xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 ก.ค.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.อัยการเลื่อนสั่งคดี “ธัมมชโย” ให้ดีเอสไอสอบเพิ่ม ด้าน “พระเมธีฯ” ขู่เคลื่อนไหวหากนายกฯ ไม่ทูลเกล้าฯ “สมเด็จช่วง” เป็นพระสังฆราชใน 7 วัน ขณะที่ “บิ๊กตู่” ฮึ่มใครชุมนุม จับหมด!
 (บนซ้าย) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.(บนขวา) พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ  (ล่าง) สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง กับรถเบนซ์ผิดกฎหมาย
ความคืบหน้ากรณีอัยการนัดสั่งคดีว่าจะสั่งฟ้องคดีที่พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กับพวกรวม 5 คน คือ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิดยูเนี่ยน คลองจั่น, น.ส.ศรัณยา มานหมัด, นางทองพิน กันล้อม และนางศศิธร โชคประสิทธิ์ กระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) รวบรวมพยานหลักฐานให้อัยการสั่งฟ้อง ซึ่งอัยการนัดสั่งคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 13 ก.ค.

ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด อัยการได้เลื่อนสั่งคดี โดยนายชาติพงษ์ จิระพันธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานคดีสหกรณ์ฯ คลองจั่น กล่าวว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นคดีพิเศษให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. โดยกล่าวหานายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้ต้องหาที่ 1, น.ส.ศรัณยา มานหมัด ผู้ต้องหาที่ 3 และนางทองพิน กันล้อม ผู้ต้องหาที่ 4 กระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน พร้อมกล่าวหาว่าพระธัมมชโย ผู้ต้องหาที่ 2 และนางศศิธร โชคประสิทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 5 กระทำความผิด ฐานสมคบกันฟอกเงิน, ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร โดยนายศุภชัย ถูกจำคุกอยู่ในคดีอื่น ส่วนพระธัมมชโย และนางศศิธร พนักงานสอบสวนขอศาลออกหมายจับไว้ และยังจับกุมตัวไม่ได้ จึงไม่ได้นำตัวมาส่งให้อัยการ และว่า ข้อเท็จจริงตามสำนวนการสอบสวนสรุปได้ว่า นายศุภชัย, น.ส. ศรัณยา และนางทองพิน ได้ออกเช็คหรือร่วมกันออกเช็ค สั่งจ่ายเงิน เพื่อให้มีการนำเงินออกจากบัญชีสหกรณ์ฯ จำนวน 27 ฉบับ รวมมูลค่า 1,450 ล้านบาทเศษ แล้วนำเช็คเหล่านั้นเข้าบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับพระธัมมชโย และนางศศิธร

นายชาติพงษ์ กล่าวอีกว่า นายภาณุพงษ์ โชติสิน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษเพื่อพิจารณาสำนวน ซึ่งคณะทำงานฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า เพื่อให้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนมีความละเอียดชัดเจนและครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานอัยการเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็น ซึ่งได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมในวันที่ 11 ส.ค.นี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า วันดังกล่าว(13 ก.ค.) น.ส.ศรัณยา ผู้ต้องหาที่ 3 และนางทองพิน ผู้ต้องหาที่ 4 ได้มารายงานตัวต่อพนักงานอัยการตามกำหนดนัดสั่งคดี แต่เนื่องจากพนักงานอัยการเลื่อนสั่งคดี จึงให้ผู้ต้องหามารับทราบคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 30 ส.ค. เวลา 10.00 น.

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เผยว่า พนักงานอัยการได้เลื่อนสั่งฟ้องคดีพระธัมมชโยกับพวก โดยให้ดีเอสไอสอบสวนเพิ่มเติม 2 ส่วน คือ การบริหารงานภายในวัดพระธรรมกาย และเส้นทางการเงิน ซึ่งอัยการฝ่ายคดีพิเศษอยากทราบเส้นทางการเงินก่อนที่จะมีการทุจริตเกิดขึ้น และต้องสืบเชิงลึกไปตั้งแต่ปี 2552 ว่าสถานะการเงินของสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นอย่างไรกระทั่งเกิดการทุจริต เพื่อนำไปประกอบสำนวนคดีทั้งหมด

