xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 3-9 เม.ย.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ


1.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาลปกครองเอาผิดอดีต รมว.คลัง-รมว.พลังงาน-บิ๊ก ปตท.11 ราย ให้ข้อมูลเท็จ-คืนทรัพย์สินท่อก๊าซไม่ครบ 5.2 หมื่นล้าน!

นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่คืนท่อก๊าซธรรมชาติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดและนำท่อก๊าซซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไปแสวงหาประโยชน์ โดยฟ้องกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. รวมผู้ถูกฟ้องคดี 11 ราย เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 และไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยขอให้ศาลปกครองวินิจฉัยและมีคำสั่งดังต่อไปนี้ 1. เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 และวันที่ 10 ส.ค. 2553 ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สิน ประกอบด้วย ที่ดินที่ได้จากการเวนคืน สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินเอกชนและทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คือ 1.โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย 2. โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และ 3. โครงการท่อราชบุรี-วังน้อย รวมถึงโครงการท่อย่อย ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 ประมาณ 16,175 ล้านบาท เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเกิดจากการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งขณะนั้น

2. สั่งให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้กระทรวงการคลังตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย วันที่ 30 ก.ย. 2544 จำนวน 68,569 ล้านบาท ซึ่งบริษัท ปตท. ได้คืนไปแล้วประมาณ 16,175 ล้านบาท ดังนั้น บริษัท ปตท. ยังคงต้องโอนคืนทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังอีกไม่น้อยกว่า 52,393 ล้านบาท รวมทั้งค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่นใดจากการใช้ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์และทรัพย์สินอื่นและสิทธิหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนที่บริษัท ปตท.ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการ พร้อมดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนต่อไป และ 3. เพิกถอนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดิน เพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

นายศรีราชากล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2550 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. ต่อมา วันที่ 18 ธ.ค.2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการตามความเห็นของกระทรวงพลังงาน ที่มีนายปิยสวัสดิ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้น เกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว แล้วให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป

แต่พบว่า การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และบริษัท ปตท.กลับร่วมกันเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลและบนบกที่เป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง รวมทั้งระบบท่อที่ได้ก่อสร้างในที่ดินของรัฐภายหลังการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน โดยไม่มีผลตอบแทนคืนให้แก่รัฐ บริษัท ปตท.ได้รายงานผลการดำเนินการตามคำพิพากษาอันเป็นเท็จดังกล่าวนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2551 โดยรายงานว่าผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ได้ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท.ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว

ทั้งนี้ นายศรีราชา ชี้ว่า “เห็นได้ว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนโดยไม่เป็นธรรม และมิได้รักษาผลประโยชน์ของชาติตามหน้าที่ของข้าราชการที่ต้องพึงปฏิบัติ มีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และลัดขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญในการแบ่งแยกทรัพย์สิน ปล่อยปละละเลยมิได้เร่งรัด ติดตาม ทวงคืนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา เราใช้เวลากว่า 3 ปีในการตรวจสอบ โดยหลังจากศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้องของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล เพราะไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ก็ได้มีการพูดคุยกันและมีการมาร้องเรียนของ พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวะพันธุ์ศรี ในนามเครือข่ายภาคประชาชน ที่เป็นฐานในการทำงานมา จนได้ข้อมูลที่เป็นเอกสารหลักฐานเสนอศาลกว่า 96 รายการ โดยในจำนวนนี้มีข้อมูลที่เป็นท่อก๊าซที่ สตง.ตรวจพบแล้วยังไม่มีการเปิดเผยกว่า 50 ท่อ เชื่อว่าทั้งคำฟ้องและหลักฐานที่ยื่นประกอบรวมทั้งหมด 500 หน้า มีความหนักแน่นพอที่ศาลจะพิจารณาและมีคำพิพากษา"

สำหรับผู้ถูกฟ้องทั้ง 11 ราย ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง, นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีต รมว.คลัง, นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง, ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีต รมช.คลัง, กระทรวงพลังงาน, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน, นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีต รมว.พลังงาน, นายประสิทธิ์ สืบชนะ อดีตรองอธิบดีกรมธนารักษ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์, บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. โดยนายศรีราชา ย้ำว่า การตรวจสอบครั้งนี้มีเจตนาต้องการสร้างความถูกต้อง และจากการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวก็ทำให้พบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานด้านพลังงานที่ไม่ถูกต้อง เช่น การจัดเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินก็เคยทำความเห็นเสนอไปยังรัฐบาลก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งยังมีเรื่องที่กำลังดำเนินการอีก 2-3 เรื่อง เช่น การสร้างแทงค์เก็บน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีราคาสูงเกินความจำเป็น

นายศรีราชา กล่าวด้วยว่า “ที่ผ่านมา ปตท.ใช้สิทธิแสวงหาประโยชน์จากประชาชนเกินกว่าที่ประชาชนจะแบกรับ พอผู้ตรวจการฯ มีการตรวจสอบเรื่องกองทุนน้ำมัน ก็จะเห็นได้ว่าน้ำมันมีราคาถูกลง แต่ทั้งนี้ ปตท.ยังเป็นองค์กรที่ลึกลับ เชื่อว่ายังมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์อีกเยอะ การที่กรรมการของ ปตท. และตัวแทนจากรัฐ ทั้งกระทรวงการคลังและพลังงาน เข้ามานั่งเป็นกรรมการ มีผลประโยชน์ ปี 2557 แค่เบี้ยประชุมก็ 2 ล้านบาทต่อปี บวกกับเงินปันผลอีก 2.7 ล้านบาทต่อปี รวมแล้วกรรมการแต่ละคนจะได้ไม่ต่ำกว่า 4.7 ล้านบาทต่อปี จึงทำให้ไม่อยากทุบกระเป๋าตัวเอง และเมื่อผู้ตรวจการฯ เริ่มตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก็มีอดีตประธาน ปตท.เขียนจดหมายส่วนตัวมาถึงตนระบุว่า ปตท.ได้ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว อย่ามาหาเรื่องและให้ยุติเรื่องดังกล่าว ซึ่งผมก็เก็บจดหมายใส่ลิ้นชักแล้วเดินหน้าต่อไป จนมาถึงการฟ้องร้องในครั้งนี้”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายศรีราชามีความตั้งใจจะตรวจสอบเรื่อง ปตท.ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา จึงได้แถลงและส่งคำร้องไปยังศาลปกครองในวันดังกล่าว นอกจากนี้ นายศรีราชายังเผยด้วยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิ, บริษัท คิง เพาเวอร์ และการคิดค่าเก็บเอฟทีของการไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบและต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ

2.สนช.รับลูก สปท.ส่งคำถามพ่วงประชามติให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ช่วง 5 ปีแรก ด้าน ปชป.ไม่เห็นด้วย หวั่นก่อปัญหาตามมา!

(บน) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. (ล่าง) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ พิจารณาเสร็จแล้ว รวมทั้งพิจารณาประเด็นคำถามพ่วงประชามติที่สัปดาห์ก่อน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) มีมติส่งคำถามตามข้อเสนอของนายวันชัย สอนศิริ ที่ให้ถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ หากในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ที่ประชุมเริ่มด้วยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งหมด 66 มาตรา โดยสมาชิกบางคนได้ท้วงติงเนื้อหาในมาตรา 7 ที่ กมธ.วิสามัญฯ แก้ไขโดยตัดคำว่า รณรงค์ในการออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญทิ้งไป ทำให้ไม่สามารถแสดงความเห็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ ทั้งที่เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนในการแสดงความคิดเห็น สุดท้าย กมธ.ยอมแก้ไขข้อความ จากเดิมที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย เป็นบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อให้บุคคลสามารถเผยแพร่ความคิดเห็นของตนเองที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องเป็นไปโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย จากนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ด้วยคะแนน 171 ต่อ 1 งดออกเสียง 3 เสียง

ต่อมา ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องคำถามพ่วงประชามติที่ สนช.จะเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าควรเสนอคำถามตามความเห็นของ สปท. หลังจากนั้น นายกล้าณรงค์ จันทิก รองประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. ได้เสนอคำถามเพื่อให้ที่ประชุมลงมติ โดยถามว่า “เห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดในบทเฉพาะกาลว่า ระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 152 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง เพื่อส่งคำถามให้ กกต.ทำประชามติต่อไป

