เดี๋ยวนี้คนญี่ปุ่นยังตบหน้ากันเป็นกิจวัตรหรือเปล่าไม่ทราบ แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นที่รู้กันว่า การลงโทษมาตรการต่ำที่สุดในกองทัพญี่ปุ่นก็คือการตบหน้า เมื่อนายทหารไม่พอใจการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาก็เรียกมาตบหน้า และถือว่าเป็นเรื่องลงโทษธรรมดาในความผิดขั้นพื้นฐาน ไม่ถือสาโกรธเคืองกัน แต่สำหรับคนไทยเราการตบหน้าหรือตบหัวถือว่าเป็นการหยามเกียรติอย่างรุนแรง ยิ่งเมื่อทหารญี่ปุ่นตบหน้าคนห่มเหลืองแม้จะเป็นเณร จึงยอมไม่ได้ ทั้งกรรมกรสร้างทางรถไฟสายมรณะ ตำรวจ ทหารไทยต่างมีปฏิกิริยาแม้จะมีทหารญี่ปุ่นถืออาวุธอยู่เต็มเมือง จนเกิดละเลงเลือดกัน พลทหารญี่ปุ่น ๔ และร้อยเอก ๑ ต้องสังเวยชีวิต ซึ่งถูกบันทึกไว้ในชื่ออย่างเรียบๆว่า “เหตุการณ์บ้านโป่ง”
เรื่องเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๘๕ เวลาประมาณ ๕ โมงเย็น ที่วัดดอนตูม ในตัวอำเภอบ้านโป่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายทหารญี่ปุ่น ขณะที่สามเณร เพิ่ม สิริพิบูล อายุ ๓๗ ปีแล้ว เป็นคนสติไม่ค่อยสมประกอบ กำลังเดินอยู่ในวัด ได้มีเชลยศึกผิวขาวคนหนึ่งเดินเข้าไปขอบุหรี่ สามเณรเพิ่มก็ส่งให้ด้วยความเมตตา ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งเห็นเข้าก็ตรงรี่เข้ามาดึงบุหรี่ในมือเชลยศึกขยำทิ้ง และตบหน้าสามเณรเพิ่มจนล้มคว่ำ
คนไทยที่เห็นเหตุการณ์ได้เข้าพยุงสามเณรเพิ่มไปปฐมพยาบาล เมื่อกรรมกรไทยที่ไปสร้างทางรถไฟให้ญี่ปุ่นกลับมาพักที่วัดในตอนค่ำ พอรู้เรื่องนี้เข้าต่างพากันโกรธมาก ได้พาสามเณรเพิ่มไปพบล่ามญี่ปุ่นเพื่อประท้วง ล่ามญี่ปุ่นรับว่าจะรายงานผู้ใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นให้ทราบ เพื่อพิจารณาจัดการต่อไป
เมื่อสามเณรเพิ่มและกรรมกรกลับมาถึงวัดในเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งไม่พอใจที่คนไทยไปประท้วง ก็ขึ้นไปบนศาลาวัดที่พักของกรรมกร เอะอะโวยวายแสดงอำนาจข่มขู่ ต่อมาก็มีทหารญี่ปุ่นอีก ๒ คนถือปืนขึ้นไปบนศาลาวัด ทำเอากรรมกรพากันตกใจกลัว พอทหารญี่ปุ่นทั้ง ๓ กลับไปราว ๕ นาทีก็มีทหารญี่ปุ่นประมาณ ๑๐ คนมีอาวุธปืนบุกขึ้นไปบนศาลาและยิงปืนขู่ เหล่ากรรมกรพากันเผ่นหนีลงจากศาลาวิ่งหนีกันหัวซุกหัวซุน ทหารญี่ปุ่นยังยิงปืนไล่ตามหลัง เคราะห์ดีที่ไม่ถูกใคร แม้คนไทยจะหนีไปซ่อนกันหมดแล้ว ทหารญี่ปุ่นก็ยังยิงปืนข่มขู่อยู่อีก ทำให้บางคนเหลืออด คว้าจอบเสียมเครื่องมือทำงานเตรียมสู้ ก็พอดีนายทหารญี่ปุ่นยศร้อยตรีกับนายอำเภอบ้านโป่งมาระงับเหตุ ไล่ทหารญี่ปุ่นกลับไป
