xs
xsm
sm
md
lg

“เกิดผล แก้วเกิด” ยอดทนายคนจริงผู้อุทิศชีวิตพิทักษ์ความยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนร้าย ผู้กระทำผิด ต้องหวาดผวาและสั่นกลัว
คนดีถูกใส่ร้าย ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องโผเข้าเรียกร้อง
แนะนำกันอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเขาคนนี้จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ นายตำรวจ หรือผู้ทรงอิทธิพล แต่เขาคือคนธรรมดา ผู้มาจากชีวิตติดลบกว่าครึ่งชีวิต เป็นอดีตจับกังกรรมกรแบกหาม วุฒิ ป.6 เป็นทาสมนุษย์บนเรือตังเก ก่อนจะพลิกชีวิตร่ำเรียนจนจบปริญญาตรี นิติศาสตร์ สวมบทบาทเป็นทนายผู้ทุ่มศรัทธาและแรงใจเพื่อความยุติธรรม

จากวันนั้นจนวันนี้ 20 ปีไม่มีเปลี่ยนแปลง แถมยังพ่วงเติมความเผื่อแผ่ถึงผู้คนรายรอบทั่วตัวจนเป็นที่กล่าวขาน
นักกฎหมายผู้อุทิศชีวิตเพื่อความยุติธรรม
ทนายผู้ช่วยเหลือผู้โดนเอาเปรียบ
เขาคือ ทนายเกิดผล แก้วเกิด...

(1)
แคดแลดจากกรรมกรทาส
ปฐมบทชีวิตนักกฎหมายเกิดผล

“ความจริงไม่มีความฝัน เพราะเราอยู่ในชนบทที่ห่างไกลมาก เป็นถิ่นทุรกันดาร ภาพที่เราเห็นก็มีแต่ชาวไร่ชาวนา พราน หรือไม่ก็พวกหมอดู หมอผี ไม่มีภาพที่เจริญๆ ตอนนั้นก็จะคิดแต่เรื่องที่ว่าโตไปก็จะไปเป็นพรานล่าสัตว์หรือไม่ก็ชาวนา”
ทนายเกิดผล แก้วเกิด เล่าย้อนภาพชีวิตวัยเยาว์ที่อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบัน ขึ้นกับจังหวัดหนองบัวลำภู) ในช่วงราวปีที่เกิด พ.ศ.2518 กระทั่งขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

“แต่พอเริ่มรู้ความ ได้เรียนหนังสือถึงชั้น ป.5-6 ก็รู้ว่ามีอาชีพเกษตรกรด้วยนะ (หัวเราะ) ก็เลยคิดจะเป็นเกษตรกร”
ปลูกพืชผัก มีเรือกสวนไร่นา เพื่อที่จะลบล้างงานหลักคือขายแรงงานรับจ้างของบุพการีทั้งสองที่ไม่มีพื้นที่ทำกินของตัวเอง และแบ่งเบาภาระงานรองในการหาของป่าออกขาย

“เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่มีไร่ไม่มีนา งานหลักๆ ก็ต้องรับจ้างเขาทั่วไป ส่วนงานรองอาทิตย์ละครั้ง คือหาเก็บของป่า พวกหน่อไม้ กล้วย มันสำปะหลัง เอาไปขายในตัวจังหวัด ได้เงินก็ซื้อข้าวสารมากิน ชีวิตก็ดำเนินอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งเรียนอยู่ชั้น ป.6 คุณพ่อป่วยเป็นอัมพาต ไม่นานท่านก็เสีย ก็เหลือคุณแม่ทำงานคนเดียว รายได้จากเดิมที่ไม่มีอยู่แล้ว คือบ้านที่อยู่อาศัยก็เป็นที่ดินสาธารณะ ไม้ก็ยืมคุณอื่นเขามาปลูกบ้าน ฉะนั้นเรื่องที่จะเรียนต่อ ไม่ต้องพูดถึงเลย แค่ที่ซุกหัวนอนยังไม่มีแล้ว จบมาเลยต้องตามไปรับจ้างทำงานก่อสร้างกับคุณแม่และพี่ชายที่กรุงเทพฯ”

“ทำก่อสร้างตั้งแต่อายุ 13-15 ปี แม่ก็สงสาร เพราะว่างานกรรมกรมันหนัก เราต้องแบกปูนหนัก 50 กิโลกรัม ทั้งๆ ที่รูปร่างเราก็ตัวเล็กๆ ผอมๆ แม่ก็ไม่อยากให้ลำบาก เลยให้ไปลองหางานอื่นที่เบากว่านี้ ทั้งที่จริงๆ เราไหว เราสู้ (ยิ้ม) แต่เราก็ไปเพื่อให้ท่านสบายใจ ก็ไปหาสมัครงานตามโรงงาน แต่เพราะไม่มีความรู้ ระหว่างเดินหาก็ไปเจอโฆษณารับสมัครงานที่เสาไฟฟ้าตรงป้ายรถเมล์ ติดประกาศว่ารับสมัครพนักงานโรงงานไม้ขีดไฟ รายได้วันละ 90 บาท ก็เลยไปสมัคร แต่ปรากฏว่าเป็นแค่บริษัทจัดหางาน เขาก็พยายามเกลี้ยกล่อมให้เราไปทำงานอื่นซึ่งเงินเดือนดีกว่า เขาก็แนะนำให้ทำงานลงเรือประมง เป็นเด็กตังเก เราก็ไปตามที่แนะนำ”

