เรื่องราวของ “เจ้าจอมช้อย” ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ “The Romance of the Harlem” จากบันทึกของนางแอนนา ลีโอโนเวนส์ แม่ม่ายชาวอังกฤษซึ่งเข้ามาเป็นครูสอนภาษาแก่พระเจ้าลูกเธอในสมัยรัชกาลที่ ๔ เช่นเดียวกับเรื่อง “เจ้าจอมทับทิม” ใน “The King and I” ที่เคยเล่ามาแล้ว ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเรื่องที่นางแอนนาแต่งขึ้นมาเอง โดยนำบุคคลจริงมาร่วมอยู่ในเหตุการณ์ให้ดูเป็นเรื่องจริง บางเรื่องก็นำเรื่องจริงที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ มาเปลี่ยนตัวละคร เปลี่ยนกาลเวลา และเปลี่ยนเรื่องราวอันเป็นแบบฉบับของความดีงาม ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระเมตตาในการปกครอง และการยึดมั่นในกฎหมายของขุนนาง ให้กลายเป็นเรื่องอนารยชนของบ้านป่าเมืองเถื่อนไปได้
นางแอนนาเขียนเป็นคำบอกเล่าของเจ้าจอมช้อยเองว่า เธอถูกพ่อและแม่นำมาถวายตัวเป็นละครหลวงเมื่ออายุ ๑๐ ขวบ พี่สาวคนโตคือ เจ้าจอมมารดาเที่ยง มีหน้าที่ดูแลพระสนมและนางห้ามทั้งหลาย ช้อยได้รับการฝึกร้องรำจากครูสาวที่ชื่อสมศักดิ์อย่างเข้มงวดถึงขั้นโหด นักเรียน ๗๐ คนผ่านการฝึกไปได้ ๖-๗ คนเท่านั้น รวมทั้งช้อยด้วย
แหม่มแอนนาบรรยายความงามของช้อยเมื่อโตเป็นสาวไว้ว่า ผิวละเอียดค่อนข้างขาว รูปร่างโปร่งงามได้สัดส่วน ใบหน้าเร้ารึงตรึงใจ นัยน์ตากลมโตดำเป็นประกาย มีแววของความยวนรัก แก้มมีแผลฝีดาษตื้นๆอยู่นิดหน่อย ถ้าไม่สังเกตโดยใกล้ชิดจะเห็นได้ยาก
พระราม เป็นพระเอกในฝันของช้อย และสมมุติตัวเป็นสีดาผู้ทรงโฉม เมื่อเธอผัดแป้งแต่งหน้าลบรอยฝีดาษ และแต่งเครื่องทรงรัดเกล้าเข้าไปแล้ว ใครๆก็พากันชมว่าสวยใกล้ๆนางสีดา
เมื่อได้ออกแสดงหน้าพระที่นั่งเป็นครั้งแรก ช้อยได้รับบทนางสีดาสมใจ พอกลับเข้าไปในโรง เจ้าจอมมารดาเที่ยงเข้ามากระซิบกับครูสมศักดิ์ว่า ในหลวงรับสั่งถามว่าเธอชื่อเสียงไร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร อายุเท่าไหร่ ทำให้หัวใจช้อยรัวเป็นกลอง นึกในใจว่าเธอได้ก้าวขึ้นเป็นคนที่ในหลวงทรงสนพระทัยแล้ว
ช้อยเฝ้าคอยข่าวดีที่จะมาถึงเธออยู่หลายวัน แต่ก็ไม่มีวี่แววรับสั่งให้เข้าเฝ้าหรือพระราชทานสิ่งของลงมา ผลงานเด่นของช้อยทำให้เธอได้รับงานหนักขึ้น ต้องช่วยครูสมศักดิ์ฝึกนักเรียนด้วย
