xs
xsm
sm
md
lg

ยุวชนทหารออกศึก ลูกเสือออกรบ! เด็กไทยใจถึง ๒๗ คนยันทหารลูกพระอาทิตย์ ๒ กองร้อยไว้อยู่!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ภาพเขียนการต่อสู้ของยุวชนทหาร ในอนุสรณ์สถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ทหาร
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ขณะที่ภัยสงครามเริ่มคุกรุ่นขึ้นในยุโรป ไทยเราซึ่งอยู่ในยุคเผด็จการทหารของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการปรับตัวให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจลุกลามมาถึง อย่างหนึ่งคือ การจัดตั้ง กรมยุวชนทหาร สังกัดกระทรวงกลาโหม มี พันโทประยูร ภมรมนตรี เจ้าของฉายา “เกอริงเมืองไทย” ผู้มีบุคลิกคล้าย นายพลเกอริง คู่บารมีของฮิตเล่อร์ เป็นเจ้ากรม

ยุวชนทหารแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
ยุวชนทหาร ได้แก่นักเรียนชั้นมัธยม ๔, ๕, และ ๖
ยุวชนนายสิบ ได้แก่นักเรียนอาชีวะ
ยุวชนนายทหาร ได้แก่นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย

เพลงปลุกใจยุวชนทหารที่มีเนื้อร้องว่า

“ยุวชนทหาร ยุวชนทหาร เราจะตายเพื่อไทยในเมื่อใครรุกราน
ยุวชนทหาร ชาติต้องการ ยอมสละได้ทั้งสิ้น พบศัตรูจักต้องสู้กู้แผ่นดิน รักษาถิ่นของไทยให้ไพบูลย์ ยุวชนทหาร ยุวชนทหาร เราจะตายเพื่อไทยในเมื่อใครรุกราน
อันชีวิตร่างกายไม่ถนอม แต่ชาติไทยไม่ยอมให้ดับสูญ ยามสงบเราเตรียมรบให้พร้อมมูล เพื่อเทอดทูนเกียรติไทยไว้ให้ดี”

เพลงนี้ได้ปลุกใจให้เยาวชนภูมิใจที่ได้เป็นยุวชนทหารกันมาก และเมื่อคราวที่ญี่ปุ่นยกพลบุกเมืองไทยในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ยุวชนทหารหน่วยหนึ่งก็ได้สร้างวีรกรรมไว้อย่างน่าประทับใจ จนชาวชุมพรพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ให้ และเป็นอนุสาวรีย์ของยุวชนทหารแห่งเดียวในประเทศไทย

คืนวันที่ ๗ ธันวาคม ในเวลา ๐๒.๐๐ น. เรือลำเลียงพลของญี่ปุ่น ๒ ลำเข้ามาลอยลำในอ่าวชุมพร ซึ่งเวลานั้นเป็นช่วงที่น้ำลงสุด เรือของญี่ปุ่นจึงไม่สามารถเข้าปากน้ำได้ตามแผน อีกทั้งเวิ้งอ่าวชุมพรตลอดแนวเป็นโคลนเลนยื่นออกไปจากฝั่งถึง ๒ กม. ทหารญี่ปุ่นจึงจำต้องลุยโคลนมาพร้อมเครื่องสัมภาระ ท่ามกลางความมืดและฝนตกหนัก บางคนก็ใช้เชือกพาตัวลื่นไปบนเลน ทำให้เสียเวลาหลายชั่วโมงกว่าจะเข้าถึงฝั่ง ชาวบ้านคอสนได้ยินเสียงอึกทึกในทะเล เมื่อเห็นว่าเป็นทหารญี่ปุ่นจึงตกใจรีบไปแจ้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน หลวงจรูญประศาสน์ ข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพรได้รับรายงานเมื่อเวลา ๐๖.๐๐ น. จึงสั่งการให้คณะกรมการจังหวัดปฏิบัติการตามแผนที่วางกันไว้