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงคำถามพ่วงประชามติที่ สนช.จะส่งให้ กกต.ว่า เป็นคำถามที่ยาวเกินไป และมีลักษณะถามนำ เพื่อนำไปสู่คำตอบในทิศทางที่ต้องการ และมีคำยาก ที่อาจทำให้เกิดความสับสนในการตีความของประชาชน ส่วนตัวจึงเห็นว่าควรมีการปรับปรุงคำถามดังกล่าวให้ถูกหลักวิชาการ โดยในวันจันทร์ที่ 11 เม.ย.นี้ ที่จะมีการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะนำคำถามที่ได้มีการปรับปรุงแล้ว และตัวอย่างบัตรออกเสียงประชามติเสนอต่อนายวิษณุ ก่อนนำไปเป็นแบบในการจัดพิมพ์จำนวนกว่า 50 ล้านฉบับต่อไป

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงคำถามพ่วงประชามติของ สนช.ที่ให้ ส.ว.มีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรก ว่า ขึ้นอยู่กับว่าตัวคำถามจะผ่านประชามติหรือไม่ ถ้าผ่านก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ และต้องดูว่าญัตติที่จะไปขอความเห็นชอบจากประชาชนเขียนว่าอย่างไร ถ้าเขียนชัดเจนก็ง่ายที่ กรธ.จะไปปรับแก้ ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าสอดคล้องกับผลประชามติหรือไม่ ถ้าสอดคล้องก็เดินหน้าแก้ไขเนื้อหา แต่ถ้าไม่สอดคล้องก็ต้องกลับไปแก้ไขก่อนที่จะเสนอศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าคำถามระบุเพียงให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ คนเสนอชื่อก็ยังเป็น ส.ส. แต่ถ้าเขียนในลักษณะที่ให้ ส.ว.มีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการเสนอชื่อนายกฯ ก็แก้ไขในส่วนของการเลือกนายกฯ เท่านั้น ไม่ได้แก้ในส่วนอำนาจของ ส.ว. ซึ่งกรณีนี้เป็นหน้าที่ของ สนช.ที่จะต้องชี้แจง กรธ.จะชี้แจงเพียงแค่เนื้อหาสาระสำคัญและบทเฉพาะกาลเท่านั้น

ส่วนความเคลื่อนไหวของนักการเมืองต่อกรณีที่ สนช.มีมติตั้งคำถามพ่วงประชามติให้ ส.ว.มีส่วนร่วมโหวตเลือกผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวก่อนที่ สนช.จะมีมติเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ ส.ว.ซึ่งมาจากการสรรหาหรือแต่งตั้ง มาลงคะแนนลบล้างคะแนนเสียงของ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมา จะทำให้รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.บริหารงานได้ยาก ทั้งในแง่ผ่านกฎหมายในสภา การผ่านงบประมาณหรือญัตติต่างๆ ซึ่งหากประชาชนที่เลือกนักการเมืองมามองว่าเสียงของตัวเองถูกลบล้าง อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ต่างถามหาความชัดเจนจากรัฐบาลว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะทำอย่างไร ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ว่า วันนี้ยังบอกไม่ได้และไม่ควรให้รู้ เพราะจะทำให้เกิดอคติเผื่อเลือกขึ้นมา อย่างไรก็ตามจะหาทางทำให้รู้โดยเร็ว เพราะหลังวันที่ 7 ส.ค. หากประชามติไม่ผ่าน จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ว่าให้ใช้วิธีใด จะเอารัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ หรือเอาฉบับใดมาเป็นฐานแล้วขยายต่อไป หรือตัดอะไรออก หรือผสมรวมกัน หรือไม่เอาอะไรเลย แล้วเขียนใหม่ทั้งหมด และไม่จำเป็นต้องลงประชามติ

3.“ไพบูลย์” ยื่นหลักฐาน มส. มัด “สมเด็จช่วง” ละเมิดพระธรรมวินัย สะสมเงินในบัญชี-เซ็นเช็ค 1 ล้านซื้อรถเบนซ์ ด้านดีเอสไออนุญาต “ธัมมชโย” เลื่อนรับทราบข้อหา 25 เม.ย.!