ช้อยมีโอกาสได้แสดงหน้าพระที่นั่งอีกหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความสนพระทัยจากในหลวงเลย เจ้าจอมเก่าๆซึ่งรู้ความใฝ่ฝันของช้อยพากันเยาะเย้ยถากถางต่างๆนานา ว่าหน้าปรุด้วยฝีดาษอย่างนี้ ยังมีหน้ามาถวายตัวหวังจะเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามกับเขาด้วย
แต่แล้วในตอนที่อายุครบ ๑๖ ปีเต็ม ช้อยได้แสดงในงานพระราชพิธีใหญ่ที่เธอรอคอยโอกาส เป็นพระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งในหลวงทรงพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นใหม่เพื่อแสดงในงานนี้โดยเฉพาะ ช้อยได้รับเลือกให้แสดงเป็น นางเทวดี นางพญาเขมรผู้เลอโฉม ตัวเอกของเรื่องสมัยสร้างนครวัด
เครื่องแต่งกายซึ่งช้อยแต่งแสดงในบทนี้ ประกอบด้วยแพรพรรณที่สูงค่า และเพชรนิลจินดาที่มเหสีของกษัตริย์เขมรเคยใช้ตกทอดมาหลายชั่วคน และถวายเป็นเครื่องบรรณาการมา เธอเห็นเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่แล้ว ที่จะสร้างผลงานให้เป็นที่โปรดปรานเหนือเจ้าจอมทั้งหลายที่เคยเยาะเย้ยถากถาง
ในวันงานสมโภช เมื่อแต่งเป็นนางพญาเขมรด้วยเครื่องประดับที่พระราชทานมาให้แต่งพร้อมแล้ว ก็มีราชรถประดับทองและงา มีเฟื่องห้อยและดอกไม้สด เทียมม้าขาวคู่ ให้เธอขึ้นนั่งอย่างเป็นสง่า แวดล้อมด้วยนางโขลนแต่งเต็มยศเดินตามราชรถ มีหัวหน้าโขลนสอนคนเดินจูงม้าไป
พระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พลับพลาพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และฝ่ายใน ข้าราชการชั้นผู้น้อยผู้ใหญ่เข้าเฝ้าครบถ้วนทุกตำแหน่ง พอกระบวนราชรถเข้าไปใกล้พระที่นั่ง ในหลวงทอดพระเนตรเห็นก็ทรงลุกขึ้นประทับยืน รับสั่งถามถึงชื่อเธอต่อข้าราชบริพารที่แวดล้อม เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลก็ทรงรำลึกขึ้นได้ มีพระราชดำรัสขึ้นว่า
“อ้อ นางที่เคยเห็นร้องเพราะรำสวยนั่นเอง นึกได้ละ”
จากนั้นพวกนางโขลนก็ถอยออกไป แล้วมีขุนนางหนุ่มรูปสง่างามสองคนวิ่งมาออกมาจากพลับพลา เข้าจูงม้าที่เทียมราชรถ คนหนึ่งนั้นเธอรู้ว่าคือ พระยารัชนีกร อีกคนไม่รู้จัก แต่สังเกตว่าคงมีศักดิ์เสมอกัน ขุนนางทั้งสองแสดงความเคารพเธอก่อนที่จะจูงม้าไป เสมือนเธอเป็นนางเทวดีตัวจริง
ระหว่างที่จูงม้า พระยารัชนีกรเหลียวมากระซิบพอให้เธอได้ยินว่า
“ช่างงามอะไรเช่นนี้แม่คุณเอ๋ย”
ช้อยแสดงความไม่พอใจในความไม่เจียมตัวของเขา ทำเอาพระยารัชนีกรเจื่อนไป
