“หลังคาแดง” เป็นสมญานามของ “โรงพยาบาลคนเสียจริต” ซึ่งสร้างขึ้นที่ปากคลองสาน ธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านเก่าของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งห่างจากที่เดิมประมาณ ๖๐๐ เมตร ใช้ตึกหลังใหญ่ของเจ้าของเดิมเป็นที่พักผู้อำนวยการ ส่วนเรือนผู้ป่วยสร้างเป็นเรือนยาว หลังคาทาสีแดงเด่นสะดุดตา คนทั่วไปเลยพากันเรียกว่า “โรงพยาบาลหลังคาแดง”
โรงพยาบาลแห่งนี้นับเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของไทยโดยมี “หมอคาทิวส์” หรือ พระยาอายุรเวชวิจักษ์ เป็นผู้ริเริ่มและเป็นผู้อำนวยการคนแรก ใช้การรักษาแบบตะวันตก กวดขันในเรื่องความบริบูรณ์ของอาหาร ความสะอาด ความเป็นระเบียบ และห้ามใช้วิธีทารุณผู้ป่วย ส่วนสถานที่ก็แต่งให้มีสภาพเป็นป่าร่มรื่น โดยถือว่าป่าเป็นที่สงบของจิตใจระบายทุกข์ จนความร่มรื่นกลายเป็นสัญลักษณ์ของโรงพยาบาลแห่งนี้มาถึงทุกวันนี้
สมัยต่อๆมาเมื่อนายแพทย์ไทยเข้าดำเนินการทั้งหมด ก็ยังคงรักษารูปแบบเดิมไว้ และยังได้ปรับปรุงเพื่อจะล้างอคติที่มีต่อ “โรคจิต” ของคนไทย ซึ่งมักจะเรียกผู้ป่วยว่า “คนบ้า” โรงพยาบาลเป็น“โรงบ้า” หรือ“หลังคาแดง” จิตแพทย์เป็น“หมอบ้า” แม้แต่โรคยังเรียกว่า“โรคบ้า” จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก“โรงพยาบาลคนเสียจริต” เป็น “โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ส่วนกองบำบัดซึ่งเดิมแบ่งผู้ป่วยตามลักษณะพฤติกรรม เช่น
กองทำงาน ได้แก่พวกรับผิดชอบทำงานได้
กองขี้เกียจ ได้แก่พวกนั่งซึม ไม่ยอมทำอะไร
กองคดี ได้แก่พวกที่มีความผิดทางคดี
กองคลั่ง ได้แก่พวกก้าวร้าว อาละวาด
ชื่อของบางกองดูไม่น่าฟัง นายแพทย์ยรรยง โพธารามิก เลยขอเปลี่ยนชื่อกองคลั่งเป็น กองเฟื่องฟ้า แล้วเอาเฟื่องฟ้าดอกแดงปลูกประดับหน้ากอง เพราะสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความคลั่งอย่างที่ใช้ทาหลังคา
ส่วนการรักษาก็นำภูมิปัญญาของไทยมาสมทบ เช่น ทางโรงพยาบาลพบว่าผู้ป่วยโรคจิตเกือบทุกคนมักจะเป็นหิด บางคนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ คือเป็นตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ใช้ยาฝรั่งรักษาอย่างไรก็ไม่หาย แพทย์หญิงจันทนา สุขวัจน์ จึงเกิดไอเดียให้คนป่วยลงไปเล่นโคลน ผลก็คือนอกจากหิดจะหายแล้ว คนป่วยยังเลิกเล่นเอาอุจจาระปากันด้วย
ครั้งหนึ่งตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทางโรงพยาบาลพบว่าคนป่วยกองทำงานที่ให้ไปตกแต่งสวนประมาณ ๒๐ คน พากันเมาหัวทิ่มหัวตำสนุกสนาน ไม่รู้ว่าแอบไปเอาเหล้าที่ไหนมากิน สอบสวนดูจึงรู้ว่า ผู้ป่วยสติเฟื่องรายหนึ่งคิดสูตรเมรัยได้ โดยเก็บฝักก้ามปูที่หล่นอยู่ในสวนมาตำในกะลา แล้วให้พวกช่วยกันถ่มน้ำลายลงไป หมักไว้ครู่หนึ่งก็กลายเป็นเมรัย เวียนดื่มกันได้รอบวง เมามายไปตามกัน
เมื่อไปอ่านนิยายเรื่อง “บัวบานในอเมซอน” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็พบว่าสูตรนี้ใกล้เคียงอย่างน่าแปลกใจกับ “ชิช่า” เบียร์สูตรโบราณของอินเดียงแดง มีสีขาวอมเหลืองขุ่นๆ รสชาติคล้ายเบียร์ในปัจจุบัน แต่หนุ่มไทยที่ไปชิมบอกว่ารสชาติคล้ายน้ำขาวหรือน้ำตาลเมาของไทยนั่นแหละ มีรสหวานน้อยกว่ามาก เมาได้อร่อยเหมือนกัน
วิธีทำก็ง่ายๆ ทำกินเองได้ เอามันสัมปะหลังแช่น้ำล้างถึง ๓ ครั้ง จนสารที่ทำลายระบบประสาทออกแล้ว ก็เอามาตากแดดแล้วทุบให้เป็นแป้ง จากนั้นก็เอาผู้หญิง ๔-๕ คนมานั่งล้อมวง เอาแป้งมันสำปะหลังนั้นใส่ปากเคี้ยว แล้วบ้วนลงในอ่าง เมื่อได้ปริมาณที่ต้องการก็เอาไปหมักไว้ ๗ วัน น้ำลายจะเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล เป็นเมรัยรสชาติดี คนชาติอื่นชิมก็ติดใจไปตามกัน (ถ้าไม่เห็นตอนทำ)
เมรัยสูตรหลังคาแดง และเบียร์ชิช่าของอินเดียนแดงนี้ ไม่มีการจดสิทธิบัตรไว้ ใครจะเอาไปหมักดื่มบ้างก็เชิญตามอัธยาศัย