ในการยกพลบุกเข้าประเทศไทยในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นได้ทุ่มกำลังทหารเข้ามามากกว่ากำลังต่อต้านของฝ่ายไทยทุกจุด แม้ทหารตำรวจ ข้าราชการพลเรือน ยุวชนทหาร ลูกเสือ และประชาชน จะรวมพลังกันรักษาแผ่นดินแล้ว ก็ยังไม่อาจขับไล่ญี่ปุ่นออกไปได้ อย่างดีก็แค่ยันไว้ให้อยู่กับที่ บ้างก็ถูกญี่ปุ่นรุกจนถอย มีแต่ที่ท่าแพ นครศรีธรรมราช เท่านั้น ที่ญี่ปุ่นเจอการต่อสู้แบบอุทิศชีวิตให้แผ่นดินของทหารไทย วิ่งเข้าประจัญบานด้วยดาบปลายปืนเสียบคากันเป็นคู่ๆ จนทหารญี่ปุ่นถอดใจต้องถอย ถือได้ว่าเป็นสมรภูมิเดียวที่ไทยชนะ ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมรับในเรื่องนี้
เหตุการณ์เริ่มเมื่อ ๐๖.๐๐ น.เศษ พลตรีหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ ได้รับแจ้งจากนายไปรษณีย์นครศรีธรรมราชว่า ญี่ปุ่นได้ยกพลขั้นบกที่จังหวัดสงขลา จึงสั่งให้เป่าแตรสัญญาณเหตุสำคัญ เรียกทหารมาเตรียมพร้อม แล้วจัดกำลังไปช่วยกองพันทหารราบที่ ๕ จังหวัดสงขลา อีกหน่วยหนึ่งไปตั้งสกัดญี่ปุ่นที่สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง คาดว่าญี่ปุ่นต้องเข้ายึดชุมทางคมนาคมที่สำคัญจุดนี้ แล้วเคลื่อนเข้ายึดนครศรีธรรมราชด้วยแน่ กับอีกหน่วยหนึ่งรีบไปที่ท่าแพโดยด่วน เพราะได้ข่าวว่าญี่ปุ่นยกพลขึ้นฝั่งที่ปากพูน เคลื่อนมายึดบริเวณคลองท่าแพแล้วก่อนสว่าง
เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นที่ท่าแพเมื่อเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น. เมื่อ ร.ต.ประยงค์ ไกรจิตติ ผู้บังคับหมวด กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๕ นำกำลังทหารไปถึงและยึดด้านซ้ายของถนน ส่วน จ.ส.อ.ผ่อง พ่วงดวงงาม ผู้บังคับกองรักษาการณ์ นำกำลังทหารมาสมทบอยู่ด้านขวาของถนนด้วย ไทย-ญี่ปุ่นได้สาดกระสุนเข้าใส่กันอย่างดุเดือด ร.ต.ประยงค์โดนยิงที่โคนขาบาดเจ็บสาหัส ต้องรีบส่งร.พ.นครศรีธรรมราช ถูกตัดขา และเสียชีวิตในวันนั้น ร.อ.ขุนนวมณฑนะโยธิน (นวม นวมะรัตน์) ผู้บังคับกองพาหนะ เป็นคนต่อมาที่ถูกยิงเสียชีวิตทันทีขณะบัญชาการรบ ส่วนคนที่ ๓ คือ พ.ต.หลวงราญรอนสงคราม (เจริญ ราญรอนสงคราม) รองเสนาธิการ มณฑลทหารบกที่ ๖ มาตรวจเหตุการณ์สู้รบและดูกำลังของญี่ปุ่น ก็ถูกยิงเสียชีวิตที่สมรภูมิท่าแพ