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เกี่ยวกับการเสนอชื่อผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งพระสังฆราช ต้องเริ่มที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อ แล้วจึงส่งต่อให้มหาเถรสมาคม( มส.) ไม่ใช่เริ่มที่ มส. แล้วค่อยส่งให้นายกฯ แต่รัฐบาลและ มส.ยังไม่ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยรัฐบาลได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความมาตรา 7 อีกครั้ง ซึ่งนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 11 ก.ค..ว่า กฤษฎีกาตีความว่า มติมหาเถรสมาคมที่เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่พระสังฆราช ขึ้นเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 นั้น ไม่ขัดกับมาตรา 7 กฤษฎีกายังตีความด้วยว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่สามารถนำมาประกอบการใช้ดุลพินิจได้ และว่า แนวทางปฏิบัติก่อนหน้านี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2482 ระบุว่า เมื่อรัฐบาลขอความเห็นจากฤษฎีกา ให้ปฏิบัติตามความเห็นของกฤษฎีกา

นายสุวพันธุ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้หนังสือแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชยังอยู่กับตน ซึ่งก่อนที่ตนจะเสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การทูลเกล้าฯ ต่อไปนั้น ต้องดูทุกอย่างให้รอบด้าน ครบถ้วน เพราะมีหลายปัจจัย ต้องให้สังคมเข้าใจตรงกันก่อน โดยตนขอแบกเรื่องนี้ รับภาระเป็นของตัวเองก่อน และไม่รู้สึกกดดันอะไร เชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจ

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยถึงการตีความมาตรา 7 ของกฤษฎีกาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่า การเสนอชื่อพระสังฆราชสามารถทำได้ทั้ง 2 ทาง จะเสนอโดยนายกฯ หรือมหาเถรสมาคมก็ได้

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวหลังทราบผลการตีความมาตรา 7 ของกฤษฎีกาว่า มติมหาเถรสมาคมที่เสนอชื่อสมเด็จช่วงไม่ขัดมาตรา 7 ว่า อำนาจใครก็อำนาจใคร ไม่ได้ว่าอะไร แต่ตนมีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วตนจะทูลเกล้าฯ ในสิ่งที่มีปัญหาได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็จบ ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องรอคดี(รถหรูโบราณผิดกฎหมายของสมเด็จช่วง) จบก่อนใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คิดไม่ออกหรือว่าต้องรอกระบวนการเรียบร้อยก่อน แล้วไม่กลัวว่าจะเกิดการทะเลาเบาะแว้งกันหรืออย่างไร

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังกฤษฎีกาตีความเข้าทางฝ่ายที่หนุนสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราช ปรากฏว่า พระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเคยเคลื่อนไหวกดดันให้มีการตั้งสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราชก่อนหน้านี้ ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก(12 ก.ค.) ทำนองขู่นายกฯ ให้รีบทูลเกล้าฯ ชื่อสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราช และว่า องค์กรพุทธและเครือข่ายจะรอดูท่าทีของผู้เกี่ยวข้องภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะกำหนดท่าทีร่วมกันในการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ทั่วประเทศ

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และ นพ.มโน เลาหวนิช อดีตพระวัดพระธรรมกาย ได้ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อคัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราช เนื่องจาก 1.สมเด็จช่วงยังมีคดีความเรื่องการครอบครองรถเบนซ์ผิดกฎหมาย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของดีเอสไอ 2.สมเด็จช่วงเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 3.สมเด็จช่วงมีการชำระเงินค่ารถเบนซ์ที่ผิดกฎหมาย โดยสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อเจ้าของอู่รถ ซึ่งเป็นการทำผิดพระธรรมวินัย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามถึงกรณีพระเมธีธรรมาจารย์เตรียมเคลื่อนไหว หากยังไม่มีการนำรายชื่อสมเด็จช่วงขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อสถาปนาเป็นพระสังฆราชใน 7 วันว่า “ตกลงประเทศไทยเป็นรัฐของใคร” เมื่อถามว่า รัฐบาลจะดูแลอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบขึ้นในสังคม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็ออกมา กฎหมายเขามีหรือเปล่า คำสั่ง คสช.เขาว่าอย่างไร ชุมนุมเกิน 5 คนได้หรือเปล่า อยากเคลื่อนไหวก็ออกมา จับวันนี้ไม่ได้ก็จับพรุ่งนี้ ไม่ว่าจะใครทั้งนั้น... มายื่นคำขาดกับผมอย่างนี้ได้หรือ ผมควรจะเป็นคนยื่นคำขาดมากกว่า แต่ผมยังไม่ทำเลย”

