xs
xsm
sm
md
lg

81 ปี ทำดีไม่มีหยุด! “ครูปู่-ธีระรัตน์” พ่อดีเด่นแห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตามซอยซอกหลืบที่ใครไม่กล้าเฉียดเข้าใกล้ เขากลับมุ่งหน้าเข้าหา
บนทางเท้าสำหรับเดิน เขาหยุดและนั่ง...

เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ในการสอนหนังสือ เป็นครูข้างถนน เป็นผู้อำนวยการ เป็นพ่อ กระทั่งญาติผู้ใหญ่แก่เยาวชนในสลัมและเด็กเร่ร่อน ด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญาณความเป็นครูอันไม่มอดดับตามอายุหลัก 81 ปี และพร้อมกับก่อตั้งกลุ่ม ซ.โซ่ รวบรวมจิตอาสาคนหนุ่มสาวออกช่วยเหลือพิทักษ์เด็กให้พ้นโคลนเติบใหญ่

ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในชีวิตชายคนเดียว--ชายผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ 1 ใน 100 คน ที่ทำดีเพื่อพ่อหลวงชายผู้ที่ได้รับรางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติ

“ธีระรัตน์ ชูอำนาจ” หรือ “ครูปู่” ชื่อที่ใครๆ ต่างเรียกขานตามอายุ อดีตพ่อพิมพ์ของชาติที่ใช้ช่วงเวลาหลังจากเกษียณ อุทิศตนสร้างคนรุ่นใหม่ที่หลายคนอาจสงสัยว่าทำไปเพื่ออะไร?

เหนื่อยแต่ด้วยรัก
เพราะครูเป็นอาชีพไม่มีคำว่าเกษียณ

“สมัยเรียนก็ไม่ได้คิดว่าจะมาทำอะไรอย่างนี้ ไม่ได้อยากจะเป็นครูด้วยซ้ำ แต่พอเรียนจบ ม.8 เราไม่มีเงินเรียนต่อ เราอยู่กับพ่อคนเดียวแถวบางซื่อ มีอาชีพทำสวน ก็เลยต้องออกไปทำงาน ก็เลือกที่จะเป็นครู”

ชายชราวัย 81 ปี เกริ่นเล่าเรื่องราวเริ่มต้นบนเส้นทางเรือจ้างที่พายพาลูกศิษย์ลูกหารุ่นแล้วรุ่นเล่าก้าวสู่ฝั่งแห่งความรู้

“ก็เป็นครูธรรมดาๆ สอนฟิสิกส์ โรงเรียนเทเวศรศึกษา โรงเรียนราษฎร์ไม่ใช่โรงเรียนรัฐ สมัยนั้นไม่จำเป็นต้องมีวุฒิครูก็สามารถสอนได้ และถ้าอยากเติบโตก็ไปสอบเทียบวุฒิเอา แต่ทีนี้ ระหว่างที่สอนเพื่อหาเงินเรียนต่อให้จบแล้วไปทำอย่างอื่น โรงเรียนที่สอนอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางกับชนชั้นล่าง ไม่มีชนชั้นสูงหรือผู้รากมากดีมีสตางค์ ฉะนั้น เราก็เลยได้เห็นนักเรียนในสลัมที่มีความเป็นอยู่แร้นแค้น

“กางเกงตัวเดียวนุ่งมาโรงเรียน เสื้อตัวเดียวใส่มาเรียน สวมซ้ำนุ่งซ้ำสามวันซักทีบ้าง เช้าๆ เราเจอ ก็ถามเด็ก ทำไมกางเกงเอ็งเปียก เขาก็บอกว่าเพิ่งซักเมื่อคืนครับครู แห้งไม่ทัน ต้นเดือนบอกให้ตัดผม ไม่ตัด ผมยาวมาเลย เพราะไม่มีเงินตัดผม ก็ต้องให้ไปตัด”