ญี่ปุ่นได้ส่งทหารเพิ่มมาเรื่อยๆและพยายามรุกคืบหน้า ฝ่ายไทยกำลังน้อยกว่าจึงตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ขวัญกำลังใจของฝ่ายไทยดีขึ้นเมื่อ ร.อ.สวัสดิ์วงษ์ บูรณวิสมิต ผู้บังคับกองร้อยที่ ๑ ได้นำกำลังทหารมาสนับสนุน แต่ไม่นาน ส.ต.ขัน ศรีดี ของหน่วยที่มาช่วย ก็ถูกยิงเสียชีวิตไปอีกคน และ ร.อ.สวัสดิ์วงษ์เองก็ถูกสะเก็ดระเบิดเข้ากลางหลัง ต้องหามส่งโรงพยาบาล ทหารจึงเสียขวัญและเริ่มถอนตัวออกจากแนวปะทะลงมาข้างหลัง ทหารญี่ปุ่นจึงรุกไล่คืบหน้าเข้ามา
ในตอนแรกนั้น ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกโดยไม่ให้ฝ่ายไทยรู้ตัว จึงเข้าเมืองได้โดยรวดเร็ว อีกส่วนมุ่งไปยึดกรมทหาร ทำให้การเคลื่อนย้ายปืนใหญ่ที่อยู่ในโรงเก็บออกมาไม่ได้ เพราะญี่ปุ่นรุกเข้ามาใกล้ แต่โชคดีที่บางส่วนถูกนำออกไปแสดงในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ร.อ.ทอง ศิริเวชภัณฑ์ ผบ.กองร้อยปืนใหญ่ จึงไปเอามายิงถล่มเรือลำเลียงพลของญี่ปุ่นที่บริเวณคลองท่าแพ แต่ในบันทึกไม่ปรากฏผลการยิง
ร.อ.สะอาด ขมะสุนทร ผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหาร ได้เรียกยุวชนทหาร ๒๐๐ คนมาชุมนุมกันที่ ร.ร.เบญจมราชูทิศ จ่ายปืนเล็กยาวให้ได้เพียง ๖๖ กระบอก แล้วรวมกำลังไว้ที่กองรักษาการณ์ เตรียมเป็นกำลังหนุนเมื่อสถานการณ์จำเป็น
คำขวัญที่ถูกแพร่ออกมาปลุกเร้าใจกองกำลังฝ่ายไทยในขณะนั้น คือ
“ถ้าแม้จะปราชัยแก่ไพรี ก็ให้ได้แต่ปฐพีไม่มีคน” ทำให้ทุกคนฮึกเหิมที่จะต่อสู้กับญี่ปุ่นอย่างไม่เสียดายชีวิต
พ.ท.เที่ยง พฤกษมาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนทหารกล้าที่ร่วมรบในสมรภูมิท่าแพ ได้เล่าไว้ว่า ในวันที่ญี่ปุ่นบุกท่าแพนั้น ตนยังเป็นสิบตรี สังกัด ป.พัน ๑๕ ทำหน้าที่จ่ากองพัน โดยมี จ.ส.อ.ผ่อง พ่วงดวงงาม เป็น ผบ.กองรักษาการณ์ เมื่อรู้ข่าวว่าญี่ปุ่นบุกจึงรวบรวมกันได้ประมาณ ๒๐ คน เบิกปืนเล็กยาว ๘๓ เป็นอาวุธประจำตัว ได้รับคำสั่งให้ไปต่อต้านญี่ปุ่นที่ท่าแพ ได้ต่อสู้กับญี่ปุ่นที่จุดนั้น จนกระสุนหมดต้องถอยกลับออกมา เมื่อได้พบกับกำลังสนับสนุนได้กระสุนมาอีก จึงกลับไปรบอีก
การสู้รบเต็มไปด้วยความดุเดือด ต่อมาฝ่ายเราก็เป็นฝ่ายรุกเข้าไป จนถึงขั้นวิ่งเข้าไปประจัญบานกัน ซึ่งญี่ปุ่นก็ใช้ปืนเล็กยาว ๘๓ เหมือนของไทย
พ.ท.เที่ยงเล่าอีกว่า
“การประจัญบานกันด้วยปืนติดดาบของฝ่ายเราและฝ่ายญี่ปุ่นนั้น เมื่อแทงสวนกันเข้าที่หน้าอก ต่างฝ่ายต่างจะถอนปืนไม่ออก เพราะปืนมันดูด ทหารไทยและทหารญี่ปุ่นจึงตายติดกันอย่างนี้ถึง ๓ คู่…”
พลตรีหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นพลเอก ได้บันทึกไว้ว่า
“หลังจากที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ท่าแพ เพื่อจะเข้ายึดโรงทหารและสนามบินโดยไม่ให้ฝ่ายเรารู้ตัว และยิงมายังโรงทหารด้วยอาวุธทุกชนิด ซึ่งเหตุการณ์ฉุกละหุกมาก แต่อาศัยที่ทหารของเราได้เตรียมพร้อมอยู่แล้ว ประกอบกับมีกำลังใจและขวัญดีอย่างประเสริฐ จึงไม่มีการกระทบกระเทือนหรือตื่นเต้นแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับมีขวัญดี ฮึกเหิม เด็ดเดี่ยว กล้าหาญอย่างดีเลิศ ข้าพเจ้าตกลงใจทันทีว่า จะให้ต่างชาติรุกเข้ามาในแผ่นดินของเราในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เด็ดขาด จึงส่งกำลังทหารออกสู้รบลักษณะประชิดตัว บางส่วนเข้าตะลุมบอนกับข้าศึกด้วยดาบปลายปืน ทหารของเราแสดงความเด็ดขาด กล้าหาญ ไม่แพ้บรรพบุรุษของเรา…”
และอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า
“ฝ่ายเราได้รุกเข้าไปจนถึงท่าเรือ ห่างจากข้าศึกเพียง ๑๐๐ เมตร ส่วนย่อยของเราได้เข้าตะลุมบอน เสียงไชโยดังลั่นทุกแนวที่เรายึดคืนได้ ...ข้าศึกถอยแล้ว ๆ ๆ... พวกเราร้องบอกกัน ไม่มีครั้งใดที่จะเห็นการต่อสู้อย่างทรหดจนถึงขั้นตะลุมบอนด้วยดาบปลายปืนเหมือนในครั้งนี้...”
จิตใจของทหารญี่ปุ่นที่ถูกสั่งให้มารบ กับกำลังใจของคนไทยที่ปกป้องแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเอง จึงไม่อาจเทียบกันได้ ญี่ปุ่นคงจะต้องถอยจนตกทะเลให้ขายหน้า และจะมีการเสียบกันตายคาดาบปลายปืนอีกหลายคู่ ถ้าไม่มีแตรสัญญาณให้หยุดยิงเมื่อเวลา ๑๑,๐๐ น.เศษ แม้แตรสัญญาณนี้จะถูกเป่าขึ้นหลายครั้ง ก็ไม่อาจทำให้ทหารไทยที่กำลังฮึกเหิมยอมหยุดได้ จนทั้ง ๒ ฝ่ายต้องจัดให้มีผู้ห้ามยิงฝ่ายละคนเดินคล้องแขนกันไปกลางแนวรบของทั้ง ๒ ฝ่าย การต่อสู้นองเลือดจึงได้ยุติลงได้
ญี่ปุ่นได้ส่งผู้แทนเจรจากับฝ่ายไทย โดยมีผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ เป็นประธาน
ผลการเจรจายุติการรบ สรุปได้ดังนี้
ญี่ปุ่นขอให้ไทยถอนทหารจากที่ตั้งปกติไปพ้นแนวคลองสะพานราเมศวร์ ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา ๓ ชั่วโมง เพราะญี่ปุ่นต้องการใช้สนามบินโดยด่วน
ฝ่ายไทยยินยอมให้หน่วยทหารญี่ปุ่นเข้าพักอาศัยในโรงทหารของไทยได้ทั้งหมด โดยฝ่ายไทยรวมทั้งครอบครัวนายทหารและนายสิบ จะย้ายไปพักในบริเวณตัวเมืองนครศรีธรรมราช อาศัยตามโรงเรียน วัด และบ้านพักข้าราชการ ฯลฯ