ส่วนอีกคนไม่พูด แต่หันมามองบ้างเป็นครั้งคราว คราวใดที่สบตากัน ก็ทำให้เธอซาบซ่านอย่างประหลาด เป็นสายตาที่ชื่นชอบในตัวเธอ ทำให้นัยน์ตาเธอพร่าไปด้วยรัศมีเสน่ห์น้าวใจของเขา
เธอเร่าร้อนกระวนกระวายอยากให้เขาพูดกับเธอ แต่เขาก็ได้แต่มองไม่ยอมพูด จนใกล้ถึงโรงแสดง เธอเห็นว่าโอกาสจะหลุดลอยไป พอเขาหันมามองเธออีก ช้อยจึงเป็นฝ่ายเอ่ยเบาๆขึ้นว่า
“มองอะไรกันนักคะ”
เขาตอบเบาๆด้วยความระมัดระวังว่า
“คุณเทวดี ฉันกำลังหลงตัวเองว่าอยู่ในฟากฟ้า กำลังมองดูนางสวรรค์ แต่เสียงของคุณทำให้รำลึกขึ้นได้ว่า ตนยังอยู่บนพื้นดินนั่นเอง”
คำพูดของเขาทำให้เลือดเธอฉีดแรง ร้อนเผ่าไปทั่วหน้าและสรรพางค์กาย นัยน์ตาพร่าพรายเหมือนต้องแสงในความมืด รู้สึกริมฝีปากเผยอยิ้มที่สมใจปรารถนา”
เมื่อการแสดงเปิดม่าน หัวใจที่เต้นแรงจากถ้อยคำของเขาก็ยังไม่ยอมสงบ ความรู้สึกร้อนรักแรกในกายที่ส่งออกมา เป็นผลให้บทบาทการแสดงของเธอเป็นไปอย่างน่าพิศวง แทบไม่เชื่อว่าตัวเองจะทำได้เช่นนั้น ท่าทางเป็นสง่าสมลักษณะนางพญา มีเสียงพึมพำด้วยความพอใจจากด้านพลับพลาที่ประทับ เธอสังเกตเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวเพ่งเขม็งมาที่เธออย่างไม่วางพระเนตร มีพระกิริยาแสดงความประหลาดพระทัยในบทที่เธอแสดง เธอพยายามส่ายตาหาขุนนางผู้นั้น แต่ไม่เห็นอยู่ในหมู่ผู้ดู
พอจบการแสดง มีเถ้าแก่สองคนคลานเข้ามาบอกว่า ในหลวงรับสั่งให้เข้าเฝ้าค่ำนี้ที่ห้องเสวยพระกระยาหาร ความมักใหญ่ใฝ่ศักดิ์ให้มีเกียรติสูง ที่เธอบากบั่นพยายามมาหลายปีมาถึงแล้ว แต่กลับทำให้เธอปวดร้าวใจ เพราะความมุ่งมาดปรารถนาที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ อยู่ที่อัศวินผู้งามสง่าซึ่งจูงม้าเทียมรถนางพญาเขมรให้เธอนั่นเอง
แต่ถึงอย่างไรช้อยก็ไม่อาจขัดรับสั่ง เจ้าจอมมารดาเที่ยงกระซิบให้เธอคลานเข้าไปถวายตัว กราบถวายบังคมลงเบื้องพระยุคลบาท เธอก็ทำตามทุกอย่าง แต่ที่จะให้มอบหัวใจเหมือนอย่างที่มั่นหมายไว้แต่แรกนั้น คงทำไม่ได้แล้ว จะถวายได้ก็แต่ตัว
อีก ๔-๕ วันต่อมา ช้อยก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหญิงที่มีเกียรติสูงอยู่ถวายงานฝ่ายในใกล้ชิดตลอดเวลา เฉพาะบรรทมหลับหรือออกว่าราชการเท่านั้น เธอจึงมีโอกาสไปแหวกว่ายเล่นในสระบัว หรือเดินชมสวนดอกไม้ ได้รับพระราชทานของมีค่าและของสวยงามทุกวัน ส่วนนางสนมคนที่เคยเยาะเย้ยถากถาง จะพบเธอต้องคลานเข้ามาหา