จากไม่เคยมีความฝันบนถนนสายการศึกษา เพียงแค่เลือกเป็นครูสมัครเล่น ความผูกผันและสายสัมพันธ์ก็ก่อเกิดและกลายเป็นความรักและปณิธานมั่นเหนียวมานานกว่า 20 ปี

“คือถ้าไม่ไปหมกตัวอยู่ในสลัม จะไม่รู้ถึงวิถีชีวิตเขาว่าเป็นอย่างไร แต่เราได้รับรู้ตรงนั้น ก็เลยมุ่งมาทางนี้ ก็สอบ ปป. (ประโยคประถมศึกษา) ปม. (ประโยคมัธยมศึกษา) จากนั้นก็ไปเรียนครูต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคกลางคืน กลางวันเป็นครูสอนหนังสือ กลางคืนเป็นนิสิตนักศึกษา”

“ก็นานหน่อย กว่าจะจบ”
ครูปู่กล่าวแซมยิ้มเต็มดวงหน้าเมื่อนึกถึงช่วงเวลานั้น เพราะถึงแม้จะเหนื่อย แต่หยาดเหงื่อที่เสียไปก็ทำให้ศิษย์ได้มีอนาคต

“จบได้บรรจุเป็นข้าราชการครูที่โรงเรียนวัดราชโอรส พอเป็นครูแล้วก็รัก แต่จากนั้นก็มีเหตุการณ์ทางการเมืองทำให้เราต้องออกจากการเป็นครู เพราะเรามีความคิดนอกกรอบ แต่เราอยู่ไม่ได้ ทีนี้ด้วยอุดมการณ์ที่อยากช่วยเหลือคน ก็เลยมาเรียนต่อนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียนจบตอนอายุ 45 จากนั้นก็ผันตัวไปทำงานฝ่ายบุคคลบริษัทเอกชน จนเกษียณออกมาเป็นทนายอยู่ปีสองปี ลูกสาวเขาทำงานมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ภรรยาก็มีบำนาญข้าราชการครู เขาก็ขอให้ออกมาอยู่บ้านเฉยๆ

“อยู่บ้าน 5 ปีกว่าๆ ได้ เราก็พักผ่อนตามอัธยาศัย ตามประสาคนแก่ สมัยนั้นใครๆ ก็มักจะชอบไปนั่งผ่อนคลายที่สนามหลวง เราก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เป็นคนแก่ คนไม่มีงานทำ ก็นั่งเล่น แต่ก็มีทั้งผู้หญิงหากิน คนเร่รอน เด็กเร่รอนเต็มไปหมดเลย เราก็เฮ้ย... ด้วยความที่เราเป็นครูมาก่อน ก็อดนิ่งไม่ได้ ละทิ้งไม่ได้ มันยังฝังแน่นอยู่ในตัว เราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็คิดว่าจะทำอย่างไรดีให้เด็กๆ เหล่านี้หยุดการดมกาว นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมมาเป็นอาสาสมัคร

“ตอนนั้นก็ฉายเดี่ยวก่อนเลย เดินดุ่มๆ จะเข้าไปคุยกับเขาแถวๆ อนุสาวรีย์ทหารอาสา เจดีย์ขาว ส่วนมากจะนอนรอบๆ ตรงนั้นเต็มไปหมด แต่เขาวิ่งหนีเรา เขาก็คงจะกลัวคนแปลกหน้า เพราะแหล่งตรงนั้น อบายมุขเยอะไปหมด ก็คิดว่าไม่เป็นไร เด็กๆ พวกนี้คงต้องหิวกันบ้างล่ะ (ยิ้ม) รุ่งขึ้นก็เลยซื้อขนมนมเนยมาเป็นตัวช่วย เฮ้ย...มากินด้วยกันไหม พอเริ่มให้กินขนม เขาก็มากัน เราก็เริ่มการพูดคุย เริ่มสร้างมิตรภาพต่อกัน เราไปหาเขาบ่อยๆ ความชิน สนิทชิดเชื้อก็เพิ่มขึ้น”

