xs
xsm
sm
md
lg

ฮีโร่ของคนไร้บ้าน “ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล” ศิลปินไทยเปลี่ยนโลกด้วยพู่กัน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
“ผมโดนคนไร้บ้านฉีกเพ้นติ้ง เหยียบย่ำงานผม เขาบอกว่ามันกินไม่ได้”
“ผมโดนตำรวจจับข้อหาวาดรูปขวางถนน นอนคุกก็เคยมาแล้ว”
“ผมเอางานไปเสนอแกลอรี่ 100 กว่าที่ ไม่มีใครเอางานผมเลย เพราะผมวาดภาพขอทาน”
“ผมเคยโดนคนด่าว่าสร้างภาพ หากินกับคนไร้บ้าน แต่เดี๋ยวนี้คนที่ว่าผมเขาเอาเงินมาช่วยบริจาค”

กว่า 327 ชีวิตคนไร้บ้านที่เขาจรดปลายพู่กันแต่งแต้มเรื่องราวลงบนเฟรม บนถนน 100 กว่าสายทุกซอกมุมของตึกอันศิวิไลซ์ กลับมีสิ่งมีชีวิตที่ถูกกำหนดให้อยู่นอกกรอบของสังคมในมหานครนิวยอร์ก เมืองที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นดินแดนแห่งความเท่าเทียมทางสิทธิ์และเสรีภาพ ทว่า โลกที่กำลังหมุนอย่างรวดเร็วต้องหยุดไปชั่วขณะ เมื่อได้เห็นศิลปินหนุ่ม “ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล” ผู้สร้างปรากฏการณ์ช่วยเหลือคนไร้บ้านด้วยภาพวาดอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

นักวาดภาพเพื่อคนไร้บ้าน!

กว่าจะมาเป็นศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงดังไกลถึงนิวยอร์กซิตี้ เส้นทางชีวิตไม่ได้ราบเรียบเท่าใดนัก เรื่องราวของเขาล้วนผ่านมรสุมมาแล้วทุกฤดูกาล ทว่า ความตั้งใจที่ยิ่งใหญ่ทำให้เขาเป็นคนที่ใหญ่ยิ่งได้ในทุกวันนี้ “ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล” เริ่มบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นการวาดภาพช่วยเหลือคนไร้บ้าน ถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นระหว่างทางกลับบ้าน

“ตอนนั้นทำงานอยู่ที่สตูดิโอประมาณ ตี 2 กำลังจะเดินกลับบ้าน ระหว่างที่เดินทางได้เข้าไปในซอยหนึ่ง ผมเจอคนแก่ผิวขาวอายุประมาณ 60-70 ถูกคนผิวสีทำร้ายอยู่ ผมตัดสินใจว่าจะไม่ช่วยเลยเดินกลับบ้าน พอเดินกลับบ้านก็คิดตลอดทางว่าทำไมเราไม่ช่วยคนไร้บ้านคนนี้ เรากลัวอะไร ทำไมเราเห็นแก่ตัวจังเลยที่ไม่ช่วยเขา”

ก่อนจะบรรยายให้ฟังถึงความรู้สึกผิดปนสงสารที่เกิดขึ้นในจิตใจ ในค่ำคืนที่เขาคิดไม่ตกเกิดคำถามต่อสิ่งที่เขาได้ทำไปแล้วว่า 'ทำไมถึงเห็นแก่ตัว' เช่นนั้น วันรุ่งขึ้นเขาจึงตัดสินใจทำในสิ่งที่เขาไม่มีวันรู้มาก่อนว่า มันจะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

“กลับถึงบ้านนอนไม่หลับ นั่งคิดไปเรื่อยๆ จนถึง 6 โมงเช้า ออกจากบ้านไปดูที่เกิดเหตุ ว่าคนที่โดนทำร้ายเป็นยังไงบ้างแต่ไม่เจอ เลยตัดสินใจว่าในฐานะศิลปินทำไมเราเห็นแก่ตัวจัง ช่วยสังคมไม่ได้ วันนั้นเลยเดินไปเอาของจากสตูดิโอออกมาข้างถนน นำมาเขียนรูปเพื่อช่วยตามหาคุณลุงคนนั้น อยากจะช่วยเขา อยากจะขอโทษเขาด้วยที่เราไม่ช่วยเขาวันนั้น”