ทหารญี่ปุ่นได้แยกกำลังขึ้นฝั่ง ๒ จุด จุดละเพียง ๑ กองร้อย กองร้อยที่ขึ้นฝั่งบ้านแหลมดิน มุ่งเข้าสู่ถนนชุมพร-ปากน้ำ มีส่วนล่วงหน้า ๑ หมู่นำไป จน ๗.๓๐ น. จึงเข้าห่างสะพานท่านางสังข์ประมาณ ๔๐๐ เมตร โดยนัดพบกับอีกกองร้อยที่สะพาน

อีกกองร้อยขึ้นฝั่งที่บ้านคอสน เคลื่อนไปตามแนวชายฝั่ง ผ่านบ้านร่องน้อย ตัดเข้าสู่บริเวณวัดท่ายางใต้ แล้วเคลื่อนไปตามถนนปากน้ำ-ชุมพร เพื่อไปสู่จุดนัดพบที่สะพานท่านางสังข์

ฝ่ายไทย พ.ต.ต.หลวงจิตการุณราษฏร์ ผู้กำกับการตำรวจสั่งการให้ ร.ต.อ.อมร เพ็งรัศมี ผู้บังคับกอง จัดกำลังตำรวจและเกณฑ์รถโดยสารในเมือง เคลื่อนกำลังไปสกัดทหารญี่ปุ่นที่มาตามถนนชุมพร-ปากน้ำ

ร.อ.ถวิล นิยมเสน ผู้บังคับหน่วยยุวชนทหารที่ ๕๒ สั่งให้ ส.อ.สำราญ ควรพันธ์ ออกตระเวนเรียกยุวชนทหารตามบ้านให้ไปพร้อมกันที่สถานีตำรวจ เพื่อรับอาวุธที่ฝากไว้ และรับคำสั่งต่อไป

เมื่อยุวชนทหารมาพร้อมกันแล้ว ร.อ.ถวิล ได้แบ่งกำลังออกเป็น ๒ ส่วน

ส่วนที่ ๑ ให้ยุวชนทหาร ๕ คนพร้อมด้วยปืนกลเบา ๑ กระบอก ในความควบคุมของ จ่าสิบเอกวง แจ้งชาติ เดินตามทางรถไฟขึ้นไปจนถึงสถานีนาชะอัง เลี้ยวขวาตัดไปทางทิศตะวันตก มุ่งไปสู่อ่าวพนังตัก

ส่วนที่ ๒ มียุวชนทหาร ๓๐ คน อาวุธปืนเล็กยาว ๓๐ กระบอก ปืนพก ๑ กระบอก กระสุน ๑ หีบในความควบคุมของ ร.อ.ถวิล และ ส.อ.สำราญ เดินทางไปยังดอนยายทัด ตามเส้นทาง ชุมพร-ปากน้ำ

เมื่อทำความเข้าใจแบ่งหน้าที่กันแล้ว ร.อ.ถวิลก็กล่าวด้วยเสียงอันดังหนักแน่นต่อผู้ใต้บังคับบัญชาว่า

“ยุวชนทั้งหลาย ถึงคราวแล้วที่เราทุกคนจะได้ทำงานเพื่อชาติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติ ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้กอบกู้มาด้วยเลือดและเนื้อไว้ให้พวกเรา ถึงแม้เราจะตายก็ขอให้ตายด้วยเกียรติของเรา เราไปร่วมกอดคอกันตายเพื่อชาติเถิด”

ประมาณ ๐๗.๕๐ น. ขณะยุวชนทหาร ๓๐ คนเดินทางด้วยรถบรรทุกมาตามถนนชุมพร-ปากน้ำ ก็ได้ยินเสียงปืนที่บริเวณท่านางสังข์ ร.อ.ถวิลจึงให้ยุวชนทหารลงจากรถ ปรับขบวนเป็นแถวเรียงหนึ่ง เข้าไปช่วยตำรวจที่ปฏิบัติการอยู่สองข้างคอสะพานท่านางสังข์ และให้ยุวชนทหาร ๓ คนกลับไปเอากระสุนที่โรงพักมาอีก ๑ หีบ