“ช่วงนั้นไปทุกวัน เกือบทุกวัน ไปตอนเย็นๆ เพราะช่วงเช้าเขาจะยังไม่ตื่น เราก็เกิดความผูกพัน”

โรงเรียนไร้รั้วจึงเริ่มก่อร่างสร้างโครงขึ้น ริมทางที่รถราวิ่งกันขวักไขว่

“แต่แรกๆ ก็ไม่ได้เชิงสอน เราก็แค่เอาสี เอากระดาษ ไปให้เขาวาดระบาย ให้ได้มีกิจกรรมทำฆ่าเวลา เพื่อหยุดดมกาวมานั่งระบายสี 1-2 ชั่วโมงก็ยังดี ให้ปอดได้พักบ้าง ทำสักระยะ ทีนี้ เราก็ได้ไปรู้จักกับสมัครพรรคพวกกลุ่มพวกครูหลายคน เขาก็ทำของเขาอยู่เหมือนกันที่นั่น เจอมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กของครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เขาก็ดูแลเด็กเร่ร่อนเหมือนกัน

“ทำเองอยู่สัก 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2543 อ่านหนังสือพิมพ์เจอนโยบายรับอาสาสมัครครูข้างถนน สมัย ดร.โจ - พิจิตร รัตตกุล เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ก็ไปสมัครเลยวันรุ่งขึ้น ที่สวนลุมพินี ตอนนั้นก็มีคนมาสมัครประมาณ 100 คนได้ เขาก็เลยแบ่งเป็นกลุ่มกลุ่มละ 20 คน ออก 5 โซน สวนลุม สาทร บางกะปิ ฝั่งธน แล้วโซนสนามหลวง เราได้สนามหลวง คือข้างชุมชนศิริอำมาตย์ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นตรอกสาเก”

ลงมือทำอย่างเต็มความสามารถ แม้จะไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร จากทั้งทัศนคติและสถานที่

“ไล่เคาะตามบ้านเด็กๆ วันแรกๆ จะสอนเลยไม่ได้ ต้องไปทำความรู้จักคุ้นเคยก่อน แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ ครอบครัวบางครอบครัวก็ต่อต้านไม่ให้เด็กมาเรียน”

โดนด่าพ่อล่อแม่ ได้ยินกับหู แต่เราไม่สนใจ เราสนใจแต่อนาคตของเด็ก”

ครูปู่กล่าวอย่างไม่สะทกสะท้าน เพราะแม้ตอนนั้นจะได้เด็กมาเรียนเพียง 7-8 คน แต่การที่ทำไปได้สักระยะหนึ่ง ครูอาสาเริ่มลดหาย นั่นต่างหากที่บาดใจ และยิ่งในเวลาต่อมาไม่นาน ทุกอย่างก็ต้องล้มพับ เมื่อหมดวาระตำแหน่ง นโยบายครูข้างถนนก็ปลิวหายไปกับสายลมริมทาง

“แต่เราก็ว่าเขาอย่างไรไม่ได้ ทำก็ทำ เลิกก็เลิกไป ไม่ว่ากัน ก็เหลือ 3 คน มีครูผู้หญิงสองคน ครูมุ้ย ศรีสุข มงกุฏวิสุทธิ์ ครูน้อง กนกพรรณ เดือนเต็มดวง ที่ยังคงอยู่ ก็เลยคุยกันว่าทำงานต่อไหม เป็นอาสาสมัคร เขาก็บอกว่าทำ ก็เลยทำกัน ทำแม้ไม่มีภาครัฐสนับสนุน ก็ควักกระเป๋ากันเองตามแต่จะได้ ตามแต่จะมี ผมก็อาศัยเงินบำนาญภรรยากับของลูก ตัวผมไม่มีอะไรเลย มีแต่หัวใจกับรอยยิ้ม