ฝ่ายไทยขอขนย้ายอาวุธและสัมภาระติดตัวไปด้วย ยกเว้นอาวุธหนัก กระสุนวัตถุระเบิด และน้ำมันเชื้อเพลิงบางส่วน ตลอดจนเครื่องบิน แต่ฝ่ายญี่ปุ่นไม่ยินยอม
ฝ่ายญี่ปุ่นแสดงความเสียใจที่มีการสู้รบกัน มีความรู้สึกเห็นใจ และยกย่องชมเชยวีรกรรมของทหารไทย
สรุปผลของการสู้รบ ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๓๘ คน เป็นนายทหารสัญญาบัตร ๓ คน นายทหารประทวน ๓ คน พลทหาร ๓๒ คน ส่วนญี่ปุ่นนั้นไม่ยอมแจ้ง
หลังสงครามมหาเอเซียบูรพายุติแล้ว ทางราชการและประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเป็นที่ระลึกและเป็นเกียรติแก่ทหารหาญของชาติตรงบริเวณที่มีการสู้รบกับทหารญี่ปุ่น โดยให้ชื่อว่า “อนุสาวรีย์วีระไทย” แต่ชาวบ้านเรียกอนุสาวรีย์นี้ว่า “อนุสาวรีย์จ่าดำ” หรือ “อนุสาวรีย์เจ้าพ่อดำ” ซึ่งตามรายชื่อของผู้เสียชีวิตจากการต่อต้านญี่ปุ่นในครั้งนี้ไม่ปรากฏว่ามีใครชื่อ “ดำ” เลย ไม่ว่าจะเป็นชั้นประทวนหรือสัญญาบัตร
แต่อย่างไรก็ตาม ร.อ.พิชิต สมภู่ ซึ่งเป็นทหารเสนารักษ์ในวันนั้น ได้ยืนยันกับผู้ใกล้ชิดว่า เป็นผู้ดึงดาบปลายปืนออกจากศพทหารไทยและญี่ปุ่นคู่หนึ่ง ฝ่ายไทยเป็นพลทหารมีชื่อจริงว่าอะไรไม่ทราบ ทราบแต่ชื่อเล่นว่า “ดำ” เมื่อตอนญี่ปุ่นบุกได้ออกวิ่งมาด้วยกันโดยไม่มีโอกาสได้ตั้งตัว พลทหารดำอยู่ในชุดกางเกงขาสั้นเสื้อคอกลม และคว้าปืนจากศพทหารไทยออกไปประจัญบานกับข้าศึก ตอนที่ตนจะดึงดาบปลายปืนออกจากศพทหารทั้งสองนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นได้ขอทำพิธีสดุดีวิญญาณผู้ตายก่อนถอน และเมื่อตอนที่จะมีการสร้างอนุสาวรีย์ ยังได้บอกเล่าเรื่องราวของพลทหารดำให้ พล.ต.หลวงเสนาณรงค์ทราบ แต่ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์เห็นว่านุ่งกางเกงขาสั้นเสื้อคอกลมดูไม่เหมาะ จึงใส่เครื่องแบบให้
ทั้งยังมีข้อสันนิษฐานอีกอย่างว่า เนื่องจากมีการบอกกล่าวร่ำลือ ว่ารูปหล่อวีรบุรุษที่ยืนอยู่บนแทนอนุสาวรีย์นี้ เป็นนายทหารชั้นจ่านายสิบที่ประจัญบานกับทหารญี่ปุ่นด้วยดาบปลายปืนจนเสียบคาอกด้วยกันทั้งคู่ ส่วนคำว่า “ดำ” นั้น อาจจะมาจากอนุสาวรีย์นี้หล่อด้วยทองเหลือง แต่ทางราชการเกรงว่าจะมัวหมองจากอากาศ จึงเอาสีดำมาทาจนดำสนิท เลยเรียกกันว่า “จ่าดำ” ไป
อย่างไรก็ตาม ทุกวันที่ ๘ ธันวาคมของทุกปี กองทัพภาคที่ ๔ จะจัดงานวางพวงมาลาและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิต ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้