ความพิศวาสอันแรงกล้าต่อขุนนางหนุ่มที่เธอไม่รู้จักแม้แต่ชื่อนั้น กลับเป็นกิริยาที่เปล่งออกมาให้ในหลวงเข้าพระทัยว่า พระองค์คือผู้ที่เธอใฝ่ฝันหาทุกเวลานาที ทรงปลื้มปีดีในความสวามิภักดิ์ของเธอ
แต่ไม่นาน ช้อยก็เริ่มเบื่อหน่ายกับการที่ต้องเสแสร้ง เปลี่ยนแปลงเป็นอาการเฉื่อยชา ขอลาไปพักที่บ้านพระราชทานโดยอ้างว่าป่วย เก็บตัวอยู่กับความเจ็บปวดรวดร้าวจนผ่ายผอมทรุดโทรม หมดอาลัยกับการมีชีวิต แต่เจ้าจอมเที่ยงกลับเข้าใจไปอีกอย่าง มาตักเตือนช้อยว่า
“อย่าหักโหมเกินกำลังนักซีช้อย ถนอมตัวเองไว้บ้าง จะไม่ต้องเสียใจภายหลังว่าร่างกายทรุดโทรมสิ้นสวยเร็วเกินไป อย่าลืมว่าทุกคนเขาต่างก็มีโอกาสในวันหนึ่ง เวลานี้เป็นโอกาสชองช้อย แต่โอกาสนี้ก็ไม่จีรังยั่งยืนหรอก พวกนางละครเล็กๆกำลังโตเป็นสาวก็มีอีกไม่ใช่น้อย บางคนสวยกว่าช้อยเสียด้วยซ้ำ”
ช้อยเดือดดาลคำเตือนของพี่สาว ตอกกลับไปว่า
“เปล่าเลย ผัวที่อายุราวปู่น่ะ ฉันไม่อาลัยตายอยากนักหนาหรอก ถ้าพี่ต้องการก็เอาของพี่คืนไปเถอะ”
ต่อมาไม่นาน แสงแห่งความสุขก็สาดส่องมาต้องหัวใจเธอ เมื่อช้อยได้ทาสสาวคนใหม่ ชื่อ “บุญ” ซึ่งรู้ชื่อของชายคนที่เธอใฝ่ฝันหาจากการเห็นหน้าเพียงครั้งเดียวนั้นว่า “พระยาพิจิตร”
เจ้าจอมช้อยเอาไหมทองมาปักชื่อ “พระยาพิจิตร” ลงบนแพรผืนน้อย แล้วพับสอดใส่ไว้แนบอก ทำให้คลายความทุกข์ระทมลงไปมาก แต่ช้อยไม่พอใจแค่นี้ ส่งบุญให้ไปสืบหาข่าวพระยาพิจิตรถึงบ้าน ก็ได้ทราบว่า หลังจากวันที่เขาจูงม้าให้เธอในวันนั้นแล้ว ก็มีกิริยาอาการเปลี่ยนไป เงียบเหงาเศร้าซึมจนญาติคิดว่าโดนคุณไสย ช้อยจึงตัดสินใจเขียนจดหมายให้บุญถือไปปลอบประโลมเขาด้วยถ้อยคำสั้นๆว่า “คิดถึง”
ในตอนบ่ายวันนั้น ช้อยก็ได้รับจดหมายตอบมาทันที สั้นเหมือนกันว่า “รักมาก”
จากนั้นช้อยกับพระยาพิจิตรก็เขียนจดหมายส่งให้กันทุกวันโดยมีบุญเป็นคนเดินสาร พระยาพิจิตรพรรณนาออดอ้อนด้วยความรัก และขอให้เธอหนีออกจากวังไปอยู่กับเขาเสีย จดหมายฉบับหลังนี้เหมือนไฟมาจี้จุดความพิศวาสให้ลุกโพลงถึงขีดสุด ช้อยตัดสินจะใจใช้เครื่องแต่งกายของบุญออกทางประตูดินตอนโพล้เพล้ ให้พระยาพิจิตรนำเรือมาจอดรอรับแถวหน้าวัดโพธิ์ แล้วหลบไปอยู่อยุธยาด้วยกัน โดยนัดให้เขามารับในวันรุ่งขึ้น เธอมอบเงินถุงหนึ่งใส่มือบุญให้ช่วยทำงานสำคัญนี้ แต่บุญกลับส่งเงินคืนและบอกว่า
“คุณโปรดเก็บเงินนี้ไว้ก่อนเถอะเจ้าค่ะ บุญต้องการเมื่อไรจะขอทานจากคุณเอง ขอให้มั่นใจเถิดว่าบุญจะช่วยอย่างเต็มกำลัง บุญสละได้ทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตก็ยอมพลีให้คุณ”