“ก็เกิดเป็นกลุ่ม ซ.โซ่ ซึ่งความหมายของโซ่ มันคือห่วง โซ่เวลาที่คล้องต่อกันเป็นข้อๆ ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งแข็งแรง เราเป็นโซ่แห่งความรัก ก็ไม่ต่างกัน เราเลยร่วมใจทำกันต่อ ตอนนั้นเรื่องการเรียนการสอนก็แบบบูรณาการ เอาหลายๆ อย่างมาผสมผสาน เรื่องอุปกรณ์ก็เหมือนกัน ไม่มีงบ บางทีเราไปประชุมเสวนา ดินสงดินสอที่เวลาเขาประชุมเสร็จ มักจะลืมทิ้งวางไว้บนโต๊ะ เราก็เก็บมาใช้ เรื่องพื้นที่สอนเรียนก็ไม่ต่างกัน ก็อาศัยร้านค้าเป็นพื้นที่ริมทางเท้าเป็นที่สอนช่วงเวลาที่ยังไม่ตั้งร้าน พอเขามา เราก็เลิกเรียนแล้ว เรียนกัน 3 ชั่วโมง”

แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังคงรูปแบบแผนเดิม และทันทีที่พบเจอหรือทราบข่าวว่ามีเด็กเร่ร่อนในวัยเรียน ครูปู่ก็จะเดินทางไปหาและเปิดการเรียนการสอน โรงเรียนไร้รั้วจึงค่อยๆ ขยายสาขา ทั้งๆ ที่เหลือเพียงตัวคนเดียวในเวลานั้น

“ตอนนั้นทำไปสักระยะก็เห็นเด็กเร่ร่อนที่ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์ เราก็ไป มีนักเรียน 2-3 คนได้ แต่แรกๆ ก็เหมือนจะไม่ไหวเหมือนกัน เพราะครูมุ้ยเขาได้บรรจุเป็นนักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนครูน้อง พอ ปดส.ถูกยุบ ก็ไปทำงานการบิน เวลาเขาก็น้อยลง ทีนี้ เรื่องทุนไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเรื่องของบุคลากร แต่เราก็ไม่เลิก จังหวะที่จะไม่ไหวๆ เราก็เกิดความคิด ให้ครูมุ้ยเขาประกาศหาเด็กนักศึกษา เอาเวลาว่างมาทำประโยชน์ให้สังคม ช่วยบริการสังคม คณะไหนก็ได้ ปรากฏว่าได้ผล เด็กมาสมัครกัน เราก็ได้เด็กนักศึกษามาครั้งละ 10 คนบ้าง 8 คนบ้าง มาช่วย

“แต่ถ้าทำคนเดียวก็ไม่เลิกนะ ก็จะทำต่อไป เพราะใจรัก มันมีความรัก อยากจะสร้างคน มันก็เลยเลิกไม่ได้ คือครูมันมีสองอย่าง อาชีพครูกับครูอาชีพ อาชีพครูมีทางเกษียณ แต่ครูอาชีพไม่มีคำว่าเกษียณ สอนกันจนตายไปข้างหนึ่ง

“และก็ไม่เหนื่อยด้วย เพราะความเหนื่อยที่แฝงไปด้วยความสุข มันทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อย"

ไม่มีใครไม่มีค่า
หากมองลึกถึงหัวใจ

จากหัวใจและอุดมการณ์และการลงแรงอย่างไม่คาดหวัง นอกจากสิ่งดีๆ ที่ทำให้เกิดผลต่อกลุ่มเยาวชนนักศึกษา ในระยะเวลาไม่นาน สังคมก็ได้รับรู้และกลายเป็นแรงผลักสำคัญส่วนหนึ่งซึ่งทำให้หลายคนเจริญรอยตาม...