2.“พล.อ.อนุพงษ์” รับลูก สตง.ดำเนินคดี “สุขุมพันธุ์” ทุจริตไฟประดับกว่า 39 ล้าน ด้าน “วิลาศ” แฉอีก กทม.ส่อทุจริตซื้อรถดับเพลิงขนาดเล็ก!
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. และไฟประดับที่ใช้งบกว่า 39 ล้านบาท
ความคืบหน้ากรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบโครงการค่าใช้จ่ายในการประดับตกแต่งไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 39 ล้านบาท พบว่ามีการทุจริต และเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนที่รับงาน จึงมีมติที่จะดำเนินการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ ซึ่งมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.รวมอยู่ด้วย

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ สตง.ส่งผลการตรวจสอบพบทุจริตในโครงการไฟประดับของ กทม.มาให้กระทรวงมหาดไทยว่า สตง.แจ้งมา 2-3 ประการ คือ ให้สอบสวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งกระทรวงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว และ สตง.ยังแจ้งมาด้วยว่า ให้แจ้งความดำเนินคดีผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งให้ตั้งกรรมการสอบวินัยเจ้าหน้าที่ กทม. หากพบมีความผิด ให้แจ้งความฟ้องแพ่งผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามที่ สตง.แจ้งมาแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า การจะพิจารณาปลดหรือพักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ทำได้หรือไม่ หรือต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คงต้องเป็นเช่นนั้น เพราะต้องให้คณะกรรมการสรุปข้อเท็จจริงก่อน และว่า ได้มอบหมายให้นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการตามที่ สตง.เสนอมาแล้ว

ด้านนายกฤษฎา บุญราช ในฐานะรักษาราชการแทน พล.อ.อนุพงษ์ ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าฯ กทม. พร้อมแนบสำเนาหนังสือของ สตง. ที่มีมติเห็นชอบผลตรวจสอบโครงการไฟประดับของ กทม. จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการทางอาญา วินัย และละเมิด จึงให้ กทม.ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) โดยให้ดำเนินการทางอาญากับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์, น.ส.ปราณี สัตยประกอบ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว นายธวัชชัย จันทร์งาม ผู้อำนวยการกองการท่องเที่ยว , คณะกรรมการทีโออาร์ ประกอบด้วย 1.นายสิโรตม์ แสงเจริญ นักพัฒนาการท่องเที่ยวชำนาญการ 2.น.ส.วันทนา เตชะสุวรรณ นักพัฒนาท่องเที่ยวชำนาญการ 3.นายพงษ์พันธ์ ธัญญเจริญ นักพัฒนาท่องเที่ยวปฏิบัติการ 4.นายมรกต ภูมิพานิช นักพัฒนาท่องเที่ยวปฏิบัติการ 5.นายสิทธิโชค อภิบาล นักพัฒนาท่องเที่ยวปฏิบัติการ, บริษัท จิปาถะ ไอเดีย จำกัด โดยนายคฑารัฐ สันธิสิริ กรรมการผู้จัดการ, บริษัท สยาม เอ็ม.อี.อี.จำกัด โดยนายอนุชิต พลวิเศษ กรรมการผู้จัดการ, บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด โดย น.ส.กันติกานต์ อินทศร กรรมการผู้จัดการ, บริษัท สรรค์สร้าง จำกัด โดยนายวีระศักดิ์ ศิริจันทร์เพ็ญ กรรมการผู้จัดการ และ น.ส.สิริพร ชาวปราการ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ให้ดำเนินการทางวินัยกับ น.ส.ปราณี, นายธวัชชัย และคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์ ประกอบด้วย นายสิโรตม์, น.ส.วันทนา, นายพงษ์พันธ์, นายมรกต และนายสิทธิโชค