กำลังยุวชนทหารเคลื่อนที่ไปตามแนวคูโดยใช้สันถนนเป็นคันบัง ขณะเคลื่อนไปได้ประมาณ ๓๐-๔๐ เมตร ก็เห็นการเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นประมาณ ๑ หมู่ จึงติดตามไป ขณะนั้นมีตำรวจภูธร ๕ คนและราษฎรอาสาสมัคร ๑ คนติดตามมาสมทบ จนถึงเวลาประมาณ ๙.๐๐ น. ยุวชนทหารจึงพบทหารญี่ปุ่นอยู่ในสวนมะพร้าวและป่าข้างทาง ร.อ.ถวิลสั่งให้ทุกคนติดดาบปลายปืนเพราะอาจจะต้องประจัญบาน

ในเวลา ๙.๓๐ น. ขณะที่ ร.อ.ถวิลเคลื่อนตัวออกจากที่กำบัง ก็ถูกกระสุนปืนจากข้าศึกเข้าปากทะลุท้ายทอย ยุวชนทหารสุรพันธ์ รัตนอารีย์ ซึ่งอยู่ใกล้คลานเข้าไปจะช่วย แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ร.อ.ถวิลตายคาที่ จึงรายงานให้ ส.อ.สำราญ ควรพันธ์ทราบ ส.อ.สำราญจึงรับหน้าที่ผู้บังคับหน่วยต่อไป โดยปิดข่าวการเสียชีวิตของ ร.อ.ถวิลไว้ ด้วยเกรงว่ายุวชนทหารจะเสียขวัญ

ต่อมา ๑๑.๐๐ น. ส.อ.สำราญก็ถูกยิงอีกรายที่แขนขวา กระดูกแตก แต่ก็ยังทนบัญชาการรบต่อไป

กำลังของยุวชนทหารและตำรวจยิงต่อสู้ยันข้าศึกให้อยู่กับที่ ไม่สามารถบุกเข้ามาได้ แต่กระสุนก็ใกล้หมดเต็มที เพื่อนที่ไปเอากระสุนที่โรงพักก็ยังไม่มา ทหารญี่ปุ่นก็เริ่มเคลื่อนโอบเข้ามาจนได้ระยะขว้างระเบิดมือถึง แต่เดชะบุญที่ระเบิดเกิดด้านจึงแคล้วคลาด ยุวชนทหารยูร หิลยกานนท์ ซึ่งอาวุโสที่สุด และทำหน้าที่ผู้บังคับหน่วยแทน ส.อ.สำราญซึ่งบาดเจ็บหนัก ได้หารือกับเพื่อนๆว่า ถ้าญี่ปุ่นโอบล้อมได้ก็คงตายกันทั้งหมด จะถอยหรือจะสู้ตาย ทุกคนก็ลงมติว่าสู้ จะยิงสู้ต่อไปจนกว่ากระสุนจะมาหรือจะหมด

จนเวลาประมาณ ๑๒.๐๐ น. ขณะที่กระสุนใกล้จะหมด ก็มีรถยนต์ฝ่ายไทยปักธงขาวไว้หน้ารถแล่นข้ามสะพานท่านางสังข์และประกาศว่า หลวงจรูญประศาสน์ ข้าหลวงประจำจังหวัด ได้รับโทรเลขจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม สั่งให้ยุติการต่อต้าน ปล่อยให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปได้

สรุปการสูญเสียของฝ่ายไทยที่บริเวณท่านางสังข์ ทหารเสียชีวิต ๑ คนคือ ร.อ.ถวิล นิยมเสน ตำรวจ ๓ คน คือ ส.ต.ต.บุญเสริม เสวตจันทร์ พลตำรวจสมัครเปียก ชูธวัช และพลตำรวจสมัครเพ็ชร ธานา บาดเจ็บ ๓ คนคือ ส.อ.สำราญ ควรพันธ์ พลตำรวจจันทร์ พิบูลยง และนายนุ้ย ใหม่นิรัตน์ ราษฎรอาสาสมัคร

ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทุกคนได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ

การสูญเสียของฝ่ายญี่ปุ่น ได้รับแจ้งว่าฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิต ๑๑ คน เป็นนายทหารยศร้อยเอก ๑ คน พลทหาร ๑๐ คน บาดเจ็บ ๗ คน สูญหายในทะเลระหว่างยกพลขึ้นบก ๔ คน แต่ปรากฏว่าชาวบ้านพบศพทหารญี่ปุ่นบริเวณตะวันออกของสะพานท่านางสังข์ ๒๓ ศพ เป็นนายทหาร ๓ ศพ และพลทหาร ๒๐ ศพ

ในปี ๒๕๒๔ ส.อ.สำราญ ควรพันธ์ ซึ่งได้เลื่อนยศขึ้นเป็นร้อยเอก เป็นแกนนำติดต่อยุวชนทหารที่ร่วมสู้รบในครั้งนั้น รวบรวมเงินจัดสร้างอนุสาวรีย์ยุวชนทหารในท่าเฉียงอาวุธไว้ที่บริเวณเชิงสะพานท่านางสังข์ ต่อมาได้มีการปรับปรุงขนาดอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่อีกใน พ.ศ.๒๕๒๗ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบปั้นเป็นรูปยุวชนทหารขนาดเท่าครึ่งคนจริงถืออาวุธในท่าแทงปืน ซึ่งพลเอกทวีวิทย์ นิยมเสน บุตรชายของร้อยเอกถวิลซึ่งได้เลื่อนยศเป็นพันโท ได้มอบเงินให้ปรับปรุงพื้นที่และสร้างฐานอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๓๓ โดยมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีพิธีวางพวงมาลาในวันที่ ๘ ธันวาคมทุกปี

ที่ชุมพร ทหารญี่ปุ่น ๒ กองร้อยถูกยันไว้ที่สะพานท่านางสังข์ ไม่สามารถข้ามมาได้ เพราะกองกำลังของยุวชนทหารเพียง ๒๗ คนเป็นหลัก แต่ที่บ้านดอน สุราษฎร์ธานี กองทัพลูกพระอาทิตย์อันเกรียงไกรต้องลดเกียรติภูมิลงไปอีก เพราะต้องต่อสู้กับลูกเสือ

ตอนเช้ามืดของวันที่ ๘ ธันวาคม ราษฎรของเกาะสมุยด้านตะวันตกเฉียงเหนือตื่นขึ้นมาก็เห็นเรือลำเลียงขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ๓ ลำทอดสมออยู่ระหว่างเกาะสมุยกับหมู่เกาะอ่างทอง

ราว ๐๕.๓๐ น. ชาวประมงบริเวณปากน้ำตาปีออกไปกู้โป๊ะ พบเรือท้องแบนติดธงชาติไทยประมาณ ๑๐-๑๒ ลำตามกันมาเป็นขบวน เห็นนายท้ายเรือยืนประจำการอยู่ แต่ไม่เห็นทหารในเรือ เข้าใจว่าจะก้มหัวอยู่ไม่ให้ใครเห็น

๐๕.๔๐ น. พ.ต.ต. หลวงประภัศร์เมฆะวิภาต ผู้กำกับการตำรวจภูธรสุราษฎร์ธานี ได้รับโทรเลขจากนายไปรษณีย์นครศรีธรรมราชแจ้งว่า ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดปัตตานีแล้ว ทางปัตตานีขอให้ช่วยติดต่อกับสุราษฎร์ บอกให้รู้ตัวเพื่อเตรียมการรับมือญี่ปุ่น พ.ต.ต.หลวงประภัศร์ฯ จึงแจ้งให้กรมการจังหวัดทราบและสั่งการตำรวจเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งโทรเลขแจ้งให้กระทรวงมหาดไทยทราบด้วย