จาก ตรอกสาเก ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์ หลังจากได้รับความร่วมมือ กลุ่ม ซ.โซ่ ทำอย่างไรต่อตอนนั้น

หลังจากนั้นปรากฏว่าเป็นที่สนใจของสื่อทั้งโทรทัศน์แล้วก็หนังสือพิมพ์ ก็ต้องขอบคุณ เพราะพอเป็นที่รู้จัก คนก็ช่วยกันบริจาคสิ่งของ ดินสอ สื่อการเรียนตามศรัทธามาเรื่อย เงินทองบ้างเล็กๆ น้อยๆ ปัญหาเรื่องบุคลากรก็เริ่มลดลง พอเราได้รับความสนใจประมาณปี พ.ศ. 2550 จากนั้นได้รับคัดเลือก 1 ใน 100 ของคนทำดีเพื่อพ่อ พระราชทานรางวัล “พ่อดีเด่น” แล้วก็รับรางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติ เราก็เลยได้รับความไว้ใจและได้รับโอกาสจากกรรมการชุมชน เขาโทร.หาให้เรามาเปิดการเรียนการสอนที่ชุมชนตึกแดง บางซื่อ เราก็มา พาอาสามา 5-6 คนที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ไปปุ๊บก็คุยกับชุมชน ปรากฏว่ามีเด็ก 50-60 คน ก็ตัดสินใจเปิดเลย คือยิ่งเยอะยิ่งรีบ เพราะเราจะได้ทำงานเต็มที่

จากนั้นก็มีคนมาแจ้งบอกว่าที่สวนลุมพินีมีเด็กเร่ร่อนติดยาที่อยู่ในช่วงวัยเรียน เราก็ไปดู แล้วก็เปิดที่นั่น ก็ช่วยเด็กจากผอมบักโกรกให้รอดหลายต่อหลายราย ที่ชุมชนตึกแดงเองก็พัฒนาพื้นที่ได้จากคนที่เขาเคยอยู่แล้วเขามีฐานะช่วยเหลือ มีหลังคา ห้องสมุด คือคนเล็งเห็นความสำคัญมากขึ้น เราก็มีทุนในการเลี้ยงข้าวเที่ยง มีสไลด์ฉายให้เด็กดู มีพัดลม มีครูอาสาเพิ่มหลายท่าน ตอนนี้ตัวเลขนิ่งๆ อยู่ที่ประมาณ 25 คนประจำ ไม่นับรวมนักศึกษา ล่าสุดนี้กำลังจะไปทำเพิ่มที่หัวลำโพง แต่กำลังรอคนสมัครอาสาเป็นครูเพิ่มอยู่

ปัญหาเด็กเร่รอนดำรงอยู่ในสังคมไทยมาช้านานโดยที่ยังไม่หมดสักที อะไรที่ให้คิดว่าเราสามารถเปลี่ยนหรือแก่ปัญหาตรงนี้ได้

ได้ ถ้าเน้นจริยธรรมกับคุณธรรม... จริยธรรมก็คือดูแลความประพฤติตัวเองให้ดี ขณะที่คุณธรรมก็เป็นเรื่องของการมีจิตใจที่ดี รักษาศีลรักษาสัตย์ เพราะเขาไม่ใช่คนไม่ฉลาด ไม่มีสมอง แต่บางทีเขาขาดจริยธรรมคุณธรรม เขาถึงทำความผิด พอเขาขาด เขาก็ไม่เห็นอนาคต เราก็เอามาเติมให้ อย่างกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ที่เขากระทำความผิด สังคมด่าเขาลามไปถึงพ่อแม่เขามากมายเหลือเกิน อยากจะบอกว่าสังคมยุติได้แล้ว เขาไม่ได้เลวร้ายมาตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่สังคมเราต่างหากที่ไม่เข้าไปให้โอกาสเขาอย่างจริงจัง สมัยเด็กๆ เขาไม่มีโอกาสที่จะเจอะเจอความดีหรือรู้จักการเป็นคนดี เขาขาดการดูแล ขาดคนให้ความรู้เกี่ยวกับศีลธรรม ถ้าเขามีศีลธรรมตั้งแต่เด็กๆ เขาจะทำไหม ไม่ทำ กลัวบาป