รายได้เดือนละ 1,000 กว่าบาทและค่ากินค่าอยู่ที่ไม่ต้องเสียสักสตางค์แดงเดียว ด้วยความซื่อของคนบ้านนอก ความรู้ที่มีเพียงชั้นประถม 6 จึงไม่ทันเหล่เหลี่ยมกลโกงที่แฝงในคำบอกกล่าว

“แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เพราะเราถูกหลอกไปขาย คือเขาคิดค่านายหน้าคิดค่าหัวของเรา ก็ต้องทำงานใช้หนี้ ที่รู้เพราะไต้ก๋งจะพูดประจำว่า พวกมึงมีค่าหัวคนละ 3,000 บาท เงินเดือน 1,000 บาท มันไม่ใช่แค่ 3 เดือน หนี้จะหมด เพราะจะมีค่าของใช้ พวกกระดาษทิชชู สบู่ ยาสีฟัน ที่เขาจะซื้อให้ เขาก็หักเป็นเงินของเขาหมด ทีนี้ในระหว่างที่ลงเรือจากท่าเรือมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ไปขึ้นฝั่งที่ อ.ขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 เดือน สบโอกาสขึ้นฝั่งปุ๊บ เราก็เลยหนี

“หนีทั้งๆ ที่ไม่มีเงินติดตัว ที่ติดตัวมีแต่เกล็ดปลาและกลิ่นคาว แต่โชคดีมีนาฬิกาข้อมืออยู่เรือนหนึ่ง เป็นนาฬิกาที่เราเก็บเงินซื้อตอนทำงานก่อสร้าง ราคา 600-700 บาท เอามาขาย ได้เงินประมาณร้อยกว่าบาท ตีตั๋วนั่งรถไฟกลับมากรุงเทพฯ มาถึงสถานีหัวลำโพง เหลือเศษเหรียญบาทอยู่ไม่ถึง 5 บาท ก็นั่งคำนวณค่ารถเมล์สมัยนั้น 2 บาท 50 สตางค์ จะนั่งไปหาพึ่งญาติอย่างไรดี ในระหว่างที่คิดก็เดินมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ 9-10 โมงเช้า จนถึงบ่าย เดินมาถึงสวนจัตุจักร นึกขึ้นได้ว่ามีญาติ มีศักดิ์เป็นลุง เขาทำงานอยู่บริษัทขนส่งเบียร์อยู่หลังสวนจัตุจักร เลยลองเดินดุมๆ เข้าไป”

“โชคดีที่เจอ” ทนายเกิดผล พูดพลางสูดลมหายใจเช่นเดียวกับโมงยามนั้น เพราะนอกจากจะได้ที่พัก หลังรอนแรมเหน็ดเหนื่อย ณ ที่แห่งนี้ยังเป็นจุดเริ่มของชีวิตบทใหม่

“ลุงเขาก็ฝากเราให้ทำงานที่นั่น หลังจากทำงานไป ก็เริ่มมีความรู้สึกว่าพนักงานของบริษัทแก่ๆ ก็ยังมายกลังเบียร์คู่กับคนหนุ่มๆ อย่างเรา เลยคิดว่าถ้าเราเป็นอย่างนี้ เราก็จะอยู่แค่นี้ ไม่มีที่สิ้นสุด และต่อไปข้างหน้า เราอาจจะโดนเขาหลอกได้อีกครั้ง จึงตัดสินใจจะไปเรียน แต่ก็ไม่รู้จะเรียนอะไร เรียนยังไง บังเอิญไปเห็นโฆษณา กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) แรกๆ ก็ยังไม่รู้เลยว่าคืออะไรด้วย รู้แต่ว่าถ้าไปที่นั้นแล้วจะมีความรู้ ก็เลยไปลงทะเบียนเรียน ใช้เวลา 6 เดือน ก็จบ ม.3 ตามหลักสูตร

“แต่พอเราทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ทำให้เราลางานบ่อย โอทีก็ทำไม่ได้ ก็โดนตำหนิ เราก็เลยเลิก เอาวุฒิไปหางานใหม่ ก็ไปไล่สมัครงานแถวนิคมอุตสาหกรรม เพราะหลังจากกลับมาอยู่กับลุง เราติดต่อกับทางบ้านได้แล้ว รู้ว่าแม่และพี่ชายอยู่ที่นั่น เราก็จะไปทำอยู่ตรงนั้นด้วย แต่ปรากฏว่าเขาไม่รับ ก็เลยคิดว่า วุฒิ ม.3 ไม่พอ ก็ต้องหาที่เรียนที่มันสูงขึ้นอีก จึงตัดสินใจไปขายซาลาเปาแบบพี่ชาย เพราะเห็นว่าขายกลางคืนอย่างเดียว กลางวันเราไปเรียนได้ ไปสอบได้ เราสามารถจัดการเวลาเราเองได้ ก็ทำควบคู่กันจนจบ ม.6 ตามเกณฑ์เวลา อายุ 18 พอดี

“จบเสร็จก็เขียนจดหมายไปสมัครงานตามบริษัทต่างๆ มาได้ที่บริษัทผลิตยากำจัดแมลง”
เกิดผล กล่าวด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้าให้วันเวลานั้นที่แม้ว่าขณะที่ชีวิตพร้อมพูนมากขึ้น แข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ และการศึกษา ชีวิตกำลังไปได้สวย ทว่าก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเขาต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่พลิกผันชีวิตจนหวิดไปเฝ้ายมบาล