ทหารญี่ปุ่นประมาณ ๒๐๐ คนได้แยกกันขึ้นบก ที่บ้านดอน ๓ แห่งคือ ตลาดล่าง ตลาดกอบกาญจน์ และโรงเลื่อย จัดรูปขบวนเดินไปตามถนนริมน้ำเพื่อมุ่งสู่ศาลากลางจังหวัด สุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่ไม่มีกองทหารประจำ คงมีแต่ตำรวจ และมีตำรวจสนามจากอุบลราชธานีมาช่วยราชการอยู่พอดี จึงได้รวบรวมข้าราชการ ยุวชนทหาร ครู ลูกเสือ เป็นกองกำลังเสริม

การวางกำลังต่อต้าน ได้กระจายออกไปจากศาลากลางจังหวัด โดยทางขวาวางเป็นแนวไปจนถึงโรงเรียนจิตวร มี ร.ต.อ.จรุง เศวตนันทน์ เป็นผู้บังคับบัญชา ส่วนด้านซ้ายให้ ร.ต.ท.ประดิษฐ์ อัถศาสตร์ นำกำลังตำรวจสนามจากอุบลฯ วางแนวตั้งแต่ศาลากลางจังหวัด สถานีตำรวจ จวนข้าหลวงประจำจังหวัด ไปตามแนวคูเมือง โดยทุกคนมีอาวุธแค่ปืนเล็กยาวแบบ ๘๓ และปืนพระราม ๖

ก่อนการต่อสู้จะเริ่มขึ้น ทหารญี่ปุ่นในบังคับบัญชาของ ร้อยโทโดอิ พร้อมด้วย นายนาคากาวะ ยูโกะ ได้เดินทางไปถึงบริเวณสะพานคูเมืองที่ฝ่ายไทยเตรียมรับมืออยู่ โดยมีหลวงสฤษฎ์สาราลักษณ์ ข้าหลวงประจำจังหวัด มาบัญชาการเอง ท่านข้าหลวงได้ส่ง พ.ต.ต.หลวงประภัศร์เมฆะวิภาต และ ร.ต.อ.ขุนวารินทร์สัญจร ออกไปเจรจาก่อน ฝ่ายญี่ปุ่นแจ้งว่าขอเดินทัพผ่านไทยเพื่อไปตีพม่าและอินเดีย แต่ฝ่ายไทยอ้างว่ายังไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลจึงไม่สามารถอนุญาตให้ผ่านไปได้ เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล การสู้รบจึงเริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ ๐๘.๓๐ น. พ.ต.ต.หลวงประภัศร์ฯ ถูกยิงล้มลง ร.ต.อ.ขุนวารินทร์ฯ ถูกยิงที่ขา ตำรวจที่คุมเชิงอยู่จึงสาดกระสุนเข้าใส่ทหารญี่ปุ่น ชิงตัวผู้บังคับบัญชาทั้งสองไปส่งสุขศาลาได้

ทางด้านศาลากลางก็มีการปะทะกันเกิดขึ้น ทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนเข้าตีทางด้านถนนตลาดใหม่ และเข้าไปในวัดไตรธรรมาราม ทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งได้ปีนต้นมะพร้าวขึ้นไปดูกำลังของฝ่ายไทย เลยถูกสอยร่วงลงมาประมาณ ๒๐ คน

การรบด้านนี้ยังได้จารึกไว้ว่า นางสาวกอบกุล ปิ่นพิทักษ์ ได้มาช่วยลำเลียงกระสุนให้กองกำลังของไทยอย่างกล้าหาญ โดยไม่ได้หวาดหวั่นต่อห่ากระสุนของทหารญี่ปุ่น
การสู้รบที่รุนแรงอีกแห่งคือที่ สวนจ่าจ้อย ซึ่งเป็นสวนไผ่และมะพร้าว ที่จุดนี้มีลูกเสือในความควบคุมของ ครูลำยอง วิศุภกาญจน์ รองผู้กำกับลูกเสือ มาช่วยตำรวจรบกับญี่ปุ่นด้วย แต่ครูลำยองพลาดท่า ถูกกระสุนปืนของญี่ปุ่นเข้าที่หน้าผากเสียชีวิต ลูกเสือบุญรอด ชมตันติ ได้นำศพไปไว้ที่สถานีตำรวจกองเมือง แล้วกลับไปร่วมต่อสู้กับเพื่อนอีก