แล้วพอมีการศึกษา แน่นอนว่าคนได้รับการศึกษา มองเห็นอนาคต ก็จะกลัวเสียอนาคต แต่ถ้าไม่ได้รับ ก็ไม่มีอยู่แล้ว จะกลัวอะไรอีก สังเกตง่ายๆ คนเรากลัวคนไม่รัก อยู่บ้านก็อยากให้พ่อแม่รัก แต่ถ้าไม่ได้ ก็ไม่อยู่ ประชดชีวิตดีกว่า พอเขาไม่มีอยู่แล้วจะไปกลัวอะไรข้างหน้า คำพูดที่ผมเคยได้ยินเวลาไปเยี่ยมคนเร่ร่อน พวกคนไร้บ้าน เขาว่าเขาไร้บ้าน ไร้ที่อยู่อาศัย ไร้อาหาร ยังไม่เจ็บปวดเท่ากับไร้คนรักเขา นี่คือเจ็บปวดมากเหลือเกิน เขาถูกทอดทิ้ง การไปหาเขา เขาดีใจ มีคนมาหา แสดงว่าเขามีคุณค่า คนเราถ้าเห็นว่าตัวเองมีคุณค่า เขาจะคิดสิ่งที่ดีๆ อันนี้แหละที่เราทำให้เขาคิดสิ่งที่ดี เขาจะได้ไม่คิดสิ่งที่ชั่ว เราก็จะแก้ปัญหาได้ มนุษย์คือมนุษย์ อย่าเหยียดหยามมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์ก็มีจิตใจ โจรห้าร้อยก็มีจิตใจ

จากประสบการณ์จำนวนของเด็กเร่ร่อนที่หลุดพ้นจากปัญหาตรงนี้กลับเป็นคนดีสู่สังคมมีมากน้อยแค่ไหน

ขึ้นอยู่กับฐานอายุ ถ้าแก่ๆ เปลี่ยนไม่ค่อยได้แล้ว ถ้ายังหนุ่มสาวเปลี่ยนได้ แก่ๆ เปลี่ยนไม่ได้ เพราะไม่เห็นลู่ทางอนาคต ก็กระทำความผิดซ้ำซาก คุกก็เป็นเรื่องเล็ก แล้วออกมาก็ไม่รู้จะทำอะไร กลับไปอยู่เหมือนเดิมดีกว่า ทีนี้ ก่อนกลับไปก็ทำอะไรสักอย่างให้มันสะใจสักอย่างก่อน เราจึงมุ่งเน้นเด็กๆ เล็กๆ อนุบาล ชั้น ป.1-2-3 อย่างที่เห็น คือเริ่มสร้างวิถีชีวิตของเขาตั้งแต่เด็กๆ ไปเลย เราไม่สามารถจะเข้าไปแก้ไขครอบครัวเขาได้

10 คน ได้ 1 คน ก็เพียงพอ 1 คนก็เท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว ที่คาดหวังน้อยเพราะถ้าคาดหวังมากแล้วไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง เราก็เสียใจ แต่เรามาสอนก็หวังว่าต้องดี แต่คาดหวังน้อยไว้ก่อนดีสุดแล้ว ดีกว่าเดิมขึ้นมาหน่อยก็ยังดี อย่างน้อยๆ ก็มีดีเข้ามาบ้าง อย่างน้อยๆ 1 คน ก็ยังดี คนจะเลวก็ลดลงหน่อย แทนที่จะติดคุกมากหน่อยก็ลดโทษลง เพราะยังคิดได้บ้าง ก็มีลูกศิษย์ลูกหากลับมา นึกถึงเราว่าเราสร้างชีวิตใหม่ให้เขา แต่ตอนนั้น ด้วยสภาพแวดล้อมสังคมและทางบ้าน ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น เขาก็มาบอกว่าถ้าไม่มีครู ผมไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ พลาดแล้วก็กลับตัวกลับใจ

สิ่งนี้ทำให้นอกจากการที่เรามองเห็นคุณค่า ก็เสมือนเป็นแรงผลักให้เรายังคงเชื่อมั่นและก้าวต่อ