 
จากเหตุการณ์นั้นเองทำให้เขาคิดโปรเจกต์ช่วยเหลือขึ้นมา ก่อนต่อยอดเปลี่ยนเป็นโปรเจกต์แห่งความหวัง ด้วยการนำป้ายเขียนรับบริจาค ทั้งเงิน อาหาร ขนม เสื้อผ้า ตามแต่คนสัญจรจะศรัทธาแด่เพื่อนร่วมโลกคนไร้บ้าน แม้สิ่งที่เขาทำจะถูกครหาจากสายตาใครหลายคนว่าเขาเป็นขอทาน หรือหากินกับคนจรจัดก็ตามที แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาล้มเลิกในความตั้งใจไปได้

“ตอนแรกคิดไว้ว่าจะทำโปรเจกต์ HELP ก่อน ยังไม่มีป้าย ไม่มีให้คนมาบริจาค พอทำไปสัก 6 เดือนเริ่มเปลี่ยนเป็นโปรเจกต์ HOPE แล้วมีการนำป้ายมาวางไว้ให้ร่วมบริจาคช่วยคนไร้บ้าน บางคนนั่งร้องเพลงผมก็ไปร้องเพลงกับเขาด้วย วางหมวก วางกระป๋องให้เขา ช่วยเขาหาเงินเพื่อซื้อข้าว ซื้อขนมปังไว้กิน

ตอนแรกคนเขานึกว่าเราเป็นขอทานไปด้วย ไม่มีใครคุยกับเรา ไม่มีใครวาดรูป บริจาคน้ำ ขนมปังให้เราเลย ผมเลยใช้วิธีซื้อข้าวไปให้เขาแทนและให้รูปวาดไปด้วย บอกเขาว่าผมมีให้แค่นี้นะ เงินผมไม่มีนะ จริงๆ ทุกวันนี้ทำมา 3 ปีแล้ว ก็ยังโดนด่าอยู่นะว่าสร้างภาพ หากินกับคนไร้บ้าน เหมือนกับว่ามาหาโอกาสกับคนไร้บ้าน แต่เดี๋ยวนี้คนที่ว่าผมเขาก็เอาเงินมาบริจาค ให้เอาไปฝากคนไร้บ้าน”

อย่างที่เปรยให้ฟังในข้างต้นว่าบนเส้นทางศิลปะเพื่อคนไร้บ้านไม่ได้ราบเรียบอย่างที่คิด อุปสรรคที่เกิดขึ้นมักมีมาทดสอบกำลังใจเขาอยู่เสมอ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เขาพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่าราวกับถูกตบหน้าแรงๆ ก่อนจะเล่าต่อไปถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นที่เขาจำได้ไม่มีวันลืม

“ผมนั่งวาดรูปประมาณ 6 ชั่วโมง ทำให้ดีที่สุดแล้ว ทุกอย่างผมตั้งใจทำ เหมือนกับเราให้ของขวัญเพื่อนคนหนึ่ง แต่เหมือนผมโดนตบหน้าเลย เขาบอกว่ามันกินไม่ได้ เขาต้องการพิซซ่าอันหนึ่ง ซื้อให้หน่อยได้ไหม ผมเลยมาคิดว่าเพ้นติ้งมันกินไม่ได้จริงๆ มันเป็นปัจจัยที่หก เจ็ด แปด ด้วยซ้ำไป
มันน่าจะเป็นของกินหรือเครื่องนุ่งห่มก่อน ตอนนั้นเลยได้เรียนรู้ว่าศิลปะมันอยู่ที่คนมอง อย่างบางคนตีค่ามันเป็นล้านเลยในมิวเซียมอยากได้มัน บางทีมันไม่มีประโยชน์กับหลายๆ คนเลย หลังจากนั้นก็ท้อนะครับ คิดในใจหรือเลิกทำดีไหม ไม่เคยมีใครมาฉีกเพ้นติ้งผมมาก่อน ผมเป็นศิลปินผมก็มีศักดิ์ศรี”


 
อุปสรรคที่ผ่านเข้ามาจึงเป็นเครื่องยืนยันได้แล้วว่า เขามีหัวใจที่แข็งแกร่งเกินจะยอมแพ้ เพราะตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เขาไม่เคยหยุดยั้งที่จะสร้างงานศิลปะเพื่อคนไร้บ้านเลยสักวินาทีเดียว เขาใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการพูดคุยในเรื่องราวชีวิตของคนเหล่านั้น และนำมาเป็นแรงผลักดันให้เขาทำความดีและไม่ย้อท้อต่อการใช้ชีวิต