“คือช่วงนั้น หลังจากที่รอเวลาเข้าทำงานอีก 1 อาทิตย์ ก็แวะไปหาแม่กับพี่ชายที่ย้ายไปทำงานก่อสร้างแถวหนองแขม บังเอิญวันนั้นเป็นวันที่เงินเดือนพี่ชายออก แต่พี่ชายไม่กลับบ้าน ไปเที่ยวเล่นแทงสนุกเกอร์ แม่เป็นห่วงพี่ชายก็เลยให้เราไปตาม เราก็ขอยืมมอเตอร์ไซค์คนที่รู้จักแถวๆ นั้นขับไปตามพี่ชาย ตามเสร็จ ขากลับจังหวะที่มาถึง 4 แยกหนองแขม มีรถสิบล้อฝ่าไฟแดงมา แล้วก็มาชนเราอย่างจัง

“ขาหัก หัวแตก สลบไปคาที่ ไปฟื้นอีกทีที่โรงพยาบาล”
ทนายหนุ่มใหญ่เปิดเผยสภาพอุบัติเหตุครั้งนั้นที่ยังมีร่องรอยหลงเหลือในวันนี้เป็นบาดแผลทางร่างกายและจิตใจ

“พอตื่นฟื้นตัว ไม่ถึงอาทิตย์ ต้องไปรายงานตัวเพื่อเข้าทำงานที่สมัครไว้ แต่ไปถึงเขาเห็นสภาพร่างกาย เขาก็ไม่ให้ทำงานหนัก ให้กวาดพื้น ก็โชคดี แต่ในระหว่างนั้น ผมคิดทบทวนตลอดเวลาถึงความไม่ยุติธรรมที่ได้รับจากตำรวจ ทั้งๆ ที่รถสิบล้อผิด คือเวลาที่เรียกคู่กรณีมา ตำรวจก็จะไม่มา อ้างว่าติดราชการ เวลาตำรวจอยู่ คู่กรณีไม่มา ก็ทำให้เราไปอยู่ฝ่ายเดียว ไม่มีการเจรจา มาทราบเอาภายหลังว่าสิบล้อมีเจ้าของรถเป็นตำรวจเหมือนกัน เราก็เลยตัดสินใจไม่เอาแล้ว ถอดใจ ได้ค่ายาแค่ 500 บาท

“ทีนี้ เราเลยคิดว่า หนึ่ง ที่เราผ่านมา เราโดนเขาหลอกลงเรือ เพราะเราขาดการศึกษาความรู้ สอง ความรู้แค่ระดับชั้น ม.6 อาจจะไม่พอ ต้องสร้างโอกาส สร้างการยอมรับ เพราะไม่ใช่ผิดที่เรา แต่ถูกตำรวจและคนอื่นที่เขามีโอกาสดีกว่ารังแกเรา เลยตั้งใจว่าต้องเรียนจบกฎหมายและคว้าใบปริญญามาให้ได้”

“เพื่อที่เราจะได้ไม่ถูกรังแก และจะได้เอาความรู้ไปช่วยคนที่ถูกรังแกอย่างเรา ช่วยชาวบ้านตาสีตาสาคนธรรมดาคนอื่นๆ ได้ อย่างที่พ่อจะสอนเสมอๆ”
“อย่ายอมให้ใครรังแกและอย่ารักแกใคร
แล้วถ้าปกป้องคนอื่นได้ต้องปกป้องด้วย”

(2)
บ่ยั่นเพื่อความยุติธรรม
จักว่าหยังเป็นหยัง ก็ต้องช่วยผู้อื่น

“พ่อเป็นคนที่ไม่เคยยอมใคร แต่ไมรังแกใคร เวลาที่คุณพ่อไปประชุมคณะกรรมการของหมู่บ้าน ถ้าเห็นอะไรไม่ถูกต้อง คนแรกที่จะค้านเพื่อผลประโยชน์ของคนในหมู่บ้านก็คือพ่อ และไม่เคยยอมแม้แต่ครั้งเดียว ถ้ามันไม่ถูกต้อง”
ทนายเกิดผล กล่าวเสริมถึงภาพความยุติธรรมของผู้เป็นบิดาที่มีส่วนอย่างสำคัญในการบ่มเพาะตัวตนของเขาที่ฝังรากลึกและทอดยาวมาจนถึงทุกวันนี้

“ตอนผมเป็นเด็ก ก่อนจะจบชั้น ป.6 เคยเกิดข้อพิพาทขัดแย้งจากความเข้าใจผิดระหว่างอาจารย์กับเพื่อน เรื่องของเรื่องคือเราต้องทำของที่ระรึกรุ่นก่อนจบ พวกเราก็เลือกทำเก้าอี้ม้าหิน ทีนี้ วันหนึ่ง อาจารย์ผู้ควบคุมการทำของเราต้องไปธุระก่อนถึงคาบชั่วโมงที่เราต้องไปทำม้าหินกันต่อ อาจารย์ก็สั่งๆ แต่สั่งแบบไม่ได้เจาะจงที่ใคร คืออาจจะสั่งเราเพราะเราเป็นทั้งประธานรุ่นและหัวหน้าห้อง ท่านบอกว่า หลังพักเบรคนี้ให้นักเรียนไปทำโต๊ะม้าหินต่อ