คือพ้นจากเราไป ไม่มีเงินเรียนต่อ กลับไปตรงนั้นจุดเดิม แน่นอนว่ามี ก็เสียใจเป็นธรรมดา แต่เราไม่สามารถไปแก้ไขชีวิตเขาได้ เมื่อเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา ถ้าเผื่อว่าเขาหลุดมาจากครอบครัว ผมจะจัดช่วยเขา แต่เขาหลุดไม่ได้ ที่มันไม่ได้เลย มีหมด ติดยา ขายตัว จากที่ไร้เดียงสา ก็ต้องจบ หดหู่เหมือนกัน แต่ไม่โทษเด็ก เพียงกล่าวโทษสภาพแวดล้อมเท่านั้นเอง

เขาไม่ได้ชั่วร้ายมาแต่กำเนิด ไม่มีสืบเชื้อสาย เราเปลี่ยนแปลงจิตใจเขาได้ คือเราให้ความรักเขาก่อน จากที่คิดว่าเย็นนี้จะไปปล้น ไปฆ่า มีเราไปหา ให้ความรัก มนุษย์เรามีส่วนดีทั้งนั้น มีจิตใจ มีการเคารพรักใคร่ เจอหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ถูกไหม ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงมีอยู่คำหนึ่ง คือปิยวาจา

เขาเปิดใจเมื่อไหร่ เราใส่จริยธรรม คุณธรรม อย่างเวลาสอนเด็ก สังเกตได้ เด็กเรียนกัน 4 คน 4 มุม โต๊ะญี่ปุ่น ยางลบเด็กใช้เสร็จมักกำไม่ให้คนอื่นใช้ ทุกทีที่เข้ามา ตั้งแต่แรก ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ ก็บอกให้วางตรงกลางแบ่งกันใช้ พอเขารู้ ก็เข้าใจ ก็เอาไปปรับใช้กับชีวิตได้ แค่เราเข้าใจ

เริ่มต้นที่การให้
คือเกราะและอาวุธ

“เขาก็มีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีวิญญาณ ถ้าเราเข้าถึงจิตใจเขาได้ ขอให้เข้าถึงจิตใจเขาเถอะว่ามีคนคนหนึ่งที่ยังหวังดีต่อวิถีชีวิตของเขา เชื่อว่าเปลี่ยนได้ แต่บางคนที่มองว่าเปลี่ยนไม่ได้ เพราะเขาเห็นแก่ตัว ธุระไม่ใช่ ไม่ใช่ของตัวเอง ทำทำไม ได้อะไร ไม่ได้อะไรเลย ไปทำทำไม ผมโดนมาเยอะ แต่ไม่ใช่ครอบครัว ครอบครัวเขาใจดี แต่คนรอบข้างและคนนอกก็มักจะบอกว่า ทำไปทำไม เสียเงินเสียทองด้วย ได้อะไร”

ครูปู่ย้ำความรู้สึกต่อเยาวชนที่มีความเดียงสาเกินวัยเหล่านี้ แม้ในวันวัยใกล้ฝั่งแต่ก็ยังยึดมั่นวาจาสัตย์ตราบจนสิ้นลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ก็จะขอเป็นครูสอนสั่งศิษย์

“นอกจากทำให้เขาเหล่านี้ได้มีอนาคตที่ดี สิ่งที่เราไม่คาดคิดคือเราก็ได้ความสุขตอบแทนด้วย ความสุขที่ซื้อขายไม่ได้ ความสุขจริงๆ ที่ไม่ใช่ความสุขจอมปลอม การทำให้ผู้อื่นมีความสุข เรามีความสุขด้วยใช่ไหม มันยั่งยืนเหลือเกิน มันไม่ใช่สิ่งหลอก อย่างคำสั่งสอนพระพุทธเจ้า จงช่วยคนอื่น จงมองคนอื่นมากกว่ามองตัวเอง ศาสนาคริสต์ก็เหมือนกัน มองคนอื่น คำสอนในหลวง ผู้ให้คือผู้รับ รับอะไรรับความสุข จงให้เถะครับ ถ้าเราเป็นที่พึ่งของเราได้แล้ว ยิ่งเรามี เราก็จะอยากให้