๑๐.๐๐ น. สถานการณ์ฝ่ายไทยไม่ค่อยดี แต่เมื่อเรียกประชุมกันแล้วก็ลงมติว่าจะสู้ ไม่ยอมวางอาวุธ และร้องขอกำลังทหารจากชุมพรและนครศรีธรรมราชมาช่วย แต่ก็ไม่มีใครมาเพราะติดพันอยู่กับการต่อสู้ญี่ปุ่นเหมือนกัน ขณะนั้นเรือนริศ ซึ่งเป็นเรือโดยสารระหว่างกรุงเทพฯ-บ้านดอนของบริษัทอิสต์เอเซียติคเข้าเทียบท่า ทหารญี่ปุ่นจึงยึดใช้เป็นที่กำบังยิงแนวป้องกันของตำรวจไทย ทำให้ ร.ต.ต.ประดิษฐ์ อัถศาสตร์ และ ส.ต.ต. ยศ จินาทิประ ที่อุตส่าห์มาจากอุบลราชธานี เสียชีวิตทั้งคู่

ระหว่างการสู้รบ เครื่องบินญี่ปุ่นมาบินเหนือบริเวณที่มีการต่อสู้เป็นการข่มขวัญ ฝ่ายไทยชักจะรับมือญี่ปุ่นไม่อยู่ จึงถอยจากแนวสู้รบไปจนถึงแขวงการทางเชิงสะพานมะขามเตี้ย ก็พอดีทางจังหวัดได้รับโทรเลขจากพลตรีหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ นครศรีธรรมราช สั่งให้ยุติการต่อสู้ เพราะรัฐบาลตกลงให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านแล้ว การต่อสู้จึงยุติลง ได้มีการเรียกกำลังฝ่ายไทยไปชุมนุมกันที่สามแยกเสาวิทยุ นักโทษที่ถูกปล่อยออกมาจากเรือนจำได้ไปชุมนุมด้วย เพราะกำแพงเรือนจำถูกกระสุนปืนใหญ่ของญี่ปุ่น ผู้บัญชาการเรือนจำเกรงว่านักโทษจะมีอันตรายเลยปล่อยออกมาเพื่อความปลอดภัย

ในเวลา ๑๘.๐๐ น. ได้มีการเจรจาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่สโมสรข้าราชการพลเรือน ในที่สุดก็ยอมให้ญี่ปุ่นเข้าตั้งค่ายที่วัดไตรธรรมาราม

ความสูญเสียจากการสู้รบครั้งนี้ ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๔๒ คน บาดเจ็บ ๖๑ คน ลูกเสือไม่มีใครเสียชีวิตนอกจากครูลำยอง

ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิต ๕๐ คน บาดเจ็บ ๒๓ คน

นี่ก็เป็นวีรกรรมอีกครั้งหนึ่งของคนไทย เมื่อมีภัยมาถึงชาติ ไม่ว่าทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ลูกเสือ และประชาชน ต่างถือเป็นหน้าที่ของตัวเองที่จะร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้ ไม่ว่าข้าศึกจะเป็นใคร หรือมีกำลังมากแค่ไหน ต่างก็รักชาติมากกว่าชีวิตของตัวเองเช่นเดียวกับบรรพบุรุษที่ปกป้องแผ่นดินผืนนี้ไว้ และนี่ก็คือความหมายของคำว่า “คนไทย”
อนุสาวรีย์ยุวชนทหารที่ท่านางสังข์
ภาพร้อยเอกถวิล นิยมเสน ที่ฐานอนุสาวรีย์ยุวชนทหาร
อนุสาวรีย์ลูกเสือตรีบุญยิ่ง ศิริเสถียร ที่ประจวบคีรีขันธ์ผู้เสียชีวิตในสมรภูมิอ่าวมะนาว
กำลังโหลดความคิดเห็น