“พอหมดคาบ เราก็ถามเพื่อนว่าอาจารย์สั่งอะไร เพื่อนก็บอกว่าอาจารย์สั่งให้ไปทาสี เสร็จก็ไปช่วยกันทาๆ ทาสีก็ไม่เท่ากัน เพราะต่างคนต่างผสม พออาจารย์กลับมาเจอ ท่านก็เลยโมโห เลิกเรียนก็ให้เข้าแถวหน้าเสาธง อาจารย์ก็เรียกมาถามว่าใครที่ไปทาสี ก็มีเพื่อนๆ ออกไป 10 คน รวมทั้งเราด้วย

“ครูก็ถามว่าครูสั่งให้เธอทำอะไร ผมบอกจำไม่ได้ ครูก็ถามกลับอีกว่า ใครได้ยินว่าครูบอกให้ทาสี เพื่อนอีก 6-7 คน ก็ไม่พูด จนมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ แสงคำลือ พูดว่า ผมไม่ได้ยิน แต่เพื่อนที่ชื่อแสงสว่างพูดว่าครูบอกให้ไปทาสี ครูก็เลยถามว่า เชื่อแสงสว่างมากใช่ไหม เพื่อนที่ชื่อแสงดำลือเลยบอกว่าเขาบอกว่าครูสั่งผมก็เลยเชื่อ เท่านั้นครูก็เลยบอกว่างั้นครูสั่งให้เธอสั่งให้แสงสว่างไปกินขี้จะสั่งไหม และแสงสว่างสั่งเธอจะไปกินไหม เขาบอกว่าถ้าครูแสงสว่างให้แสงสว่างสั่งให้ผมไปกินขี้ ผมจะไป

“ครูก็สั่ง แล้วก็ให้ผมกับเพื่อนอีกคนเป็นพยาน ก็เดินไป 3-4 คน แล้วก็ร้องห่มร้องไห้ ครูก็ถามว่ากินไหม เขาก็บอกว่ากิน เขาเอานิ้วจุ่มไปบ่อพักแล้วก็เอามาอม แค่นั้นแหละ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอเลิกเรียนต่างคนต่างกลับบ้าน เขาก็ไม่พูดไม่จาร้องไห้อย่างเดียวจนพ่อแม่สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็ไม่ยอมพูด จนต้องเรียกเพื่อนๆ มาถามเลยรู้ เรื่องก็เลยถึงผู้ใหญ่บ้าน ถึงกำนัน”

กลายเป็นข่าวคราวใหญ่โตดังไป 3 หมู่บ้าน เพราะสมัยนั้น คำว่า "ครูบาอาจารย์" สั่งอะไรก็ต้องยอม ต้องทำตามคำสั่งหมด

“ตอนเช้า ผู้ใหญ่บ้านและกำนันก็เลยมาเชิญครูคนนี้ไปประชุมเรื่องนี้ แต่บังเอิญเรื่องนี้มันไปถึงหูของอดีตครูใหญ่ท่านหนึ่ง เขาก็เข้ามาที่โรงเรียนเลย แล้วก็เรียกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ประมาณ 5-6 คน มาพูดกัน ยกเว้นเพื่อนที่ชื่อแสงคำลือ เพราะเขาถูกอาจารย์สั่ง ก็มีแสงสว่าง สงกานต์ 2 สงกานต์ แล้วก็ผม ทว่าสงกานต์สองคนนี้มีนามสกุลเดียวกับอาจารย์คนนั้นเขาก็เชื่อ บอกว่าผมจะไม่พูดอะไร ไม่รู้ไม่เห็นอะไร แล้วเขาก็หันมาทางผม แล้วเกิดผลล่ะ ผมบอกผมจะพูดตามความจริง เขาก็ว่าถ้าพูดตามความจริงเธออยู่ไมได้นะ เธอเรียนที่นี้ไมได้นะ ผมก็บอกว่าไม่เรียนก็ไม่เรียน

“แต่ถ้าเราไม่ได้เรียนเพราะเรื่องนี้จริงๆ ตอนนั้นก็ยาก แต่ไม่รู้ว่ายากแค่ไหน แต่เราเป็นคนเด็ดขาด ถ้ามันไม่ถูกต้อง ผมไม่ยอม ก็เลือกที่จะไม่เรียน เมื่อกล่อมเราไม่ได้ เขาก็บอกอีกว่าเธอไปพูดก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีใครเขาเชื่อเธอหรอก ก็เลยไปเล่าให้พ่อฟัง พ่อก็เลยบอกว่าไม่ต้องยอม อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ทั้งๆ ที่พ่อป่วยเป็นอัมพาต ดูแลตัวเองไม่ได้ ดูแลลูกไม่ได้ แต่ว่าไม่ต้องยอม ยังไงก็ไม่ต้องยอม พูดตามความจริงไป”

ถึงเวลานัดหมายประชุมในคืนวันนั้น เกิดผลจึงไม่ลังเลใจที่จะยืนยันในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และพอเกิดผลกล้าที่จะพูด เพื่อนๆ ทั้งหมดจึงไม่เกรงกลัว

“คืนนั้น ในที่ประชุม ผมพูดคนแรกว่าผมเห็นทุกอย่าง ก็เล่าเหตุการณ์ทุกอย่างแล้วพอผมพูด เพื่อนคนอื่นๆ ก็เลยกล้าพูดด้วย สรุปแล้วคณะกรรมการที่ประชุมวันนั้นก็สรุปว่าครูผิด

“นั่นก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เหมือนเป็นแรงขับ เป็นตัวกระตุ้น” เกิดผลเปิดเผย ก่อนจะเล่าถึงเส้นทางที่เลือกเดินบนความยุติธรรมในฐานะ "ทนาย"

“หลังจากทำงานในสภาพใส่เฝือกได้สักเดือนกว่าๆ ก็ไปลงทะเบียนเรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เรียนไปยังไม่ถึงเทอม เพิ่งได้เริ่มอ่านหนังสือสองสามเดือน ฝ่ายธุรการเขาก็มาเตือนว่าเรียนรามฯ เวลาสอบต้องลางานไปสอบ แล้วเรายังไม่ผ่านโปรงาน แถมยังทำงานไม่เต็มที่เพราะป่วยด้วย อาจจะไม่ผ่านงานเอานะ จังหวะนั้นก็เลยตัดสินใจไม่เรียนต่อ แต่ไม่ได้ดร็อป ไปลงเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชแทน เพราะเขาเปิดให้สอบเสาร์-อาทิตย์

“ทีนี้ ด้วยความที่เราเลือกเรียนกฎหมายทั้งสองมหาวิทยาลัย วิชาที่เรียนก็เหมือนกัน อ่านเล่มเดียวสอบได้ทั้งสองมหาวิทยาลัย ก็เลยตัดสินใจไม่ทิ้งรามฯ ก็กะว่าลาได้ก็สอบ ลาไม่ได้ก็ไม่สอบ บังเอิญทางผู้จัดการเขาเห็นความตั้งใจ ก็ให้เราลาไปสอบ เกณฑ์งานก็ผ่าน พอครบ 4 ปี เราก็จบทั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2 มหาวิทยาลัย”

แม้จะได้รับใบประกาศ แต่เนื่องจากตรงกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้ต้องออกมาแตะฝุ่นอีกครั้ง แต่ความมุ่งมั่นก็ไม่เคยหมด จึงรับจ้างขับรถแท็กซี่เพื่อสร้างฐานและรอคอยโอกาส

“ก็ไปขับแท็กซี่ก่อน เนื่องจากเราตั้งใจว่าเราจะเป็นทนาย ซึ่งทนายก็ต้องไปเรียนไปฝึกงานที่สำนักงานทนายความ ไปสอบใบอนุญาตทนายความให้ได้ ก็เลยต้องขับแท็กซี่ไปก่อน ขับตั้งแต่บ่ายสองถึงตีสาม แล้วกลับมานอน ตื่นไปฝึกงานตั้งแต่เช้า จนถึงบ่าย ก็ไปขับรถต่อวนเวียนอย่างนี้ ปีกว่าๆ ก็สำเร็จ แถมด้วยเนติบัณฑิตที่อาศัยเจียดเวลาว่างๆ ไปเรียนในเวลาไล่เลี่ยกัน

“จากนั้นมาเป็นทนายความบริษัทสินทรัพย์แห่งหนึ่ง ดูแลเรื่องนิติกรรมสัญญาต่างๆ ได้สักระยะ ด้วยงานทางนี้เป็นลักษณะของการทวงหนี้ ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ ก็ ปรึกษาหารือกับเพื่อนฝูง ลาออก ไปร่วมหุ้นจัดตั้งเปิดสำนักงาน ก่อนจะลาออก เจ้านายก็ถามว่าจะลาออกทำไม อีกไม่กี่เดือน โบนัสก็ออกแล้ว ผมก็บอกไม่เป็นไร เพราะอยากทำตามฝันที่ตั้งไว้ คือถ้าเราทำงานอย่างไม่มีความสุข เราก็ต้องออกมาอยู่ดี ตอนนั้นแม่กับแฟน (ภรรยาปัจจุบัน) ทุกคนก็สนับสนุนว่าออกมาเถอะ ไม่ต้องห่วง ไม่มีเงินก็ไม่เป็นไร เราไมได้ทำเพื่อเงิน ก็ไปเปิดสำนักงานทนายความกับเพื่อนที่ตึกออลล์ ซีซั่นส์ อาคารเอ็มไทย แถวถนนวิทยุด้วยกัน

“แต่ทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่คิด เนื่องด้วยตึกมีค่าเช่าสูง ทำให้ต้องเรียกชาร์ตราคาค่าใช้จ่ายจากลูกความ ก็ไม่ใช่แนวทางอีก เราไม่ได้มาหาเงิน เรามาหาความถูกต้อง มาหาสิ่งที่เราตามหา ก็เลิก กลับมาอยู่บ้าน ใช้บ้านเป็นสำนักงานกฎหมาย (ยิ้ม)”

รับว่าความตามความถูกต้อง และให้คำปรึกษา คำแนะนำ ความรู้ในเรื่องกฎหมายแก่ประชาชนฟรีๆ ทางกระทู้เว็บไซต์ในโลกอินเตอร์เน็ต ตามอุดมคติที่ยึดถือมั่น