“จริงๆ ที่เขาเจอมามันหนักกว่าเรา ส่วนมากเวลาผมคุยเลือกหาคนแก่ก่อนเลยอันดับแรก เพราะเขาจะเล่าประวัติชีวิตเขาให้เราฟัง มีคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเขาเป็นทหารตอนอายุ 20 ไปเวียดนาม วันแรกเหยียบระเบิดเลย จนทุกวันนี้อีก 40 ปีที่เหลือกลายเป็นคนพิการ รัฐบาลช่วยเขานะแต่ว่ามันก็ไม่พอ เพราะค่าครองชีพสูงมากที่อเมริกา

ผมคิดว่าไปช่วยรัฐบาลขนาดนั้น แต่สุดท้ายรัฐบาลตอบแทนกลายเป็นคนไร้บ้าน นั่งอยู่ข้างถนนแบบนี้เหรอ ผมเลยมองว่าชีวิตเราสุขสบาย มีร่างกายครบ 32 แล้วจะท้อถอยทำไม เขายังมาสู้ มานั่งหาเงิน ร้องเพลงด้วยอีก เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพตัวเอง พอมองแบบนั้นมันทำให้ใจเราพองใหญ่ขึ้น เราต้องสู้นะ ทำไมเราจะนอนเฉยๆ อยู่บ้านสบายๆ”

3 เหตุการณ์ลืมไม่ลง..มหานครนิวยอร์ก!

“เหตุการณ์แรกที่ประทับใจที่สุดเลยคือ เดือนที่แล้วมีพายุเข้าที่นิวยอร์ก ผมยืนถอดเสื้อวาดรูปกลางถนน ผมรู้สึกว่ามันสะใจดี” ภาพเหตุการณ์ครั้งนั้นฉายผ่านดวงตาพร้อมท่าทางตื่นเต้น เขาเล่าย้อนไปสู่ช่วงเวลาแห่งความโหดปนรู้สึกสะใจ เปรียบเสมือนความใฝ่ฝันที่ได้ทำสักครั้งในชีวิต นั่นคือการจรดปลายพู่กันวาดภาพพายุหิมะที่กำลังถาโถมลงมาในภูมิอากาศติดลบเกินร่างกายจะทนไหว

“ผมรอมาทั้งปีเลยเอาซะหน่อย ตอน 9 โมงผมเอาอุปกรณ์ออกไปตั้งรอ พายุมาตอน 10 โมง ผมยืนวาดกลางถนนเลย รู้สึกว่ามันสะใจดี ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำแบบนี้ ทุกอย่างเป็นพายุน้ำแข็ง เกร็ดหิมะแทงๆ พุ่งเข้ามาหาเราแรงๆ เต็มหน้าไปหมด แต่รู้สึกสนุกดี มันได้แข่งกันระหว่างร่างกายเรากับพายุว่าอันไหนจะแรงกว่ากัน

มันเป็นสิ่งที่ผมตั้งใจและมีความฝัน เพราะอยู่เมืองไทยคงทำไม่ได้ ไม่มีหิมะ อันนี้พายุมาผมเอาเลย ในขณะที่คนกลัวอยู่ในบ้านกันหมด แต่ผมเดินออกมานอกบ้านเพื่อมาวาดรูป (หัวเราะ) มันท้าทายมากนะ เราไม่คิดว่าพายุจะแรงขนาดนั้น แล้วเราถอดเสื้อด้วยเหมือนมีเม็ดทรายทิ่มๆ เข้าตัว สะใจดีครับ”

 
นอกจากประสบการณ์ความท้าทายวาดภาพท่ามกลางพายุหิมะแล้ว คุณไพโรจน์ยังเล่าต่อถึงภาพเหตุการณ์ความภูมิใจที่เป็นผลลัพท์มาจากสิ่งที่เขาได้ทำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นั่นคือการได้แสดงผลงานในพิพิธภัณฑ์ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของมหานครนิวยอร์ก แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะถูกปฏิเสธการแสดงผลงานจากอาร์ตแกลอรี่มาแล้วกว่า 100 แห่งก็ตาม

“อีกเรื่องคือการแสดงงานที่ The New Museum of Contemporary Arts มิวเซียมในนิวยอร์ก มีคนเอางานผมไปแสดงที่นั่น เหมือนกับสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดมันเห็นผล สิ่งที่เราต้องการให้คนเท่าเทียมกัน เรื่องของชนชั้นมันลดลงไปมันสำเร็จมาในระดับหนึ่ง และผมได้เชิญนางแบบ-นายแบบที่เป็นคนไร้บ้านเข้าไปในมิวเซียมด้วย

จากที่ผมเคยเอางานไปเสนอแกลอรี่ 100 กว่าที่ ไม่มีใครเอางานผมเลย เขาให้เหตุผลว่าสิ่งที่ทำมันไม่น่าสนใจ คุณเขียนขอทาน ใครที่ไหนจะมาซื้อและสะสมงานคุณ แต่พอวันหนึ่งนิวมิวเซียมพิพิธภัณฑ์ที่ดังต้นๆ 1 ใน 5 ของนิวยอร์กเอางานผมไปแสดงทั้งโปรเจกต์ให้ประมูลช่วยคนไร้บ้าน มันเลยบูมขึ้นมา ทีนี้แกลอรี่อื่นๆ เริ่มหันมาสนใจ”

ก่อนมาถึงเรื่องสุดท้ายที่เขาประทับใจไม่มีวันลืม เชื่อเลยว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คงเป็นเหตุการณ์ที่แทบจะไม่อยากเชื่อ และนึกถึงเมื่อไหร่คงอดขำไม่ได้เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยติดคุกที่นิวยอร์กซิตี้ ในข้อหาวาดภาพบนกำแพง ในขณะที่นักโทษคนอื่นก่อคดีปล้น จี้ ทำร้ายร่างกายนั่งร่วมกันอยู่ในห้องขังราวๆ 6 ชั่วโมง

 
“ถ้าประทับใจสุดๆ เลยคือ การติดคุกที่นิวยอร์กครับ คงไม่มีใครติดแล้วครับ (หัวเราะ) โดนจับ 20 ครั้งเพราะวาดภาพข้างถนนให้คนไร้บ้าน ทุกครั้งที่โดนจับจะมีใบเสียค่าปรับที่ผมโดนปรับแปะไว้ในรูปทุกรูป ส่วนตอนติดคุกผมพ่นกราฟฟิตี้พ่นกำแพง ติดอยู่ 6 ชั่วโมง ตอนเข้าไปข้างในเราก็กลัวนะ มีทั้งคนเมกซิกัน อีกมุมเป็นคนผิวสีตัวใหญ่ๆ สักเต็มตัวนั่งมองเราอยู่ แล้วเราติดคุกมาเพราะว่าเขียนกำแพง ส่วนคนที่นั่งในห้องนั้นคือ ปล้น จี้ ทำร้ายร่างกายมา

จากนั้นไปขึ้นศาล 2 รอบ รอบแรกผมว่าความแพ้ รอบที่สองชนะเพราะผมให้ทนายดูคลิปวีดีโอ 100 กว่าอันที่ผมวาดรูปช่วยคนไร้บ้านอยู่ในยูทูป ทนายเขาเอาไปให้ศาลดู ศาลบอกว่าสิ่งที่คุณทำมันน่าจะมีประโยชน์มากกว่าโทษ ไม่น่าจะผิดเขาเลยปล่อยออกมา ค่าปรับก็ไม่ต้องเสีย ค่าทนายก็ไม่ต้องจ่าย เขาจะรื้อคดีออกมาให้หมด"

เพราะ “พ่อ-แม่” คือแรงบันดาลใจ

“ผมเอานิสัยของพ่อที่ไม่ยอมล้มเลิกมา ตอนนี้ผมเลยเพ้นไม่เลิก”

เสียงหัวเราะดังขึ้นหลังจบประโยคที่ไพโรจน์กล่าวถึงการรับเอานิสัยของคุณพ่อมาใช้กับงานศิลปะเพื่อคนไร้บ้านของเขาเอง ก่อนเล่าต่อถึงเรื่องราวชีวิตที่คุณพ่อสามารถสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองได้ในวัย 27 ปี ด้วยความขยันและความมุมานะทำให้ประสบความสำเร็จได้ คุณพ่อจึงเป็นบุคคลตัวอย่างที่ทำให้เขาดำเนินรอยตามอย่างไม่ย่อท้อ

