xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐลดดอกเบี้ยกู้ ดึงรายย่อยจับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเศรษฐศาสตร์ชี้แบงก์แห่ลดดอกเบี้ยกู้ MLR รายย่อยไม่ได้ประโยชน์ เหตุคนกู้บ้านระยะหลังใช้ MRR รวมถึงธุรกิจ SME บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล ยังแบกดอกเบี้ยสูง แนะสร้างความเป็นธรรมหลังดอกเบี้ยฝากลดลงมาตลอด แต่ดอกเบี้ยกู้ลดยาก แถมไม่ตรงจุด หาก MRR และดอกเบี้ยบัตรฯ ลง เพิ่มกำลังซื้ออื้อ หนุนนโยบายรัฐช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้

ตื่นเต้นกันไม่น้อยเมื่อธนาคารพาณิชย์พร้อมใจกันลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ช่วง 5-8 เมษายนที่ผ่านมา บางแห่งมีผลทันที บางแห่งมีผลตามมาในอีกไม่กี่วัน เบ็ดเสร็จแล้วเป็นอันว่าก่อนเทศกาลสงกรานต์ดอกเบี้ยเงินกู้ได้มีการปรับลดลง ส่วนใหญ่ลดลง 0.25%

แต่ดอกเบี้ยที่ปรับลดลงนั้นเป็นการลดเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ MLR (Minimum Loan Rate) หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี MRR (Minimum Retail Rate) มีเพียงบางธนาคารเท่านั้นที่ปรับลดลงมา เช่น TMB ลด 0.25%

ดังนั้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ จะเป็นกลุ่มลูกค้าเงินกู้ที่ได้อ้างอิงกับดอกเบี้ย MLR

นับเป็นการวัดใจสถาบันการเงินกับการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อีกครั้ง หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับลงมาต่ำมาก อย่างเงินฝากออมทรัพย์เวลานี้มีตั้งแต่ 0.125-0.5% บัญชีเงินฝากประจำอยู่ที่ราว 1.4-1.65% กับระยะเวลาไม่เกิน 10 เดือน แม้ว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงินจะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ตามเดิม

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MLR ลงมาเป็นส่วนใหญ่หรือมีบางแห่งลด MRR ลงมาบ้าง แต่ความคาดหวังของการลดดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้อาจไม่มีผลนักในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ

คนกู้บ้าน-SME ได้น้อย

นักเศรษฐศาสตร์มหภาคกล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งนี้มีกลุ่มที่ได้รับประโยชน์อยู่บ้าง แต่จะเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ได้อัตราดอกเบี้ย MLR มาก่อน ซึ่งธุรกิจกลุ่มนี้มีทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากการพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงิน ทั้งเรื่องการออกหุ้นเพิ่มทุนสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรืออาจใช้วิธีการเสนอขายหุ้นกู้ให้กับนักลงทุน ต้นทุนจะต่ำกว่าการกู้เงินจากธนาคารอยู่แล้ว

ขณะที่ภาคธุรกิจรายขนาดกลางและขนาดเล็ก(SME) ก็ได้รับประโยชน์ไม่มากนัก เนื่องจากอัตราเงินกู้ของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน มีทั้งดอกเบี้ย MLR และ MRR หรือ MOR ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ ผู้ประกอบการรายใดที่ได้ดอกเบี้ย MLR ก็จะได้รับผลบวกไป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ารายใหญ่ขอวงเงินสินเชื่อสูง

ส่วนในภาคบุคคลนั้นการลดดอกเบี้ย MLR อาจไม่เกิดประโยชน์สำหรับพวกเขามากนัก ทั้งนี้ในกลุ่มที่ซื้อบ้านหากเป็นลูกค้าเก่าที่เคยขอกู้ได้ที่อัตรา MLR ก็ถือว่าโชคดีไป แต่คนที่ซื้อบ้านในระยะหลังธนาคารพาณิชย์มักใช้อัตราดอกเบี้ย MRR มาเป็นอัตราที่ปล่อยกู้

ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งได้เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ขอสินเชื่อซื้อบ้านมาเป็น MRR ระยะหนึ่งแล้ว เดิมบุคคลธรรมดาที่ขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านจะได้ดอกเบี้ย MLR ยกเว้นธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ใช้ MRR มาโดยตลอด หากกล่าวเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยเงินกู้ MRR จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า MLR ระหว่าง 1-1.5% นั่นหมายความว่าผู้ที่ต้องการซื้อบ้านต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น

ในทางปฏิบัติแล้วธนาคารพาณิชย์จะมีโปรโมชันเช่น ปีที่ 1-3 อาจให้ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำในอัตราพิเศษหรืออาจใช้ MRR-1 หรือ 2% ขึ้นไป เพื่อดึงดูดใจลูกค้า แต่เมื่อพ้นช่วงโปรโมชันก็จะเป็นดอกเบี้ยลอยตัว เช่น MRR-0.5 หรือมากน้อยแล้วแต่ข้อตกลงที่ผู้ขอสินเชื่อจะพึงพอใจ แม้ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยสุทธิจะออกมาใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR แต่การลดดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งนี้กลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านก็ไม่ได้ประโยชน์มากนัก

ปัจจุบันยังมีธนาคารพาณิชย์ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านในอัตรา MLR อย่างธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงไทย แต่จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย ได้รับคำตอบว่า มีดอกเบี้ยทั้ง MLR และ MRR โดยจะพิจารณาจากคุณสมบัติของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อว่าจะได้รับการอนุมัติอัตราดอกเบี้ยที่ MLR หรือ MRR ลูกค้าสามารถแสดงความจำนงได้ว่าจะขอกู้ที่ดอกเบี้ย MLR หากผ่านก็รับอัตรานี้ไป ถ้าไม่ผ่านก็จะมีดอกเบี้ย MRR ไว้รองรับลูกค้าอีกอัตรา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนดอกเบี้ยเงินสำหรับบุคคลทั่วไปจาก MLR มาเป็น MRR ส่วนหนึ่งก็เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดี แบงก์เองก็ต้องป้องกันความเสี่ยงไว้เช่นกัน

จริงๆ แล้ว สมมติว่าธนาคารลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลงมาประโยชน์ในด้านเม็ดเงินในมือของประชาชนที่มีภาระผ่อนชำระก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการคำนวณค่างวดในการผ่อนชำระจะเท่ากันทุกเดือน ยกเว้นการเปลี่ยนไปสู่เงื่อนไขใหม่เมื่อครบข้อตกลง เพราะในค่างวดผ่อนบ้านนั้นจะมีทั้งส่วนที่เป็นเงินต้นและส่วนที่เป็นดอกเบี้ยรวมกันไป การลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยก็จะไปอยู่ในค่างวดเหมือนเดิม เพียงแต่ระยะเวลาในการผ่อนชำระสำหรับสินเชื่อที่ขอกู้ทั้งหมดจะหมดเร็วหรือช้ากว่ากำหนดเท่านั้น

แต่ในทางจิตวิทยาแล้วแม้ว่าผู้ที่ต้องผ่อนชำระจะไม่ได้อะไรกลับมาในรูปเม็ดเงิน แต่จะเป็นการสร้างกำลังใจและช่วยเพิ่มความกล้าในการจับจ่ายให้กับคนกลุ่มนี้มากขึ้น
สินเชื่อบ้านที่ระยะหลังธนาคารใช้อัตราดอกเบี้ย MRR
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล-ไม่ลด

กลุ่มที่ไม่ได้ประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ย MLR อีกกลุ่มหนึ่งนั่นคือกลุ่มที่มีภาระในการผ่อนบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เพราะดอกเบี้ยในส่วนนี้ไม่มีการปรับลดมานาน บัตรเครดิตดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่เกิน 20% สินเชื่อบุคคลดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่เกิน 28%

กลุ่มนี้ต้องแบกภาระอัตราดอกเบี้ยผ่อนชำระในอัตรานี้ไปพร้อมๆ กับการประคองชีวิตให้ผ่านพ้นสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำ รายที่ไหวก็ผ่อนชำระไป รายที่ไม่ไหวก็ต้องปล่อยให้ฟ้องร้อง หรืออาจต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบที่แม้จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าแต่ก็สามารถกู้มาใช้เพื่อการดำรงชีวิตได้

ในทางธุรกิจแล้วลูกค้าชั้นดีใช้บัตรเครดิตแล้วชำระเต็มจำนวน ผู้ออกบัตรจะมีรายได้ราว 3% ของยอดซื้อสินค้าจากร้านค้า แต่รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากลูกค้าที่ผิดวินัยทางการเงิน เช่น เลือกผ่อนชำระสินค้าที่ซื้อมาที่จะคิดดอกเบี้ยอีกส่วนหนึ่งจากผู้ผ่อนชำระ ซึ่งบัตรเครดิตสามารถทำได้ทั้งกดเงินสดล่วงหน้า บางรายการมีผ่อน 0% มานำเสนอ หากผู้ถือบัตรไม่ศึกษาให้ดีหรือช็อตเงินไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ท่านก็จะต้องยอมรับสภาพดอกเบี้ยที่จะตามมา

กรณีนี้หากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับลดลง จะมีผลต่อเม็ดเงินในกระเป๋าของผู้มีภาระในการผ่อนชำระ เมื่อดอกเบี้ยลดลง ยอดผ่อนชำระต่อเดือนก็ลดลง เงินในกระเป๋าของพวกเขาก็เพิ่มขึ้น ตรงนี้ต้องขึ้นกับการพิจารณาของผู้มีอำนาจว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะจะกระทบต่อรายได้ของผู้ออกบัตรในระดับหนึ่ง
บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ที่หลายรายยังมีภาระผ่อนชำระอยู่
ดอกเบี้ยลด-กำลังซื้อเพิ่ม

นักวิชาการด้านการประเมินเศรษฐกิจ กล่าวเสริมว่า เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากลดลงมาต่ำถึงระดับที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ก็ควรลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่ผ่านมาดอกเบี้ยเงินฝากลดลงเร็วแต่ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงช้ามาก ที่สำคัญคือดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงนั้นไม่ได้ลดให้ตรงกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หากลด MRR ด้วยจะเกิดประโยชน์กับหลายกลุ่ม เช่น ธุรกิจ SME ลดดอกเบี้ยบ้าน หรือลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล

การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงนั้น ในทางปฏิบัติมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีทั้งคนได้และคนเสีย

ในภาครัฐเองการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง หากเป็นกลุ่ม SME เท่ากับเป็นการต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้เดินหน้าต่อไป รายที่ใกล้จะแย่ก็มีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ สามารถสร้างผลผลิต สร้างงาน สร้างอาชีพให้คนอีกมากมายได้ ซึ่งกลุ่ม SME นี้เป็นกลุ่มที่รองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผลักดันมาตลอด

ประการต่อมากลุ่มคนที่ผ่อนบ้าน เมื่อดอกเบี้ยลง เท่ากับเป็นการกระตุ้นความรู้สึกให้คนกลุ่มนี้แม้จะมีภาระในการผ่อนชำระ มีความกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าเพิ่มเข้ามาในบ้านหรือกล้าเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้ัน

เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่ผ่อนบัตรเครดิต ผ่อนสินเชื่อบุคคล ดอกเบี้ยที่ลดลง เท่ากับเขามีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น กล้าจับจ่ายมากขึ้น

วิธีการนี้เท่ากับเป็นการเพิ่มกำลังซื้อทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับประชาชน เพราะที่ผ่านมากำลังซื้อของคนไทยหายไปทั้งจากภาระดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนชำระทั้งจากบ้านและค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ อีกส่วนหนึ่งกำลังซื้อหายไปจากโครงการรถคันแรกที่ส่วนใหญ่ซื้อกันในปี 2555

ที่ผ่านมารัฐบาลมีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจมา 2 คนแล้ว ผลักดันหลายมาตรการ แต่การตอบรับยังอยู่ในวงจำกัด เช่น มาตรการส่งเสริมในการท่องเที่ยว ชอปช่วยชาติหรือกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 9-17 เมษายนนี้ นั่นเป็นเพียงมาตรการจากฝ่ายรัฐบาลด้านเดียว สามารถกระตุ้นกำลังซื้อและเศรษฐกิจของประเทศได้เพียงส่วนหนึ่ง หากรัฐลองใช้สถานการณ์ดอกเบี้ยต่ำในเวลานี้มาเพิ่มคนที่จะเข้าร่วมโครงการกระตุ้น ย่อมจะทำให้โอกาสในความสำเร็จมีความเป็นไปได้มากกว่า
รัฐบาลพยายามปลุกกำลังซื้อของคนในประเทศ
Win-Win

อีกด้านสำหรับสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อไป ดอกเบี้ยสูงย่อมหมายถึงรายได้ของธนาคารย่อมสูง หากลดอัตราดอกเบี้ยลงมารายได้ส่วนหนึ่งจะหายไป อาจส่งผลต่อราคาหุ้นของสถาบันการเงินเหล่านี้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วสถาบันการเงินย่อมทราบดีว่า การคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง หากวันหนึ่งที่ลูกค้าเหล่านั้นไม่สามารถผ่อนชำระได้ ผลเสียที่ตามมาก็ไม่น้อยเช่นกัน ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เมื่อสูงขึ้น ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่ม กำไรของธนาคารก็ลดลงเช่นกัน สะท้อนไปที่ราคาหุ้นเหมือนกัน

ตรงนี้จึงอยู่ที่วิธีคิดของแต่ละฝ่ายว่ามองสถานการณ์นี้อย่างไร แม้ว่ากำไรของสถาบันการเงินจะหายไปส่วนหนึ่ง แต่ลูกค้าอยู่รอดได้ เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ กำไรของธนาคารก็จะกลับมาเพิ่มตามเดิม

เช่นเดียวกับฝ่ายรัฐบาลที่คาดหวังเรื่องเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อส่งออกไม่ฟื้น ขายสินค้าได้ลำบาก การเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนทำได้หลายวิธี ที่ผ่านมาอุดหนุนเกษตรกร ชาวนา ชาวสวนยาง เพิ่มเงินให้ข้าราชการ แต่คนในภาคเอกชนไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ลำพังการจะเพิ่มเงินในกระเป๋าด้วยการเพิ่มรายการหักค่าลดหย่อนภาษีที่จะใช้ในปีนี้ก็ต้องรอจนรอบภาษีหน้าคือต้นปี 2560

แต่ในระหว่างนี้ต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาเสริม ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินงบประมาณแต่อย่างใด แถมยังช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ฝากเงินที่ดอกเบี้ยลดลงมาไม่น้อย และยังเป็นการช่วยประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพให้มีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น นับว่าเป็นการตอบโจทย์ให้กับทุกฝ่ายได้เป็นอย่างดี

กำลังโหลดความคิดเห็น