“คนไร้บ้าน” หรือ “คนเร่ร่อน” ถือเป็นกลุ่มคนที่มีชีวิตยากลำบากที่สุดในสังคม เพราะไร้บ้านและขาดความมั่นคง ในชีวิต อยู่อาศัยไม่เป็นหลักแหล่ง เช่น สวนสาธารณะ ริมทางเดิน สถานีรถไฟ ใต้สะพานลอย อาคารร้างต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่คนไร้บ้านจะอาศัยอยู่รอบ ๆ สนามหลวง ดำรงชีพด้วยอาหารแจกตามมูลนิธิ และสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ บางคนก็จะมีอาชีพเก็บของเก่าขายเป็นรายได้
อย่างไรก็ตาม คนไร้บ้านเหล่านี้ได้มีการรวมตัวเพื่อช่วยเหลือกัน และผลักดันให้ทางราชการให้ความช่วยเหลือ จนนำมาสู่การสร้างบ้านพักรองรับคนไร้บ้าน เพื่อให้มีที่ตั้งหลักชีวิต นำไปสู่การสร้างบ้านใหม่คนไร้บ้านเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วย นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ได้เดินทางมาติดตามผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยกลุ่มคนไร้บ้านที่ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู เขตบางกอกน้อย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงและซ่อมแซม เนื่องจากอาคารที่พักอาศัยเดิมมีสภาพทรุดโทรม เพราะก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2551 โดยใช้งบประมาณจาก พอช. จำนวน 2 ล้านบาท โดยการซ่อมแซมจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมกราคม 2560 เพื่อเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของคนไร้บ้าน สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้ 60 - 70 คน
หลังจากนั้น ปลัดกระทรวง พม. และคณะ ได้เดินทางไปที่ชุมชนใหม่คนไร้บ้าน ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมบ้านใหม่ของคนไร้บ้าน และร่วมกิจกรรมปล่อยปลาลงในสระเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร และตำส้มตำจากผลิตผลที่ชาวบ้านร่วมกันปลูก ซึ่งมีทั้งมะละกอ มะนาว พริกขี้หนู ผักสวนครัวต่าง ๆ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังร่วมกันเลี้ยงเป็ด ไก่ จำนวน 200 ตัว เลี้ยงแพะเนื้อ 3 ตัว และปลาดุกอีกจำนวนมาก โดยปลัดกระทรวง พม. ได้กล่าวให้กำลังใจและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งบ้านใหม่ของคนไร้บ้านเริ่มก่อสร้างในปี 2557 ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตและบ้านเดี่ยวรวม 20 หน่วย โดยมีคนไร้บ้านเข้าอยู่อาศัยตั้งแต่กลางปี 2558 ขณะนี้มีผู้เข้าอยู่อาศัยแล้วจำนวน 20 ครัวเรือน
นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน โดยมีหน่วยงานภายในกระทรวง และภาคประชาชนร่วมเป็นคณะทำงาน นอกจากนี้ยังได้ผลักดันโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบแผนงานและงบประมาณแล้ว จำนวน 118.60 ล้านบาท
แผนงานดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2560 - 2561 ประกอบด้วย 1. สร้างศูนย์พักอาศัยคนไร้บ้านที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น 2. กิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต 3. จัดสวัสดิการช่วยเหลือคนไร้บ้าน และ 4. สำรวจข้อมูลคนไร้บ้านเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานดังกล่าว
นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ หรือ “ลุงดำ” ตัวแทนกลุ่มคนไร้บ้าน กล่าวว่า กลุ่มคนไร้บ้านเป็นองค์กรของคนไร้บ้าน เริ่มต้นรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มคนไร้บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยการสนับสนุนของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลช่วยเหลือให้กำลังใจคนไร้บ้านเร่ร่อน สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ รวมถึงสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเองของคนไร้บ้านผ่านกระบวนการกลุ่ม และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เพื่อเป็นกลไกในการประสานงาน การผลักดันเชิงนโยบายของรัฐให้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาของกลุ่มคนไร้บ้าน
“สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดคนไร้บ้านนั้น มีหลายสาเหตุ เช่น การไม่มีงานทำหรือตกยากจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ บางคนถูกเลิกจ้าง ทำให้ไม่มีอาชีพ ไม่รายได้พอจะเช่าบ้านอยู่ บางคนมีปัญหาครอบครัวไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ บางคนชอบอิสระ พอใจกับการท่องเที่ยวพเนจร ไม่ชอบอยู่ร่วมกับคนอื่น บางคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ พิการ มีโรคประจำตัว ครอบครัวรังเกียจหรือไม่พร้อมดูแล หรือเพิ่งออกจากคุก ไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมปกติหรือสังคมไม่ยอมรับ ซึ่งการมีบ้านพักหรือศูนย์คนไร้บ้านรองรับจะทำให้คนไร้บ้านเหล่านี้มีที่ตั้งหลักชีวิต ถ้าหางานทำได้ หรือมีอาชีพ มีรายได้รองรับ มีหน่วยงานต่างๆ มาสนับสนุน ก็จะทำให้คนไร้บ้านเหล่านี้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งและเป็นของตัวเอง เปลี่ยนจากคนไร้บ้าน เป็นคนมีบ้าน มีการพัฒนาชีวิต มีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง” ลุงดำ แกนนำคนไร้บ้าน กล่าว
“ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู”
“สุวิทย์ วัดหนู” เป็นนักพัฒนาด้านสิทธิที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองมายาวนาน เมื่อเสียชีวิตไปแล้วจึงได้รับเกียรติให้นำชื่อมาตั้งเป็น “ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู” ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินเช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณป้ายหยุดรถจรัญสนิทวงศ์ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 200 ตารางวา ก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตขนาด 2 ชั้น รองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ 70 คน ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 2.5 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2551