บุญดูซื่อสัตย์ภักดี และดูจะดีเกินไปเสียด้วยซ้ำ กำชับเธอย่าได้ใส่ชื่อใครลงในจดหมายเผื่อพลาดพลั้ง แล้วรีบนำสารสำคัญของเธอออกจากวังไปให้พระยาพิจิตรทันที
ช้อยตื่นเต้นใจระรัว นอนทอดกายนึกถึงการจะสมรักนี้จนเคลิ้มหลับไป มาตื่นเมื่อมีเสียงถีบประตูเปิดดังสนั่น นางราชมัน หัวหน้าโขลนผู้มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิด เข้ามากระชากตัวเธอออกไป
ช้อยถูกล่ามโซ่คุมขังร่วมกับบุญ สิ่งแรกที่เธออยากรู้ก็คือบุญสารภาพอะไรออกไปบ้าง บุญว่าไม่ยอมบอกอะไรเลย ไม่มีอำนาจใดๆในโลกจะสามารถทำให้เธอสารภาพสิ่งที่เป็นภัยต่อเจ้าคุณพิจิตรได้ ทำให้ช้อยสงสัยขึ้นมาทันที ว่าบุญเป็นใครกันแน่ และเคยนึกสงสัยมาก่อนแล้วว่า กิริยามารยาทและผิวพรรณของบุญ ไม่น่าจะเป็นคนที่มาขายตัวเป็นทาส บุญยกมือขึ้นพนมและรับว่า
“คุณเจ้าขา โปรดอภัยให้ฉันด้วยนะเจ้าคะ อย่ามีกรรมมีเวรต่อกันเลย ความจริงดิฉันก็คือภรรยาเจ้าคุณพิจิตร ดิฉันเป็นภรรยาคนแรกและคนเดียวของท่าน”
แหม่มแอนนาวางพล็อตเรื่องเป็นนิยายไปเลย โดยอ้างเหตุว่าบุญสงสารเจ้าคุณสามีที่ลุ่มหลงนางเทวดีจนเศร้าหมอง เธอเป็นภรรยาก็ไม่อาจเห็นสามีเป็นทุกข์ได้ จึงสัญญาว่าจะพยายามหาทางให้พระยาพิจิตรกับนางเทวดีได้เป็นคู่ครองกันจนได้ แม้จะเสียชีวิตก็ยอม
ทั้งคู่ถูกนำไปศาลาลูกขุนเพื่อชำระความ โดยมีจดหมายที่ไม่ได้ระบุบุรุษผู้รับ บุญอ้างอยู่ประโยคเดียวว่า “ขี้ข้าอย่างอิฉันไม่ทราบหรอกเจ้าข้า” แม้เธอจะถูกทรมานด้วยการกรีดฝ่ามือ ฝ่าเท้า เฆี่ยน ถึงตอกเล็บจนหมดสติไป
วันรุ่งขึ้นบุญถูกนำมาสอบต่อ แม้จะทรมานเหมือนเดิมเธอก็ไม่ยอมรับ ช้อยจึงเป็นรายต่อไป เธอถูกเปลือยท่อนบนเฆี่ยนหลัง กรีดฝ่าเท้าก็ไม่ยอมรับเหมือนบุญ แต่พอถูกตอกเล็บ ช้อยก็ทนความเจ็บปวดไม่ได้ ยอมเอ่ยชื่อพระยาพิจิตรออกมา บุญได้ฟังก็กรีดร้องแล้วสลบแน่นิ่งไป
แหม่มแอนนากล่าวถึงคำพิพากษาที่น่าสยดสยอง ซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในสาระบบการลงโทษของไทยว่า บุญและช้อยจะต้องถูกฟันกายออกเป็น ๔ ท่อน ส่วนพระยาพิจิตรจะถูกสับเป็นชิ้นๆ นำทั้ง ๓ ศพไปโยนเป็นทานแก่สุนัขและแร้งที่วัดสระเกศ พร้อมกับสาปแช่งอย่าได้ไปผุดไปเกิด
