xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าหญิงสยามหนีคดีความมั่นคง ลงสำเภาชักใบไปมีพระราชโอรสให้กษัตริย์เขมร!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ละครรำเขมร
เขมร นับเป็นดินแดนหลบภัยของคนไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังได้รับความนิยมใช้เป็นที่หลบ ไม่ว่าจะเป็นคดีจี้ปล้น ฉ้อโกง จนไปถึงก่อการร้าย ต่างก็หลบไปลี้ภัยในเขมรกันทั้งนั้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เจ้าหญิงองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระสหายในวัยเยาว์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดมักใหญ่ใฝ่สูงแต่ขาดสติสัมปชัญญะ คิดจะให้วังหน้าซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระสวามีขึ้นครองราชย์ จึงวางแผนก่อการใหญ่ แต่ทว่าผิดแผน เลยต้องหนีลงสำเภาชักใบไปเขมร ซึ่งพระสหายในวัยเยาว์อีกองค์ และมีความสัมพันธ์กันมาด้วยดี กำลังครองราชย์บัลลังก์กัมพูชา เลยได้รับการต้อนรับอย่างดีเป็นพิเศษ สถาปนาขึ้นเป็น “พระราชเทวี” มีพระโอรสให้กษัตริย์เขมรพระองค์หนึ่ง

เจ้าหญิงผู้สร้างเรื่องน่าตื่นเต้นไว้ในประวัติศาสตร์รายนี้ ก็คือ หม่อมเจ้าฉวีวาด ธิดาพระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ โอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาภัย ซึ่งเป็นต้นตระกูลปราโมช เสด็จพ่อได้นำท่านหญิงฉวีวาดถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯตั้งแต่เด็ก และได้รับการเลี้ยงดูในวังเสมือนเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่ง เพราะเป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากท่านหญิงเป็นเด็กสวย น่าเอ็นดู แต่คนในวังพากันค่อนขอดเรียกว่า “ลูกเธอปลอม”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าไว้ใน “โครงกระดูกในตู้” ว่า

“ท่านเล่าว่าท่านเคยวิ่งเล่นกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าลูกเธออื่นๆเมื่อยังทรงพระเยาว์ทุกพระองค์ จนเป็นที่คุ้นเคย ผู้ที่ท่านป้าฉวีวาดคอยหาทางเล่นรังแกอยู่เสมอก็หาใช่ใครที่ไหนไม่ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อยังทรงพระเยาว์นั่นเอง ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระดำรัสใช้ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงขึ้นไปทรงหยิบของบนหอพระ ท่านป้าฉวีวาดก็แอบไปนั่งอยู่ข้างพระทวาร พอพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับลงมา ท่านก็ยื่นขาไปขัดพระชงฆ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงล้ม และตกอัฒจันทร์ลงมาหลายชั้น เป็นเหตุให้สมเด็จพระจอมเกล้าฯกริ้วว่าซุ่มซ่ามเซ่อซ่า แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงนิ่งเสีย มิได้กราบบังคมทูลฟ้องว่าใครเป็นต้นเหตุทำให้ท่านตกอัฒจันทร์ แทนที่ท่านป้าฉวีวาดจะระลึกถึงพระเดชพระคุณ ท่านกลับเห็นว่าท่านเก่ง เล่นรังแกเจ้าฟ้าพระราชกุมารองค์ใหญ่ได้”

พอโตเป็นสาว ท่านหญิงฉวีวาดเป็นสตรีที่สวย และมีความคิดทันสมัยตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แต่เป็นคนมีอารมณ์ฉุนเฉียวตามนิสัยที่เกเรมาตั้งแต่เด็ก คนที่รับรู้รสชาตินี้อย่างดีก็คือ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล โอรสในรัชกาลที่ ๔ ที่ต่อมาได้เป็น กรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งหลงรักท่านหญิง และส่งเครื่องเพชรเครื่องทองมามากมายเป็นของหมั้น ซึ่งท่านหญิงก็รับไว้และตอบตกลงที่จะแต่งงานกับพระองค์เจ้าคัคณางคฯ แต่มาทราบว่าท่านชายมีหม่อมอยู่แล้ว คือ หม่อมสุ่น ท่านหญิงต้องการมีผัวเดียวเมียเดียวแบบตะวันตก จึงยื่นคำขาดให้พระองค์เจ้าคัคณางคฯเลิกกับหม่อมสุ่นเสียก่อน หม่อมเจ้าคัคณางคฯว่าไม่สามารถทิ้งหม่อมสุ่นได้ แต่จะยกท่านหญิงฉวีวาดเป็นเมียแต่ง ให้เป็นใหญ่ในวัง พอได้ฟังตรงนี้ ท่านหญิงก็นำของหมั้นทั้งหมดสาดออกไปทางหน้าต่าง แล้วไล่พระองค์เจ้าคัคณางคฯไป พระองค์เจ้าคัคณางคฯเลยขยาด การแต่งงานจึงเป็นการเลิกล้ม