ศูนย์คนไร้บ้านแห่งนี้ถือเป็นรูปธรรมที่สำคัญที่เป็นผลมาจากการรวมตัวกันเรียกร้อง เจรจาต่อรองและผลักดันกับหน่วยงานรัฐ ทำให้กลุ่มคนไร้ราก คนจน คนจร ที่ไร้ที่ยืน ไร้ตัวตนในสังคม ได้ตระหนักถึงพลังของตัวเอง พวกเขาได้สร้างกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน เช่น ห้ามดื่มสุรา ยาเสพติด ห้ามทะเลาะวิวาท ลักขโมย ฯลฯ ช่วยกันออกค่าน้ำ ค่าไฟเดือนละ 50 บาท (ยกเว้นคนที่ไม่มีรายได้) อยู่กันแบบพี่แบบน้อง พอเช้ามืดก็จะแยกย้ายกันไปทำงาน ส่วนใหญ่จะเก็บหาของเก่าตามถังขยะ เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุน คนที่แข็งแรงหรือมีฝีมือทางช่างก็จะไปรับจ้าง เป็นกรรมกรก่อสร้าง หรือรับจ้างทั่วไป
นอกจากนี้ พวกเขายังได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งศูนย์รับซื้อขยะรีไซเคิลขึ้นมา จัดตั้งร้านค้าสหกรณ์ โดยการระดมหุ้นมาเป็นกองทุน หุ้นละ 50 บาท คนหนึ่งไม่เกิน 10 หุ้น ปัจจุบันมีเงินทุนประมาณ 50,000 บาทเศษ จำหน่ายสินค้า เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำปลา เครื่องดื่ม (ไม่มีเหล้า - บุหรี่) ผงซักฟอก สบู่ ฯลฯ สิ้นปีก็มีเงินปันผลเฉลี่ยกันไปตามผลกำไร ส่วนคนที่ขัดสนก็ซื้อเงินเชื่อได้ก่อน ถือเป็นการช่วยเหลือกันมากกว่าจะเน้นผลกำไร กลุ่มสวัสดิการ โดยให้สมาชิดออมเงินเข้ากลุ่มวันละ 1 บาท มีสมาชิกทั้งหมด 56 คน มีเงินกองทุนรวม 30,389 บาท
เงินกองทุนนี้จะนำไปช่วยเหลือสมาชิก เช่น คลอดบุตร เจ็บป่วย เสียชีวิต การศึกษา และดูแลผู้สูงอายุ การออมทรัพย์เพื่อสร้างบ้าน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ การออมเพื่ออนาคต เดือนละ 100 บาท ออมทรัพย์บ้านหลังแรก บ้านเดี่ยว (ขนาด 3 X 6 เมตร) เดือนละ 700 บาท บ้านรวมเดือนละ 400 บาท ปัจจุบันมีเงินออมทรัพย์รวม 30,256 บาท
นอกจากจะรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือสมาชิกภายในศูนย์คนไร้บ้านแล้ว สมาชิกคนไร้บ้านยังมีกิจกรรมช่วยเหลือคนไร้บ้านที่เร่ร่อนอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ โดยแบ่งออกเป็น 3 ทีมๆ ละ 3 คน คือ ทีมสนามหลวง ทีมลานคนเมือง (ศาลาว่าการ กทม.) และทีมสถานีขนส่งหมอชิต โดยสมาชิกคนไร้บ้านจะออกไปให้คำแนะนำ นำอาหารและเครื่องดื่มไปแจก ลงพื้นที่ เดือนละ 5 ครั้ง หากใครอยากจะมาพักที่ศูนย์ก็ต้องผ่านการรับรองจากสมาชิกก่อน และมีกฎ กติกาในการอยู่ร่วมกัน สมาชิกใหม่ที่เข้ามาอยู่ที่ศูนย์ ช่วง 1 เดือนแรกไม่ต้องจ่าค่าไฟฟ้า น้ำประปา เพื่อให้สมาชิกได้ปรับตัว หลังจากนั้น จะใช้วิธีหารจากจำนวนสมาชิกที่เข้าพักที่ศูนย์ตามบิลไฟฟ้า น้ำประปา ส่วนเรื่องอาหารก็จะมีการแบ่งปันกัน แต่คนที่ทำงานได้จะต้องออกไปหางานทำเพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงดูตัวเอง หากมีเงินเหลือก็นำมาออมทรัพย์
“ผมถือว่าที่นี่เป็นศูนย์ตั้งหลักชีวิต แม้ว่าเราจะล้มลุกคลุกคลานมาจากที่ไหนก็แล้วแต่ แต่ที่นี่ทำให้เรามีที่ตั้งหลัก มีที่พัก คนที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วยก็ออกไปหางานทำ หรือเก็บของเก่าขาย มีรายได้ก็มาออมเอาไว้เป็นทุนค้าขาย หรือสร้างบ้านเป็นของตัวเอง สร้างอนาคตใหม่ ไม่ต้องร่อนเร่อีกต่อไป” ลุงดำในฐานะผู้อาวุโสของกลุ่มคนไร้บ้านกล่าว
ปัจจุบันศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู กำลังอยู่ในระหว่างการรื้อถอนเพื่อปรับปรุงใหม่ เนื่องจากศูนย์ฯ เดิมอยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สนับสนุนงบประมาณจำนวน 2 ล้านบาท
บ้านใหม่ของ “คนเคยไร้บ้าน”