รุ่งขึ้นจากวันตัดสิน บุญและพระยาพิจิตรถูกนำไปสำเร็จโทษตามคำพิพากษา ช้อยรออยู่หลายวันก็ยังไม่ถูกนำตัวไป จนถึงครึ่งเดือนจึงถูกย้ายมาอยู่ห้องขังที่สะอาดกว่า ผู้คุมนำเสื้อผ้ามาเปลี่ยนให้ หมอมารักษาบาดแผล เจ้าจอมมารดาเที่ยงผู้เป็นพี่สาว พร้อมด้วยพระธิดา คือพระองค์เจ้าหญิงโสมวดีเข้ามาเยี่ยม และบอกว่าช่วยกันกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษหลายครั้ง จึงได้ทรงพระกรุณาไว้ชีวิต
เรื่องราวทำนองนี้ได้เคยเกิดขึ้นจริงในสมัยรัชกาลที่ ๓ และถูกบันทึกไว้ ซึ่งอาจเป็นต้นเรื่องที่แหม่มแอนนานำมาแต่งเป็นนิยายเรื่องนี้ก็เป็นได้
เรื่องเศร้าสะเทือนใจครั้งนั้น ผู้สร้างเรื่องเป็นแบบฉบับให้ “พระยาพิจิตร” ก็คือ “พระสุริยะภักดี” บุตรชายคนเดียวของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือที่เรียกกันว่า “สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย” ที่เกิดจากท่านผู้หญิงน้อย ภรรยาใหญ่ ได้ลอบรักใคร่กับ เจ้าจอมอิ่ม พระสนมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยติดต่อให้ของกำนัลกัน และเจ้าจอมอิ่มได้สั่งความให้มาบอกพระสุริยะภักดีว่า จะขอลาออกจากราชการมาอยู่บ้านพ่อแม่สักพักก่อน จึงให้พระสุริยะภักดีส่งเถ้าแก่ไปสู่ขอ โดย พระสำราญราชหฤทัย (อ้าว) รับจะเป็นคนสู่ขอเจ้าจอมอิ่มกับพระมหาเทพ ผู้เป็นบิดาของเจ้าจอมอิ่มให้
ทาสของพระสุริยะภักดี ๒ คน คือ อ้ายพลายกับอีทรัพย์ ทราบเรื่องนี้ กลัวว่าตัวเองจะมีความผิดไปด้วย จึงนำเรื่องไปร้องต่อเจ้าพระยาธรรมา เสนาบดีกระทรวงวัง เจ้าพระยาธรรมาจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ
จากการไต่สวนได้ความว่า พระสุริยะภักดีกับเจ้าจอมอิ่มยังไม่เคยพบปะพูดจากันเลย เป็นแต่ส่งเพลงยาวและของกำนัลให้กัน โดยมีพระสำราญราชหฤทัย สังกัดกรมวัง และหมอดูหมอเสน่ห์ของทั้งสองฝ่าย ทราบเรื่องอีกรวม ๗ คน
เมื่อตุลาการนำคำไต่สวนขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้รับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ซึ่งขณะนั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ตำแหน่งพระคลัง เข้าเฝ้า มีพระราชกระแสรับสั่งว่า พระยาสุริยะภักดียังหนุ่มรุ่นคะนอง ย่อมจะทำโดยไม่คิดถึงความผิดถูก อีกทั้งตุลาการได้ความว่า พระสุริยะภักดีมิได้พบพูดจากับเจ้าจอมอิ่มเลย จึงมีพระกรุณาธิคุณจะยกโทษให้ แต่เมื่อมีเรื่องมีราวกล่าวโทษมีโจทก์ขึ้นมาเช่นนี้แล้ว จะทรงปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปเลยก็ไม่ได้ ทรงพระมหากรุณาธิคุณให้พระยาพระคลังทำเรื่องขออภัยโทษขึ้นมา และขอทำทัณฑ์บนไว้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานอภัยโทษให้พระสุริยะภักดี
พระยาพระคลังกราบทูลว่า ท่านเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อบุตรของท่านทำผิดกฎพระอัยการร้ายแรงเช่นนี้ ยิ่งสมควรจะรักษากฎหมายของบ้านเมืองไว้ มิฉะนั้นจะเป็นการเสียหายต่อแผ่นดิน เสมือนเป็นบุตรของท่านแล้วทำอะไรก็ไม่มีความผิด ขอให้ลงพระราชอาญาตามแต่คณะลูกขุนจะพิจารณาเถิด
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงโปรดให้ลูกขุนศาลา ซึ่งก็มีพระยาพระคลังร่วมอยู่ในคณะด้วย ดำเนินการพิจารณาโทษของพระสุริยะภักดีไปตามกฎระเบียบ ตามที่พระยาพระคลังทูลขอ
พระกฤษฎีกาได้กำหนดโทษในเรื่องนี้ไว้ว่า ชายใดบังอาจสมรักด้วยนางใน ก็ให้ประหารชีวิตเสียทั้งชายและหญิง ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องรู้เห็นเป็นใจ ก็ให้ประหารชีวิตเสียด้วยกัน
ด้วยเหตุนี้ พระสุริยะภักดีและเจ้าจอมอิ่ม กับผู้ที่รู้เห็นเป็นใจอีก ๗ คน จึงถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิตทั้งหมด
แน่นอนว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยซึ่งมีลูกชายเพียงคนเดียวที่เกิดจากท่านผู้หญิง หวังจะให้เป็นผู้สืบสกุล ย่อมจะต้องปวดร้าวใจเป็นอย่างยิ่งในการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายบ้านเมืองและเกียรติยศของวงศ์ตระกูลที่จงรักภักดีต่อแผ่นดิน
หลังจากนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ก็ได้สร้างวัดพิชัยญาติขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๘๔ ส่วนท่านผู้หญิงน้อย ก็ได้สร้างวัดอนงคารามขึ้นในที่ดินซึ่งเป็นสวนกาแฟของท่านคนะฟากคลองสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ใกล้วงเวียนเล็กในปัจจุบัน อุทิศส่วนกุศลให้บุตรชายคนเดียวของท่าน
ทั้งสองเรื่องนี้มีแกนเรื่องเหมือนกัน ที่ขุนนางหนุ่มลอบติดต่อมีสัมพันธ์รักกับพระสนมนางใน ซึ่งมีกฎหมายกำหนดบทลงโทษไว้ แต่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ มีบรรยากาศของความเมตตาปรานี ให้อภัยกับคนหนุ่มที่หลงผิดไปชั่วขณะ กับความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินแบบไทยๆ ส่วนอีกเรื่องเป็นนิยายที่แต่งขึ้นตามจินตนาการของชาวตะวันตก จะแสดงให้เห็นความโหดร้ายอำมหิตผิดมนุษย์ของบ้านป่าเมืองเถื่อน