 (บน) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สปช.ยื่นหนังสือถึง มส.ผ่านสำนักพุทธฯ ให้ตรวจสอบสมเด็จช่วงละเมิดพระธรรมวินัย (ล่าง) สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ และพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
ความคืบหน้ากรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ออกหมายเรียกให้พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และ น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร กับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่ยักยอกเงินสหกรณ์ฯ กว่า 16,000 ล้านบาท ในวันที่ 8 เม.ย.นี้ เวลา 09.00 น. หลังพบข้อเท็จจริงว่า พระธัมมชโยเป็นผู้รับเช็คโดยไม่มีมูลหนี้จากนายศุภชัยหลายฉบับ มูลค่า 12,160 ล้านบาท โดย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ย้ำว่า ดีเอสไอจะดำเนินคดีกับทุกคนทุกกลุ่ม รวมถึงวัดพระธรรมกายและเครือข่ายพระลูกวัดพระธรรมกาย เนื่องจากมีความชัดเจนแล้วว่า อยู่ใน 7 กลุ่มที่เป็นผู้รับเช็คจากนายศุภชัย โดยไม่มีมูลหนี้นั้น

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากพระธัมมชโย เผยว่า วันที่ 8 เม.ย.พระธัมมชโยไม่สะดวกที่จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อดีเอสไอ เนื่องจากวันที่ 22 เม.ย.นี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของพระธัมมชโย ทางวัดจะจัดเตรียมงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ด้วยการจัดงานบวชสามเณรล้านรูป และยังมีงานวันคุ้มครองโลก ทำให้เดือน เม.ย.ติดภารกิจตลอดทั้งเดือน จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอเลื่อนนัดเข้าพบดีเอสไอ

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เผยว่า ที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนมีมติให้พระธัมมชโยเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปได้ จากวันที่ 8 เม.ย. เป็นวันที่ 25 เม.ย.เวลา 09.00 น. ไม่สามารถให้เลื่อนเป็นวันที่ 6 พ.ค. ตามที่ร้องขอได้ เพราะนานเกินไป และว่า ปกติแล้วการเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนจะให้เลื่อนนัดได้เพียง 10-15 วันเท่านั้น แต่กรณีนี้ถือว่าเลื่อนให้เป็นกรณีพิเศษแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นศาสนกิจ

ส่วนความคืบหน้าคดีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ครอบครองรถหรูโบราณผิดกฎหมาย ซึ่งดีเอสไอได้เดินทางไปวัดปากน้ำฯ ก่อนหน้านี้เพื่อสอบปากคำสมเด็จช่วง แต่ไม่ได้สอบปากคำ เนื่องจากทีมทนายความของสมเด็จช่วงให้ดีเอสไอส่งคำถามเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งดีเอสไอยืนยันว่าทำเช่นนั้นไม่ได้ และยังไม่มีความชัดเจนว่าดีเอสไอจะออกหมายเรียกสมเด็จช่วงหรือไม่นั้น

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นายสมศักดิ์ โตรักษา ทีมกฎหมายวัดปากน้ำฯ เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากสมเด็จช่วงด้านกฎหมาย ได้ยื่นหนังสือชี้แจงต่อดีเอสไอเป็นลายลักษณ์อักษรในประเด็นที่สมเด็จช่วงเกี่ยวข้องกับรถยนต์โบราณแล้ว แต่ทางดีเอสไอยังไม่ได้ประสานมาว่าต้องการประเด็นใดเพิ่มเติมหรือไม่ หรือจะดำเนินการอย่างไรต่อ

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และ นพ.มโน เลาหวณิช ได้เดินทางไปยังสำนักงานมหาเถรสมาคม(มส.) พุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อยื่นหนังสือคำร้องกล่าวหาสมเด็จช่วง ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย โดยมี ดร.สมชาย สุรชาตรี ผู้ตรวจการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือดังกล่าว

ทั้งนี้ นายไพบูลย์กล่าวว่า สมเด็จช่วงได้กระทำผิดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2553 โดยสมเด็จช่วงได้มีเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารกรุงเทพ สาขาตลาดพลู และได้สั่งจ่ายเช็คฉบับลงวันที่ 13 ธ.ค. 2553 จำนวนเงิน 1 ล้านบาทให้แก่อู่วิชาญ เพื่อชำระค่าซื้อรถยนต์ ยี่ห้อเมอร์เซเดส เบนซ์ ทะเบียน ขม 99 กทม. และสมเด็จช่วงเป็นผู้ลงนามด้วยตนเองในการยื่นขอจดทะเบียนรถต่อกรมการขนส่งทางบก โดยปรากฏหลักฐานในสมุดคู่มือจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบกว่าสมเด็จช่วงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค. 2554 และเป็นวันเกิดของสมเด็จช่วง