“ทุกวันนี้ วันไหนไม่ได้ออกไปทำประโยชน์ให้สังคม แทบจะนอนไม่หลับ มันผูกพัน อยากให้คนอื่นเขาได้ดี อยากให้คนอื่นมีความสุข เรามีความสุขอยู่แล้วก็ต้องแบ่งให้คนอื่น ง่ายๆ ไม่ยาก ไม่มีคำคมคารมคมคาย ฉะนั้น การช่วยเหลืออย่ารอ ชีวิตเราจะอยู่รอดถึงพรุ่งนี้ไหม ไม่รู้ใช่ไหม ถ้าสมมติว่ารอจนกว่าจะถึงพรุ่งนี้แล้วค่อยทำ ถ้าบังเอิญเราตายไปล่ะ ใครจะรู้อนาคต ใช่ไหม ฉะนั้นรอไม่ได้ พระพุทธเจ้าสั่งสอนถูกต้องแล้ว การทำความดีอย่ารอ ทำเถอะรีบทำ ให้คนอื่นเขามีความสุข พอแล้วง่ายๆ หลักพุทธเจ้า พอแล้วแค่นั้น”

21 ปีกว่า จนถึงวันนี้ คือบทบาทชีวิตที่ไร้ซึ่งทุน แต่อัดแน่นไปด้วยธารน้ำใจ ด้วยอุดมการณ์ในฐานะมนุษย์

“ก็อยากให้เขามีชีวิต เติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่มุ่งหวังอะไรมากไปกว่านั้น กำลังเรามีแค่นี้ เราก็ทำตามกำลังของเราที่ความสามารถเราจะไปได้ ถ้าเกินมาก เราก็ไม่ไหว แต่การที่เราทำอย่างนี้ มันก็เป็นเกราะ เกราะที่ดีที่สุดก็ย่อมเป็นอาวุธที่ดีด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในการป้องกันคนรุ่นถัดไปก็คือเด็กปัจจุบันนี้ ถ้าเขาเติบโตไปเป็นคนดี เด็กรุ่นหลังก็เอาเยี่ยงอย่างกัน เป็นทอดๆ แต่ถ้าเด็กออกนอกลู่นอกทาง ตัวอย่างเหล่านี้ของเด็กๆ มันก็จะตามกัน มันก็เป็นไปตามวัฏจักร ถ้าเด็กดีเป็นตัวตั้ง เด็กต่อไปมันก็เป็นคนดีหมด ไม่มากก็น้อย แต่เปลี่ยนแปลงได้ ได้แน่นอน

“ทุกวันนี้ก็เปลี่ยนได้เยอะแล้ว แต่ต้องอาศัยเวลาหน่อย เพราะกติกาของสังคมมันมีอยู่แล้ว คนดีมันมีมากกว่าคนเลว ไม่อย่างนั้นสังคมอยู่ไม่ได้ ถ้าดีมากกว่ามาช่วยกันมันจะลบคนเลวออกหมด ถ้าเราร่วมมือกัน ช่วยได้อย่างแน่นอน ใครสนใจอยากร่วมด้วยช่วยกัน ที่นี่เปิดรับหมด ขอแค่พกใจมาอย่างเดียว โลกมันไม่ได้โหดร้าย ถ้าเรามีใจ เข้าใจ และเริ่มต้นที่การให้”

ปัจจุบันการเรียนการสอนของกลุ่ม ซ.โซ ดำเนินการสอนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ โดยช่วงเช้าของวันเสาร์เริ่มแรกที่ชุมชนตึกแดง ก่อนที่ช่วงบ่ายตะวันคล้อยจะจบลงที่สวนลุมพินี ส่วนวันอาทิตย์ที่ตรอกสาเก ตามด้วยใต้สะพานอรุณอัมรินทร์ ด้วยแรงและทุนของกลุ่มที่ไม่ได้สังกัดองค์กรใด



เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ศิวกร เสนสอน

กำลังโหลดความคิดเห็น