“ก็เปิดให้คำปรึกษาทางกระทู้เว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ตอย่างที่เคยแอบทำในสมัยทำงานแรกๆ เรามาทำอยู่ที่บ้าน เราก็พอมีเวลาว่าง ก็ใช้เวลาตรงนั้นทำในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น เว็บไซต์ที่ไปให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำบ่อยๆ หลักๆ ก็ในเว็บไซต์ Lawyerthai.com ทำอยู่ประมาณปีสองปี ก็มีคนให้ความสนใจจำนวนมาก มีติดต่อไปเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่หน่วยงานราชการ ปปช.เชิญไปบรรยายวิชาว่าความไต่สวนระดับหนึ่ง ระดับสอง ชั้นต้นและชั้นกลาง เทศบาลสังคมเพื่อจังหวัดหนองคาย มีขอความช่วยเหลือให้ไปให้ความรู้กับชาวบ้านทั่วไปที่ถูกไล่ที่ดินที่เป็นที่ดินราชพัสดุ

“ก็พบว่าคนไม่ได้รับความยุติธรรม มีจำนวนมากมายในสังคม ตอนหลังมาเทคโนโลยีทันสมัยขึ้น มีเฟซบุ๊ก ก็เลยคุยกับเพื่อนที่อุดมการณ์เดียวกัน 2-3 คน จัดตั้งกลุ่ม “ทนายอาสา คลายปัญหาชาวบ้าน” เพื่อให้ประชานได้เข้าถึงอย่างง่ายและสะดวกรวดเร็วในการปรึกษา”

ข้อปรึกษาที่พบได้บ่อย ยอดนิยมคือ กู้ยืมเงิน ถูกทำร้าย และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกการแจ้งดำเนินคดี ถึงวันนี้ก็ 3-4 ปี ที่ก่อตั้งกลุ่ม "ทนายอาสา คลายปัญหาชาวบ้าน" ขึ้น แม้ว่าจะมีกฎไม่รับว่าความในกลุ่มสมาชิกทนาย เพื่อป้องกันข้อครหาในการหาคดี กระนั้น เมื่อเห็นชาวบ้านตาดำๆ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจนทนไม่ไหวร้องขอให้ช่วย ก็อดไม่ได้ที่จะยืนมือเข้าช่วยเป็นการส่วนตัว

“เพราะเราไม่ต้องการให้ใครมองว่าตั้งกลุ่มตั้งขึ้นมาเพื่อหาเงินหรือหางาน หาคดี ใครมาให้คำปรึกษาแล้วแจกเบอร์โทรศัพท์ เราจะแบนเลยทันที แต่ก็มีกรณี 2-3 รายที่ร้องขอให้เราช่วย ผมก็ช่วย ผมช่วยส่วนตัว ช่วยทั้งๆ ที่เขาไม่มีเงินให้ด้วยซ้ำ เพราะผมไม่ถือว่าเป็นความลำบาก ค่าน้ำมันรถในการเดินทางไปหาเขา คิดแล้วอยู่เฉยๆ ยังหมดมากกว่าอีก ผมใช้เฉลี่ยวันละ 200-300 บาท เดินทางไปหาเขา เพิ่มอีก 200-300 บาท เป็น 500 ต่อครั้ง มันก็ไม่ได้ทำให้ผมลำบากขึ้น

“ผมมองว่าเงินเป็นสิ่งที่น้อยค่าสำหรับผม ถ้าทำแล้วสบายใจก็ทำ เพราะบางอย่างเงินซื้อไม่ได้ ความทุกข์บางอย่างของคนบางคน เงินซื้อได้ ความทุกข์ที่มีคดีติดตัว คุณซื้อไม่ได้ ผมถึงไม่รู้สึกเรื่องเงิน และผมก็เคยลำบากมามาก เคยไม่มีเงิน ผมก็ไม่เคยตาย ไม่ใช่คนพอลำบาก ก็โกยเพื่อให้ตัวเองไม่ลำบากอีกรอบ

“คือเรารู้จักใช้ชีวิต เราอยู่ได้โดยพื้นฐานไม่มีเงินมาก่อน ตั้งแต่พ่อแม่ เลี้ยงเรามาจนกระทั่งเราเรียนจบ เราก็ไม่มีเงิน ไม่จำเป็นต้องกอบโกยเพื่อให้ตัวเองได้เงิน เพราะได้เงินตรงนั้นมา มันก็ต้องแลกกับการทำงานหนักเหมือนกัน และยิ่งแลกกับความทุกข์ของคนอื่น มันไม่ใช่ ผมเลือกในสิ่งที่ผมทำคือพอมี พอกิน พอพียงและแบ่งปันคนอื่นได้

“ผมเชื่อว่าอิ่มคนเดียวไม่มีความสุขหรอก ที่ผมรู้เพราะทุกครั้งที่ผมไปด้วยใจที่แบ่งปันให้เขา เขาจะเอาผลไม้ ข้าวสาร ไข่เป็ด ไข่ไก่ ให้ผมแทบทุกครั้ง แม้ว่าหลังจากนั้นไม่ได้ไปช่วยแล้ว แต่พอเขารู้ เขามารอให้ทันที ล่าสุดไปที่อำเภอกลางดง คดีน้องเบนซ์ ผมต้องบอกว่าไม่เอาแล้ว เพราะผมไม่ค่อยได้อยู่บ้านทานข้าว เอามา ผมไม่ได้ทาน มอดรับประทานแทน (หัวเราะ)

“คือถ้าเรามี ก็ให้คนอื่นกินบ้าง มีให้คนอื่นพ้นทุกข์บ้าง มันมีความสุขกว่ากันเยอะ และสุดท้าย ผมเชื่อว่าถ้าเราทำดี ซื่อสัตย์ในหน้าที่ เดี๋ยวก็มีเงินทองเข้ามาเอง”

(3)
ฮักความดีแม้ตัวตาย
ซอดชีวาวาย ก็ไม่เสียดายชาติเกิด

“ที่ทำอย่างนี้ผมไม่ได้อยากดังด้วย อย่างที่ใครๆ อาจจะคิด”
ทนายเกิดผล ตอบคำถามที่สืบเนื่องจากข้างต้นเมื่อสักครู่ว่า ณ ตอนนี้ก็เกิดขึ้นจริงอย่างที่ใครต่อใครต่างรู้จักทนายเกิดผล แก้วเกิด จากคดีใหญ่ๆ อาทิเช่น

“คดีหมูแฮม” หนุ่มไฮโซขับรถชนคนเสียชีวิตและบาดเจ็บที่ป้ายรถเมล์ ที่จบหลังสู้คดีมาอย่างยาวนานเกือบ 10 ปี โดยจำเลยถูกพิพากษาสั่งจำคุกโดยไม่รอลงอาญา, คดีลุงเฉลียวชายสูงวัยพิการขาขาด รับของโจร, คดีรถหรูมินิคูเปอร์ชน นศ.เอแบค 4 คน จนสาหัส บนสะพานพระราม 9 แล้วขับหนี และล่าสุดกับคดี “น้องทราย” นักเรียนมัธยมปลายที่ถูกครูขว้างแก้วใส่หน้า ที่กำลังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม

“คือหลายคนอาจจะคิดว่าเรากระโดดเกาะกระแสหรือเปล่า คำตอบคือไม่ แต่ที่เรามาทำคดี เพราะส่วนใหญ่ได้รับการติดต่อมาจากญาติเขาเอง เขาติดต่อมาเอง เนื่องจากมารยาทของทนายความ จะไม่เสนอตัวเองเข้าไปช่วยเหลือ ยกเว้นองค์กรหรือมูลนิธิ สภาทนาย เขาสามารถเสนอตัวเข้าไปช่วยได้ แต่ถ้าเป็นทนายความ จะเสนอตัวเขาไปโดยที่เขาไม่ร้องขอไม่ได้

“คดีที่ไม่ดัง เราก็ทำ ผมก็ทำแบบนี้เป็นปกติ เพราะฉะนั้น เรื่องข่าวไม่ข่าวไม่ยึดถือยึดติด มันจะดังหรือมันไม่ดัง ไม่สำคัญสำหรับผม เพราะเมื่อถึงวันหนึ่ง ข่าวมันซาไป แต่คดีมันยังดำเนินต่อ เราก็ยังต้องยืนอยู่กับลูกความจนกว่าจะถึงที่สุด ก็จะมีแต่พวกเราที่อยู่ในศาล ก็จะบอกอย่างนี้เสมอกับลูกความว่าไม่ได้ช่วยเพราะเป็นข่าว ขอเพียงคุณไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อมา

“ผมไม่ได้ช่วยแค่เขา ผมช่วยทั้งครอบครัวนั้นเลย พ่อเขาติดคุก ช่วยพ่อพ้นมลทินได้ ลูก เมีย ปู่ ย่า ที่เป็นพ่อแม่เขา ก็พ้นทุกข์เหมืนกัน คือคนไทยก็ต้องมีในใจอยู่แล้วที่อยากจะทำบุญ แต่การทำบุญมีหลายวิธี คนมีเงินเขาก็บริจาคทาน คนมีความรู้ก็บริจาควิทยาทาน ผมมีความรู้และมีความสามารถก็บริจาคแรงกาย แรงใจและความรู้ของผมช่วยคนให้เขาพ้นทุกข์ได้ ผมทำเต็มที่”

ทำโดยไม่หวาดหวั่นอะไรใดๆ”
ทนายเกิดผล กล่าวด้วยสีหน้าราบเรียบถึงคำถามที่ว่าไม่กลัวตาย เช่นเดียวกับครั้งหนึ่งที่เคยแขวนลมหายใจไว้ปลายกระบอกปืน

“คือด้วยความใจซื่อตอนนั้น ไม่รู้ว่าเขาคิดหมายปองร้าย เขาเชิญขึ้นรถบอกว่าจะไปทานข้าว ขึ้นรถปั๊บมีคนอยู่ในรถประกบซ้ายขวารออยู่แล้ว เอาปืนออกมาบังคับผม แล้วพาไปในป่าแห่งหนึ่ง พร้อมกับพูดว่าทนายรู้ไหมว่าแถวนี้มีคนเอาทนายความมายิงทิ้งหลายศพแล้ว เขาก็ถามว่าทนายกลัวไหม ทนายมาทำอย่างนี้ไม่กลัวเหรอ ผมก็เฉยๆ แล้วก็ตอบเขาไปว่าไม่กลัว ที่ไม่กลัวเพราะ 2 เหตุผล หนึ่ง มันเป็นหน้าที่ สอง ต่อให้คุณยิงผมตอนนี้ ผมกลัว ผมก็ช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วผมจะกลัวทำไม จะกลัวเพื่ออะไร ฉะนั้นไม่มีประโยชน์ที่ผมต้องกลัว เขาก็ไม่ทำนะ เขาพากลับ เพราะผมอาจจะพูดคำหนึ่งว่าที่ไปสะกิดเขา คือคุณเป็นหนี้ของเขา ฆ่าทนายความได้แล้วคุณจะหายเป็นหนี้เขาเหรอ ฆ่าทนายความก็ยังเป็นหนี้อยู่ แล้วเขาก็ต้องจ้างทนายความคนอื่นมาอีก คุณต้องฆ่าอีกเท่าไหร่

“แต่วันนั้น ถ้าตาย คนเรามันก็หนีความตายไม่พ้นอยู่แล้ว เรื่องนี้ผมก็พูดกับคนที่บ้านเสมอว่าถ้าตั้งใจจะทำความดีแล้ว มันอาจจะมีมารผจญ และมีสิ่งที่ทำให้เราท้อแท้ แต่ถ้าผมท้อแท้ ยอมแพ้ให้ความไม่เป็นธรรม เราเป็นทนาย เรามาปกป้องเขา เหมือนถ้าตำรวจกลัวโจร ลองคิดดู แล้วบ้านจะอยู่ได้อย่างไร เราจะอยู่อย่างไรเมื่อเสียสิ่งที่ตั้งใจทำ ถ้าเรากลัวคนชั่ว ในบ้านเราเมืองเรา มีคนชั่วอยู่ทุกหัวระแหง ถ้าเรากลัวคนชั่ว เราจะไปอยู่ที่ไหน จะไปหลบอยู่ที่ไหน จะกล้าอออกจากบ้านเหรอ แต่คนดีมีน้อย ถ้าเราพบคนดี เราควรให้ความรัก ความเกรงใจ ความกลัวต่อเขาในสิ่งที่ความดีของเขา เราไม่ควรจะทำให้เขาต้องเดือดร้อน แล้วควรจะเคารพเขา

“คนชั่ว เราจะไปกลัว ไปเคารพเขาทำไม ซึ่งทางบ้านก็เข้าใจ เพราะภรรยาเองบางครั้งรับคดีแทนผม ครอบครัวผมเองคุณแม่ก็มีสิ่งนี้กันหมด เวลามีใครตกทุกข์ได้ยาก ขนาดจนๆ ยังช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น เจอคนแก่เดินพลัดหลงมา หาข้าวหาน้ำให้กิน ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีเงินจะกินซื้อข้าวด้วยซ้ำ แกก็เลี้ยงดู

“การที่เราเกิดมาบนโลกนี้ นอกจากจะมีชีวิตอยู่ สิ่งสำคัญคือการเกื้อกูลช่วยเหลือคนอื่นด้วย นอกจากเอาตัวเองให้รอด ต้องให้คนอื่นรอดด้วย ไม่ว่าจะช่วยเหลือเกื้อกูลด้วยอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีโอกาส แบ่งบันเขา ก็ควรจะแบ่งบันให้เขาพ้นทุกข์ ถ้ามีโอกาสแบ่งปันชีวิตให้คนอื่นเขาบ้าง ผมคิดอย่างนั้นเสมอ คือเรามีดี เราก็ควรจะแบ่งสิ่งที่ดีๆ ให้ คนอื่นเขาบ้าง ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็แล้วแต่ ถ้ามีโอกาส”

ในวัย 42 ย่าง 43 หมุดหมายปลายทางข้างหน้า ไม่ว่าอีกสักกี่ปี ก็ไม่คิดเดินหายไปจากถนนแห่งความยุติธรรม

“ทนายจริงๆ คือบุคคลคนหนึ่งที่อยู่ในส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ในกระบวนยุติธรรมต้องการเลือดที่บริสุทธิ์ ถ้าหากเลือดเป็นพิษหรือเลือดเสียเพียงน้อยนิด มันก็จะทำให้ชีวิตในสังคมนั้น อาจจะเสียชีวิตหรือพังลงได้ เราหล่อเลี้ยงตัวเราด้วยเลือดที่บริสุทธิ์ ด้วยความรู้สึกของการเป็นทนายความแล้วก็การผดุงความยุติธรรม เพียงส่วนหนึ่งของสังคม มันก็จะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น

“และถึงจะจริงที่ทนายเราๆ มีโอกาส มีทางเลือก ไม่เหมือนข้าราชการอย่างเจ้าพนักงานสอบสวน เมื่อมีคดีมาให้ ก็ต้องดำเนินคดีไปตามเห็นสมควร แต่ทนายความมีทางเลือกว่าจะรับคดีหรือไม่ก็ได้ แต่พึ่งคำนึงในใจว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร ถ้าเราเกิดมาเพื่อทำความดี และแสวงหาความยุติธรรม เราต้องทำให้ตัวเองศรัทธาให้ได้ และให้ประชาชนศรัทธาในความยุติธรรมให้ได้

“แม้มันจะลำบากยากเย็น เราก็อย่าท้อ เชื่อว่าความยุติธรรมมีจริง จากทนายเล็กๆ ไปสู่สังคมใหญ่ เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมเท่านั้นเอง แต่เราจะทำหน้าที่ของความยุติธรรมให้ดีที่สุด”

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร

กำลังโหลดความคิดเห็น