หนังสือที่กระทรวงมหาดไทยมีถึง กทม.ยังระบุด้วยว่า คตง.มีมติเอกฉันท์ตามที่ สตง.ส่งสำนวนให้พิจารณาแล้วเห็นว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กับพวกรวม 13 ราย มีพฤติการณ์เชื่อได้ว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินและทรัพย์สินของแผ่นดิน และเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 จึงมีมติเห็นชอบที่จะดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำผิดทั้งหมดแล้ว พร้อมกับส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนต่อ รวมทั้งเตรียมเสนอเรื่องให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เพื่อพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งพักราชการไว้ก่อน

ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยืนยันว่า ไม่กังวลใดๆ ที่จะถูกดำเนินคดีทางอาญา แต่ห่วงผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งเป็นข้าราชการประจำที่ถูกตรวจสอบเรื่องวินัย พร้อมสั่งการให้ฝ่ายกฎหมายดูแลช่วยเหลือข้าราชการประจำ ไม่เฉพาะดูแลแค่ส่วนของตน และว่า สตง.เป็นเพียงหน่วยงานที่ตรวจสอบเบื้องต้น ไม่ใช่องค์กรตัดสิน ผู้สื่อข่าวถามว่า จะฟ้องร้องผู้ที่กล่าวหาหรือไม่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า พูดตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะฟ้องกลับ แต่อยากให้สำนวนมีความรัดกุมมากกว่านี้ และที่ผ่านมา ตนให้ความเคารพนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง.มาโดยตลอด จึงไม่อยากทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้งบประมาณโครงการต่างๆ ของ กทม.ที่ไม่โปร่งใสว่า การตรวจสอบมีขั้นตอนและวิธีการอยู่แล้ว และกระทรวงมหาดไทยซึ่งกำกับดูแลจะต้องสอบสวน ต้องรอการสอบสวนก่อน จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป พร้อมยืนยันว่า ยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเข้ามาดำเนินการ

ทั้งนี้ นอกจากกรณีไฟประดับของ กทม.แล้ว ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ยังได้ออกมาแฉเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กของ กทม. 20 คัน คันละเกือบ 8 ล้านบาท แบ่งเป็นตัวรถ 2.5 ล้านบาท นอกนั้นเป็นค่าอุปกรณ์ดับเพลิง รวมวงเงิน 160 ล้านบาทว่า มีพิรุธหลายจุด เช่น สเปกรถมีปัญหา เป็นรถพวงมาลัยซ้าย โดยนำรถเอทีวีหรือที่ในต่างประเทศใช้ชมวิวในป่า มาแปลงสภาพใส่กระจกติดตั้งเครื่องดับเพลิง ถือเป็นรถค่อนข้างพิสดาร คือ รถราคา 2.5 ล้านบาท แต่ไฟเลี้ยวติดอยู่ตรงหัวรถมีขนาดเล็กเท่าหัวนิ้วโป้ง และไม่มีแอร์ ส่วนประตูเป็นพลาสติก ขนาดรถเท่าๆ กับรถกะป๊อที่ใช้ขับในซอย ขณะที่ชุดระบบดับเพลิงที่ติดตั้งในรถ อุปกรณ์แต่ละอย่างมาจากประเทศที่ต่างกันประมาณ 10 ประเทศ ตรวจสอบพบว่า อุปกรณ์แต่ละชนิดมีราคาสูงเกินจริง เช่น ถังดับเพลิงหิ้วชนิดน้ำ ราคาท้องตลาด 2,400 บาท แต่ระบุในรายการจัดซื้อราคา 8,000 บาท ซึ่งแพงกว่า 3 เท่าตัว ขณะนี้ส่งมอบรถให้กับสถานีดับเพลิง 20 แห่ง จากทั้งหมด 35 แห่ง และทราบว่ามีการสั่งการที่จะจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 15 คัน ใช้งบประมาณปี 2560 จึงอยากให้มีการระงับ และขอให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อทบทวน โดยตนจะรวบรวมข้อมูลยื่นต่อ สตง.และ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบข้อหาทุจริต ผิด พ.ร.บ.ฮั้ว ในสัปดาห์หน้า