ต่อมาเกือบเที่ยงคืน ทหารญี่ปุ่นจากเมืองกาญจน์ ๕ คันรถยกกันมาที่บ้านโป่ง ๒ คันตรงไปที่วัดดอนตูม อีก ๑ คันไปทางริมแม่น้ำแม่กลอง อีก ๒ คันเป็นรถบรรทุกมาจอดที่หน้าสถานีตำรวจบ้านโป่ง กระจายกำลังกันยึดแนวถนนหน้าสถานี จากนั้นทหารญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งถืออาวุธเดินตรงไปที่สถานี ทันใดก็มีเสียงปืนดังขึ้น ตอบโต้กันอยู่เพียง ๒-๓ นาทีก็ยุติ มีนายทหารญี่ปุ่น ๑ คนและพลทหาร ๔ คนเสียชีวิต อีกหลายคนบาดเจ็บ
ส่วนที่วัดดอนตูมก็มีเสียงปืนเช่นกัน ทหารญี่ปุ่นได้จับคนไทยไป ๓๑ คน และจับพระเณรทั้งวัดไปสอบสวนตลอดคืน แต่ได้ปล่อยพระไปในตอนเช้า นอกจากสามเณรเพิ่มรูปเดียว ส่วนกรรมกร ๓๑ คนถูกขังอยู่ต่อไปจนถึงวันที่ ๒๔ ธันวาคม หลังสอบสวนแล้วก็ปล่อยตัวไป ๒๐ คน อีก ๑๑ คนถูกขังต่อไป ส่วนสามเณรเพิ่มนั้นมอบให้ฝ่ายไทยเป็นผู้ควบคุม
ความขุ่นเคืองของคนไทยได้ลุกโชนขึ้นอีกในตอนสายของวันที่ ๑๙ สิงหาคม เมื่อทหารญี่ปุ่นได้จับ พระครูปัญญาธิการ (เต่า) เจ้าอาวาสวัดดอนตูมไปนั่งตากแดด ทำโทษฐานไม่ควบคุมดูแลลูกวัด
พระสมศักดิ์ ยโสธโร จันทร์เปรม วัย ๘๑ ปี พระลูกวัดดอนตูม ได้ย้อนรำลึกเหตุการณ์ในครั้งนั้นให้ผู้เขียนเมื่อไปติดตามเรื่องนี้เมื่อปี ๒๕๔๖ ว่า
“ตอนนั้นอาตมาเป็นพลทหารสังกัดกรมการทหารช่าง ราชบุรี เรื่องที่ทหารญี่ปุ่นตบหน้าเณรนั้นไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ บางคนก็พูดกันว่าเป็นเณรปลอมเข้ามารับของแจก แต่เรื่องจับเจ้าอาวาสไปนั่งตากแดดนั้นโกรธแค้นกันมาก ตอนนั้น พันเอกหม่อมหลวงโอสถ ทินกร เจ้ากรมทหารช่าง กับ พันโทเสถียร พจนานนท์ รองเจ้ากรมซึ่งต่อมาท่านมาเป็นอธิบดีกรมทาง ได้นำทหารมาซุ่มอยู่ที่หมู่บ้านหลังวัด ใช้คันทางรถไฟเป็นแนวกำบัง ตั้งปืนกลหนักกันเลย กะถล่มค่ายญี่ปุ่นที่วัดดอนตูม อาตมาเป็นทหารที่มาด้วย จำได้ว่ามานอนอยู่ ๒ คืน อาหารการกินของพวกทหารสมบูรณ์มาก ชาวบ้านเลี้ยงกันไม่อั้น”
ญี่ปุ่นก็รู้ว่าไทยไม่พอใจในเรื่องนี้มาก ชุมนุมกันอยู่หลายแห่ง แถวนครปฐมและโพธาราม เตรียมถล่มญี่ปุ่น พันตรีอิริเอะ นายทหารญี่ปุ่นได้ถาม พันโทหม่อมเจ้าพิสิฐดิสพงศ์ ดิสกุล ผู้อำนายการคณะกรรมการผสมว่า ไทยต้องการรบกับญี่ปุ่นหรือ ถ้าประสงค์เช่นนั้นญี่ปุ่นก็จะได้เตรียมรบ ซึ่งม.จ.พิสิฐดิสพงศ์ได้ใช้นโยบายของจอมพล ป.ตอบไปอย่างอ่อนหวานว่า
“ไทยไม่มีความประสงค์เช่นนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก มีกำลังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะไปสู้รบกับญี่ปุ่นอันเป็นเสมือนพี่ชายได้อย่างไร เพื่อให้เป็นที่บริสุทธิ์ใจ อยากจะไปดูด้วยกันก็ไม่ขัดข้อง”
ญี่ปุ่นได้ส่งทหาร ๒ คนร่วมไปดูการชุมนุมพลของทหารไทยตามข่าวลือ ซึ่งอาจเป็นเพราะเหตุนี้ ทำให้ทหารช่างราชบุรีที่มาซุ่มอยู่ในหมู่บ้านหลังวัดดอนตูมต้องถอนกำลังออกไป พระสมศักดิ์ได้เล่าว่า
