ในจำนวนพระพุทธรูปที่มีผู้คนศรัทธา ไปเคารพบูชาไม่ขาดสาย และเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศนั้น หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์ อยู่ระดับต้นๆด้วยองค์หนึ่ง
หลวงพ่อเป็นรูปของพระพุทธเจ้าปางไสยาสน์เทศนาปาฏิหาริย์แก่อรินทราหูผู้เป็นยักษ์ เพื่อลดทิษฐิอรินทราหูที่ถือตนว่ามีร่างกายใหญ่กว่ามนุษย์ พระพุทธองค์ทรงเนรมิตร่างกายให้ใหญ่กว่ายักษ์ หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์จึงเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่โต ยาวถึง ๑ เส้น ๓ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว หรือ ๔๗ เมตร ๔๐ เซนติเมตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ยาวที่สุดในประเทศ หันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ
พระนอนจักรสีห์เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่มาก เก่าเสียจนประวัติกลายเป็นเรื่องลี้ลับ ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้สร้าง สร้างมาแต่เมื่อใด มีแต่ตำนานที่เป็นนิทานปรัมปรากล่าวว่าสร้างโดย สิงหพาหุ เจ้าเมืองสิงห์ หรือสิงห์บุรี ที่มีพ่อเป็นสิงห์ เมื่อรู้ว่าผู้ให้กำเนิดเป็นสัตว์ สิงหพาหุก็มีความอับอาย จึงได้ฆ่าพ่อตาย ต่อมารู้สึกตัวสำนึกบาป จึงได้สร้างพระพุทธรูปเป็นการขอขมาโทษ ก็คงทำนองเดียวกับพระยาพานที่ฆ่าพระยากงพระบิดา แล้วสร้างพระปฐมเจดีย์สูงชั่วนกเขาเหินเป็นการไถ่บาปนั่นแหละ พระพุทธรูปที่สิงหพาหุสร้างนี้ ได้ใช้ทองคำแท่งขนาดเท่ากำมือ ยาว ๑ เส้น เป็นแกนกลางพระพุทธรูป
พระพุทธรูปองค์นี้มีอายุยืนยาวมาหลายชั่วคน จนผุพังกลายเป็นเนินดิน กาลนานต่อมา ท้าวอู่ทอง แต่จะใช่องค์เดียวกับที่สร้างกรุงศรีอยุธยาหรือเปล่าตำนานก็ไม่ได้บอกไว้ กล่าวแต่เพียงว่าเป็นผู้นำขบวนพ่อค้าผ่านมา และพบแกนทองคำฝังอยู่ในเนินดิน ทั้งทราบเรื่องราวที่เล่ากันมาว่าสิงหพาหุสร้างพระพุทธรูปไว้ เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและเห็นแก่ประโยชน์ของพระพุทธศาสนา จึงชักชวนกันสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ โดยใช้แท่งทองคำอันเดิมเป็นแกน ซึ่งก็คือหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์องค์นี้ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานอีกเหมือนกันว่า สร้างครั้งใหม่นี้เมื่อใด เป็นแต่สันนิษฐานกันว่าสร้างมาก่อนกรุงศรีอยุธยาแน่นอน
ส่วนวัดที่หลวงพ่อประดิษฐานอยู่ ก็ไม่มีหลักฐานว่าสร้างมาแต่เมื่อใดเหมือนกัน และได้ชื่อตามหลวงพ่อไปด้วยว่า “วัดพระนอนจักรีสีห์วรวิหาร” ทั้งตำบลที่ตั้งก็ได้ชื่อว่า ตำบลจักรสีห์ อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี
ประวัติของหลวงพ่อและวัดเริ่มปรากฏในพงศาวดารใน พ.ศ. ๒๒๙๗ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีพระราชศรัทธาทรงปฏิสังขรณ์องค์พระ แล้วสร้างวิหารครอบและสร้างโบสถ์ เมื่อแล้วเสร็จก็มีการจัดงานฉลองอย่างเอิกเกริก