3.“บิ๊กตู่” งัด ม. 44 งดสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเพิ่มเติม คาดเพื่อแก้ปัญหาปมสรรหา “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” !
 (ซ้าย) นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินที่อยู่ครบวาระ (ขวา) นพ.เรวัต  วิศรุตเวช อดีตที่ปรึกษา รมช.พาณิชย์(ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) ซึ่ง สนช.ไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่คณะกรรมการสรรหามีมติเสนอชื่อ นพ.เรวัติ ให้ สนช.เป็นครั้งที่ 2
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คําสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรื่องยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 48/2557 เกี่ยวกับการสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ โดยระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจะได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ จึงยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาและการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) จึงเห็นเป็นการสมควรให้งดเว้นการสรรหาและการเลือกบุคคลเพื่อดํารงตําแหน่งดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อให้การปฏิรูปองค์กรศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มีคําสั่งให้ยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 48/2557 เรื่องการสรรหาบุคคลเพื่อดํารงตําแหน่งแทนตําแหน่งที่ว่าง ให้งดเว้นการสรรหาและการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ป.ป.ช. และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น สำหรับกระบวนการสรรหาและการเลือกผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรดังกล่าวที่อยู่ระหว่างดําเนินการในวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันยกเลิก

ส่วนบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ป.ป.ช. หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ในวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปแม้จะครบวาระการดํารงตําแหน่งแล้ว จนกว่าจะมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ป.ป.ช. หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาแทนบุคคลดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ หากมีบุคคลในองค์กรอิสระดังกล่าวพ้นจากตําแหน่ง เพราะเหตุอื่น ที่ไม่ใช่ถึงคราวออกตามวาระ ให้ศาลรัฐธรรมนูญ, กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยไม่ต้องสรรหาเพิ่ม

เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ให้ยกเว้นการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเพิ่มเติมครั้งนี้ หลายคนมองว่า เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินแทนนายศรีราชา วงศารยางกูร ที่ครบวาระ โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ได้มีมติเลือก นพ.เรวัต วิศรุตเวช อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ และอดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน จากนั้นได้เสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เห็นชอบ แต่ สนช.ส่วนใหญ่มีมติไม่เห็นชอบ โดยมีข่าวว่า เหตุผลที่ สนช.ไม่เห็นชอบ นพ.เรวัติ เนื่องจากต้องการบุคคลที่มีความเป็นกลาง แต่ นพ.เรวัต เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์(นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) เมื่อ สนช.ไม่เห็นชอบ นพ.เรวัต คณะกรรมการสรรหาฯ จึงต้องสรรหาบุคคลเพื่อเสนอ สนช.ใหม่ แต่แทนที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะเลือกบุคคลใหม่ กลับมีมติเลือก นพ.เรวัต กลับเข้ามาอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ราวกับท้าทาย สนช.ที่เคยไม่เห็นชอบ นพ.เรวัต มาแล้ว จากนั้นคณะกรรมการสรรหาฯ ได้ส่งรายชื่อ นพ.เรวัติ ให้ สนช.เพื่อมีมติว่าจะเห็นชอบ นพ.เรวัต เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ ซึ่ง สนช.อยู่ระหว่างตั้งกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบประวัติ นพ.เรวัต เป็นเวลา 20 วัน โดย สนช.จะพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 28 ก.ค.นี้ แต่ สนช.ไม่จำเป็นต้องมีมติแล้วว่าจะเห็นชอบ นพ.เรวัต หรือไม่ เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกมา ส่งผลให้กระบวนการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นอันต้องยกเลิก

