ่นรับว่าจะโทรเลขไปยับยั้งการเคลื่อนพลไว้ ขอให้ฝ่ายไทยช่วยหาทางยับยั้งการต่อสู้ไว้ด้วย หากญี่ปุ่นยับยั้งการขึ้นบกไม่ทัน

ในเวลา ๐๓.๐๐ น. ครม.ได้รับรายงานว่าญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่สงขลา ปัตตานี และมีการปะทะกับฝ่ายไทยแล้ว ทั้งยังได้รับรายงานอีกว่า ญี่ปุ่นได้นำรถบรรทุก ๑๔-๑๕ คันมุ่งไปทางสมุทรปราการ เพื่อจะไปรับทหารญี่ปุ่นขึ้นบกที่ปากน้ำ พล.ต.ต.อดุลจึงสั่งปิดถนนสาย กรุงเทพฯ-สมุทรปราการทันที

๐๔.๓๐ น. ครม.ได้ส่ง พ.อ.ประยูร ภมรมนตรี นายวณิช ปานะนนท์ และนายจิตตะเสน ปัญจะ ไปขอเลื่อนเวลากับญี่ปุ่นอีกครั้งว่า ที่ผลัดไว้ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรียังเดินทางมาไม่ถึง ขอเป็น ๐๗.๐๐ น.นายกฯ คงมาทันแน่ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นบอกว่าได้วิทยุไปทางอินโดจีนแล้ว และได้สั่งไปยังกองทหารที่จะขึ้นบกตามจุดต่างๆในประเทศไทย ให้ยับยั้งไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับคำตอบจากไทย แต่จะได้ผลเพียงใดนั้นไม่รับรอง ทางที่ดีไทยควรจะสั่งระงับการต่อสู้ไว้ พร้อมกันนี้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นก็แจ้งว่า กองกำลังของญี่ปุ่นส่วนหนึ่งกำลังจะขึ้นบกที่ปากน้ำ สมุทรปราการ ฝ่ายไทยจึงขอให้ยับยั้งไว้ อย่าเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ และเมื่อ ครม.ได้รับทราบเรื่องนี้ก็ได้สั่งให้ทหารเรือไปรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายญี่ปุ่นไปปากน้ำด้วยกัน ยับยั้งการขึ้นบกไว้ ถ้าขึ้นมาแล้วก็ให้กลับลงเรือ หากไม่สามารถกลับลงได้ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น ขอห้ามไม่ให้เข้ากรุงเทพฯโดยเด็ดขาด จนกว่านายกรัฐมนตรีจะกลับมาให้คำตอบ

จนเวลา ๐๖.๕๐ น. จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้เดินทางมาถึงที่ประชุม ครม. รัฐมนตรีต่างอภิปรายความเห็นกันต่างๆ แต่จอมพล ป. ได้ตัดบทขึ้นว่า

“ประเดี๋ยว ผมอยากจะพูดเสียก่อน คือเวลานี้กำลังรบกันอยู่ เราจะให้รบกันต่อไปหรือจะให้หยุด เพราะที่เราพูดกันอยู่ทุกวินาทีนี้คนต้องตาย เรื่องอื่นนั้นไว้พูดกันทีหลัง ไม่อย่างนั้นทหารรบกันตาย นี่ก็ละลายไปกองพันหนึ่งแล้วที่ปัตตานี และที่สมุทรปราการนั้นจะให้สู้หรือไม่ให้สู้”

ที่ประชุม ครม.เห็นพ้องต้องกันว่า กำลังฝ่ายไทยไม่อาจต้านแสนยานุภาพของญี่ปุ่นได้ จอมพล ป. เองก็ยอมรับว่าถ้าสู้ก็สู้ได้ไม่กี่น้ำ หวังพึ่งใครก็ไม่ได้ เพราะเอาตัวไม่รอดกันทั้งนั้น เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งไทยเคยขอความช่วยเหลือไว้หากถูกรุกราน ได้โทรเลขมาบอกให้ช่วยตัวเองไปก่อน ครม. จึงลงมติเมื่อเวลา ๐๗.๓๐ ให้สั่งหยุดยิง เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและรมต.ต่างประเทศได้ออกจากที่ประชุมไปพบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นกับคณะซึ่งเรียกมาพบ และกลับเข้าที่ประขุมเมื่อเวลา ๐๗.๔๕ น. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าญี่ปุ่นได้เสนอมาคือ

๑. ญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านไทย และขอให้ไทยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนทัพของญี่ปุ่น

๒. ญี่ปุ่นจะให้ประกันในความเป็นเอกราช อธิปไตย และเกียรติยศของประเทศไทยจะได้รับการเคารพ ญี่ปุ่นจะร่วมมือกับไทยในการเอาดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา

ไทยได้ขอให้ตัดข้อความท่อนท้ายที่ว่าจะเอาดินแดนคืนให้ไทยออกจากข้อตกลงที่จะต้องแถลงร่วมกัน ให้แยกไปทำเป็นสัญญาลับ และได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นกับรมต.ต่างประเทศเมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น.