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ และได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุต่างๆ โดยพระบรมไตรโลก (อ้น) วัดสุทัศน์เทพวราราม ได้ทูลขอพระราชทานเงินค่านาที่ขึ้นกับวัดและค่านาเมืองสิงห์บุรีมาเป็นค่าปฏิสังขรณ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๒๘ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์วิหารพระนอนอีกครั้งหนึ่ง
ในวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จมานมัสการพระพุทธไสยาสน์และทรงปฏิสังขรณ์อีก
ต่อมาในวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จมานมัสการเช่นกัน
ทุกวันนี้ วัดพระนอนจักรสีห์ถูกจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสิงห์บุรี มีประชาชนจากหลายจังหวัดไปนมัสการไม่ขาดสาย หลายรายเหมารถทัวร์มากันแม้ในวันธรรมดา
ภายในวิหารพระนอน ตรงหน้าพระพักตร์หลวงพ่อพอดี ยังมีช้างไม้ตัวหนึ่งหมอบอยู่หน้าพระพุทธรูป มีป้ายบอกกติกาสำหรับเสี่ยงทายกับช้างตัวนี้ไว้ว่า
“วิธีอธิษฐานยกช้างเสี่ยงทายความสำเร็จ”
นั่งคุกเข่าชิด และเสมอหน้าช้างข้างมือที่ถนัด ตั้งใจให้มั่น นึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์
ผู้ชายยกด้วยนิ้วก้อย ผู้หญิงยกด้วยนิ้วนาง
ครั้งที่ ๑ (เรื่องที่ต้องการทราบ) ประสบความสำเร็จ ขอให้ยกช้างนี้ขึ้น
ครั้งที่ ๒ (เรื่องที่ต้องการทราบ) ประสบความสำเร็จ ขอให้ยกช้างนี้ไม่ขึ้น
คำอธิษฐานว่าให้ยกขึ้น ก็ยกขึ้น และถ้าอธิษฐานว่าให้ยกไม่ขึ้น ก็ยกไม่ขึ้น
แสดงว่าเรื่องที่ต้องการทราบประสบความสำเร็จ
ปรากฏว่าช้างเสี่ยงทายนี้มีคนรอคิวกันไม่ขาดสาย ส่วนใหญ่ก็เห็นหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเดินออกไปหลังจากยกช้าง แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่หน้าตาบอกว่าไม่สบายใจ อาจจะเป็นเพราะอธิษฐานสับสนเรื่องยกขึ้นยกไม่ขึ้นก็เป็นได้
เล่ามาถึงตอนนี้คงมีหลายคนอยากจะรู้ว่า แกนกลางของหลวงพ่อมีทองคำเส้นใหญ่เท่ากำมือ ยาว ๑ เส้นอยู่จริงหรือไม่ อย่าเพิ่งไปคิดทุบท่านออกดูเลย รอเอาไว้ให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าจนสามารถเอ็กซเรย์ท่านได้ ก็จะได้รู้กันว่านิทานปรัมปรานั้นมีความจริงแค่ไหน หรือคนโบราณอาจจะทายใจคนยุคนี้ได้ว่า นับถือทองเป็นพระเจ้า ก็เลยให้มากราบไหว้ทองกัน
อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์เป็นปูชนียวัตถุที่ล้ำค่าทางใจยิ่งกว่าแท่งทองที่อยู่ภายใน แม้จะไม่มีประวัติให้รู้ว่าสร้างมาแต่เมื่อใด แต่เมื่อยืนยันกันว่าท่านนอนอยู่ที่วัดนี้มาก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาที่มีอายุยืนยาวถึง ๔๑๗ ปี ต่อด้วยอายุกรุงธนบุรีอีก ๑๕ ปี ตอนนี้กรุงรัตนโกสินทร์ก็ ๒๓๔ ปีเข้าไปแล้ว หลวงพ่อท่านจะมีอายุเท่าใดก็ลองบวกกันดู