4.กสท. ยืนมติปิด “พีซทีวี” 30 วัน ฐานขัดคำสั่ง คสช. มีผล 21 ก.ค. ขณะที่แกนนำ นปช.ร้องศาล ปค.ซ้ำ พร้อมขู่ฟ้องอาญา-แพ่ง ด้าน “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 คุ้มครอง กสทช.-กสท.!
(บน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. (ล่าง) แกนนำ นปช. เจ้าของพีซทีวี
ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีมติเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ให้ระงับใช้ใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์พีซทีวีของแกนนำ นปช.เป็นเวลา 30 วัน เนื่องจากพีซทีวี มีการออกอากาศเนื้อหารายการที่ขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฉบับที่ 97/2557 และ ฉบับที่103/2557 ที่ว่าด้วยการห้ามออกอากาศรายการที่มีเนื้อหา ยุยง ปลุกปั่น หรือสร้างความแตกแยกในสังคม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. แต่แกนนำ นปช.ได้ไปร้องศาลปกครองว่า กสท.ละเมิดคำสั่งของศาลปกครองที่ก่อนหน้านี้ได้สั่งคุ้มครองชั่วคราวให้พีซทีวีสามารถออกอากาศต่อไปได้จนกว่าศาลฯ จะมีคำพิพากษากรณีถูก กสท.มีมติถอนใบอนุญาตในครั้งก่อน โดยศาลฯ ยืนยันว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองยังมีผลอยู่ ส่งผลให้พีซทีวีไม่ต้องจอดำเมื่อวันที่ 10 ก.ค. อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองเปิดช่องว่า หาก กสท.เห็นว่าพีซทีวีกระทำผิดเงื่อนไข หรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย ให้เสนอเรื่องต่อศาลฯ เพื่อพิจารณาว่าจะเพิกถอนการคุ้มครองพีซทีวีหรือไม่

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นายภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยหลังการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ว่า ที่ประชุม กสท. มีมติยืนยันปิดพีซทีวี เนื่องจากผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ มาตรา 37 ตาม พ.ร.บ.กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ โดย กสทช. เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางให้พิจารณาพักใช้ใบอนุญาตช่องพีซทีวี เป็นเวลา 30 วัน

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวถึงกรณี กสท.มีมติพักใช้ใบอนุญาตพีซทีวี 30 วัน โดยขู่ กสท.ว่า "ผมจะไม่ละเว้นดำเนินทางกฎหมายทุกกรณี ทั้งแพ่งและอาญา จะดำเนินคดีทุกทางกับ กสท.ชุดนี้ ไม่ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าใด เพราะเป็นการละเมิดต่อข้อตกลงกับศาลปกครอง และอำนาจสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองด้วย"

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายสุชาติ ศรีวรกร ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวนคดีพีซีทีวียื่นฟ้อง กสท. ขอให้เพิกถอนคำสั่ง กสทช.ที่สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของพีซทีวี ได้เรียกไต่สวนคู่กรณีตามคำร้องขอของ นพ.เหวง โตจิราการ ผู้ดำเนินรายการและผู้บริหารพีซทีวีที่เห็นว่าการที่ กสท.มีมติเมื่อวันที่ 11 ก.ค.พักใช้ใบอนุญาตพีซทีวี เป็นเวลา 30 วันนั้น ถือเป็นการละเมิดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุด ที่พีซทีวีสามารถแพร่ภาพออกอากาศต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีก่อน

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.กล่าวก่อนเข้าชี้แจงศาลในการไต่สวนว่า เรื่องที่ใหญ่กว่าการปิดพีซทีวีคือการที่ คสช.มีคำสั่งที่ 41/2559 ให้อำนาจ กสทช.ในการควบคุมสื่อ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิภาพของสื่อ แต่คำสั่งดังกล่าวไม่ถือเป็นการคุ้มครองการกระทำของเจ้าหน้าที่ กสทช.ที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งก็หวังว่าการไต่สวนในครั้งนี้ ศาลจะได้ช่วยหาทางออกให้แก่พีซทีวี และ กสทช. เพราะหากไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมาเป็นอย่างอื่น กสทช.ก็จะมีการปิดพีซทีวีตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.

