อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/
https://businessanalyticsnida.wordpress.com/
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/
https://businessanalyticsnida.wordpress.com/
ผมดูข่าวธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งหนึ่งประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากลงจนเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ แต่มีแรงเสียดทานและร่ำลือระบือไกลทั่วประเทศจนอีกวันหนึ่งต้องประกาศขยับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นมาให้ไม่ไม่ติดเลขศูนย์ อันที่จริงในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) ดอกเบี้ยเงินฝากเท่ากับศูนย์กับดอกเบี้ยเงินฝากนิดหน่อยเข้าใกล้ศูนย์นี้แตกต่างกันมากเหลือเกินในความคิดจิตใจของมนุษย์
อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) มีค่าเท่ากับ อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ (Nominal Interest Rate) ลบออกด้วยอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) เช่น หากดอกเบี้ยที่ได้รับ เช่น ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยประกาศว่าเป็น ศูนย์ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อซึ่งแสดงว่าสินค้าต่างๆ ราคาสูงขึ้นโดยเฉลี่ยสักเท่าไหร่ เช่น สองเปอร์เซ็นต์ แปลว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงขณะนี้คือ ลบสองเปอร์เซ็นต์ เพราะเงินร้อยบาทของปีนี้จะมีค่าน้อยกว่าเงินหนึ่งร้อยบาทของปีที่แล้ว ดังนั้นอำนาจในการซื้อ (Purchasing power) ของเราจะลดลง ยิ่งถ้าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบยิ่งแสดงว่าการฝากเงินในธนาคารได้รับผลตอบแทนไม่เพียงพอที่จะชดเชยค่าเงินหรืออำนาจในการซื้อของเราที่ลดลงจากอัตราเงินเฟ้อ
สิ่งที่น่าตกใจคือ Spread หรือส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หักออกด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นสูงมาก ดังแสดงในตารางที่ 1
MLR (Minimum Lending Rate) คืออัตราดอกเบี้ยกู้ยืมต่ำสุด จากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีขนาดใหญ่ มีหลักทรัพย์ (Collateral) รองรับการกู้ยืม มีกำหนดระยะเวลาคืนเงินแน่นอนตายตัว
ส่วน MOR (Minimum Overdraft Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีที่เบิกเงินเกินวงเงินบัญชี (Overdraft: OD) ธนาคารจะจ่ายเงินให้ไปก่อน เกิดการกู้โดยอัตโนมัติและเก็บดอกเบี้ยจากการจ่ายเงินเกินวงเงิน
ส่วน MRR (Minimum Retail Rate) คืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
ช่องว่าง หรือ ส่วนต่าง หรือ Spread ระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของไทยนั้นถ่างออกขึ้นมาหลายปีติดกันแล้ว ปีนี้น่าจะถึง 7 % เพราะให้ดอกเบี้ยเงินฝากเกือบศูนย์ แต่ให้ดอกเบี้ยเงินกู้เจ็ดหรือแปดเปอร์เซ็นต์
Spread นี้สำคัญมาก ของไทยเราค่อยๆ ขึ้นจาก 4.30% ในปี 2012 มาเป็นเกือบ 7% ในปีนี้ได้อย่างไร?
Spread นั้นเป็นเครื่องมือวัดประสิทธิภาพของตลาดการเงิน Spread ระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นจำเป็นต้องมี เพราะธนาคารพาณิชย์เองย่อมต้องมีต้นทุนในการบริหารเงินดังกล่าวและต้องรับความเสี่ยงหากไม่สามารถนำเงินฝากไปหารายได้ (โดยการปล่อยกู้) ได้ หากตลาดเงินมีความผันผวนไม่มาก Spread ดังกล่าวจะไม่สูงมากนัก Spread นั้นรวมต้นทุนและกำไรที่ธนาคารต้องการจากการปล่อยกู้ด้วย ต้นทุนที่ว่าได้แก่ ต้นทุนในการทำธุรกรรมของธนาคาร ต้นทุนในการเก็บรักษาเงิน ต้นทุนจากการมีข้อมูลไม่ยุติธรรม ต้นทุนจากการเกินหนี้สูญและการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ
หากตลาดมีประสิทธิภาพ Spread ดังกล่าวย่อมไม่สูงมากนัก ข้อมูลส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจากประเทศสำคัญๆ แสดงในตารางที่ 2 ซึ่งเป็นข้อมูล Interest Rate Spread ที่รวบรวมโดยธนาคารโลก เราคงพอสังเกตได้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ตลาดการเงินมีประสิทธิภาพมากกว่ามีแนวโน้มที่ Spread จะแคบกว่า ถ้าเราลองสังเกตว่าไม่ว่าจะภูมิภาคใดก็ตามหากแยกคำนวณ Spread จะพบว่าประเทศกำลังพัฒนาจะมี Spread กว้างกว่ารวมทั้งภูมิภาค
หากจัดกลุ่มประเทศตามที่ธนาคารโลกจัด จะพบว่า Spread ประเทศด้อยพัฒนาที่สุดตามการจำแนกขององค์การสหประชาชาติ กว้างสุด เช่นเดียวกันกับ ประเทศที่มีความขัดแย้งและสถานการณ์อ่อนไหว ที่น่าสังเกตคือ Spread ค่อยๆ แคบลง ตามระดับรายได้ของประเทศ จาก ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ ประเทศรายได้ปานกลาง และ ประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างไปทางสูง มี spread ค่อนข้างแคบ เรามาลองเทียบไทยกับประเทศในเอเชียกันบ้าง ญี่ปุ่นนั้น Spread แคบที่สุด จีนนั้นก็มี Spread ที่ค่อนข้างแคบ แสดงว่าตลาดมีประสิทธิภาพและมีการแข่งขันกันสูง ในอาเซียนนั้น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย มี Spread แคบกว่าประเทศไทยเราอย่างชัดเจน
สาเหตุที่ Spread ของไทยเราสูงในช่วงนี้อาจจะมีหลายสาเหตุ เช่น ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ไม่ได้ ทำให้มีต้นทุนสูง อาจจะมีสภาพคล่องล้นระบบ เงินในระบบไม่หมุนเวียนเท่าที่ควร ธนาคารพาณิชย์เองมีต้นทุนธุรกรรมทางการเงินสูง โดยเฉพาะการให้บริการโดยพนักงานตามสาขาต่างๆ ซึ่งมีต้นทุนสูงมาก คนไทยเราไม่ยอมใช้ธนาคารทางอินเทอร์เน็ทหรือ e-banking เท่าที่ควร เพราะไม่เชื่อใจในเรื่องความปลอดภัย และธนาคารพาณิชย์เองก็เก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตสูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนที่แท้จริง ในขณะที่การให้บริการธนาคารด้วยพนักงานและกระดาษมีต้นทุนที่สูงมาก แต่หลายกรณีธนาคารพาณิชย์คิดค่าธรรมเนียมต่ำกว่าความเป็นจริงเช่น การใช้เช็ค ซึ่งแต่ละใบมีต้นทุนหลายร้อยบาท เป็นต้น หรือในกรณีที่แย่สุดคือธนาคารพาณิชย์คิดกำไรบวกเข้าไปใน Spread มากเกินไปและธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้มีการควบคุม
การที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมากนั้นไม่ได้เป็นปัญหาเท่ากับ Spread กว้างซึ่งสะท้อนประสิทธิภาพของตลาดการเงินไทยที่ย่ำแย่
หนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยควรควบคุมดูแลไม่ให้ Spread ดังกล่าวสูงเกินไปนัก เพราะธนาคารพาณิชย์จะกลายเป็นเสือนอนกินจนเกินไป หากไม่มีการกำกับดูแลเลยจะเกิดปัญหา แต่ในกรณีของพม่าก็ค่อนข้างจะควบคุมจนตายตัวมากเกินไปหน่อยคือกำหนดให้ Spread เป็น 5% ต่อเนื่องกันมาหลายๆ ปี จนไม่น่าจะสะท้อนความเป็นจริงเช่นกัน น่าจะมีการควบคุมโดยกำหนดเพดาน Spread สูงสุด เพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์เอาเปรียบผู้บริโภคมากจนเกินไป
สอง ธนาคารพาณิชย์ควรยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมทางการเงินต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ลดลง เพื่อจูงใจให้คนมาใช้บริการและลดต้นทุนของธนาคารพาณิชย์เองลง เพื่อให้ Spread ลดลงไป ธนาคารเองก็จะมีกำไรมากขึ้น ประชาชนก็ได้รับบริการทางการเงินโดยมีต้นทุนค่าธรรมเนียมไม่สูงจนเกินไป
สาม ธุรกรรมการเงินใดที่ใช้คนและกระดาษ เช่น เช็ค ซึ่งมีต้นทุนสูงมาก ก็ควรเก็บเงินค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น เป็นการบังคับให้คนไทยเรียนรู้ที่จะใช้ e-banking มากขึ้นเพื่อลดต้นทุนธุรกรรมทางการเงินลง เริ่มจากภาคราชการก่อนเลยก็ได้ เช่น ลดปริมาณการใช้เช็คในภาคราชการลงให้ได้มากที่สุด เป็นต้น