จากประสบการณ์ของ “คนจนรุ่นพี่” เช่น กลุ่มคนใต้สะพาน กลุ่มชุมชนริมทางรถไฟ ฯลฯ ที่ร่วมกันต่อสู้ เรียกร้อง จนรุ่นพี่เหล่านี้ได้รับสิทธิจากรัฐในการเช่าที่ดินหรือได้งบประมาณสนับสนุนการสร้างบ้านใหม่ ทำให้กลุ่มคนไร้บ้านร่วมกันปรึกษาหารือ และตั้งความหวังเอาไว้ว่าพวกเขาจะต้องมีบ้านหลังแรกในชีวิตให้ได้ จึงร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาในปี 2553 สมาชิกที่เข้าร่วมจะต้องออมเงินอย่างน้อยคนละ 100 บาทต่อเดือน มีสมาชิกเข้าร่วมจำนวน 20 ราย
ในปี 2557 ความฝันของคนไร้บ้านก็เป็นจริงขึ้นมา พวกเขาขอเช่าที่ดินริมทางรถไฟจาก รฟท.บริเวณพุทธมณฑลสาย 2 เนื้อที่ 250 ตารางวา ระยะเวลาเช่า 30 ปี เพื่อก่อสร้างบ้านเฟสแรก เป็นบ้านรวม 2 ชั้น มี 16 ห้อง บ้านเดี่ยวขนาด 3X6 ตารางเมตร มี 4 หลัง โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นเหล็กและคอนกรีต ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย จำนวน 6 แสนบาท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 1.2 ล้านบาท และเงินออมสมทบจากสมาชิกคนไร้บ้านรวม 3 หมื่นบาทเศษ
สมาชิกที่มีสิทธิ์เข้าอยู่อาศัยจะต้องออมเงินเพื่อสร้างบ้านสม่ำเสมออย่างน้อย 6 เดือน บ้านรวมสำหรับอยู่อาศัยคนเดียวออมเดือนละ 400 บาท บ้านเดี่ยวสำหรับคนมีครอบครัวออมเดือนละ 700 บาท หลังจากนั้นจะต้องผ่อนชำระต่อเท่ากับอัตราเงินออมทุกเดือนเป็นระยะเวลา 30 ปี (รวมค่าเช่าที่ดินรายละ 160 บาทต่อเดือน) ขณะนี้การก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว มีผู้อยู่อาศัยจำนวน 20 ครัวเรือน นอกจากนี้พวกเขายังร่วมกันทำแปลงปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา เป็ด ไก่ และ แพะ เอาไว้เป็นอาหารลดรายจ่ายและขายเพื่อเป็นรายได้เข้ากองกลาง
อ๊อด มูลทา ศิษย์เก่าสนามหลวง วัย 52 ปี เป็นเจ้าของบ้านเดี่ยวที่เขาเรียกว่า “บ้านทางเลือก” เล่าด้วยความภูมิใจว่า เมื่อก่อนต้องอาศัยสนามหลวงเป็นบ้านนานนับ 10 ปี เพราะตกงาน ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน แต่เมื่อได้รวมกันเป็นกลุ่มคนไร้บ้านจึงได้มีที่พักชั่วคราว ไม่ต้องเร่ร่อน มีรายได้จากการขี่ซาเล้งตระเวนเก็บของเก่า ถ้ามีงานก่อสร้างก็ไปทำ สะสมเป็นเงินออมทรัพย์เพื่อสร้างบ้านเดือนละ 700 บาท เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น อยู่กับแฟน (เจอกันที่สนามหลวง) อาชีพเก็บของเก่าเหมือนกัน
“ถึงผมจะมีบ้านแล้ว แต่ก็ยังไม่ทอดทิ้งพี่น้องที่เคยเร่ร่อนมาด้วยกัน พวกเรายังรวมกลุ่มกันไปช่วยเหลือ เอาข้าวไปแจกที่ลานคนเมือง ให้คำแนะนำแก่คนที่ยังไร้บ้านให้มาพักที่ศูนย์ฯ ไม่ต้องไปนอนตากแดดตากฝน เวลามีเงินก็ให้เก็บออมเอาไว้ สักวันเราก็จะมีบ้านได้ มีอนาคตใหม่ ไม่ต้องเร่ร่อนอีกต่อไป” อ๊อด กล่าวทิ้งท้าย
วันนี้แม้ออดและสมาชิกคนไร้บ้านอีกหลายสิบคนจะไม่ต้องร่อนเร่ไปที่ไหนอีกแล้ว เพราะมีบ้านเป็นของตัวเองและมีครอบครัวที่อบอุ่น แต่ก็ยังมีคนจนจัดที่ยังเร่ร่อน ไร้ที่พักพิงอีกมากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ บ้านหลังแรกของออดคงจะเป็นตำนานและเป็นบันทึกหน้าใหม่ของคนไร้บ้าน เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้และร่วมกันหาทางออกต่อไป