“คุณพ่อผมเป็นคนทำแล้วไม่เลิก ผมเลยเอานิสัยเขามาทำคือ ไม่ท้อ ทำไปเรื่อยๆ ไม่เลิก สมัยพ่อผมเด็กๆ ตอนอายุ 14 เขามาเป็นช่างเชื่อมเหล็กจากจังหวัดชลบุรีมาอยู่ที่สำโรงคนเดียว ทำงานเป็นลูกน้องตั้งแต่อายุ 14-27 ปี แล้วมาเปิดโรงงานเองตอนอายุ 27 ปี 
  ผมมองว่าเขาเก่งจังเลย มาแบบเสื่อผืน หมอนใบ มาเชื่อมเหล็ก เหล้าของอบายมุขไม่ยุ่งเพราะต้องเก็บตังสร้างโรงงาน เราเห็นว่าเขาสู้ชีวิต ถ้ายังทำไม่ได้ก็จะไม่ถอย ผมเอานิสัยของพ่อที่ไม่ยอมล้มเลิกมาทำ ตอนนี้ผมก็เลยเพ้นไม่เลิกครับ แจกไม่เลิกเลย” (หัวเราะ) 
นอกเหนือจากการรับเอานิสัยการไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ มาจากคุณพ่อแล้ว ต้องบอกเลยว่าส่วนสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมให้เขาเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนมาจากคุณแม่ด้วยเช่นกัน การมองเห็นคนในครอบครัวทำความดีมาตั้งแต่ที่เขายังเด็ก จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจดีๆ ที่เขาหยิบยกมาใช้กับงานศิลปะเพื่อคนไร้บ้านจนถึงทุกวันนี้

 
“คุณแม่เป็นคนชอบทำบุญที่วัดอยู่แล้ว ผมเลยเอาไอเดียที่แม่ชอบเป็นคนให้มาใช้กับงานศิลปะของผม ผมคิดว่าศิลปะมันให้ได้นะ เราทำกับข้าวไม่เป็น เราเล่นบาสก็ไม่เก่ง เล่นดนตรีก็ไม่เป็น เราคงไปสอนดนตรีให้ใครไม่ได้ เราก็น่าจะสอนคนข้างถนนด้วยการสอนเขาวาดรูปนี่แหละ สอนเด็ก สอนคนแก่ สอนคนพิการ สอนคนตาบอด สอนคนที่เขาร้องเพลงวาดรูปข้างถนน มันน่าเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด”

ด้วยส่วนผสมที่ได้ซึมซับและถูกหล่อหลอมมาจากครอบครัว ทำให้เขานำมาต่อยอดทำความดีให้กับผู้อื่น รวมถึงได้แสดงให้คนต่างชาติเห็นถึงวัฒนธรรมการเป็นผู้ให้ของคนไทย ภายใต้การทำทานและการวาดรูปให้คนไร้บ้านอย่างที่เขาได้ทำมา สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยในการปรับเปลี่ยนมุมมองของคนภายนอก ซึ่งทำให้ผู้อื่นได้เรียนรู้การเป็นผู้ให้และรู้จักการแบ่งปันแก่เพื่อนร่วมโลก

“ในอเมริกันไม่มีวัฒนธรรมการให้ ผมเลยคิดว่าเอาสโลแกนการให้ของคนไทยนี่แหละ ง่ายๆ คือการให้โดยไม่ต้องหวังผลตอบแทน แล้วมันได้ประโยชน์ มันได้ผล เพราะคนต่างชาติเขาก็งงๆ ว่ารูปวาดให้ได้ด้วยเหรอ แล้วรูปวาดมันสามารถช่วยสังคมได้ด้วยเหรอ มันไปเปลี่ยนมุมมองเขาเยอะมากครับ

ผมว่าการทำบุญไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเงินอย่างเดียว ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสิ่งของ มันให้อย่างอื่นก็ได้ครับ ให้ความสามารถของเราก็ได้ ให้ความรู้ของเราก็ได้ ผมได้อธิบายศิลปะไทย-วัฒนธรรมไทยให้เขาฟัง คนไทยชอบให้ คนไทยชอบไหว้ คนไทยชอบวาดรูปยิ้มๆ รูปตลกๆ ผมเล่าให้เขาฟัง”

เรื่องโดย : พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพโดย : ปวริศร์ แพงราช


กำลังโหลดความคิดเห็น