หลังจากนั้นทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ตรวจสอบรถคันดังกล่าว พบว่าเป็นรถที่นำเข้าผิดกฎหมายหลายประการ เช่น หลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากร และมีการใช้เอกสารปลอมในการจดทะเบียน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้สมเด็จช่วงถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการล่วงละเมิดพระธรรมวินัย 3 ประการ ประกอบด้วย 1. สมเด็จช่วงได้รับเงินและสะสมไว้ในบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดพระวินัยสิกขาบทที่ 8 ห้ามรับเงินทอง 2. สมเด็จช่วงนำเงินของตนเองที่มีอยู่ในบัญชีธนาคารไปซื้อรถเบนซ์คลาสสิคหรู เป็นการล่วงละเมิดพระวินัยสิกขาบทที่ 9 ห้ามทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ (ทอง, เงินหรือสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนแทนเงินที่กำหนดให้ใช้ได้ทั่วไปในที่นั้นๆ) และ 3. สมเด็จช่วงยื่นขอจดทะเบียนรถ โดยรถเบนซ์คันดังกล่าวเป็นรถผิดกฎหมาย จึงขอให้มหาเถรสมาคมพิจารณาสั่งรับคำร้องกล่าวหาไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า เนื่องจากสมเด็จช่วงเป็นประธานมหาเถรสมาคม(มส.) และยังเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นห่วงว่า คณะกรรมการมหาเถรสมาคมจะให้การช่วยเหลือสมเด็จช่วงหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวหวังว่าจะได้เห็นการดำเนินการที่โปร่งใส หากมหาเถรสมาคมมีมติรับคำฟ้องตามขั้นตอนกฎมหาเถรสมาคมฉบับ 11 ว่าด้วยการลงนิคหกรรมเมื่อใด ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบต่อไป

4.เอกสาร “ปานามา เปเปอร์ส” หลุด พบชื่อบุคคลสำคัญทั่วโลกเปิดบริษัทนอก ปท. ส่อฟอกเงิน-เลี่ยงภาษี มี 21 คนไทยด้วย ด้าน ปปง.ยันพบชื่อแค่ 16 ยังไม่พบความผิด!

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ(ไอซีไอเจ) และหนังสือพิมพ์ซูดดอยซ์ ไซตุง ของเยอรมนี ได้เปิดเผยเอกสารของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายมอสแซค ฟอนเซกา ที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศปานามา และมีสาขาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในไทย โดยเอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดมากถึง 11.5 ล้านฉบับ มีการระบุข้อมูลบุคคลและหน่วยงานผู้มีรายชื่อเป็นเจ้าของบริษัทนอกประเทศหรือออฟชอร์ คอมปานี ประมาณ 214,000 แห่ง โดยเป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2520-2558 แต่ไม่ชัดเจนว่าข้อมูลนี้รั่วออกมาได้อย่างไร

ด้านนายรามอน ฟอนเซกา ผู้อำนวยการบริษัท มอสแซค ฟอนเซกา ปฏิเสธว่า บริษัทไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่เป็นเรื่องเสื่อมเสียหรือผิดกฎหมาย แต่บริษัทถูกแฮกข้อมูล และรายละเอียดที่ถูกนำมาเผยแพร่นี้ ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างชัดเจน และว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญเรื่องการเปิดบริษัทการค้านอกประเทศ และได้ช่วยลูกค้าจัดตั้งบริษัทในลักษณะนี้กว่า 240,000 บริษัท พร้อมยืนยันว่า บริษัทเหล่านี้ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมามีชื่อผู้นำและอดีตผู้นำของประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 72 คน รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำเผด็จการและปล้นชิงความมั่งคั่งของประเทศมาเป็นของตนเอง เช่น อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ของอียิปต์ โมอามา กาดาฟี อดีตผู้นำลิเบีย และบาซาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาธนาคาร บริษัท และผู้ช่วยที่ใกล้ชิดของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียว่า มีเงินหมุนเวียนในบริษัทการค้านอกประเทศกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถูกนำไปใช้เพื่อสร้างอิทธิพลกับสื่อและอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

สำหรับลูกค้าในไทยที่ถูกระบุชื่อว่าใช้บริการบริษัท มอสแซค ฟอนเซกามีทั้งหมด 21 ราย ซึ่งมีทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง นักแสดง และนักร้อง โดยทั้ง 21 รายใช้บริการจดทะเบียนนอกอาณาเขตไปแล้ว 963 บริษัท และบริษัทเหล่านี้กระจายไปตามที่ต่างๆ ซึ่งเป็นสวรรค์ปลอดภาษี เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หรือเคย์แมน ฯลฯ สำหรับบริษัททั้ง 963 บริษัท มีผู้ถือหุ้น ทั้งในนามบุคคลและบริษัทรวม 757 ราย และผู้รับผลประโยชน์ 40 ราย

ด้าน พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. ได้เปิดแถลงเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ถึงกรณีมีชื่อคนไทย 21 รายในเอกสารปานามา เปเปอร์ส ว่า จากฐานข้อมูลของไอซีไอเจ ที่มีการรวบรวมตั้งแต่ปี 2556 พบว่า มีรายชื่อบุคคลในปานามา เปเปอร์สทั้งหมด 719 ราย แบ่งเป็นคนไทย 411 ราย คนต่างชาติ 262 ราย และนิติบุคคล 46 บริษัท จากการตรวจสอบ เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย ส่วนรายชื่อบุคคลที่ปรากฏเป็นข่าวจากการเผยแพร่เอกสารปานามา เปเปอร์ส พบว่ามี 21 รายชื่อเป็นคนไทยนั้น เมื่อ ปปง.ตรวจสอบอีกครั้งพบเพียง 16 รายชื่อเท่านั้น ซึ่งต้องแยกกัน อย่างไรก็ตาม ปปง.ขอไม่เปิดเผยรายชื่อ เพราะยังไม่ชัดเจนว่าบุคคลที่มีรายชื่อมีความผิดหรือไม่ แต่ยอมรับว่าเกี่ยวข้องกับนักการเมือง และบุคคลสำคัญ "ความน่าเชื่อถือของข้อมูลยังไม่มีความชัดเจน จนกว่าต้นตอข้อมูลได้ส่งกลับมายืนยันเสียก่อน โดยทาง ปปง.จะไม่ดำเนินการใดๆ จนกว่าไอซีไอเจ จะส่งข้อมูลมาให้ อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบเอาผิดกับบุคคลใดต้องมีความชัดเจนว่ามีความผิดมูลฐานเกิดขึ้นจริง ปปง.จะดำเนินการทันที แต่จะให้ผู้มีรายชื่อเข้ามาชี้แจงก่อนว่าผิดหรือไม่ ส่วนความผิดภาษีเป็นส่วนของกรมสรรพากร ไม่ใช่ความผิดมูลฐานของ ปปง. แต่เราก็ได้มีการประสานการทำงานกันเรียบร้อยแล้ว”

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรประสานขอข้อมูลจาก ปปง. ก่อนตรวจสอบการเสียภาษีของผู้มีรายชื่อในปานามา เปเปอร์ส ทั้ง 21 คน หรืออาจจะมีมากกว่านั้น โดยพร้อมให้ความเป็นธรรมต่อบุคคลที่มีรายชื่อ เพราะการตั้งบริษัททำธุรกิจในต่างประเทศมีความเป็นไปได้หลายแนวทาง ทั้งการฟอกเงิน การหลบเลี่ยงภาษี และการทำธุรกิจแท้จริง ซึ่งการตั้งบริษัทในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติของภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้เพื่อลดต้นทุนทางธุรกิจ แต่หากพบว่ามีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีจริง กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้


5.รัฐบาล ปัดข้อเสนอ “เอไอเอส” ขอซื้อใบอนุญาต 4G คลื่น 900 แทน “แจส” โดยไม่ต้องประมูลใหม่ หวั่นถูกครหา แต่ให้ประมูลใหม่เร็วขึ้น 22 พ.ค.!

 (แฟ้มภาพ)
ความคืบหน้ากรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือแจส ทิ้งใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าประมูลงวดแรก 8,040 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เมื่อวันที่ 21 มี.ค. โดยอ้างว่า ติดขัดเรื่องเงื่อนเวลาที่กระชั้นชิด ทำให้ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินที่จีนที่จะร่วมลงทุนกับแจสออกแบงก์การันตีให้ไม่ทันเวลาที่ กสทช.กำหนด

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เผยว่า บอร์ด กสทช.ได้อนุมัติหลักเกณฑ์การประมูล 4G คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ รอบใหม่ในวันที่ 24 มิ.ย. โดย กสทช.เห็นพ้องกับหลักเกณฑ์การประมูลที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค. เช่น ตัดสิทธิการเข้าประมูลของแจส หลังทิ้งใบอนุญาตครั้งที่แล้ว, การกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลไว้ที่ 75,654 ล้านบาท และวางหลักประกันไว้ที่ 3,783 ล้านบาท แต่หากมีการประมูลได้และทิ้งใบอนุญาต จะต้องโดนปรับเพิ่มอีก 15,131 ล้านบาท ทั้งนี้ มีหลักเกณฑ์เดียวที่ กสทช.มีการเปลี่ยนแปลง คือ การตัดสิทธิกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการเข้าประมูลรอบใหม่ เนื่องจากทรูได้รับใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ไปแล้ว 1 ใบ หากได้เพิ่มอีก จะเกิดการผูกขาดได้

อย่างไรก็ตาม นายฐากร เผยว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้มีหนังสือถึง กสทช. โดยระบุว่า ยินดีจ่ายค่าใบอนุญาต 4G คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ในส่วนที่แจสชนะการประมูลที่ราคา 75,654 ล้านบาท เพื่อขอรับใบอนุญาตไปใช้งานทันทีโดยไม่ต้องนำคลื่นดังกล่าวมาจัดประมูลใหม่ในวันที่ 24 มิ.ย. โดยขอให้ กสทช.เร่งดำเนินการจัดสรรใบอนุญาตให้เอไอเอสให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 14 เม.ย.นี้ เพื่อให้ทันการให้บริการได้ต่อเนื่องแก่ลูกค้า 2G ที่ค้างการใช้งานหลังหมดสัญญาสัมปทานคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อไม่ต้องประสบปัญหาซิมดับ เนื่องจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองการใช้งานลูกค้า 2G ในกลุ่มดังกล่าวถึงวันที่ 14 เม.ย.นี้เท่านั้น

ทั้งนี้ นายฐากร ได้นำข้อเสนอของเอไอเอส พร้อมบทวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อตัดสินใจว่าจะใช้กฎหมายพิเศษ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ในการเปิดทางให้มีการจัดสรรใบอนุญาต 4G คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ โดยไม่ต้องประมูลได้หรือไม่ หาก คสช.ไม่อนุมัติก็ต้องใช้วิธีการประมูลตามเดิม

อย่างไรก็ตาม หลังจากตัวแทน กสทช.ได้หารือประเด็นดังกล่าวกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปแล้วว่าจะไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของเอไอเอส เนื่องจากเกรงจะถูกครหาได้ โดยก่อนได้ข้อสรุป กสทช.ได้เสนอทางออกไว้ 3 ทาง คือ 1.เปิดประมูลใหม่ตามขั้นตอนปกติ โดยจะเคาะราคาวันที่ 24 มิ.ย. 2.เอไอเอสเสนอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เพื่อให้เอไอเอสได้สิทธิรับใบอนุญาต พร้อมขอให้ขยายมาตรการเยียวยาลูกค้า 2G ไม่ให้ซิมดับ ต่อจากวันที่ 14 เม.ย. และ 3.เสนอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 ขยายเวลามาตรการเยียวยาลูกค้า 2G ให้เอไอเอส และให้ คสช.ช่วยลดขั้นตอนการจัดประมูลใหม่ให้สั้นลง โดย กสทช.จะกำหนดวันเคาะราคา จากเดิมวันที่ 24 มิ.ย. เป็นวันที่ 22 พ.ค.แทน รวมทั้งเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูล โดยให้กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และผู้ประกอบการรายอื่นๆ เข้าร่วมประมูลได้ เพื่อความโปร่งใส ยกเว้นแจส จะถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมประมูล

หลังหารือกว่า 3 ชั่วโมง นายวิษณุ เผยว่า ที่ประชุมเห็นว่า วิธีที่ 2 ที่ให้สิทธิเอไอเอสได้ใบอนุญาตโดยไม่ต้องประมูล ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการตัดโอกาสผู้สนใจรายอื่น โดยเห็นว่า วิธีที่ 3 เหมาะสม คือ เปิดประมูลตามปกติ และให้ผู้ที่เคยเข้าประมูล รวมทั้งผู้ที่ไม่เคยเข้าประมูล สามารถเข้าร่วมประมูลได้ทั้งหมด รวมถึงทรู แต่ยกเว้นแจส โดยใช้ราคาที่แจสเคยชนะประมูลที่ 7.5 หมื่นล้านบาทเศษ และให้ กสทช.ไปดูวิธีการและกฎหมายว่าจะทำอย่างไรให้การประมูลรอบใหม่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หากกฎหมายปกติของ กสทช.ทำไม่ได้ ค่อยเสนอให้ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแก้ปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น