เมื่อมีเรื่องขุ่นแค้นกับคนวังหลวง ท่านหญิงฉวีวาดเลยประชดด้วยการไปมีความสัมพันธ์กับฝ่ายวังหน้า ที่กำลังมีเรื่องระหองระแหงกับวังหลวง ซึ่งคนในวังหลวงยุคนั้นไม่มีใครกล้าทำ จนได้แต่งงานกับพระองค์เจ้าเฉลิมลักษวงศ์ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร โอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ในปี พ.ศ.๒๔๑๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ทรงบริหารราชการด้วยพระองค์เอง ปฏิรูปการปกครองโดยรวบรวมการเก็บภาษีมาอยู่ที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ ซึ่งมีหน้าที่เป็นกระทรวงการคลัง ทำให้กระทบกระเทือนเจ้านายและขุนนางบางคน โดยเฉพาะกรมพระราชวังบวรฯที่มีรายได้แผ่นดินถึง ๑ ใน ๓ มีทหาร ๒,๐๐๐ นาย และมีข้าราชบริพารจำนวนมาก จึงมีปฏิกิริยาโต้ตอบด้วยการเตรียมทหารและเรียกคนจากหัวเมืองที่ไม่ได้เป็นทหารเข้ามา

เหตุการณ์ตรึงเครียดขึ้นอีกเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นกลางดึกใกล้โรงเก็บดินปืนในวังหลวง และถ้าลามไปถึงโรงเก็บดินปืนก็อาจมีอันตรายถึงพระเจ้าอยู่หัวได้ เคราะห์ดีที่มีผู้มาพบเข้าและดับไฟได้ทัน และเมื่อวังหน้าเห็นวังหลวงระดมคนมาป้องกันเหตุแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในคืนนั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญซึ่งเพิ่งได้รับบัตรสนเทห์ขู่ปลงพระชนม์ จึงร้อนองค์หนีออกจากวังไปขอหลบภัยอยู่ในบ้านนายโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลอังกฤษที่เคยเป็นครูฝึกทหารวังหน้ามาก่อน ทำให้ฝ่ายวังหลวงตกใจไปตามกันที่วังหน้าไปดึงอังกฤษผู้จ้องฮุบสยามเข้ามาเกี่ยว แต่ไม่ทราบว่าท่านหญิงฉวีวาดเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยแค่ไหน ได้ร้อนองค์อีกราย ขนทรัพย์สมบัติส่วนตัวพร้อมกับเอาคณะละครรำของเจ้าจอมอำภาในรัชกาลที่ ๒ พระมารดาของกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ซึ่งเป็นคณะละครที่เป็นครูของคณะละครวังหลวงหลายคณะในขณะนั้น และอยู่ในความควบคุมของท่านหญิงฉวีวาด รวมทั้งเครื่องแต่งกายและเครื่องดนตรีครบ ลงสำเภาชักใบหนีไปเมืองเขมร ทางวังหลวงส่งเรือกลไฟตามไปทันที่พระสมุทรเจดีย์ ปากน้ำ แต่เรือเกิดใบจักรหักพอดี สำเภาท่านหญิงจึงชักใบหนีไปได้

แม้หลักฐานในเรื่องวางเพลิงจะไม่ปรากฏว่าเป็นอุบัติเหตุหรือวินาศกรรม แต่การที่พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จออกจากพระนคร เลยเสาหินที่ปักเป็นอาณาเขตของกรุงเทพพระมหานครทั้งสี่ทิศไปโดยพละการ ไม่ได้กราบถวายบังคมลา ถือว่าเป็นความผิดขั้นกบฏ ฉะนั้นเมื่อท่านหญิงพ้นหลักเสาหินที่ปักไว้ก่อนถึงพระประแดงออกไป จึงมีโทษกบฏติดหลังไปด้วย

กล่าวกันว่า ท่านหญิงมีความทะเยอทะยานคิดการใหญ่ มีแผนจะยกกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระเชษฐาของพระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ พระสวามี ขึ้นครองราชย์แทน โดยมีกงสุลของมหาอำนาจเข้ามายุแยงตะแคงรั่วให้แตกแยก

เมื่อท่านหญิงหนีโทษกบฏไปได้ กฎหมายในยุคนั้นให้เอาตัวญาติสนิท เช่น บิดามารดา มารับโทษแทน หม่อมราชวงศ์ดวงใจ ปราโมช ผู้มารดา จึงถูกคุมตัวไปเฆี่ยน ถูกริบราชบาตร และถูกจำคุกอยู่ราว ๑ ปี ทำให้ หม่อมเจ้าคำรพ อนุชาท่านหญิงฉวีวาด ซึ่งพระชันษาเพียง ๘ ปี ต้องขาดพระมารดา ถูกทิ้งให้อยู่บ้านแต่องค์เดียว ทั้งยังถูกยึดทรัพย์ไปหมด หม่อมยายซึ่งฐานะไม่ดีนัก มีอาชีพทำขนมขาย จึงนำไปอุปการะ ที่บ้านหม่อมยายมีพุทราอยู่ต้นหนึ่ง หม่อมยายจึงหารายได้เสริมโดยเย็บกระทงใส่พุทราให้หลานชายแบกถาดไปขายที่หน้าโรงหวย คนซื้อก็ไม่มีใครรู้ว่าเด็กคนขายเป็นถึงหม่อมเจ้า หลานปู่รัชกาลที่ ๒ แต่ต่อมาหม่อมเจ้าคำรบได้รับพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้เข้าศึกษาจนจบโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้เป็นแม่ทัพภาค ๒ ได้เลื่อนพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ และเป็นอธิบดีกรมตำรวจคนแรก ทั้งยังอบรมบุตรได้เป็นนายกรัฐมนตรีไทยถึง ๒ คน คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ขณะที่หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดหนีไปเขมรนั้น สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ หรือ นักองค์ราชาวดี ซึ่งประสูติและเติบโตที่กรุงเทพฯ และเป็นพระสหายในวัยเยาว์กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รวมทั้งหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา จึงทรงต้อนรับท่านหญิงอย่างดีในฐานะเจ้านายไทยที่ไปพึ่งบารมี และที่หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดนำคณะละครไปก็มีจุดมุ่งหมายอยู่แล้ว เพราะนักองค์ราชาวดีโปรดละครอย่างมาก ละครไทยคณะนี้จึงช่วยฝึกละครของราชสำนักเขมรให้รำแบบไทย จนเป็นต้นแบบละครเขมรมาจนปัจจุบัน

สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ทรงชื่นชมและเสน่หาท่านหญิงฉวีวาดอย่างมาก สถาปนาขึ้นเป็นพระราชเทวี และมีพระราชโอรสกับท่านหญิง ๑ องค์ คือ พระองค์เจ้าพานคุลี

เมื่อหม่อมเจ้าฉวีวาดหนีไปเขมรนั้น ได้ทิ้งปัญหาใหญ่ไว้ ซึ่งอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของสยามเป็นอย่างยิ่ง ถูกเสนอให้แบ่งประเทศออกเป็น ๓ ซีก

ทั้งนี้เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ไปขอความคุ้มครองจากสถานทูตอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงวิตกว่าเรื่องจะลุกลาม จึงส่งเรือเร็วไปรับ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการไปแล้ว ไปพักอยู่ที่บ้านสวนราชบุรี ด้วยทรงเห็นว่าเป็นผู้ใหญ่ของแผ่นดิน ให้เข้ามาปรึกษาเรื่องนี้ สมเด็จเจ้าพระยาได้ไปเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯขอให้เสด็จกลับวัง ก็ได้รับคำตอบว่า ได้มาอาศัยอำนาจกงสุลอังกฤษแล้ว ต้องคอยฟังกงสุลอังกฤษว่าประการใดก่อน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงกรมพระราชวังบวรฯ มีข้อความว่า

ถึงกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ด้วยการเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นการใหญ่ไม่เคยมีเลย ฉันมีความเสียใจมาก เธอไปอาศัยอยู่ที่บ้านกงสุลอังกฤษนี้ด้วยเหตุใด ฉันไม่ได้คิดจะฆ่าเธอๆมีความหวาดหวั่นข้อใด เธอก็รู้อยู่เองว่าในแผ่นดินเราทุกวันนี้ ผู้ใดไม่มีความผิดใหญ่ที่ควรจะต้องฆ่าแล้ว ก็ฆ่ากันไม่ได้ ด้วยอาศัยความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง เธอมีความสะดุ้งหวั่นหวาดถึงชีวิตจะคิดการเกินไปดอกกระมัง หรือมีความผิดใหญ่อยู่ในใจจึงได้มีความร้อนระแวงกัน นี่ก็ไม่มีความสำคัญเลย ไม่ควรจะเป็น ฉันไม่ได้โกรธเธอๆมาโกรธฉันข้างเดียว ฉันเสียใจนักเธอทำการถึงเพียงนี้จะพาให้เสียชื่อติดแผ่นดินไปทั้งสองฝ่าย ก็เธอจะคิดต่อไปอย่างไรจึงจะเป็นการดีการชอบ อย่าให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนหวั่นหวาดต่อไป การที่เป็นไปนี้ฉันก็ไม่ทราบชัด ต่อเจ้าคุณมาบอกว่าเธอกลัวฉันจะฆ่าเธอ การนี้ฉันไม่ได้คิดเลย ถ้าเธอคิดเห็นการอย่างไรจะเป็นการเรียบร้อยสิ้นสงสัยเลิกแล้วเป็นการดี จงมีหนังสือเป็นสำคัญมาให้รู้ด้วย
Chulalongkorn R.S.

ถึงตอนนี้โอกาสจึงเปิดช่อง กงสุลอังกฤษและกงสุลฝรั่งเศสเลยถือโอกาสสอดแทรกทันที เสนอให้แบ่งประเทศสยามออกเป็น ๓ ส่วน คือ

ส่วนตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

ส่วนตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงแม่น้ำแม่กลอง ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ปกครอง

อีกส่วนจากแม่น้ำแม่กลองลงไปจนถึงแหลมมลายูของอังกฤษ ให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญปกครอง

ซึ่งแน่นอนว่าผู้ปกครองสูงสุดของทั้ง ๓ ส่วน ก็ต้องเป็นอังกฤษและฝรั่งเศสนั่นเอง ซึ่งเท่ากับสยามต้องตกเป็นเมืองขึ้น

กงสุลอังกฤษยังได้มีใบบอกไปถึงผู้สำเร็จราชการเมืองสิงคโปร์ให้เข้ามาช่วยเจรจาเรื่องนี้ เซอร์แอนดรูว์ คลาร์ก ผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษ จึงได้เดินทางมากรุงเทพฯทันที ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ทรงต้อนรับด้วยดี และรับสั่งว่าเรื่องนี้เป็นเพียงความขัดแย้งในราชตระกูล พระองค์สามารถจัดการเองได้ ไม่จำเป็นต้องแบ่งประเทศออกเป็นเสี่ยงๆแต่คนไทยนั้นไม่ว่าจะเป็นใคร จะขัดแย้งกันอย่างไร ก็ยังเห็นชาติสำคัญกว่าอื่นใดทั้งหมด

กรมพระราชวังบวรฯและสมเด็จเจ้าพระยาฯจึงไม่ยอมเล่นด้วย กรมพระราชวังบวรฯทรงเห็นว่าเรื่องจะบานปลาย จึงเสด็จกลับวัง ความตรึงเครียดค่อยคลายลง แต่เจ้านายและขุนนางต่างไม่พอใจการกระทำของกรมพระราชวังบวรฯ ที่ไปดึงเอาต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายใน และถือว่าเป็นการท้าทายพระราชอำนาจ จึงไปรวมตัวกันที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แสดงพลังความสามัคคี ทำการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วยข้อความที่เป็นความลับว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ จะขอร่วมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ตั้งใจทำราชการสนองพระเดชพระคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้สำเร็จตามบรมราชประสงค์ทุกสิ่งทุกประการ แลจะตั้งใจช่วยกันทำนุบำรุงพระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวได้สืบสันตติวงศ์ต่อไป มาตรว่าจะมีผู้อื่นซึ่งมิใช่เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นมาปกครองบ้านเมือองและแผ่นดินแล้วพวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะมิยอมทำราชการด้วยเป็นอันขาด พวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะดำรงอยู่ในสัตย์สุจริตไม่คิดหาผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้นว่าเบี้ยหวัดหรือเงินเดือน นอกจากที่ได้รับพระราชทานเป็นอันขาด ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะตั้งใจ ตั้งหน้าทำราชการสนองพระเดชพระคุณตามที่ได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณและถือน้ำพิพัฒน์สัตยาไว้แล้วนี้ จะมิประพฤติตนให้ผิดแก่ความสัตย์ สัญญาต่างๆ ซึ่งได้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาไว้ พวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เขียนลายมือตนเองไว้เป็นสำคัญ แต่วันอังคาร แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็งตรีศก จุลศักราช ๑๒๓๔”

