MGR Online - ประชาชนข้องใจเหตุใดดอกเบี้ยเงินฝากลดลงเรื่อย ๆ จนคนพึ่งรายได้จากการออมไม่ได้ ต้องเอาเงินไปใช้ในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ถามคนเกษียณจะทำอย่างไร จี้แบงก์ชาติเหตุใดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยธนาคารไทย จึงสูงถึง 7.12% ที่ปรึกษารองนายกฯ ประวิตร โพสต์ถามทำไมไม่มีใครแก้ปัญหาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทย ทั้ง ๆ ที่สูงติดอันดับโลก
จากกรณีสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งออกมาประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปเป็นร้อยละ 0.00 ลดลงจากเดิมร้อยละ 0.125 ทว่า ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตระหนก จนในเวลาต่อมาธนาคารดังกล่าวได้ปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวกลับเป็นอัตราเดิม คือ ร้อยละ 0.125 โดยอ้างว่า “หลังจากที่ได้ประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปเป็น 0% พบว่า มีลูกค้าบางส่วนที่ยังไม่พร้อมในการบริหารจัดการเงินในแบบที่ธนาคารนำเสนอ” การปรับดอกเบี้ยเงินฝากเป็นร้อยละ 0.00 ดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักการเงิน และประชาชนทั่วไป ว่า หรือว่าสภาพคล่องในระบบการเงินจะล้นตลาด จนธนาคารต่าง ๆ ไม่มีแรงจูงใจที่จะระดมเงินฝากด้วยดอกเบี้ย และในอนาคตสถานการณ์อาจลุกลามถึงขั้นดอกเบี้ยติดลบ ดังเช่นในต่างประเทศ
อย่างเช่น วันนี้ (7 มิ.ย.) นายไพศาล พืชมงคล ที่ปรึกษาและกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้โพสต์ให้ความเห็นว่า คำประกาศของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน
“ข่าวที่ว่านั้น ก็คือ ธนาคารพาณิชย์แห่งนี้ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงเหลือ 0% ซึ่งหมายความว่า ใครเอาเงินไปฝากก็จะไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่ถ้าใครไปกู้เงินก็ต้องเสียดอกเบี้ย และดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า มีส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากที่สุดในโลกทุกวันนี้ โดยไม่มีใครใส่ใจแก้ไขปัญหานั้นเลย ...” (คลิกอ่านเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol)
ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็มีผู้ออกมาตั้งคำถามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กับระบบการเงินของไทยเช่นกัน ว่า เหตุใด ณ วันนี้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ (Interest rate spread) ของธนาคารไทยจึงสูงถึงร้อยละ 7.12 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
ผู้ใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊ก Sataporn Pansak เขียนบันทึกระบุว่า ผมอยากตั้งคำถามถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าวันนี้ทำอะไรอยู่?
คำถามที่ 1
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารทหารไทยออกมาประกาศอัตราดอกเบี้ย 0% (กลับมาแก้ไขใหม่ในอัตรา 0.125%) ทำเอาคนฝากเงินตื่นตระหนกกันไปทั่ว แต่ในความเป็นจริงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมานานแล้ว ทำให้คนที่พึ่งพิงรายได้จากการออมเงินกับธนาคารนั้น ไม่สามารถทำได้ ต้องไปมองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากเช่น การลงทุนในตลาดทุน ที่มีการเก็งกำไร มีเจ้ามือมากมาย หุ้นปั่นหุ้นเก็งกำไร ลงทุนในสหกรณ์ก็โดนโกง แชร์ลูกโซ่ ทั้งในรูปแบบ Forex, Trust, Money Game สารพัด ธปท. รวมถึง ก.ล.ต. ไม่ได้ดำเนินการการป้องกันความเสี่ยงใด ๆ ให้กับประชาชน อย่างเพียงพอ ถ้าประชาชนทั่วไปถูกหลอกถูกโกงเอาเงินเก็บที่จะเอาไว้ใช้ยามเกษียนไปหมด เค้าจะอยู่กันอย่างไร..
คำถามที่ 2
Spread ระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ของไทยนั้น สูงไปไหม? 7.12%
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของประเทศอื่น (เอามาเปรียบเทียบให้ดู)
ญี่ปุ่น 1.1 %
อาร์เจนตินา 1.4 %
เกาหลีใต้ 1.7 %
แคนาดา 2.6 %
สวิตเซอร์แลนด์ 2.7 %
อิสราเอล 2.9 %
ออสเตรเลีย 3.1 %
ต้นทุนเงินของธนาคารต่ำมาก แทบจะเรียกว่า ได้มาฟรี ๆ แต่เอามาปล่อยกู้ ในอัตราที่สูงมาก (ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี MLR = 6.25%) ถือว่าความเสี่ยงต่ำมาก ๆ ยังเจอเรตที่สูงขนาดนี้ ถ้าเป็นลูกค้าบุคคล (Personal Loan) เจออัตราดอกเบี้ย 18% แทบจะทุก ๆ การทำกิจกรรมกับธนาคาร เราต้องเสียค่าธรรมเนียมยุบยิบ ขนาดทำออนไลน์ ซึ่งลดค่าใช้จ่ายของธนาคารลง เรายังเสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม
ผมรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝาก มี Spread ที่ห่างเกินไป กำไรสุทธิของธนาคารปีนึง ๆ หลายแสนล้านบาท (ทุกธนาคารรวมกัน) มันเยอะไปหรือไม่ สิบปีผ่านไปมันคือกี่ล้านล้านที่ธนาคารได้กำไรจากประชาชนคนไทยไป และผู้ที่ถือหุ้นใหญ่ ๆ ในธนาคารพาณิชย์ทุกวันนี้ มันไม่ใช่คนไทย มันคือทุนต่างชาติทั้งนั้น (หาข้อมูลได้จากตลาดหลักทรัพย์) ทุกวันนี้คนไทยทำงานหาเงิน ตั้งใจกับชีวิต เพื่อส่งดอกเบี้ยให้นายทุนต่างชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย คิดจะทำอะไรเพื่อคนไทยบ้างหรือไม่
ผมอยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมควรช่วยกันเรียกร้อง ถ้าคุณยังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต
อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงธนาคารกสิกรไทย
วันที่ 6 มิ.ย. 2559
http://www.kasikornbank.com/…/Ra…/Lending/Pages/Lending.aspx
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในแต่ละประเทศ อ้างอิง
http://whereisthailand.info/2012/04/interest-rate-spread/