“พอมีข่าวว่าคนไทยไม่พอใจเรื่องนี้มาก ก็มีนายทหารใหญ่ของญี่ปุ่นคนหนึ่งมาที่ค่ายวัดดอนตูม คนนี้คงจะระดับนายพล อาตมายังจำได้ดี รูปร่างเตี้ยล่ำเป็นมะขามข้อเดียว พอมาถึงก็เรียกทหารทั้งค่ายมาเข้าแถวแล้วถามหาคนที่จับพระไปนั่งตากแดด พอได้ตัวก็ตรงเข้าไปตบคว่ำ แล้วเข้าไปกราบขอโทษเจ้าอาวาส ตอนนั้นท่านกำลังจะออกไปเทศน์ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขาก็ขอตามไปด้วยทั้งๆที่พูดภาษาไทยได้ไม่กี่คำ เข้าไปคุยกับชาวบ้าน เป็นที่หัวเราะกันสนุกสนาน เรื่องก็เลยคลี่คลายไปด้วยดี”
แต่ทว่าคลี่คลายเฉพาะที่วัดดอนตูมเท่านั้น ความโกรธเคืองเคียดแค้นทหารญี่ปุ่นได้กระจายไปทั่ว โดยเฉพาะที่กาญจนบุรีและบ้านโป่ง ซึ่งเป็นฐานกำลังในการสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า กรรมกรไทย ๕๐๐ คนซึ่งส่วนใหญ่มาจากนครปฐมและราชบุรีได้หนีกลับบ้านหมด น็อตยึดหัวรางรถไฟถูกมือดีแอบถอดไปเกือบพันตัว ญี่ปุ่นเข้าไปซื้ออาหารในตลาดก็ถูกชาวบ้านตะโกนด่าต่างๆนานา บางทีได้จังหวะตำรวจไทยก็เอาปืนจี้ทหารญี่ปุ่นขอค้นตัวให้หายซ่าเล่น
“ทหารญี่ปุ่นที่ไปเดินตรวจการณ์คนเดียวในที่เปลี่ยวๆ ถูกแอบตีหัวเอาปืนไปก็มี” พระสมศักดิ์เล่า
แต่อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยอมไม่ได้ในเหตุการณ์ที่โรงพัก โดยเฉพาะคนหนึ่งที่ตายเป็นนายทหารยศร้อยเอกแพทย์ของกองทัพ จึงต้องการให้ผู้ร่วมเหตุการณ์ถูกประหารชีวิตทั้งหมดเพื่อศักดิ์ศรีของกองทัพญี่ปุ่น ขณะเดียวกันฝ่ายไทยก็ยอมไม่ได้ที่จะให้ญี่ปุ่นมาบงการจับผู้ก่อเหตุทั้งหมดไปประหาร เพราะไทยมีอธิปไตย และญี่ปุ่นก็ลงนามรับรองที่จะเคารพอธิปไตยของไทยอยู่แล้ว
จากการสอบสวนร่วมกัน ญี่ปุ่นยืนยันว่าไทยเป็นฝ่ายลงมือก่อน ฝ่ายไทยจึงได้ส่ง พลโทจรูญ เสรีเริงฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคณะ ไปขอขมาต่อผู้บัญชาการรถไฟอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ส่วนในด้านคดีนั้น ญี่ปุ่นยังเรียกร้องให้ประหารชีวิตผู้ก่อเรื่องทั้งหมด
ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนกรณีเหตุการณ์บ้านโป่งขึ้นโดยเฉพาะ ประกอบด้วยนายตำรวจนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ๕ คน ซึ่งรายงานของคณะกรรมการชุดนี้แตกต่างตรงกันข้ามกับผลสอบสวนของญี่ปุ่น จอมพล ป.ได้บันทึกความเห็นลงไปด้วยว่า
“การที่ทะเลาะกันนั้น ตามเสียงมาจากญี่ปุ่นฝ่ายเดียวอย่างท่านว่า มีการตบหน้า ชักดาบขู่ เมาและเข้าไปพาลเกเรต่างๆ ถ้าเขาทำให้หายไปได้คงไม่มีเรื่องอะไรเลย”
เหตุการณ์บ้านโป่งทำให้กระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นมาก อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า และกำหนดต้องแล้วเสร็จใกล้เข้ามา นายพลฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นห่วงเรื่องนี้มาก จึงได้เปลี่ยนตัวส่ง พลโทอาเคโตะ นากามูระ เข้ามารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๘๖ ซึ่งก่อนมา นายพลนากามูระได้รับคำเตือนจาก นายดิเรก ชัยนาม เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียวว่า การตบหน้าเป็นจุดบอดของความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น คนเอเชียอาคเนย์โดยเฉพาะคนไทย ถือว่าการตบหน้าเป็นการหลู่เกียรติอย่างรุนแรง จะยอมสู้ถึงตาย นี่ก็เป็นสาเหตุที่นายพลนากามูระได้มีคำสั่งห้ามเด็ดขาด ไม่ให้ใช้การลงโทษด้วยการตบหน้าและศีรษะอีกต่อไป ทั้งยังทำคู่มือเรียนรู้วัฒนธรรมไทยแจกจ่ายให้ทหารในกองทัพ รวมทั้งคนใหม่ที่จะมาประจำการในประเทศไทยด้วย
ในเดือนมีนาคมต่อมา ได้มีการยกฐานะ “กองอำนวยการคณะกรรมการผสม” เป็น “กรมประสานงานพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น” โดยมี พ.อ.ไชย ประทีปะเสน เป็นเจ้ากรม ซึ่งได้รายงานถึงการดำเนินคดีเหตุการณ์บ้านโป่งต่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีข้อความตอนท้ายว่า
“อนึ่ง มีทางที่จะช่วยเหลืออยู่ก็คือ ไม่ให้คนพวกนี้ต้องถูกประหารชีวิต เพราะกฎหมายของเราไม่อำนวย และแม้จะถูกตัดสินจำขังตลอดชีวิตก็ตาม สภาพการจำขังหรือระยะเวลาย่อมอยู่ที่เรา และโยงถึงชะตากรรมของประเทศเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น…”
จอมพล ป.ได้บันทึกต่อท้ายไว้ในรายงาน ชี้ทางแก้ตัวให้ด้วยว่า
“ทราบแล้ว ให้เอามาขึ้นศาลทหารที่กรุงเทพฯ ขอไม่ให้ประหาร เพราะเข้าใจผิด เวลาค่ำคืน”
ในที่สุดญี่ปุ่นก็ยอมให้ผู้ต้องหาทั้งหมดขึ้นศาลไทย เพื่อเคารพอธิปไตยของไทย แต่ได้เรียกร้องเงิน ๘๐,๐๐๐ บาทเป็นค่าชดใช้แก่ครอบครัวทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิต จำเลยที่ขึ้นศาลทหารเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๘๖ เซ่นศักดิ์ศรีกองทัพญี่ปุ่นก็คือ สามเณรเพิ่ม พร้อมกับกรรมกร ๑ คน พลทหาร ๑ โดยสามเณรเพิ่มตกเป็นจำเลยที่ ๑ ถูกฟ้องในข้อหาความผิดฐานมีการติดต่อกับเชลยศึกและยุยงกรรมกรให้ต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมกร เสพสุราจนมึนเมาและชักชวนกรรมกรคนอื่นๆให้จับอาวุธเข้ากลุ้มรุมทำร้ายทหารญี่ปุ่นจนถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส จำเลยที่ ๓ เป็นพลทหาร มีความผิดฐานใช้ปืนสั้นยิงทหารญี่ปุ่นที่มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบนโรงพักบ้านโป่ง เป็นเหตุให้ตำรวจไทยกับทหารญี่ปุ่นเกิดความเข้าใจผิดจนยิงต่อสู้กัน ทำให้นายทหารและพลทหารญี่ปุ่นถึงแก่ความตายรวม ๕ คน บาดเจ็บสาหัส ๓ คน ฝ่ายไทยบาดเจ็บ ๑ คน การกระทำของจำเลยทั้ง ๓ ทำให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ได้เสื่อมทรามลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ศาลทหารกรุงเทพฯ ได้พิจารณาอย่างเร่งด่วน และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๘๖ ปรากฏว่าสามเณรเพิ่มคนที่ถูกทหารญี่ปุ่นตบหน้าจนล้มคว่ำ รับไปเต็มๆ คือประหารชีวิต แต่จำเลยให้การรับสารภาพไม่ต่อสู้คดี ทั้งยังปรากฏว่าเป็นคนมีโรคจิตและไม่รู้หนังสือ จึงลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต กรรมกรผู้เป็นจำเลยที่ ๒ นั้นไร้การศึกษาและเสพสุราเป็นประจำ จนเป็นเหตุให้ก่อคดีขึ้น ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตเช่นกัน ส่วนจำเลยที่ ๓ พลทหารผู้ยิงลงมาจากสถานีตำรวจขณะที่เห็นทหารญี่ปุ่นมีอาวุธตรงเข้าไป เป็นการป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้จำคุกไว้ ๑๐ ปี
ญี่ปุ่นมีความพอใจในคำพิพากษา จึงได้มอบเงิน ๘๐,๐๐๐ บาทค่าชดใช้ให้แก่ครอบครัวทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตคืนให้ฝ่ายไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔
เหตุการณ์บ้านโป่งที่เกิดจากการยึดถือประเพณีที่ต่างกัน จนเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่เกือบจะลุกลามใหญ่โตก็จบลง โดยมีคนไทย ๓ คนต้องติดคุกสังเวยศักดิ์ศรีกองทัพลูกพระอาทิตย์ แต่ในที่สุดก็ได้รับอภัยโทษเมื่อสงครามสงบในปี ๒๔๘๘
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทหารญี่ปุ่นได้รับบทเรียนจนต้องกวดขันให้ลดความหยิ่งยะโสโอหังลงไป ส่วนคนไทยก็ยังรับไม่ได้อยู่ดีกับการก้าวร้าววางมาดเป็นผู้ยึดครองของทหารญี่ปุ่น ขบวนการเสรีไทย ขบวนการไทยถีบ และขบวนการแมวน้ำ จึงมีแนวร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่จอมพล ป.ก็เตรียมจะย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ เพื่อจะอาศัยชัยภูมิที่มีภูเขาล้อมรอบ ใช้กองทัพที่มีกำลังน้อยกว่าป้องกันตัวเองจากกองทัพที่มีกำลังเหนือกว่าเช่นญี่ปุ่นได้ ซึ่งก็หมายความว่าเตรียมแตกหักกับญี่ปุ่นนั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เนื่องจากคนไทยเรานิยมความนิ่มนวลละมุนละไม จึงไม่มีทางเข้ากันได้กับทหารญี่ปุ่นที่นิยมความเข้มแข็งเด็ดขาดและวางอำนาจ ยิ่งเมื่อถูกฝ่ายสัมพันธมิตรตีถอยร่นหลายสมรภูมิ ทหารญี่ปุ่นก็ยิ่งเครียดมากขึ้น ถ้าหากฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เผด็จศึกด้วยระเบิดปรมาณูเสียก่อน ไทยกับญี่ปุ่นคงจะต้องมีเรื่องเศร้ากว่านี้เป็นแน่