ในวันเดียวกัน รัฐบาลยังได้ออกแถลงการณ์แจ้งให้ประชาชนทราบถึงการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น และชี้แจงถึงความจำเป็นของรัฐบาลที่จะต้องยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่าน ขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ทำกิจการงานไปตามปกติ ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจ คอยฟังคำแถลงของรัฐบาลต่อไป

ดร.ดิเรก ชัยนาม ได้เชิญทูตอังกฤษและอเมริกามาชี้แจงถึงความจำเป็นของไทย เซอร์โจไซ ครอสบี้ ทูตอังกฤษได้ถามขึ้นว่า ถ้าอังกฤษจะบุกเข้ามาในเขตไทยบ้าง ไทยจะสู้หรือไม่ ดร.ดิเรกก็บอกว่าให้เข้ามาเถอะ ทูตอังกฤษก็ไม่รู้ว่าจะสู้หรือไม่สู้

หลวงวิจิตรวาทการได้เล่าให้ ครม. ฟังอีกว่า

“ตาครอสบี้พูดเยาะเย้ยหน่อยว่า ไม่ควรไปบอกเสียก่อนว่าจะสู้จนคนสุดท้าย แต่พอ ๖ ชั่วโมงเท่านั้นก็ยอมแล้ว”

จอมพล ป.เลยบอกว่า “ก็ไม่เห็นมีที่ไหนสู้จนคนสุดท้ายทั้งนั้น”

อย่างไรก็ตาม ทั้งทูตอังกฤษและทูตอเมริกาก็บอกว่าเห็นใจไทย

หลังจากที่สั่งหยุดยิงเปิดทางให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านแล้ว ครม.ก็เชื่อว่าเรื่องคงไม่ยุติเพียงแค่นี้แน่ เพราะญี่ปุ่นขอที่พัก ขอใช้สนามบิน ขอใช้รถไฟ ส่วนที่ท่าเรือ บี.ไอ.และท่ามิตซุย ญี่ปุ่นขนของมาหลายลัง ศุลกากรเข้าไปตรวจก็ถูกทุบตีจนต้องถอยออกมา จึงปรึกษากันว่าควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอว่า เมื่อญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านและสัญญาจะเคารพอธิปไตยของไทย ซึ่งได้เซ็นสัญญากันไปแล้ว ก็พยายามให้ญี่ปุ่นรักษาสัญญานี้ให้ตลอด อย่าร่วมอะไรไปมากกว่านี้ แต่รัฐมนตรีอีกหลายคนเห็นว่าญี่ปุ่นคงต้องเรียกร้องอย่างอื่นต่อไปอีก ทั้งยังฝันเฟื่องว่าญี่ปุ่นจะต้องเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ ไหนๆจะยอมแล้วก็ร่วมหัวจมท้ายกับญี่ปุ่นไปเสียเลย แต่ก็ยังไม่มีการลงมติ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยามนั้นก็คับขัน ครม.จึงตกลงประกาศกฎอัยการศึกทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลา ๒๐.๔๕ น. เป็นต้นไป

หลังจากที่บีบไทยจนต้องยอมให้เดินทัพผ่านแล้ว ญี่ปุ่นก็เห็นว่าตราบใดที่ไม่มีข้อผูกมัดกับไทยให้มั่นคง ญี่ปุ่นอาจจะถูกตลบหลังเอาได้ในเมื่อไทยยังถืออาวุธอยู่ จึงขอให้ไทยทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นเสียด้วย ไม่งั้นญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องปลดอาวุธ ในที่สุดจอมพล ป.พิบูลสงครามก็จำต้องยอมลงนามกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นใน “กติกาสัญญาทางทหารระหว่างไทย-ญี่ปุ่น” เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรี วังสวนกุหลาบ

ขณะนั้นญี่ปุ่นได้แจกจ่ายใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อแบบต่างๆกระจายไปเกลื่อน หว่านล้อมให้คนไทยเห็นดีเห็นชอบการร่วมรบกับญี่ปุ่น ช่วยกันต่อต้านอังกฤษซึ่งเป็นศัตรูของชาวเอเซีย