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ก็เช่นเดียวกับวังหน้าองค์ก่อนๆทุกพระองค์ คือสิ้นพระชนม์ไปก่อนวังหลวงในวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๘ ขณะพระชนมายุ ๔๘ พรรษา

ในวันที่ ๔ กันยายน ๒๔๒๘ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการให้เลิกธรรมเนียมตั้งวังหน้าที่ยึดมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ โดยพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ผู้มีความชอบยิ่งใหญ่ ไม่กำหนดว่าจะต้องเป็นพระราชโอรส ให้กลับไปใช้ตามพระราชกำหนดซึ่งตราไว้ในสมัยพระเจ้าอู่ทองตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๐๓ โดยยกพระราชโอรสองค์ใดที่ประสูติจากพระมเหสี ขึ้นเป็นองค์รัชทายาท

ส่วนหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด ลี้ภัยอยู่ในเขมรตลอดรัชกาลที่ ๕ กว่า ๓๕ ปี เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๖ จึงกลับมาบวชชีอยู่พักหนึ่งก่อนสึกออกมาใช้ชีวิตสงบ และสิ้นชีพิตักษัยในพระชันษา ๘๐ ปี

ในวัยชรา ท่านหญิงฉวีวาดยังได้มีโอกาสเลี้ยงดูหลานป้าที่ชื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเขียนเล่าถึงการเลี้ยงของท่านป้าไว้ใน “โครงกระดูกในตู้” ว่า

“...สมัยหนึ่งที่ท่านป้าฉวีวาดชรามากแล้ว ท่านเกิดโปรดปรานหลานคนนี้ขึ้นมา และเอาไป “เลี้ยง” ไว้กับท่าน การเลี้ยงหลานของท่านก็ออกจะแปลก เพราะท่านบรรทมกลางวันเป็นส่วนมาก แต่ปลุกหลานขึ้นมาคุยตอนกลางคืน เล่าเรื่องอะไรต่ออะไรให้ฟัง ท่านเสวยข้าวเย็นหรือข้าวเช้าก็ไม่แน่ ตอนราวๆตีสองของวัน และเสวยอะไรแปลกๆ เช่นเปลือกส้มเขียวหวานจิ้มกับน้ำพริก เป็นต้น ท่านปลุกหลานที่ท่าน “เลี้ยง” ให้ลุกขึ้นกินข้าวด้วยในยามวิกาลเช่นนั้นทุกคืนไป”

นี่ก็เป็นชีวิตของเจ้าหญิงไทยองค์หนึ่ง ที่โลดแล่นไปด้วยอารมณ์อันร้อนแรง ซึ่งเกือบจะทำให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติได้ จากการกระทำที่ขาดสติสัมปชัญญะ

********

ป.ล. ขอทำความเข้าใจสักนิดเถอะครับ ความจริงผมก็ติดตามอ่าน Comment ของทุกท่าน เหมือนที่ท่านอ่านเรื่องของผม และนึกขอบคุณที่กรุณาให้ความเห็นต่างๆมา แต่ในเรื่อง “ผู้ต้องธรณีสูบฯ” เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว รู้สึกไม่ค่อยสบายใจที่บางท่านเข้าใจว่า ผมลอกเรื่องจากเว็บอื่นมา ผมก็ไม่เคยเห็นเว็บทั้งสองที่อ้างมานั้น แต่เมื่อเปิดดูก็เห็นว่า เว็บหนึ่งนำเรื่องจากพระไตรปิฎกมาเล่าเช่นเดียวกัน ในสไสตล์ที่ต่างกัน แต่อีกเว็บที่ว่าผมลอกมาทั้งดุ้นนั้น “เหมือนกันทุกตัวอักษร” กับเรื่อง “๕ ผู้ต้องธรณีสูบ ในสมัยพุทธกาล” ที่ผมเขียนไว้ในพ็อคเก็ตบุ๊คชื่อ “มิติลี้ลับในพงศาวดาร” ซึ่งสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์มีเดีย พิมพ์วางตลาดเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๐ ฉะนั้นถ้าเรื่อง “๕ ธรณีสูบฯ” ในผู้จัดการออนไลน์นี้ มีข้อความเหมือนในเว็บนี้บ้าง ก็แสดงว่า ผมลอกของตัวเองน่ะครับ ไม่ได้ลอกของใครเลย...หวังว่ายังคงไม่หมดศรัทธาที่จะติดตามกันต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ
พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ
พระองค์เจ้าเฉลิมลักษวงศ์
พลตำรวจโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์
กำลังโหลดความคิดเห็น