“ศาลปกครองกลาง” มีคำสั่งขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ของเอไอเอส ออกไป 30 วัน ถึงวันที่ 14 เมษายน เวลา 24.00 น.
วันนี้ (15 มี.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งในคดีที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีเอไอเอส คัดค้านมติคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) ที่ไม่อนุญาตให้ขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการคลื่นโครงข่าย 900 เมกะเฮิรตซ์ โดยเอไอเอสร้องให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้เอไอเอสยังให้บริการในคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการต่อไปอีกระยะหนึ่ง
โดยภายหลังการไต่สวนองค์คณะได้มีการพิจารณาจนกระทั่งเวลา 23.00 น. ศาลได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของ กทค.ในการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ไม่ให้ขยายเวลาเยียวยาออกไป จึงมีผลไม่ให้ซิมดับโดยให้เอไอเอสดำเนินมาตรการเยียวยาต่อไปเป็นเวลา 30 วัน ถึงวันที่ 14 เมษายน 2559 เวลา 24.00 น.
รายละเอียดจากศาลปกครองกลางมีดังนี้
โดยที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาในคดีขอทุเลา
การบังคับคำสั่งทางปกครอง ในคดีหมายเลขดำที่ ๔๐๖/๒๕๕๙ ระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ ๑ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ที่ ๒ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ร้องสอด ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชน เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบถึงสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว สำนักงานศาลปกครองจึงขอสรุปย่อคำสั่งดังกล่าวนั้น ดังต่อไปนี้
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ด้วยระบบ NMT ๙๐๐ และ GSM โดยใช้คลื่นความถี่ย่าน ๙๐๐ MHz (ย่าน ๘๙๗.๕ - ๙๑๕ MHz/๙๔๒.๕ - ๙๖๐ MHz) จากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ “ทีโอที” ตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ ซึ่งสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘ ต่อมา กสทช. ได้นำคลื่นความถี่ ๙๐๐ MHz ดังกล่าว ไปประมูล โดย บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ชนะการประมูลคลื่นความถี่ ๙๐๐ MHz ในชุดที่หนึ่ง และผู้ร้องสอดชนะการประมูลคลื่นความถี่ ๙๐๐ MHz ในชุดที่สอง ซึ่งต่อมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมได้ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ๙๐๐ MHz ในชุดที่สอง ให้แก่ผู้ร้องสอด และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ ให้ผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ด้วยระบบ NMT ๙๐๐ โดยให้มีผลนับตั้งแต่เวลา ๐๐.๐๐.๐๑ นาฬิกา ของวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นไป ซึ่งมีผลทำให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในคลื่นความถี่ ๙๐๐ MHz ของผู้ฟ้องคดี ประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ ราย รวมทั้งผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการรายอื่นที่เข้ามาใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) กับผู้ฟ้องคดีประมาณ ๘ ล้านราย ไม่สามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่นความถี่ ๙๐๐ MHz ต่อไป จนถึงวันที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด และผู้ร้องสอดพร้อมจะให้บริการอย่างต่อเนื่อง
ผู้ฟ้องคดีมีคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ด้วยระบบ NMT ๙๐๐ โดยให้มีผลนับตั้งแต่เวลา ๐๐.๐๐.๐๑ นาฬิกา ของวันที่
๑๖ มีนาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นไป และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่นความถี่ ๙๐๐ MHz ต่อไป จนถึงวันที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด และผู้ร้องสอดพร้อมจะให้บริการอย่างต่อเนื่อง จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ๒๕๕๖ และ
ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) ข้อ ๙ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ในกรณีระยะเวลาความคุ้มครองยังไม่สิ้นสุด เมื่อคณะกรรมการได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใหม่แล้วให้คณะกรรมการกำหนดวันหยุดการให้บริการซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครอง พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ให้บริการทราบถึงกำหนดวันหยุดให้บริการดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำคลื่นความถี่ไปให้บริการใหม่ วรรคสอง กำหนดว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่จะต้องแจ้งถึงวันหยุดให้บริการแก่ผู้ใช้บริการล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันหรือตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ก่อนที่ผู้ให้บริการจะหยุดให้บริการ เห็นว่า กำหนดวันหยุดการให้บริการเป็นวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งให้ผู้ให้บริการทราบถึงกำหนดวันหยุดให้บริการดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำคลื่นความถี่ไปให้บริการใหม่ เพื่อให้ผู้ให้บริการแจ้งกำหนดวันหยุดการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันหรือตามระยะเวลาที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ก่อนที่ผู้ให้บริการจะหยุดให้บริการ แต่เมื่อได้พิจารณามติในคราวประชุม ครั้งที่ ๓๔/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ และมติในคราวประชุม ครั้งที่ ๖/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๙ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นว่า ตามมติดังกล่าวข้างต้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ได้กำหนดให้วันใดวันหนึ่งเป็นวันหยุดการให้บริการ ในขณะที่ผู้ฟ้องคดียังคงให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๙๐๐ MHz อยู่ต่อไป จึงถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้รับความเดือดร้อนจากมติดังกล่าวข้างต้น