ต่อมาในวันที่ ๑๔ ธันวาคม จอมพล ป.ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ลงนามในรายละเอียด “หลักการร่วมยุทธระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” โดยมี พลโทอีดา โชวจิโร่ แม่ทัพกองทัพที่ ๑๕ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกญี่ปุ่นในประเทศไทย และ พลเรือตรีซาคอง โอมาซา ผู้ช่วยทูตทหารเรือประจำกรุงเทพฯ ในฐานะผู้แทนจักรพรรดินาวี ลงนามฝ่ายญี่ปุ่น โดยมีข้อความว่า

๑. กองทัพญี่ปุ่น ณ ประเทศไทย และกองทัพไทย จะทำการร่วมยุทธต่อกองทัพข้าศึกในพม่า

๒. ก่อนอื่น กองทัพไทยจะยึดชายแดนไทย-พม่าให้มั่นคง พร้อมกับทำการรักษาฝั่งทะเลทิศตะวันตกของประเทศทางภาคใต้ ในระหว่างนี้กองทัพไทยจะรีบซ่อมถนนสายระแหง-แม่สอด-มิยาวดี (เมียวดี) และสายกาญจนบุรี-บ้านบ้องตี้ ทั้งนี้กองทัพญี่ปุ่นจะเข้าร่วมปฏิบัติการด้วย

๓. กองทัพญี่ปุ่น ณ ประเทศไทย มีความมุ่งหมายสำคัญที่จะทำการยุทธในภูมิภาคทางทิศใต้ของแนวระแหง-แม่สอด-มิยาวดี แนวนี้อยู่ในเขตด้านตรงไปย่างกุ้ง ส่วนกองทัพไทยนั้นมีความมุ่งหมายสำคัญที่จะทำการยุทธในภูมิภาคทางทิศเหนือของแนวที่กล่าวแล้ว มุ่งตรงไปเชียงตุงและมัณฑะเลย์

๔. กองทัพอากาศของไทยและญี่ปุ่น ต่างฝ่ายต่างทำการยุทธในด้านของตน ถ้ามีความจำเป็นกองทัพอากาศญี่ปุ่นจะเข้าร่วมกำลังกับกองทัพอากาศของไทยด้วย

๕. ราชนาวีแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ครองน่านน้ำไทย ประมาณตั้งแต่เหนือแนวสัตหีบ-หัวหิน ขึ้นไป

พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ รมช.ต่างประเทศ ได้บันทึกชี้แจงสัญญาที่เซ็นครั้งนี้ว่า ไม่ได้เป็นสัญญาที่ถูกต้องตามวิถีทางการทูต ญี่ปุ่นทำมาเป็นคำขาดให้ไทยลงนามเท่านั้น จึงได้มีการร่าง “กติกาสัญญาไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น” ขึ้นใหม่ เป็นแบบสนธิสัญญาไตรภาคีแบบที่ญี่ปุ่นลงนามกับเยอรมัน อิตาลี และมีการลงนามกันใหม่ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ซึ่งนับเป็นสัญญาเดียวในประวัติศาสตร์ ที่เซ็นกันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นิมนต์พระสงฆ์ ๒๕ รูปเข้าร่วมพิธีด้วย

พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ได้กล่าวถึงพิธีนี้ว่า

“…สมควรจะกล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ได้ทำพิธีลงนามกติกาสัญญานี่แล้ว ก็แลเป็นผลว่า การที่เอาญี่ปุ่นมาเคารพบูชาพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตของเราได้นั้น ย่อมเป็นเกียรติยศและเป็นเครื่องเชิดชูปูชนีย์อันศักดิ์สิทธิ์ของเรา ภายหลังต่อมาคนสำคัญของญี่ปุ่นทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมประเทศไทย ต้องแต่งเครื่องยศและนำเครื่องสักการะไปบูชาพระแก้วมรกตของเรา ก่อนที่จะไปธุระอย่างอื่น…”

แต่ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล ได้กล่าวถึงการลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรีฉบับนี้ว่า

“…เพื่อความมั่นใจว่า จอมพล ป.พิบูลสงครามจะไม่แปรพักตร์ต่อไปในภายหน้า และอย่างน้อยก็ตลอดเวลาที่สงครามกับฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกายังคงดำเนินอยู่ ฝ่ายญี่ปุ่นได้เสนอขอให้จัดพิธีลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรีนั้นในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อหน้าพระพุทธปฏิมากรพระแก้วมรกต ซึ่งญี่ปุ่นทราบดีว่าเป็นที่เคารพเทิดทูนอย่างสูงสุดของคนไทยทั้งมวล เป็นการพยายามทำการผูกพันไทยฝ่ายเดียว เสมือนหนึ่งให้สาบานว่าจะร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นจนถึงที่สุด ต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของปวงชนชาวไทย สำหรับฝ่ายญี่ปุ่นนั้นไม่มีความผูกมัดใดเป็นพิเศษ เพราะญี่ปุ่นมิได้ยกย่องนับถือพระมณีรัตนปฏิมากรพระองค์นั้นแต่ประการใดเลย…”

หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นได้ยาตราเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว ฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งอังกฤษและอเมริกาก็ส่งเครื่องบินเข้ามาโจมตีจุดยุทธศาสตร์ทางทหารของญี่ปุ่นหลายจังหวัด แม้จะพลาดไปโดนคนไทยบ้างก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของสงคราม แต่ที่สะเทือนใจกันก็คือในวันที่ ๒๔ ธันวาคม กรุงเทพฯถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนักหลายจุด ระเบิดลูกหนึ่งตกลงที่มุขด้านเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคมและพระที่นั่งอัมพรสถาน รุ่งขึ้นในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๘๔ ไทยจึงถือฤกษ์วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชา ประกาศสงครามกับอังกฤษอเมริกา ตามที่ได้มอบให้ ดร.เดือน บุนนาค ร่างไว้ล่วงหน้าแล้ว

ในคำประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องลงนามโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้ง ๓ นั้น นายปรีดี พนมยงค์ ผู้คัดค้านการร่วมมือกับญี่ปุ่นมาตลอดจนถูกบีบให้พ้นคณะรัฐมนตรี เผอิญตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่างลง จอมพล ป.จึงโยกนายปรีดีไปแทน พอรู้ว่าจะมีการลงนามประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร นายปรีดีจึงหลบฉากไปต่างจังหวัดไม่ยอมเซ็น คงมีแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาและนายพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน แต่ในคำประกาศสงครามกลับมีชื่อครบทั้ง ๓ คน

ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕ อังกฤษได้ทราบอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสวิสว่าไทยประกาศสงครามกับอังกฤษอเมริกา จึงประกาศสงครามตอบ และยังโทรเลขถึงข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้ ให้ประเทศในเครือจักรภพประกาศตามด้วย แต่แคนาดาไม่ได้ประกาศ แอฟริกาใต้ประกาศสงครามกับไทยเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ออสเตรเลียประกาศเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม และนิวซีแลนด์ประกาศเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม แต่ไทยไม่ได้ประกาศตอบ เพราะถือว่าไม่มีเหตุอย่างใดที่เกิดสถานะสงครามกับประเทศเหล่านั้น

สำหรับสหรัฐอเมริกา แสดงท่าทีไม่รับรู้การประกาศสงครามของไทย ถือว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครอง จะตอบโต้กับกองกำลังทหารไทยในฐานะเป็นศัตรู ก็ต่อเมื่อกองกำลังทหารไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นโจมตีกองทหารของสหรัฐเท่านั้น

นี่ก็เป็นเบื้องหลังที่ไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่เมื่อสงครามยุติลงโดยฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้ปราชัย พลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต้องรับโทษอาชญากรสงครามถึงประหารชีวิต เช่นเดียวกับ ฮิตเล่อร์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน มุสโสลินี นายกรัฐมนตรีของอิตาลี จอมพลเปแตง นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสขณะที่เยอรมันยึดครอง ต่างตกเป็นอาชญากรสงคราม ถูกตัดสินประหารชีวิตทั้งหมด แต่ไทยกลับไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามด้วย และเสรีไทย กลุ่มใต้ดินของไทย ยังจัดสวนสนามอย่างผู้ชนะสงครามเสียอีก ส่วนจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งเซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น กลับเล่นกลรอดคดีอาชญากรสงครามได้อย่างปาฏิหาริย์เพียงคนเดียว และต่อมายังกลับขึ้นครองอำนาจอย่างยาวนานได้อีก

อเมชซิ่งไทยแลนด์ไปเลย
ญี่ปุ่นถล่มถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์โดยไม่ให้รู้ตัว
ใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อที่ญี่ปุ่นเตรียมมาแจก
พระที่นั่งอัมพรสถานถูกระเบิด
เสรีไทยสวนสนามเมื่อสงครามยุติ
กำลังโหลดความคิดเห็น