หลังการไต่สวน นพ.เหวงกล่าวว่า ในการไต่สวนได้มีการหารือกันและได้ข้อสรุปใน 2 ประเด็น คือ 1. ผู้บริหารพีซทีวีจะนัดพบผู้บริหาร กสทช. หรือ กสท. เพื่อหารือในการวางมาตรฐานการทำงานของทีวีที่เป็นช่องการเมืองให้เกิดความสงบเรียบร้อย เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหา เช่น ช่องฟ้าวันใหม่ หรือทีนิวส์ นำเสนอได้ แต่พอเป็นพีซทีวีกลับมีปัญหา ทั้งที่นำเสนอในประเด็นเดียวกัน โดยพีซทีวีรจะรอทางฝ่าย กสทช.ประสานกลับมาว่าจะหารือกันเมื่อไหร่ แต่หวังว่าการหารือน่าจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 21 ก.ค. เนื่องจากหลังเที่ยงคืนของวันดังกล่าว ทาง กสทช.จะดำเนินการตามมติ กสท.ที่สั่งพักใช้ใบอนุญาตฯ พีซทีวีเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งจะมีผลทำให้พีซทีวีจอดำ 2. ทางรองเลขาธิการ กสทช.ที่เข้าให้ถ้อยคำในการไต่สวนระบุว่า จะมีการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง กรณี กสท.มีมติพักใช้ใบอนุญาตฯ ดังกล่าว ในวันที่ 21 ก.ค. ซึ่งศาลได้รับที่จะไต่สวนฉุกเฉินทันทีในวันดังกล่าว ตามที่พีซทีวีขอใช้สิทธิ โดยจะเรียกผู้แทน กสทช. และพีซทีวีเข้าชี้แจง

นพ.เหวงยังกล่าวอีกว่า กรณีของพีซทีวีเป็นเพียงแค่กองไฟเล็กๆ ที่ คสช.ควรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาล แต่ คสช.ก็กลับมีคำสั่งที่ 41/2559 ออกมา ซึ่งเหมือนเป็นการเอาน้ำมันถังใหญ่สาดเข้าไปในกองไฟที่จะลุกลามไปทั่วเมือง เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน จึงอยากเรียกร้องให้ คสช.ถอนคำสั่งดังกล่าวเสียก่อนที่จะเกิดเหตุบานปลาย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเพิ่มความชัดเจนเกี่ยวกับการกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมจากประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 และประกาศ คสช.ฉบับที่ 103/2557 โดยห้ามออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551

นอกจากนี้ คำสั่ง คสช.ยังให้ความคุ้มครองการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กสทช. คณะกรรมการ กสท. เลขาธิการ กสทช. เจ้าหน้าที่ กสทช. หรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจาก กสทช.และ กสท. กรณีที่ได้กระทำการตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น เพื่อควบคุมดูแลมิให้มีการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการออกอากาศตามประกาศ คสช. ย่อมได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายจะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ขณะที่ 5 องค์กรวิชาชีพสื่อได้ออกแถลงการณ์ขอให้ คสช.ทบทวนการออกคำสั่งดังกล่าว โดยชี้ว่า อาจทำให้เกิดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนต่อสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะเกี่ยวกับเนื้อหารัฐธรรมนูญ จนอาจส่งผลให้การลงประชามติไม่ชอบธรรมและไม่ได้รับการยอมรับ นอกจากนี้ยังอาจทำให้สื่อมวลชนเสนอข่าวสารด้วยความหวาดกลัว และส่งผลให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารไม่รอบด้าน

5.ผลสอบ พบ 16 ตำรวจ คดี “หญิงไก่” แจ้งจับสาวใช้ ทำผิดวินัย รอสอบซ้ำ “ร้ายแรง” หรือไม่ ด้านกรมราชทัณฑ์ปัดข่าว “หญิงไก่” เสียชีวิตในเรือนจำ!
นางมณตา หยกรัตนกาญ หรือหญิงไก่ ผู้ต้องหาแจ้งความเท็จ พยายามค้ามนุษย์ และแอบอ้างสถาบัน ม.112
ความคืบหน้าคดีนางมณตา หยกรัตนกาญ หรือหญิงไก่ ถูกตำรวจกองปราบปรามแจ้งข้อหาแจ้งความเท็จ พยายามค้ามนุษย์ และแอบอ้างสถาบัน ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก่อนถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ ได้นำผู้เสียหายหลายคน เข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบฯ เพื่อให้ตรวจสอบและดำเนินคดีตำรวจ ข้าราชการพลเรือน เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่มีส่วนสนับสนุน หรือยุยงส่งเสริม หรือช่วยเหลือหญิงไก่ในการกระทำผิดทางอาญา

ต่อมา เมื่อวันที่ 14 ก.ค. พล.ต.ต.จารุวัฒน์ ไวศยะ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงสรุปผลการพิจารณาความบกพร่องของพนักงานสอบสวนที่ทำคดีที่หญิงไก่แจ้งความผู้เสียหายทั้ง 9 สำนวนคดีที่ สน.ประชาชื่นว่า ผลการตรวจสอบพบว่า มีตำรวจทำผิด 16 นาย แบ่งเป็นพนักงานสอบสวน 7 นาย มีความผิดคือ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ตร.ที่ 419 และไม่ปฏิบัติตาม ป.วิอาญา มาตรา 131 และผิด พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ. 2547 คือ ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ส่วนระดับหัวหน้างานสอบสวน 3 นาย ระดับผู้กำกับการสถานี 4 นาย และระดับรองผู้บังคับการ 2 นาย มีความผิดคือ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ตร.ที่ 419 และผิด พ.ร.บ. ตำรวจ พ.ศ. 2547 และว่า หลังจากนี้จะเสนอผู้บัญชาการตำรวจนครบาลให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป

พล.ต.ต.จารุวัฒน์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการกับตำรวจทั้ง 16 นายนั้น จะเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาด้วยว่า หากอยู่ในหน้าที่เดิมต่อไป จะก่อให้เกิดความเสียหายอีกหรือไม่ หรืออยู่แล้วสามารถจะเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานหรือไม่ หากเข้าข้อหนึ่งข้อใด ต้องเสนอขอย้ายให้พ้นจากหน้าที่ ส่วนจะผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ ต้องรอให้คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตรวจสอบก่อน ส่วนความผิดทางอาญาในชั้นนี้ยังไม่พบ เป็นเพียงความผิดทางวินัยอย่างเดียว และยังไม่พบเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งต้องพิสูจน์ในชั้นคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ในชั้นนี้สอบแค่มีมูล คือสามารถตั้งกรรมการได้ และเสนอความเห็นผู้บัญชาการ

ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวลือว่า หญิงไก่เสียชีวิตแล้วในเรือนจำ ร้อนถึงนายปฏิคม วงษ์สุวรรณ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ออกมายืนยันเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ว่า หญิงไก่ไม่ได้เสียชีวิตตามที่มีข่าว และว่า ช่วงเช้าวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ได้ตรวจอาการของหญิงไก่ตามวงรอบการตรวจปกติ โดยแพทย์เรือนจำเห็นควรให้หญิงไก่ออกไปตรวจอย่างละเอียดที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากระบุว่ามีอาการป่วยทางจิตเวชและยังมีอาการป่วยอีกหลายโรค แต่จากการตรวจโดยละเอียดไม่พบอาการป่วยแต่อย่างใด

ด้าน พ.ต.ท.ชิดชัย แสงอรุณ รอง ผกก.ป. สภ.คลองพิไกร อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร สามีหญิงไก่ ได้กล่าวเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ถึงกรณีที่หลายคนสงสัยว่าจะยื่นประกันตัวหญิงไก่หรือไม่ โดยปฏิเสธที่จะยื่นประกันตัวหญิงไก่ โดยบอกเพียงว่า การดำเนินการ ต้องเป็นเรื่องของกฎหมาย เมื่อศาลไม่อนุญาตประกันตัว ก็ดำเนินการอะไรต่อไม่ได้ และว่า ตอนนี้ตนพูดอะไรมากไม่ได้ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนเรื่องความสัมพันธ์นั้น ตนกับนางมณตาห่างไกลกันมานานแล้ว จึงไม่มีความสัมพันธ์อะไรต่อกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น