แต่ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช ๕๐๐๙/๙๘๓๖ ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีมติในคราวประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ อนุมัติให้ผู้ร้องสอดได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม โดยให้การอนุญาตมีผลนับตั้งแต่ เวลา ๐๐.๐๐.๐๑ นาฬิกา ของวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นไป และการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๙๐๐ MHz ที่ได้ให้บริการในช่วงระยะเวลาคุ้มครองตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ๒๕๕๖ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้องสิ้นสุดลง รวมถึงให้ผู้ฟ้องคดีจัดทำรายงานข้อมูลเลขหมายพร้อมจำนวนเงินคงเหลือในระบบ ณ เวลา ๒๓.๕๙ นาฬิกา ของวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๙ และนำส่งต่อสำนักงาน กสทช. ภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ให้บริการทราบถึงกำหนดวันหยุดให้บริการ ตามข้อ ๙ ของประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ๒๕๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) จึงถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการกำหนดวันหยุดการให้บริการตามข้อ ๙ ของประกาศดังกล่าว
การดำเนินการในการแจ้งกำหนดวันหยุดให้บริการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามมติในคราวประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผลทำให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่นความถี่ ๙๐๐ MHz เดิม จำนวนกว่า ๔๐๐,๐๐๐ เลขหมาย ไม่สามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวได้หลังเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา ของวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๙ อันจะทำให้เกิดปัญหาแก่ผู้ใช้บริการในการติดต่อสื่อสาร จึงเป็นการยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า หากศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในคราวประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ จะเป็นบรรทัดฐานในกรณีประมูลคลื่นความถี่ในครั้งต่อ ๆ ไป ที่จะต้องขยายมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ นั้น เห็นว่า คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของศาลจะเป็นบรรทัดฐานให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้เป็นหลักปฏิบัติในการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อๆ ไป ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะต้องกำหนดระยะเวลาวันหยุดการให้บริการให้เป็นไปตามข้อ ๙ ของประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว ในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ๒๕๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กำหนดขึ้นเอง ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาแก่ผู้ใช้บริการ
ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า การขยายระยะเวลาไม่ได้มีหลักประกันว่าผู้ใช้บริการทั้งหมดทุกรายจะไม่เกิดผลกระทบจากซิมดับ นั้น เห็นว่า คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของศาลเป็นมาตรการในการคุ้มครองเฉพาะผู้ใช้บริการเพียงชั่วคราว มิใช่เป็นการคุ้มครองให้มีการโอนย้ายผู้ใช้บริการของผู้ฟ้องคดีทั้งหมดทุกรายแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า การขยายระยะเวลาจะเป็นการอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีสามารถนำคลื่นความถี่ ๙๐๐ MHz ไปให้ AWN ใช้ในการโรมมิ่งลูกค้าจำนวน ๗.๖ ล้านเลขหมาย และส่งผลกระทบต่อการสอบสวนการนำส่งเงินรายได้ตามสัมปทานในขณะนี้ นั้น เห็นว่า เป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่จะกำหนดมาตรการในการป้องกันปัญหาดังกล่าว ทั้งเมื่อชั่งน้ำหนักปัญหาที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างกับผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนกว่า ๔๐๐,๐๐๐ เลขหมาย ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ชี้แจงในชั้นไต่สวนว่าผู้ใช้บริการจะได้รับผลกระทบจากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในคราวประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ ดังนั้น หากศาลจะมีคำสั่งทุเลาตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามคำขอของผู้ฟ้องคดีในระหว่างการพิจารณาจึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแต่อย่างใด อีกทั้งกรณีที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอด ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๙ ขอให้ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา และให้มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง นั้น ข้อเท็จจริงได้ความในชั้นไต่สวนตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองว่า ผู้ร้องสอดได้เสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำคลื่นความถี่ย่าน ๙๐๐ MHz จำนวน ๕ MHz ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ใช้งานภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สามารถดำเนินการได้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะไปจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ตามหนังสือที่ TUC/H/REG/๒๓๘/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๙ จึงเห็นได้ว่า หากศาลจะมีคำสั่งทุเลาตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็ไม่ทำให้ผู้ร้องสอดเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายแต่อย่างใด ศาลจึงเห็นว่ามีเหตุสมควรที่จะทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบข้อ ๗๒ วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓
จึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในคราวประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ โดยให้ระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวสิ้นสุดลงในวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๙ เวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา