xs
xsm
sm
md
lg

อัด 4 พันล้านแก้รุกล้ำลำคลอง กทม.-จ่ายก่อนหลังละ 8 หมื่น-118 ล้าน ผุดศูนย์คนไร้บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไฟเขียว ก.พัฒนาสังคมฯ 4 พันล้าน แก้รุกล้ำลำคลอง นำร่องคลองลาดพร้าว-คลองเปรมฯ ช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นค่าเช่าบ้านระหว่างการก่อสร้าง ครัวเรือนละ 8 หมื่นบาท พร้อมอนุมัติ 118 ล้าน สร้างศูนย์คนไร้บ้าน 3 จังหวัด กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ กว่า 1,395 คน เน้นสร้างแฟลต-หนุนเงินสร้างบ้าน

วันนี้ (8 มี.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ การดำเนินงานโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง (พ.ศ. 2559-2561) เป้าหมาย 11,004 ครัวเรือน งบประมาณ 4,061.44 ล้านบาท โดยการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2559 ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) (พอช.) นำเงินที่ได้รับการจัดสรรจากโครงการบ้านมั่นคงมาใช้จ่ายในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง และการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ใช้จากเงินทุนหมุนเวียนของ พอช.ตามความจำเป็น

“ที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการนี้เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและจัดระเบียบสังคมควบคู่ไปด้วย โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเสียโอกาสเฉลี่ยครัวเรือนละ 80,000 บาท เนื่องจากนโยบายการจัดระเบียบชุมชนริมคลองเป็นนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วน ที่ต้องเห็นรูปธรรมการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนภายในระยะเวลาจำกัดและชุมชนมีข้อจำกัดในการเตรียมความพร้อมเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งต้องรับภาระ จึงจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบตั้งแต่ปี 54 เป็นต้นมา พบว่าพื้นที่ลำคลองในเขตกกรุงเทพมีการบุกรุก 1,161 คลอง และส่งผลให้พื้นที่ที่มีปัญหาส่งผลกระทบการระบายน้ำ ได้แก่ บริเวณริมคลองลาดพร้าว บริเวณคลองเปรมประชากร ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้ เพื่อจัดระเบียบและลดความเหลื่อมล้ำ

สำหรับงบในการดำเนินพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองจำนวน 4 พันกว่าล้านบาทนั้น แบ่งเป็นสำหรับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค 880 ล้านบาทเศษ ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นค่าเช่าบ้านระหว่างการก่อสร้าง เฉลี่ยครัวเรือนละ 80,000 บาท หรือเป็นเงินรวม 880 ล้านบาทเศษสำหรับ 11,004 ครัวเรือน รายการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยครัวเรือนละ 250,000 บาท (เงินกู้) และเงินพัฒนาสำรวจจัดทำฐานข้อมูลวิจัย 100 ล้านบาท

พม.รายงานว่า การดำเนินงานตามโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง พอช. มีลักษณะการดำเนินงานในรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีหลักการสำคัญในการจัดการร่วมกันของชุมชน โดยใช้ระบบจัดการร่วมในรูปแบบของสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่ใกล้เคียงกัน มีการขยับบ้านเรือน/ครัวเรือที่รุกล้ำคลองขึ้นมาจัดระเบียบร่วมกัน ซึ่งมีรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย ได้แก่ การปรับปรุงในที่ดินเดิม มีการเช่าที่ดินร่วมกัน จัดระเบียบการอยู่อาศัยเพื่อรองรับครัวเรือนที่รุกล้ำคูคลอง การสร้างชุมชนในที่ดินใหม่ที่ชุมชนจัดการที่อยู่อาศัยร่วมกัน ในลักษณะการซื้อหรือเช่าที่ดินและปลูกสร้างที่พักอาศัยร่วมกัน ในกรณีที่ไม่สามารถปรับปรุงในที่ดินเดิมได้ การเช่าซื้ออาคารในโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการที่พักอาศัยของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ของกระทรวงการคลัง เป็นต้น

ส่วนกระบวนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองแบ่งเป็น 2 ระดับ ประกอบด้วย ระดับนโยบาย ได้แก่ จัดตั้งกลไกคณะกรรมการระดับชาติ จัดทำข้อมูลคูคลองให้เป็นปัจจุบัน ศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบการอยู่อาศัยของชุมชนริมคลองที่เหมาะสม รวมถึงรูปแบบการใช้พื้นที่สาธารณะริมคลอง ระบบสัญจรทางน้ำและจัดทำนโยบายแผนงานมาตรการ ประสานผู้เกี่ยวข้องและประกาศนโยบายวาระแห่งชาติ เรื่องการพัฒนาชุมชนริมคลอง ประสานการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการระดับกระทรวง ระดับกรุงเทพมหานคร และระดับพื้นที่เขต รวมทั้งประสานพื้นที่ สร้างที่พักชั่วคราว ที่ดินรองรับชุมชนใหม่และบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ระดับพื้นที่ ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ดังนี้ 1. สนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและอุดหนุนที่อยู่อาศัย 2. ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเสียโอกาส 3. สนับสุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 4. สนับสนุนการพัฒนาและดำเนินงานสำรวจ จัดทำฐานข้อมูล วิจัย พัฒนา องค์กรชุม ติดตามประเมินผลบริหารจัดการ

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน 2 ปี (พ.ศ. 2559-2560) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยอนุมัติสร้างศูนย์คนไร้บ้านรองรับให้บริการใน 3 เมืองหลัก คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และเชียงใหม่ จากการสำรวจพบว่า ตัวเลขคนไร้บ้านมีประมาณ 1,395 คน แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 1,093 คน ขณะที่ศูนย์พักคนไร้บ้านที่มีที่บางกอกน้อย และตลิ่งชัน สามารถรองรับได้ราว 80 คนเท่านั้น ส่วนที่เชียงใหม่มีคนไร้บ้านประมาณ 166 คนแต่ศูนย์ฯที่มีรองรับได้ 15-16 คน และที่ขอนแก่นมีคนไร้บ้าน 136 คน

ดังนั้น ที่ประชุม ครม.จึงอนุมัติโครงการนี้เพื่อดำเนินการสนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัย วงเงิน 118.6 ล้านบาท เพื่อให้มีที่อยู่อาศัย โดยสร้างเป็นศูนย์คนไร้บ้านให้อยู่รวมกัน เช่น แฟลต วงเงิน 97.6 ล้านบาท อุดหนุนเพื่อช่วยเหลือสร้างบ้านราคาถูกเป็นของตัวเอง วงเงิน 15 ล้านบาท และสมทบกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตและค่าบริหารจัดการ เป็นต้น วงเงิน 6 ล้านบาท

ทั้งนี้จะรองรับกลุ่มคนไร้บ้าน เป็นองค์กรของคนไร้บ้านที่รวมตัวจัดตั้งเมื่อปี 2544 มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลช่วยเหลือคนไร้บ้านเร่ร่อน สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเอง และเป็นกลไก ในการผลักดันเชิงนโยบายของรัฐ โดยนิยามคำว่า “คนไร้บ้าน” หมายถึง คนที่พักอาศัยในที่สาธารณะโดยมีเจตนาและพฤติกรรมการอยู่อาศัยในพื้นที่อย่างชัดเจน เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความสามารถในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยในรูปแบบใดๆ ได้ ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นบ้านมาตรฐานหรือบ้านในสลัม ไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าที่อยู่อาศัย แม้แต่ห้องเช่าราคาถูก จำเป็นต้องหลับนอนตามที่สาธารณะ

โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน 2 ปี (พ.ศ. 2559-2560) มีแนวทางการดำเนินงาน แต่งตั้ง “คณะกรรมการพัฒนากลุ่มคนไร้บ้านแบบบูรณาการและมีส่วนร่วมจากภาคีทุกภาคส่วน” ภายใต้ พม. ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ประชาสังคม นักวิชาการ และเครือข่ายคนไร้บ้าน โดยมีบทบาทกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มคนไร้บ้าน การสำรวจข้อมูล แนวทางการพัฒนาคนไร้บ้าน และพัฒนานโยบาย มาตรการ แผนงานต่าง ๆ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการดำเนินโครงการร่วมกัน เช่น การพัฒนาศักยภาพของกลุ่มคนไร้บ้านการส่งเสริมอาชีพ รายได้ สุขภาวะ การจัดทำฐานข้อมูล การศึกษา

การสร้างศูนย์คนไร้บ้านรองรับให้บริการใน 3 เมืองหลัก (กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น เชียงใหม่) โดยสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นและภาคีอื่น ๆ การรับรองกลุ่มคนไร้บ้านที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร์ที่ผ่านการรับรองของเครือข่ายคนไร้บ้าน (ไม่ใช่การรับรองสถานะทางทะเบียนราษฎร์) เพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือดูแล ด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา และอื่น ๆ สนับสนุนพัฒนาเสริมศักยภาพและระบบการดำเนินงานของเครือข่ายคนไร้บ้าน สำรวจข้อมูลคนไร้บ้านทั่วประเทศ ให้เป็นฐานข้อมูลเดียวที่ทำและใช้ร่วมกันระหว่างเครือข่ายคนไร้บ้าน หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคมและเป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับการพัฒนาแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน

พัฒนาและจัดทำแผนงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านในภาพรวม โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจวิเคราะห์และการวิจัยการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านเป็นฐานการวางแผนที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาคนไร้บ้านเชิงโครงสร้างในมิติต่างๆ เชื่อมโยงและสร้างความร่วมระหว่างคนไร้บ้านกับหน่วยงานองค์กร (Matching) ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และประชาสังคม ครอบคลุมมิติด้านสาธารณสุข สังคม การพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาชุมชน เป็นต้น เพื่อให้บริการหรือช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาทักษะความสามารถคนไร้บ้านอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการด้านสุขภาพอนามัย และผู้สูงอายุ ที่ศูนย์คนไร้บ้าน นำร่องการพัฒนา “ที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน” เพื่อการช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านที่ยั่งยืนสามารถครอบคลุมช่วยเหลือคนไร้บ้านได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นแนวทางที่สามารถดำเนินการได้อย่างกว้างขวางในมิติที่มีส่วนร่วมทั้งจากรัฐและคนไร้บ้าน นำร่องการพัฒนา “Social Enterprise ธุรกิจเพื่อสังคมของเครือข่ายคนไร้บ้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น